การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทุกวันนี้ ได้สร้างความท้าทายให้กับธุรกิจจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ตลอดจนบริษัทหน้าใหม่หรือสตาร์ทอัพที่ต่างก็ต้องมองหาทางเพื่อความอยู่รอดในสนามแข่งขันขนาดใหญ่แห่งนี้ งาน Techsauce Summit 2018 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงได้รวบรวมเหล่ากูรูจากบริษัทขั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมพูดคุยแบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จ ตลอดจนมุมมองที่มีต่อแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
*Plaformization กับความท้าทายในภูมิภาคเอเชีย
อย่างที่ทราบกันดีว่า เอเชียเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีจำนวนผู้บริโภคและกำลังซื้อเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตลาดแห่งนี้ได้รับความสนใจจากธุรกิจระดับโลกที่ต้องการเข้ามาเก็บเกี่ยวเม็ดเงินมหาศาลที่มีอยู่ในตลาดแห่งนี้ ด้วยการพยายามเสนอบริการที่หลากหลายครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งนี่ก็ได้สร้างความท้าทายให้กับบรรดาสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจจำนวนมากอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ อย่างที่ อาเจ กอร์, Group CTO ของบริษัท Gojek เล่าเรื่องราวที่มาที่ไป Gojek ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นพวกเขาเริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจขนส่งอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้มีเงินลงทุนมากมายนัก แต่ด้วยการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ Gojek ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ด้วยการเข้าไปสังเกตความต้องการของผู้บริโภคก่อนที่จะสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ซึ่งเขาย้ำว่าสิ่งหนึ่งซึ่งนับเป็นความท้าทายของเอเชียก็คือแต่ละประเทศจะมีวัฒนธรรมและความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของสตาร์ทอัพอย่างเขาก็คือจะต้องลงไปศึกษาตลาดท้องถิ่นของแต่ละประเทศให้ได้มากที่สุด เข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แล้วสร้างระบบนิเวศการให้บริการหรือแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคก่อนจะประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ และด้วยความแตกต่างของแต่ละประเทศนี่เองทำให้ อาเจมองว่า จะเป็นโอกาสของบรรดาสตาร์ทอัพในภูมิภาค เพราะบริษัทใหญ่ๆเองก็ต้องการที่จะเข้ามาร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับ เกรซ หยุน เซีย ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียของ Jungle Ventures ที่กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในเอเชียนี้จำเป็นต้องมีความเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทระดับโลกที่เข้ามาตีตลาดในเอเชียก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกรายเสมอไป เพราะในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง ดังนั้นผู้ประกอบการเองก็ต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับตลาดท้องถิ่นให้ได้
เกรซแนะนำว่าในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจผู้ประกอบการมักจะมีอะไรหลายต่อหลายอย่างที่อยากทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือคุณไม่สามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจกำหนดธุรกิจหลักๆขึ้นมา แล้วไปร่วมมือกับสตาร์ทอัพ เพื่อหาบริการเสริมเข้ามาเติมเต็มธุรกิจที่คุณมีอยู่
*แนะสตาร์ทอัพพัฒนาตัวเองให้พร้อมเติบโตไปกับรายใหญ่
