Media Talk: "ไวซ์ไซท์" ชวน 6 สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชื่อดังเผยเคล็ดลับความสำเร็จที่งาน Thailand Zocial Awards 2019

ข่าวทั่วไป Sunday March 3, 2019 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปิดฉากลงแล้วกับเวทีประกาศรางวัลคนโซเชียลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีอย่าง Thailand Zocial Awards 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 สำหรับปีนี้ "ไวซ์ไซท์" ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีฟังเสียงผู้บริโภคบนสื่อออนไลน์และผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล และเป็นเจ้าภาพจัดงานได้ขนรางวัลมาแจกเหล่าบรรดาคนโซเซียลที่ทำผลงานยอดเยี่ยมที่สุดมากถึง 154 รางวัล พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิญเหล่ากูรูจากแพลตฟอร์มต่างๆ มาร่วมพูดคุย ก่อนรูดม่านปิดท้ายด้วยการแสดงจากเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอต BNK 48 เรียกได้ว่าจัดเต็มทั้งความรู้ความบันเทิงกันอย่างครบรส สร้างความชื่นมื่นให้กับทั้งบรรดาผู้ให้บริการ ผู้สร้างสรรค์ และผู้บริโภคคอนเทนต์ไปพร้อมๆกัน

ในเซสชั่น Streaming Platform PLAY on-stage ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในไฮไลท์ของงาน ไวซ์ไซท์ได้เชิญชวนผู้บริหารจากสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชื่อดังในประเทศไทยมาเปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จในปี 2018 และแนวโน้มเทรนด์ดิจิทัลในปี 2019 โดยมี ศิวพร เพ่งผล จาก AIS Play, พัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ จาก JOOX, กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ LINE TV, สรรเสริญ สมัยสุด จาก True ID, สรวิศ จินตสุนทรอุไร จาก VIU และมุกพิม อนันตชัย จาก Youtube ขึ้นเวทีมาแบ่งปันมุมมองกันแบบไม่มีกั๊ก

การเติบโตของอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งในปี 2018

เมื่อถามถึงการเติบโตในปี 2018 ทุกแพลตฟอร์มต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจเติบโตขึ้นมากในปีที่แล้ว โดยคุณศิวพรจาก AIS Play กล่าวว่า AIS Play มียอดการขยายตัวขึ้นประมาณ 2 เท่า และคาดว่า จะโตขึ้นได้อีก ในขณะที่บริษัทมีแผนจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ มากขึ้น เพื่อให้มีคอนเทนต์ที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกเพศทุกวัย เช่นเดียวกับ JOOX ที่มีอายุอานามราว 3 ปีเท่าๆกันก็เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา Joox มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในแง่ของการดาวน์โหลด จำนวนผู้ชม และปริมาณคอนเทนต์ที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม

ขณะที่ LINE TV ซึ่งประกาศตัวเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่แค่สตรีมมิ่งวิดีโอ แต่เป็นช่องทางรับชมโทรทัศน์ออนไลน์อันดับ 1 ของไทยระบุว่า LINE TV โตขึ้นมากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่ค่อยมีเวลานั่งอยู่หน้าโทรทัศน์ ขณะที่ LINE TV ก็เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ด้วยการมอบความยืดหยุ่นในการรับชมรายการที่ผู้ชมอยากดูได้เมื่อไหร่ก็ตาม เช่นเดียวกับ VIU แพลตฟอร์มดูหนังน้องใหม่จากฝั่งฮ่องกง ที่เข้ามาครองใจคอหนังเกาหลีในไทยมาแล้วราวๆ 20 เดือน โดย VIU เปิดเผยว่า ในปี 2018 นั้น VIU โตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 170% และในขณะนี้ก็ได้ขยายการให้บริการออกไปเป็น 17 ประเทศ ทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งได้เสียงตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เหล่าผู้ให้บริการยังชี้อีกว่าการเติบโตของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมานั้น สอดคล้องกับการเดิบโตของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตในไทย โดยกลุ่มคนที่นิยมรับชมคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีไลฟ์สไตล์อยู่บนสมาร์ทโฟน

AIS Play ชูจุดแข็งด้านระบบให้บริการที่ครอบคลุม มอบประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคคอนเทนต์

คุณศิวพร เพ่งผล จาก AIS Play กล่าวบนเวทีเสวนาในงาน Thailand Zocial Awards 2019 ว่า AIS Play เกิดมาจากจุดแข็งของกลุ่มบริษัท AIS มีทั้งเครือข่ายและระบบจัดการการชำระเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงความสามารถในการจัดหาคอนเทนต์ที่หลากหลายมาให้บริการทั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน และกล่อง AIS PLAYBOX ซึ่งเป็นบริการที่ควบคู่ไปกับบริการเครือข่ายไซเบอร์ของบริษัท

