ธุรกิจคอมเมิร์ซในไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นครอบคลุมแทบทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ และการเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ธุรกิจที่อยากอยู่รอดในสมรภูมิที่แทบจะกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกเสี้ยววินาทีเช่น E-Commerce จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมจับตาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อเตรียมการรับมืออย่างทันท่วงที
"ป้อม" ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com ได้มาเปิดเผย 10 เทรนด์การตลาดออนไลน์บนเวทีสัมมนาหัวข้อ E-Commerce Landscape Trand and Opportunity ที่มหกรรม Thailand e-Commerce Day 2019 วันนี้
1. การแข่งดุของ JSL E-Marketplace ระดับโลกในไทย
สำหรับเทรนด์แรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม E-Commerce ยักษ์ใหญ่ 3 ราย ได้แก่ JD.com, Shopee และ Lazada ซึ่งป้อม ภาวุธ ระบุว่า ทั้ง 3 บริษัทจะบุกหนักขึ้น ด้วยการทุ่มเงินมหาศาลไปกับการจัดแคมเปญ อัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อดึงมาร์เก็ตแชร์มาไว้ในมือให้ได้มากที่สุด
2. สินค้าจีนจะเริ่มรุกบุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน
จากเทรนด์ข้อแรก ภาวุธตั้งข้อสังเกตว่า แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 แพลตฟอร์มล้วนแล้วแต่มาจากประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านั้นจึงหนีไม่พ้นสินค้าจากจีน หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ราว 80% ของสินค้าที่มีขายอยู่ทั้งหมด นี่จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์การไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะในไทยเพียงเท่านั้น ทำให้ทุกวันนี้เริ่มมีตัวกลางที่นำสินค้าจีนไปขายยังประเทศต่าง ๆ ขณะที่สินค้าจากจีนก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
3. Brand จะโดดเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
การที่ผู้บริโภคเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในแพลตฟอรืมออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้นอกจากพ่อค้าแม่ค้าจะพยายามไปหาสินค้ามาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันแล้ว ยังดึงดูดให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาเปิดขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยตนเอง ซึ่งภาวุธระบุว่า สิ่งนี้จะสร้างความท้าทายให้กับบรรดาดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าของแบรนด์ทั้งหลาย เนื่องจากการเปิดร้านขายสินค้ากับผู้บริโภคโดยตรง จะทำให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าเอาไว้ในมือ และทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ออกมาเพื่อแข่งขันกับดีลเลอร์ของตัวเองได้
4. Online VS Offline
ในส่วนของเทรนด์ที่ 4 นั้น คุณภาวุธระบุว่า ร้านค้าต่าง ๆ ที่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง มีแนวโน้มที่จะใช้หน้าร้านเป็นจุดรับหรือแสดงสินค้า ซึ่งจะทำให้ร้านค้าที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมีข้อได้เปรียบจากร้านอื่น ๆ เพราะไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก เพียงแต่มีสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าเข้ามาดู มาลอง แล้วค่อยส่งสินค้าจริงตามไปที่บ้าน นอกจากนี้ ระบบสะสมแต้มก็จะเริ่มได้รับความนิยมและมีการนำมาใช้กันมากขึ้น เพื่อแลกกับการได้มาซึ่งข้อมูลลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมสำหรับวางกลยุทธ์การตลาดต่อไปในอนาคต
5. ผู้ให้บริการ E-Commerce จะมาช่วยธุรกิจ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ E-Commerce ยังทำให้เกิดธุรกิจการบริการรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยคุณภาวุธอธิบายว่า พ่อค้าแม่ค้าที่อยากขายของออนไลน์ตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเองอีกแล้ว เพราะทุกวันนี้มีบริษัทที่คอยให้บริการรับทำหน้าที่เหล่านั้นแทนทุกอย่าง เพียงแค่มีสินค้า แล้วนำไปฝากไว้ในแวร์เฮาส์ผู้ให้บริการ บริษัทเหล่านี้จะคอยดูแลทุกขั้นตอนให้ ตั้งแต่การนำไปโพสต์บนมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ หรือกระจายไปให้ตัวแทนที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำการขายสินค้าให้ โดยคิดค่าบริการเป็นส่วนแบ่งจากยอดขายที่ขายได้
6. บริการสนับสนุน E-Commerce โตขึ้นอย่างคึกคัก
