ความเคลื่อนไหวของสื่อไทยในช่วงครึ่งปีแรกเป็นไปอย่างน่าสนใจและติดตาม ด้วยสื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุค Digital disruption ทั้งในแง่ของรูปแบบการนำเสนอ คอนเทนต์และแพลตฟอร์ม แต่ก็ใช่ว่าจะรับประกันถึงความอยู่รอดในระยะยาว ด้วยเทคโนโลยี, อัลกอริทีม และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตอดเวลา จึงทำให้เราได้เห็นภาพของนิตยสารที่ทยอยลาแผงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทีวีดิจิทัลเจ็บหนักกอดคอกันคืนช่อง และโซเชียลมีเดียที่ถูกนำมาใช้เป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอคอนเทนต์กันอย่างเต็มที่ ข่าวปลอมข่ากุทั้งหลายแพร่กระจายอย่างกับดอกเห็ด แล้วครึ่งปีหลังแวดวงสื่อจะเป็นอย่างไร Media Talk จะพาไปดูกัน
ต้านไม่ไหว! นิตยสารพาเหรดลาแผงหนังสืออย่างต่อเนื่อง
สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2562 แนวโน้มของนิตยสารทั้งหัวไทยและหัวนอกยังคงอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยนิตยสารหลายหัวได้ทยอยปิดตัวไปถึง 21 ราย ไม่ว่าจะเป็น GM 2000, GM Biz, mother & care, Elle Decoration, BUS & TRUCK, HAMBURGER, ครัวคุณต๋อย, Lonely Planet, เกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย, รักษ์เกษตร, Enterprise ITPro, THE POWER LOGISTICS, Thailand Economic & Business Review, Cleo, MiX, Star Fashion, เครือข่าย รายเดือน วิจารณ์, แฟชั่นรีวิว, B-CONNECT, C MAX CAR และ Science Illustrated
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับงบโฆษณาในช่วงครึ่งปีแรก โดยบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. 2562 สื่อนิตยสารมีงบโฆษณามูลค่า 515 ล้านบาท หรือติดลบ 21.13% เมื่อเทียบรายปี จากเดิมที่มีมูลค่า 653 ล้านบาท
ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า "ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นิตยสารจะอยู่ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะนิตยสารที่มีต้นทุนสูงและหัวต่างประเทศ ถ้ารายได้สปอนเซอร์ที่ได้มาไม่สามารถคัพเวอร์ได้หมด และหากสายป่านไม่ยาวพอก็มีแนวโน้มว่าอาจจะอยู่ลำบาก แต่ถ้าหากสายป่านยังยาวพอ และยังสามารถใช้ตัวนิตยสารเพื่อต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ก็อาจจะยังอยู่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้น เราอาจจะเห็นการปิดตัวของนิตยสารเพิ่มขึ้นอีก หรือหากอยู่ได้ ก็จะอยู่แบบเลือดอาบ"
การที่นิตยสารหลายเจ้าเลือกปิดตัวไปนั้น ส่งผลให้ช่องทางการโฆษณาผ่านนิตยสารฉบับตีพิมพ์มีจำนวนลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ทั้งผู้ประกอบการนิตยสารและผู้ที่ต้องการลงโฆษณา ต่างหันไปให้ความสนใจในช่องทางอื่น ๆ มากกว่า เช่น ช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบันที่เกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา
ด้วยเหตุนี้ แม้นิตยสารหลายเจ้าจะประกาศโบกมือลาแผงหนังสือไป แต่พวกเขาก็ยังขอฮึดสู้ผันตัวเองเข้าไปสู้สังเวียนในโลกออนไลน์ ซึ่งในปีนี้เราอาจจะได้เห็นการทำคอนเทนต์ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อดึงดูดฐานคนอ่านให้ยังเหนียวแน่น บนแพลตฟอร์มที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้
ทีวีดิจิทัลแข่งเดือด ท่ามกลางศึกรอบด้าน
สำหรับทีวีดิจิทัล ในปีนี้คงไม่มีข่าวไหนโดดเด่นไปกว่าการที่กสทช.อนุมัติให้คืนช่องได้ โดยมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินจำนวน 7 ช่อง คือ
- ไบรท์ทีวี 20
- บมจ.อสมท (MCOT) คืนช่อง 14 MCOT family
- บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) คืนช่อง สปริงส์นิวส์ 19
- บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด คืนช่อง วอยซ์ทีวี 21
- บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) (บริษัท สปริงส์ 26) คืนช่อง สปริงส์ 26
- บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คืนช่อง ช่อง 28 SD และช่อง 13 Family
ทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน จึงเหลืออยู่ 15 ช่อง จากที่เปิดประมูลใบอนุญาตทั้งหมด 24 ช่อง แต่ว่าช่อง LOCA และ THV ของ "นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด และ บริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล จำนวน 2 ช่อง ยุติการดำเนินการไปก่อนหน้ำนี้