ในส่วนของความร่วมมือกับสตาร์ทอัพนั้น คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทยระบุว่า ในปีนี้ซึ่งไลน์มีอายุครบ 7 ปีพอดี เราได้เติบโตขึ้นมาจากแอปแชทธรรมดา จนวันนี้มีบริการมากมายอย่าง LINE PLAY, LINE TODAY, LINE TV และบริการอื่นๆ รวมถึง LINE MAN ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในประเทศไทย ซึ่งบริการทั้งหลายเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มาจากความร่วมมือกับสตาร์ทอัพต่างๆ คุณอริยะ กล่าวว่า LINE เปิดรับความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ เพราะเรารู้ว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียว ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาบริการใหม่ๆของเรา ในขณะที่เราก็จะช่วยให้พาร์ทเนอร์สามารถเติบโตขึ้นต่อไปได้ สำหรับ LINE ทุกวันนี้ ก็ได้รับความสนใจจากสตาร์ทอัพจำนวนมากที่ต้องการจะเป็นหุ้นส่วนกับเรา แต่บริษัทที่จะเข้ามาร่วมงานกับเราได้ก็ต้องมีทักษะความรู้ที่มากพอ นั่นหมายความว่า หากคุณต้องการที่จะมาเป็นพันธมิตรและร่วมเติบโตไปพร้อมๆกับบริษัทใหญ่ๆ คุณก็ต้องมีการพัฒนาตนเองให้โดดเด่นเหนือสตาร์ทอัพรายอื่นๆให้ได้
นอกจากความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนที่ช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มของบริษัทรายใหญ่ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นแล้ว คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานพัฒนาบริการแอปพลิเคชั่นโทรคมนาคมและเครือข่ายของ AIS ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของสตาร์ทอัพที่มีอยู่มากมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่า สำหรับ AIS แล้ว สตาร์ทอัพเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของบริษัท หรือในอีกแง่หนึ่ง เราเป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานให้กับสตาร์ทอัพ คือเราจะเข้าไปช่วยเค้าในด้านเทคนิคเพราะว่าวัฒนธรรมของบริษัทใหญ่ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงออกไปอย่างรวดเร็ว พร้อมสนับสนุนคำพูดของคุณอริยะที่ว่าเราไปคนเดียวไม่ได้ เพราะต่อให้บริษัทบริษัทขนาดใหญ่ขนาดไหนก็แล้วแต่ ยังไงก็จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการแบ่งปันความแข็งแกร่งร่วมกัน
*เร่งพลิกโฉมองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล
หากกำลังสงสัยว่า องค์กรของเราโอนถ่ายสู่ความเป็นดิจิทัลรวดเร็วพอสำหรับยุคเทคโนโลยีหรือไม่ หรือองค์กรของเราจะสามารถยืนหยัดท่ามกลางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ เวทีเสวนาครั้งนี้จะพาไปไขข้อข้องใจจากมุมมองผู้คร่ำหวอดในหลากหลายวงการที่มาร่วมพูดคุยถกเถียงและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ได้แก่ คุณเนียล ครอสส์ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคาร DBS คุณแอนดริว กวาลเซท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด DTAC และคุณจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี Siri Ventures
*ยกระดับพนักงานยุคดิจิทัล
‘Do not digitalize your company, digitalize your employees’ เป็นคำกล่าวของคุณเนียล ครอส เผยให้เราเห็นว่า การยกระดับพนักงานภายในองค์กรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการโอนถ่ายองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล ครอส ระบุว่า ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กรคือ ทรัพยากรบุคคล พนักงานทุกคนจำต้องมีส่วนร่วมในการปรับตัว ดังนั้น แต่ละองค์กรจำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของพนักงานให้ทัดเทียมและสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ผ่านการจัดฝึกอบรมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง การประชุมเชิงปฏิบัติการและการบรรยาย เพื่อพาองค์กรก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
ครอส กล่าวเสริมว่า การเปิดรับความคิดและปรับเปลี่ยนองค์กรตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสรรสร้างความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต่างจากเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีที่กลายเป็นหมุดหมายการทำงานของเด็กยุคนี้ เราต้องสร้างสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ เครื่องอำนวยความสะดวกสบายครบครัน และพร้อมด้วยสิทธิประโยชน์มากมาย กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยดึงกลุ่มคนที่มีความสามารถและมีศักยภาพเข้ามาร่วมงานกับองค์กร ครอส กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากผลประโยชน์หลากหลายที่เกื้อหนุนพนักงานแล้ว อีกสิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือ เงินโบนัสประจำปี ซึ่งเป็นคำตอบที่เรียกเสียงหัวเราะในกลุ่มผู้ฟังได้ไม่น้อย
