"การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้วและยังไม่จบ นี่เป็นเพียงยกแรก ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของคนในวงการสื่อด้วยเช่นกัน" ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "ข่าว กับความอยู่รอดในยุค Digital Transformation" ซึ่งจัดโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ธุรกิจสื่อต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วสื่อจะเอาตัวรอดอย่างไร ร่วมกันหาทางออกของปัญหา พร้อมร่วมกันตั้งคำถามว่า ธุรกิจสื่อจะเอาตัวรอดอย่างไรในวิกฤตและตั้งอยู่บนความเหมาะสมของจรรยาบรรณวิชาชีพ จาก 5 วิทยากรของสื่อชื่อดังกันได้แล้ว
- สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเผชิญภาวะซบเซาอย่างหนัก
คุณฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน หนึ่งในวิทยากรมองว่า ปัจจุบันธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อปีที่แล้ว มีรายงานยอดการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของทุกหัวรวมกันอยู่ที่ 2 ล้าน 2 แสนฉบับต่อวัน ถือว่า ลดลงกว่า 50% และคนให้ความสนใจติดตามข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์แทน โดยผู้บริโภคสื่อดิจิทัลบนเว็บไซต์ 10 อันดับแรกอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนต่อวัน ส่วนยอดผู้เข้าชมคลิปวิดีโอข่าวและไลฟ์สตรีมเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 ล้านคนต่อวัน
กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน วิเคราะห์ว่า สนามรบของธุรกิจสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปเป็นภาพเคลื่อนไหว คลิปวิดีโอบนสื่อออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ดีประเด็นสาระยังคงขายได้ หากเนื้อหาดีและสนุก แต่ต้องตรงใจผู้บริโภค ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของโฆษณาจากเดิม ที่แบ่งกันเพียงไม่กี่ช่อง แต่เมื่อสื่อดิจิทัลเปิดตัวขึ้นมา ทำให้ต้องหารค่าโฆษณากันเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อยังต้องผูกติดกับเว็บไซต์กูเกิ้ลและเฟสบุ๊ค ซึ่งแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปถึง 70% ด้วย
- ทางออกของวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์?
กลุ่มธุรกิจสื่อพยายามหาทางออกด้วยการหารือกันว่า อาจถึงเวลาที่ต้องร่วมกันทำ "Big Data" ขึ้นเอง ซึ่งสามารถพัฒนาฐานข้อมูลได้เพราะมีฐานคนอ่านข่าวประจำ เพื่อเอาข้อมูลที่ได้ไปขายให้กับลูกค้า
ขณะเดียวกันยังต้องผสานโลกออนไลน์และออฟไลน์ให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ เนื่องจากตอนนี้สื่อสิ่งพิมพ์ยังอยู่ แต่ไม่ใช่ตลาดหลักอีกต่อไป เนื่องจากตลาดหลักคือออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง แต่ต้องมีการสั่งสมข้อมูลเชิงปริมาณ ก่อนตกผลึกเป็นคุณภาพ นำไปสู่การเสนอลูกค้าด้วยการต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิม
- การเอาตัวรอดบนความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามในเชิงข่าว เนื้อหาด้านคุณภาพในการนำเสนอยังเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ไม่สามารถมองข้ามได้ เช่น ข่าวหวยอลเวง 30 ล้าน แต่ก็ต้องไม่ทิ้งสาระหลักของข่าวประเภทการเมือง เศรษฐกิจ ถึงปัจจุบันจะมีปัจจัยด้านการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณฐากูรมองว่า องค์กรธุรกิจสื่อเองก็ต้องมีความกระชับ คล่องตัว ควรเน้นลงทุนกับบุคลากร โดยเสนอให้หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ 4 แห่งของประเทศ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามกีฬาและเครือมติชน จับมือกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้วและยังไม่จบ นี่เป็นเพียงยกแรก ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของคนในวงการสื่อด้วยเช่นกัน
- จุดเริ่มต้นของ "77 ข่าวเด็ด"
ขณะที่คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ 77kaoded.com มองว่า ทุกสื่อกำลังปรับตัวแต่ไปไม่สุดหรือไปสุดแต่ไม่ได้
โดยสมัยอยู่เนชั่น มีความพยายามปฎิรูปโครงสร้างธุรกิจแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับมีภาระในการประมูลทีวีดิจิทัล ทำให้ตนเองมีโอกาสเรียนรู้และมีเวลาในการเก็บข้อมูล ซึ่งหลังออกจากที่ทำงานก็ตั้งใจทำเว็บไซต์ออนไลน์ ขายแนวคิดให้กับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น เนื่องจากมองว่าโลกนี้เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า นักข่าวในต่างจังหวัดเป็นพันธมิตรของข่าวชุมชน แต่ละคนต้องสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองมาเชื่อมกับเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนความคิด เตรียมตัวด้วยการสร้างตัวตนให้คนในชุมชนยอมรับ อาจไม่ต้องพึ่งพารายได้จากสถานีข่าวซึ่งแต่เดิมต้องรออย่างไม่รู้อนาคตอีกต่อไป
