ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจหลายภาคส่วนของไทยต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น และมอบความสะดวกสบายให้กับผู้คนมากมาย อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวตามเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในบางภาคส่วน อีกทั้งยังทำให้พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนไป ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงเวลาของการใช้ความพยายาม และมีหลายธุรกิจของไทยที่สามารถปรับตัวตามกระแสนี้ได้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
งาน DAAT Day ในปีนี้ ได้มีการเชิญตัวแทน 3 องค์กรธุรกิจชั้นนำของไทยที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวและต่อยอดธุรกิจมาร่วมเสวนาในหัวข้อ "Digital Disruption: How to Transform" เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เคล็ดลับ และแง่คิดดี ๆ เกี่ยวกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงธุรกิจฝ่ากระแส Digital Disruption จนประสบความสำเร็จมาได้อย่างเช่นทุกวันนี้
Allianz Ayudhya Assurance ตัวแทนภาคธุรกิจกลุ่มประกัน
เจตน์เมริน เจตน์ระวีโชติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการตลาดดิจิทัล งานออกแบบและผลิตสื่อองค์กร และงานบริหารการจัดกิจกรรมแห่งบริษัท Allianz Ayudhya Assurance เปิดเผยว่า Digital Disruption ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการทำงาน เช่น ระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบุคลากรที่จะต้องมีทักษะหลายด้านมากขึ้นเพราะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ก่อให้เกิดเป็นความท้าทายใหม่ๆว่า บริษัทจะต้องรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดิจิทัลก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตของผู้คน ทำให้ธุรกิจประกันมีโอกาสคิดค้นและมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น
สำหรับธุรกิจประกัน เจตน์เมริน มองว่า การมีฐานข้อมูล (Data) ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการเอาตัวรอดและต่อยอดธุรกิจในยุคดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น การมีข้อมูลตรวจสุขภาพของผู้คนก็ถือเป็นฐานข้อมูล ข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็ถือเป็นฐานข้อมูล ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพก็ถือเป็นฐานข้อมูล โดยผู้ที่มีข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถนำข้อมูลไปปรับโมเดลธุรกิจได้ หรือนำข้อมูลไปประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้แก่กลุ่มธุรกิจการประกัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ ตัวแทนภาคธุรกิจกลุ่มธนาคาร
สุธีรพันธุ์ สักรวัตร รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า กระแส Digital Disruption ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ซึ่งในช่วง 2-5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของธนาคารที่เคยได้มาจากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยเงินกู้ก็ลดลงหลังจากที่ค่าธรรมเนียมเริ่มหายไป ดอกเบี้ยต่ำลง และบทบาทของธนาคารที่เป็นคนกลางก็เริ่มถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ทำให้มีการทำธุรกรรมที่ธนาคารน้อยลง
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เปิดเผยเคล็ดลับในการเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จด้านธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาว่า เนื่องจากความสำคัญของการธนาคารไม่เคยลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสามารถปรับตัวได้ โดยการปรับโมเดลธุรกิจและโมเดลรายได้ ผลงานชิ้นสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ก็คือ แอปพลิเคชั่น SCB Easy ที่ทำให้มีลูกค้าเข้ามาทำธุรกรรมผ่านมือถือเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจหลักของไทยพาณิชย์ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่จะต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี นอกจากนี้ การใช้บริการธนาคารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับธนาคารเช่นกัน เพราะทำให้ธนาคารสามารถรู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของเจ้าของบัญชีแต่ละคน ทำให้ง่ายต่อการคิดค้นผลิตภัณฑ์ และสามารถพัฒนาบริการให้ถูกใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น
GMM Grammy ตัวแทนภาคธุรกิจเพลง
ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็มมิวสิค ของ GMM Grammy มองว่า Digital Disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมเพลง เพราะธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมเพลงได้เติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่ต้องเปลี่ยนจากเทปเป็นแผ่นซีดี จากแผ่นซีดีเป็น MP3 จาก MP3 เป็น Music Streaming เทรนด์ Digital Disruption นี้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับ GMM Grammy
ภาวิตมองว่า ก่อนที่จะเริ่มปรับตัว ควรที่จะระลึกถึงโครงสร้างธุรกิจและจุดยืนของธุรกิจตนเองก่อน ซึ่งสำหรับ GMM Grammy นั้นได้มองตัวเองเป็นผู้ผลิตเนื้อหาไม่ใช่ผู้ผลิตวัสดุอย่างแผ่นซีดี ดังนั้น ตัวธุรกิจหลักยังจะสามารถไปได้ดีเพียงแต่ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ในส่วนของเทคโนโลยีดิจิทัล GMM Grammy ได้ใช้ Music Big Data ที่มี 3 แกนหลัก (Hits Data, Artist Data และ Purchasing Data) ซึ่งจะสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าผู้ใช้จะชมเนื้อหารูปแบบใด ที่ไหน ชอบศิลปินกี่คน และมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยให้แกรมมี่สามารถหาศิลปินที่เป็นที่ต้องการ หาภาพยนตร์ที่คนอยากดูได้ นอกจากนี้ยังได้ปรับตัวโดยเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เช่นเป็นพันธมิตรกับ JOOX ในด้านเพลง หรือการเป็นพันธมิตรกับ Netflix เพื่อนำเนื้อหาไปลงใน Netflix
จะเห็นได้ว่า แม้รูปแบบธุรกิจของทั้งสามบริษัทจะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่บริษัทเหล่านี้มีเหมือนกันคือ "การปรับตัว การไม่หยุดมองหาโอกาสในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์" การเสวนาหัวข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสามบริษัทได้ให้ความสำคัญกับฐานข้อมูล (Data) เป็นอย่างมาก และเทคโนลียีดิจิทัลนี้เองจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถเก็บบันทึกข้อมูลของผู้บริโภคได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี นี่จึงถือเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างรายได้ต่อไป