โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากแรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้ ได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แล้วจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลไต้หวันขึ้นเวที เปิดเผยแนวทางการนำเทคโนโลยีของรัฐบาลไต้หวันมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ที่งาน Techsauce Global Summit 2019 ว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้ประชาชนและรัฐบาลสามารถรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้โดยตรง ประชาชนจึงมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและอนาคตด้วยตัวเอง
ถังเปิดเผยว่า ที่ไต้หวัน เรามีหน่วยงานที่เปิดให้ประชาชนเข้ามานำเสนอไอเดียหรือนวัตกรรมต่างๆ และมีโครงการหลายโครงการที่ผ่านการนำเสนอแล้วถูกนำไปใช้งานจริง อย่างเช่น โครงการรถจักรยานสามล้อไร้คนขับ ซึ่งจะคอยให้บริการอยู่ตามตลาดหรือแหล่งชุมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุเมื่อออกไปจับจ่ายซื้อของ ซึ่งถังกล่าวว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนปรับตัวและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัว
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ "คำถามที่ยากที่สุดในการบริหารประเทศก็คือ อะไรคือมาตรฐาน หรือข้อกำหนดที่ควรจะเป็น" ด้วยเหตุผลนี้ รัฐบาลจึงคิดที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความเห็นในสิ่งที่ตนเองเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยภายใต้เหตุและผล เพียงเท่านี้รัฐบาลก็สามารถรับรู้ความเห็นคร่าวๆของผู้คนได้แล้ว
ถังระบุว่า เทคโนโลยีทำให้ประชาชนได้กลายมาเป็นผู้กำหนดการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยตัวเอง เพียงแค่ใช้แฮชแท็ก ก็อาจนำไปสู่การเกิดแคมเปญบางอย่างได้แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ได้มีหน้าที่บริหารประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะผู้ที่มีบทบาทจริงๆคือประชาชน ส่วนรัฐบาลก็เป็นแค่ผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกเท่านั้น
แม้การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้เกิดโครงการต่างๆขึ้นมากมายจากการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลและประชาชน แต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงใด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือประชาชน ดังนั้นเรื่องที่เราควรโฟกัสก็คือ จะทำยังไงให้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและความสัมพันธ์ของเรา รมว.ดิจิทัลกล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ออเดรย์ ถัง วัย 38 ปี เป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในสภาบริหารของไต้หวัน ด้วยความสามารถที่อยู่ในระดับอัจฉริยะในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทำให้เธอได้ถูกเชิญตัวเข้ามารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลคนแรกของไต้หวัน นอกจากความเก่งกาจในด้านไอทีแล้ว ในอีกบทบาทหนึ่ง เธอยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีอุดมการณ์แรงกล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คน โดยล่าสุด เธอได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 20 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดด้านรัฐบาลดิจิทัล