- สร้างความรู้ความเข้าใจรับโลกออนไลน์
โดยทางเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ดได้ลงพื้นที่อบรมนักข่าวท้องถิ่น สร้างความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผู้เชี่ยวชาญสอนการใช้งานเฟซบุ๊ก ไลน์ ตลอดจน Google analytics และ Search engine optimise (SEO) เพื่อให้ผู้เขียนทราบได้ว่าแต่ละข่าวมีผู้อ่านจริงกี่คน
คุณอดิศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ว่า เว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ดเป็นเว็บไซต์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื้อหาในบางจังหวัดยังมีไม่ครบ เนื่องจากยังขาดนักข่าวในพื้นที่ ขณะเดียวกันประเด็นร้อนแรงในประเทศก็ไม่ทิ้ง เนื่องจากมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีผู้เข้าชมเว็บไซต์เฉลี่ยกว่า 2 หมื่นรายหรือราว 1 ล้านคนนับตั้งแต่ก่อตั้ง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากนี้ พร้อมย้ำจุดยืนไม่มุ่งผลิตข่าวปริมาณมากต่อวัน ส่วนอนาคตอาจเปิดพื้นที่ให้กับนักข่าวพลเมืองเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย
- การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับการปรับตัวของคนทำโทรทัศน์
คุณธีรัตถ์ รัตนเสวี ผู้ผลิตรายการให้กับ PPTV อธิบายถึงปัญหาหลักของคนทำโทรทัศน์เมื่อต้องเปลี่ยนแปลงมาทำออนไลน์ก็คือ ส่วนใหญ่จะยังคุ้นชินกับการเขียนข่าวแบบเดิมๆ ที่มีเนื้อหาสั้นๆ ทำให้เนื้อหาข่าวที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของช่องโทรทัศน์ต่างๆ มีความเข้มข้นน้อยกว่าข่าวบนเว็บไซต์ข่าวออนไลน์โดยตรง
คุณธีรัตน์เสริมว่า นักข่าวยุคนี้ต้องทักษะในการเขียนข่าวที่หลากหลาย และสามารถเขียนข่าวได้ลึก, ครอบคลุมทุกด้าน และรู้จักหาข้อมูลมาประกอบให้ข่าวมาความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นเดียวกับคุณจตุรงค์ สุขเอียด บรรณาธิการข่าวสามมิติที่กล่าวว่า นักข่าวในปัจจุบันจะต้องเป็นครีเอทีฟ คือไม่ใช่แค่เขียนข่าว รายงานว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างใดเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แต่ต้องรู้จักคิดประเด็น มองให้ขาดว่าข่าวใดจะได้รับความสนใจจากคนอ่านจำนวนมาก โดยใช้เทคนิคการเล่าเรื่องมาประกอบให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
คุณจตุรงค์กล่าวต่อไปว่า ข่าวสามารถสร้างราคาได้บนพื้นฐานของความจริงและความอยากรู้ของคน แต่ปัญหาที่เราเจอคือองค์กรข่าวเดินมาไกลมากแล้ว และเราไม่สามารถไปสะเด็ดน้ำทิ้งคนออกตอนนี้ได้ ฉะนั้นนักข่าวจึงต้องมองประเด็นให้ขาด ต้องรู้ว่าเรื่องไหนที่จะสามารถนำมาเป็นประเด็น มาต่อยอด แล้วทำให้เป็นที่สนใจของสังคมได้
- บรรณาธิการ The Standard แนะนักข่าวต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการสำนักข่าว The Standard พูดถึงมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อสารมวลชนว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดอันดับแรกก็คือ โซเซียลมีเดียในตอนนี้คือหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งของคนไทยที่มีความแตกต่างจากหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศ เพราะพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเสพข่าวจากโซเซียลมีเดียเป็นหลัก ในขณะที่ต่างประเทศคนมักจะเปิดดูข่าวจากเว็บไซต์โดยตรง และสิ่งที่เข้ามากระทบต่อวงการสื่อสารมวลชนนั้นไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นจากแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกวงการไม่ใช่แค่เพียงวงการสื่อเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้บทบาทของผู้รับสารก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้บริโภคจะถูกป้อนสารที่สื่อเป็นผู้เลือกให้ แต่ปัจจุบันสื่อได้กลายมาเป็นผู้ถูกเลือก ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการเรียกร้องสิ่งต่างๆ ตามที่พวกเขาต้องการมากยิ่งขึ้น
คุณนครินทร์อธิบายว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของการทำข่าวในปัจจุบัน ก็คือไม่ใช่แค่การส่งข่าวรายงานข่าวแล้วก็จบ แต่นักข่าวจำเป็นต้องมาเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ดูว่างานชิ้นไหนที่ประสบความสำเร็จ ส่งผลกระทบต่อสังคม หรือมีผลตอบรับกลับมาอย่างไรบ้าง ตลอดจนมองหาข้อบกพร่องเพื่อนำมาแก้ไขในผลงานชิ้นต่อๆไป
สุดท้ายนี้ วิทยากรในงานเห็นตรงกันว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จะต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคบนสื่อออนไลน์ พร้อมกับมุ่งเน้นสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมามีคุณภาพ ขณะเดียวกันนักข่าวแต่ละคนเองก็ต้องมีการทดลอง ตั้งสมมติฐาน ติดตามผลงานแต่ละชิ้นที่ได้ออกสู่สายตาของสาธารณะ เพื่อนำไปปรับปรุงข่าวของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น