คุณศิวพรระบุว่า AIS Play วางตำแหน่งตัวเองไว้เป็น Hup of Entertainment ของไทย โดยมีเป้าหมายที่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลายให้ลูกค้าเลือกรับชมตามความต้องการ ซึ่งตอนนี้นอกจากร่วมมือกับบรรดาช่องฟรีทีวีเพื่อนำรายการมาออกอากาศบนแพลตฟอร์มด้วยแล้ว ยังเข้าไปร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Netflix, HOOQ, Iflix หรือแม้แต่ผู้ผลิตคอนเทนต์รายอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีตัวเลือกในการรับชมคอนเทนต์ได้มากขึ้น

สำหรับในปี 2019 คุณศิวพรเสริมว่า AIS Play มีแผนที่จะปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องของระบบการค้นหาคอนเทนต์ การบูรณาการหรือ Integration เข้ากับแพลตฟอร์มพันธมิตรรายอื่นๆ โดยไม่ทิ้งส่วนสำคัญที่สุดก็คือคุณภาพของคอนเทนต์ ซึ่งคุณศิวพรระบุว่า การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง ส่งผลให้ผู้ผลิตนอกจากจะต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาให้เพียงพอกับความต้องการในตลาดแล้ว ยังต้องพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเองให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโฆษณาที่จะเติบโตต่อไปพร้อมๆกัน

JOOX ใช้กลยุทธ์ออนไลน์ทูออฟไลน์ ดึงผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม

คุณพัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ จาก JOOX แพลตฟอร์มฟังเพลงยอดนิยมของไทยเปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา JOOX เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากยูสเซอร์อยู่เป็นประจำ ทำให้ JOOX เข้าใจความต้องการของยูสเซอร์อย่างแท้จริง

คุณพัชราพรเปิดเผยว่า นอกจากข้อมูลที่จำเป็นที่ต้องรู้ว่ายูสเซอร์ที่เข้ามาใช้งานในแพลตฟอร์มคือใครแล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือต้องรู้ด้วยว่าพวกเขาชอบอะไร ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้คนไทยมักจะนิยมฟังเพลงป๊อปกับเพลงร็อค แต่ตอนนี้พบว่าฮิปฮอปเริ่มจะได้รับความสนใจมากขึ้น และเมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว JOOX ก็ได้เข้าไปทำงานกับบรรดาค่ายเพลง ทำให้ค่ายเพลงสามารถผลิตผลงานออกมาได้ตามที่ตลาดต้องการ ในขณะเดียวกันฐานยูสเซอร์ของแพลตฟอร์มก็เติบโตขึ้นไปด้วย

คุณพัชราพรเสริมว่า การเติบโตของ JOOX ส่วนหนึ่ง นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้รู้ว่ายูสเซอร์อยู่ที่ไหน แล้วก็ไปในที่ที่พวกเขาอยู่แล้ว การจัดกิจกรรมให้ยูสเซอร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดย JOOX ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดอันดับเพลงยอดนิยม ศิลปินยอดนิยม แล้วให้ศิลปินมามีกิจกรรมใกล้ชิดกับแฟนๆ รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตเพื่อการกุศลในทุกๆปี โดยปีแรกเป็นการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากบรรดาแฟนเพลงจนมีกระแสเรียกร้องให้จัดเป็นคอนเสิร์ตออฟไลน์ ซึ่ง JOOX ก็ได้จัดขึ้นในปีต่อมาและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ชมที่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเท่าตัว นั่นแสดงให้เห็นได้ว่า แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่บนออนไลน์ แต่การเข้าถึงผู้ชมให้ได้ทุกแง่มุมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ดังที่คุณพัชราพรทิ้งท้ายไว้ว่า "ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มหรือโปรดักใดก็ตาม หากสามารถคิดได้ครบวงจรตั้งแต่ออนไลน์ไปจนถึงออฟไลน์ได้ ก็จะช่วยผลักดันให้แบรนด์ไปได้ไกลขึ้น"

LINE TV ทำผลงานโดดเด่น ตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ของคนไทยทุกคน

LINE TV นับเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นในปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งคุณกวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ได้อธิบายถึงเหตุผลของการเติบโตในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะ LINE TV ได้เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีเวลานั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์น้อยลง จึงต้องการความยืดหยุ่นในการดูรายการที่ตนเองชื่นชอบ ทำให้ผู้คนหันมารับชมรายการต่างๆผ่านทางโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น ขณะที่ประเภทคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นละครและซีรีส์อยู่เหมือนเดิม ดังนั้น LINE TV ซึ่งวางตำแหน่งตัวเองไว้อย่างชัดเจนในฐานะแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ ที่นำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบของการรีรัน จึงได้ประโยชน์โดยตรงจากตรงนี้