นอกจากบริการด้านการขายที่เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของ E-Commerce แล้ว บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ทั้งธุรกิจขนส่ง แวร์เฮาส์ บริการรับชำระเงิน และอื่นๆ คุณภาวุธกล่าวว่า บริษัทขนส่งทุกวันนี้เริ่มมีให้เลือกมากมาย และแต่ละบริษัทก็จะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ขณะเดียวกันในเรื่องของแวร์เฮาส์ก็มีตัวเลือกอยู่มากมาย ทุกวันนี้พ่อค้าแม่ค้าไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าไว้ที่บ้าน ไม่ต้องมานั่งแพคของเองอีกแล้ว แค่นำสินค้าไปฝากไว้กับแวร์เฮาส์ก็จะมีคนคอยดูแลสต็อก แพค และส่งของให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างสะดวกสบาย เจ้าของร้านก็จะมีเวลามานั่งวางแผนธุรกิจของตัวเองได้มากขึ้น
7. ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing)
เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์อย่างการทำการตลาดแบบ Affiliate Marketing โดยอาศัยสื่อกลางในการช่วยโปรโมทสินค้า เช่น เว็บไซต์ Cash Back ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเว็บไซต์ Cash Back ที่ว่านี้ก็คือ เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่โปรโมทสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ โดยจะดึงลูกค้าไปยังเว็บทางการของแบรนด์โดยตรง และคืนเงินให้กับลูกค้าที่เข้าไปซื้อของกับเว็บของแบรนด์นั้น ๆ ในจำนวนเปอร์เซ็นต์ตามที่กำหนด หรือเว็บไซต์แบบ Drop Shipping ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสินค้าอยู่แต่ไม่สะดวกขาย หรือไม่มีคนช่วยขาย นำสินค้ามาลงไว้ เพื่อให้ผู้ที่อยากขายแต่ไม่มีสินค้ามาหาเพื่อนำไปขาย โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าเอาไว้ที่ตัวเอง เพียงแต่นำสินค้าไปโปรโมท เมื่อขายได้ก็ส่งออเดอร์ให้กับเจ้าของสินค้าแล้วกินส่วนแบ่งจากการขาย
8. การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเริ่มเติบโต (Cross Border)
ภาวุธกล่าวต่อไปว่า ปีนี้จะได้เห็นมูลค่าการค้าแบบ E-Commerce ระหว่างประเทศที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเริ่มมีเว็บไซต์จากต่างประเทศเข้ามาขายของในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็สนใจส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศกันมากขึ้น "การขายของข้ามประเทศจึงเป็นอีกเทรนด์ที่จะเติบโตมากขึ้น ไทยเป็นแหล่งสินค้ามากมายในอาเซียน สินค้าไทยที่อยู่ในตลาดไทยแข่งกันดุเดือดมาก เพราะมีเหมือนๆกัน แต่สินค้าไทยพอไปอยู่ในตลาดโลกแล้ว มีโอกาสมาก เพราะไม่ค่อยมีคู่แข่ง"
9. Social Commerce โตอย่างต่อเนื่อง
อีกเทรนด์สำคัญที่เห็นได้ชัดในปีนี้ก็คือ โซเซียลคอมเมิร์ซ ซึ่งจะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับเทรนด์ที่น่าสนใจในตอนนี้ก็คือ เฟซบุ๊ก กรุ๊ป ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่เป็นแหล่งรวมคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน มีความสนใจเหมือนๆ กันมาอยู่ด้วยกัน นั่นหมายความว่า เป็นแหล่งรวมลูกค้ากลุ่มเดียวกัน จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามต้องการได้ตรงเป้ามากขึ้น นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ ยังเป็นอีกปรากฏการณ์สำคัญ โดยคุณภาวุธระบุว่า "การไลฟ์ หรือการถ่ายทอดสด ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดในการทำ E-Commerce ไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่การทำ E-commerce จะไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ไม่พบกับลูกค้าตรงๆ แต่การทำไลฟ์เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าเจ้าของสินค้าสื่อสารกับผู้บริโภคได้เลย พอไลฟ์แล้วจะสามารถพูดคุยและสังเกตได้ว่าลูกค้าต้องการแบบไหน ทำให้โน้มน้าวลูกค้า และสามารถปิดการขายได้ไม่ยาก"
10. การตลาดรูปแบบใหม่ จะฉลาดเป็นกรด
การตลาดรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำ Facebook Ads หรือ Google Adwords จะเริ่มเข้ามา เพราะตอนนี้สิ่งที่เห็นชัดคือ คนทั่วไปเริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูดถึงตัวเอง แต่เชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์นั้นมากกว่า ชอบคนรีวิว ดังนั้นเลยเกิดยุคการตลาดที่เรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ขึ้นมา หรือแม้แต่การทำการตลาดแบบ Marketing Automation (MA) ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถติดตามพฤติกรรมลูกค้าได้ โดยอาศัยเครื่องมือคำนวณหลังบ้าน เพื่อนำมาใช้ในการวางกลยุทธ์การตลาดต่อไป
นอกจากเทรนด์ทั้ง 10 ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซควรตระหนักก็คือ "อย่าไปอยู่บนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง อย่าเอาชีวิตไม่ฝากไว้กับแพลตฟอร์มเดียว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับแพลตฟอร์มเหล่านั้น คุณจะได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิธีการคือควรต้องบาลานซ์ช่องทาง เว็บตัวเองต้องมี โซเซียลมีเดียต้องทำ สินค้าเข้ามาร์เกตเพลสก็ต้องเข้า แต่ว่าจะให้น้ำหนักกับช่องทางไหนมากกว่า ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ที่สำคัญคือต้องบาลานซ์ช่องทางให้ได้" คุณภาวุธกล่าวปิดท้าย