*ผนึกกำลังพันธมิตร ส่งเสริมโครงการแนวทดลอง
ในขณะที่ ครอส มุ่งเน้นการยกระดับด้านบุคลากร คุณแอนดริว กวาลเซท แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในมุมมองบริษัทโทรคมนาคมว่า องค์กรจำต้องเปิดกว้างและพร้อมที่จะลงทุนกับแนวความคิดด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดจากกลุ่มสตาร์ทอัพหน้าใหม่ พร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนโครงการเทคโนโลยีที่มุ่งเปลี่ยนโลก อย่างไรก็ดี แอนดริวกล่าวยอมรับว่า โครงการเหล่านี้อาจต้องใช้เวลานานในการเคี่ยวกรำ ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างทันท่วงที องค์กรและผู้บริหารจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยให้เวลาเจ้าของโครงการในการพัฒนาโครงการของตนก่อนที่จะเร่งประเมินโครงการ การมอบเงินทุนดังกล่าวควรมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ระยะยาวแก่บริษัท มากกว่ามองแค่ผลลัพธ์ระยะสั้น
แอนดริว กล่าวเสริมว่า ในการเปลี่ยนถ่ายสู่ความเป็นดิจิทัลนั้น การทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรถือว่าจำเป็นเช่นกัน ทั้งองค์กรระดับใหญ่หรือกลุ่มสตาร์ทอัพขนาดเล็ก ในปัจจุบัน องค์กรต่างมีศักยภาพและความชำนาญโดดเด่นที่ต่างกัน ดังนั้น การร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และการเรียนรู้อยู่เสมอ องค์กรอื่นๆยังช่วยเติมเต็มด้านที่เราไม่ถนัดหรือไม่ชำนาญ แอนดริว ยกตัวอย่างโครงการดีแทค แอคเซอเรอเรท ที่ผนึกกำลังกับองค์กรไอทียักษ์ใหญ่อย่างไลน์ และ กูเกิ้ล เพื่อมุ่งผลักดันเหล่าสตาร์ทอัพไทย แอนดริวรวบยอดสรุปความสำคัญของการทำงานร่วมกับพันธมิตรว่า "Working together is how we do innovate"
*ปรับเปลี่ยนภายในองค์กร ผนวกเทคโนโลยีนำสมัย
คุณจิริพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส เปิดใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับการพลิกโฉมองค์กรที่มีแบบแผนดั้งเดิมอย่าง แสนสิริ ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลว่า สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจมานนานกว่า 15 ปี อย่าง แสนสิริ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้ร่วมสมัยถือว่าเรื่องที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน การพลิกโฉมดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน แต่ยังสามารถลดช่องว่างระหว่างวัยซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลได้อย่างยอดเยี่ยม คุณจิรพัฒน์ ยกตัวอย่างโครงการนำร่องที่แสนสิริดำเนินการมาร่วม 1 ปี คือ การเปิดโอกาสให้ทีมพนักงานระดับล่างเข้ามาจัดการโครงการสร้างอาคารเองอย่างเต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกขั้นตอน ทั้งการออกแบบ การตัดสินใจ รวมถึงการบริหาร โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูง โครงการดังกล่าวสร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจแก่องค์กรเป็นอย่างมาก ซึ่งช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ขณะนี้ทางแสนสิริเริ่มนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้กับทั้งองค์กร เพื่อมุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ
ขณะเดียวกัน คุณจิริพัฒน์ เสริมว่า การนำเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาใช้ถือเป็นอีกประการสำคัญที่องค์กรต้องเอาใจใส่ เพื่อตอบสนองกับแนวโน้มของธุรกิจและไลฟ์สไตล์ที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความเป็นจริงเสมือน (VR) ความเป็นจริงเสริม (AR) หรือแม้แต่การใช้สกุลเงินดิจิทัล ล้วนช่วยให้องค์กรสามารถยืนหยัดและอยู่รอดในโลกธุรกิจปัจจุบัน