คุณกวินกล่าวว่า เหตุผลที่ LINE TV ประสบความสำเร็จตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั้น เนื่องจากเราเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอคอนเทนต์คุณภาพทั้งที่เราสร้างขึ้นเองและจากความร่วมมือกับพันธมิตรรายต่างๆ และด้วยคอนเทนต์คุณภาพเหล่านี้ จึงทำให้เราได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคมาโดยตลอด ในขณะที่ยูสเซอร์ที่เข้ามาใช้งาน LINE TV เองนั้นก็เป็นยูสเซอร์คุณภาพ ดังจะเห็นได้จากการตัดสินใจซื้อหลังจากที่เขาเห็นโฆษณา ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมราวสองเท่าตัว และหากเทียบกับปริมาณยูสเซอร์จากแพลตฟอร์ม LINE MESSENGER ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทยแล้ว กลุ่มยูสเซอร์ที่ใช้งาน LINE TV ในแง่ของเพศและอายุในตอนนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต่างกันมากนัก ขณะที่ในแง่ของโลเคชั่นก็เริ่มมีความแมสขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ยูสเซอร์ส่วนใหญ่จะใช้งานกระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ๆ ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างจังหวัด ซึ่งเราก็ตั้งเป้าไว้ว่า จะขยายฐานยูสเซอร์ออกไปให้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้คุณกวินยังกล่าวถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญในปัจจุบันก็คือ การที่อุตสาหกรรมทีวีกำลังถูกดิสรัปจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยคุณกวินกล่าวว่า หน้าที่สำคัญของ LINE TV ไม่ใช่จะเข้ามาแย่งคนดูจากช่องทีวี แต่ต้องการเข้าไปร่วมมือกับช่องต่างๆ ในการเพิ่มช่องทางหารายได้ ด้วยการสนับสนุนให้คนดูมีโอกาสในการรับชมคอนเทนต์ทีวีกันมากขึ้น

TRUE ID เดินกลยุทธ์ดึงผู้ชมจากเว็บเถื่อนสู่แพลตฟอร์มถูกกฎหมาย

TRUE ID แพลตฟอร์มน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ราวปีเศษ โดย True Corporation ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของไทยเปิดเผยว่า TRUE ID อาจจะแตกต่างจากผู้ให้บริการทั้ง 3 รายข้างต้นตรงที่ ฐานลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในตลาดต่างจังหวัด เนื่องจาก TRUE ID เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนามาให้เอื้อต่อการใช้งานกับระบบโทรศัพท์แบบเติมเงิน เพราะไม่กินปริมาณข้อมูลมากนัก อีกทั้งยังใช้งานได้ง่ายโดยที่ยูสเซอร์ไม่จำเป็นต้องสมัครอีเมลเพื่อโหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้ จึงทำให้สามารถขยายตลาดในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว

คุณสรรเสริญ สมัยสุด ได้เล่าที่มาที่ไปของ TRUE ID ว่า เกิดจากการเล็งเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มดูทีวีกันน้อยลง จึงทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรวบรวมคอนเทนต์จำนวนมากที่มีให้บริการอยู่บนกล่องทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นบริการที่ True มีอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้สะดวกสบายมากขึ้น ประกอบกับ True มองว่าการที่จะผลิตคอนเทนต์ออกมาได้แต่ละชิ้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องการที่จะดูคอนเทนต์ที่มีคุณภาพแบบไม่มีค่าใช้จ่าย จึงทำให้มีเว็บเถื่อนที่ลักลอบเผยแพร่คอนเทนต์ผิดกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม True จึงคิดหาทางออกให้กับทั้งสองฝ่ายด้วยการทำให้คอนเทนต์เผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์มที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้ามาดูกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ่าย

คุณสรรเสริญกล่าวว่า เป้าหมายของ TRUE ID คือยกระดับอุตสาหกรรม ด้วยการดึงผู้บริโภคออกมาจากเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ซึ่งเราก็ได้รับความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีเคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่โมเดลธุรกิจที่เน้นการคืนผลประโยชน์ให้กับลูกค้าที่เข้ามาดูคอนเทนต์ด้วยการมอบคะแนนสะสมเป็นการตอบแทน เพื่อให้ลูกค้าได้นำคะแนนเหล่านั้นไปใช้กับบริการอื่นๆของทรู นับเป็นการส่งเสริมธุรกิจครอบคลุมทั่วทั้งกลุ่มบริษัท

VIU เดินหน้าเจาะตลาดไทย จับมือผู้ให้บริการทีวีเผยแพร่คอนเทนต์แบบครอสแพลตฟอร์ม

ในส่วนของ VIU แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากฮ่องกงที่เน้นให้บริการคอนเทนต์เกาหลี ในปีที่ผ่านมาก็มีการเติบโตขึ้นราวๆ 2 เท่า โดยปัจจุบันมีให้บริการอยู่ใน 17 ประเทศทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย สำหรับในประเทศไทยนั้น VIU เปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 20 เดือนและนับเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย

คุณสรวิศ จินตสุนทรอุไร เล่าถึงการเติบโตครั้งนี้ว่า ในตลาดของแต่ละประเทศ VIU จะให้บริการคอนเทนต์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างตลาดในอาเซียนก็จะเน้นคอนเทนต์จีน เกาหลี ตามความนิยมของผู้บริโภคในภูมิภาค หรือตลาดตะวันกลางและอินเดียก็จะให้บริการคอนเทนต์ที่เป็นอาภาษาอารบิก และคอนเทนต์บอลลีวู้ด นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตท้องถิ่นที่ให้บริการอยู่ในประเทศนั้นๆ ด้วย

คุณสรวิศกล่าวว่า VIU ไม่ได้เน้นให้บริการเฉพาะกลุ่มยูสเซอร์ในช่องทางดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเจาะกลุ่มคนดูในช่องโทรทัศน์ปกติ ด้วยการร่วมมือกับเจ้าของช่องในประเทศต่างๆ อย่างในไทยก็ได้ร่วมมือกับเวิร์คพอยท์เพื่อเผยแพร่ออริจินัลคอนเทนต์ อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งแฟนมีตติ้ง คอนเสิร์ต จึงทำให้แพลตฟอร์มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่ VIU เอาชนะเว็บไซต์หนังเกาหลีแบบผิดลิขสิทธิ์ได้ ด้วยการออกอากาศหลังออนแอร์ในเกาหลีเพียง 8-10 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเร็วกว่าเว็บไซต์เหล่านั้นมาก ทำให้ผู้บริโภคหันมาดูคอนเทนต์ผ่าน VIU มากขึ้น

Youtube เผยเหตุผลที่ยังโตต่อเนื่อง เพราะคนไทยชอบดูวีดีโอ

ด้าน Youtube แพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มียูสเซอร์อยู่ทั่วโลกเปิดเผยว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมานั้น Youtube มีผู้ใช้ที่เป็นแอคทีฟยูสเซอร์อยู่ประมาณ 1.9 พันล้านคนทั่วโลก เนื่องจากมีคอนเทนต์อยู่บนแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก ขณะที่คนไทยมีชั่วโมงการดู Youtube มากที่สุดติด 1 ใน 10 อันดับแรกทั่วโลก

คุณมุกพิม อนันตชัย กล่าวว่า คนไทยยังคงนิยมดู Youtube เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวัดจากรางวัลที่ Youtube มอบให้ช่องรายการจากจำนวนผู้กดติดตามช่องนั้นๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันมีช่องที่ได้รับปุ่ม Silver Play Button หรือช่องที่มีผู้กดติดตาม 100,000 คนขึ้นไปมากถึง 2,000 ช่อง ช่องที่ได้รับปุ่ม Gold Play Button หรือมีผู้กดติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป มี 150 ช่อง และช่องที่ได้รับปุ่ม Diamond Play Button หรือมีผู้กดติดตาม 10,000,000 คนขึ้นไป จำนวน 6 ช่อง ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยคุณมุกพิมระบุว่า พฤติกรรมที่น่าสนใจของคนไทยก็คือ พวกเขาจะตอบสนองต่อคอนเทนต์ที่กำลังดูอยู่ในทันทีว่าชอบหรือไม่ชอบ ด้วยการกดติดตาม ยกเลิกติดตาม และคอมเมนต์

คุณมุกพิม เสริมว่า จากการทำรีเสิร์ชและวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านของผู้ใช้งาน Youtube พบว่า คนไทยยังคงนิยมดูวีดีโอกันอยู่มาก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้พบว่ามีการเข้ามาใช้งาน Youtube มากถึง 92% นั่นทำให้ Youtube ต้องหันกลับมามองว่าคอนเทนต์ที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนั้นหรือไม่ และผลลัพธ์ก็ถูกแสดงออกมาให้เห็นใน Rewind List ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาในทุกๆ สิ้นปี โดยในปี 2018 พบว่า คอนเทนต์ดนตรีที่มีคนกดเข้ามาดูมากที่สุด และ 7 ใน 10 อันดับแรกก็คือเพลงลูกทุ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเทรนด์ของเพลงที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยก็คือเพลงแนวนี้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือกลุ่มคนต่างจังหวัดนิยมเข้ามาดูคอนเทนต์ใน Youtube กันมากขึ้น

ในช่วงท้ายกิจกรรม เหล่าบรรดาผู้บริหารจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่มาร่วมเสวนาบนเวที ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า อุตสาหกรรมสตรีมมิ่งในไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องมีความสร้างสรรค์และจุดยืนที่ชัดเจน รวมถึงต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอยู่ที่ใด เพื่อที่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของเป้าหมายให้มากที่สุด


แท็ก thailand   ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