เมื่อ 5G และ OTT เข้ามาเบียดทีวีดิจิทัล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การขอคืนช่องทีวีดิจิทัลมาจากแนวโน้มที่เห็นว่าเมื่อมีระบบ 5G จะส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัล จากปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจาก 3G/4G ทำให้ทุกคนหันไปชมรายการต่าง ๆ ผ่านช่อง OTT (Over-the-top) เพิ่มขึ้น และดูทีวีน้อยลง โดยจะได้ค่าชดเชยจากการคืนใบอนุญาต รวมกับค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน ประกอบกับค่าใบอนุญาตงวดที่ 5-6 ที่จะยกเว้นให้ผู้รับอนุญาตจ่ายค่าชดเชยสุทธิ 2.9 พันล้านบาท ดังนี้
1. บริษัท สปริง 26 จำกัด (หมายเลขช่อง 26 หรือช่อง NOW เดิม) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 ส.ค. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 675,764,580.43 บาท
2. บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (หมายเลขช่อง 19 หรือช่อง Spring News) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 ส.ค. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 500,951,978.91 บาท
3. บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (หมายเลขช่อง 20) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 ส.ค. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 371,983,430.95 บาท
4. บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด (หมายเลขช่อง 21) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 31 ส.ค. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 378,054,170.42 บาท
5. บมจ.อสมท (MCOT) (หมายเลขช่อง 14 หรือช่อง MCOT Family) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 ก.ย. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 163,298,367.32 บาท
6. บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (หมายเลขช่อง 28 หรือ ช่อง 3SD) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 680,083,695.45 บาท
7. บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (หมายเลขช่อง 13 หรือ ช่อง 3 Family) จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 162,543,837.27 บาท
ทั้งนี้ ทั้ง 7 ช่องจะสามารถขอรับเงินค่าชดเชยดังกล่าวกับทางสำนักงานกสทช. ได้ในวันหลังจากยุติการออกอากาศแล้ว
ขณะที่ช่อง LOCA และ THV ได้ยุติการดำเนินการไปก่อนหน้านี้นั้น นางพันธุ์ทิพาได้ออกมาแถลงข่าวว่า ทั้ง 2 ช่องไม่สามารถขอรับเงินชดเชยตามมาตรการเยียวยาดังกล่าวได้ แต่ยังคงเดินหน้ายื่นฟ้องกสทช. ต่อเป็นจำนวนเงิน 1,134,991,689 บาท เนื่องจากการดำเนินนโยบายทีวีดิจิทัลที่ผิดพลาด โดยเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ศาลจึงจะมีคำพิพากษาตัดสินออกมา
จับตาการจัดตั้งหน่วยงานใหม่และวิธีการวัดเรทติ้งใหม่ของทีวีดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการที่กสทช.เล็งจัดทำวิธีการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (เรทติ้ง) แบบใหม่เพื่อทำเรทติ้งให้ถูกต้องให้อุตสาหกรรมทีวีอยู่รอดได้ เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทีวีดิจิทัลต่างขอคืนในอนุญาตนั้นเป็นเพราะรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากลูกค้าไม่ซื้อโฆษณาเพราะเรทติ้งไม่ดี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมการรับชมรายการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าเดิม ทำให้การวัดเรทติ้งรายการจากโทรทัศน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป กสทช.จึงตัดสินใจจัดประชุมรับฟังแนวทางและวิธีการสำรวจเรทติ้ง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออก
ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุดนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายและวิธีการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งต้องครอบคลุมถึงช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งทางกสทช.จะส่งข้อสรุปให้สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลตรวจสอบและเลือกบริษัทที่เหมาะสมที่สุดอีกครั้ง
ส่องภาพรวมทีวีดิจิทัลในมุมมอง "ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์"
ดร.มานะ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ในส่วนของทีวีดิจิทัล ถึงแม้ว่าจะมีการคืนคลื่นไปแล้วก็ตาม ภาพที่ออกมาก็คือ เรายังคงเห็นการเปลี่ยนถ่ายคนทำงานบางส่วนนะครับ ก็คงจะมีการแข่งในเรื่องของตัวคอนเทนต์เป็นหลัก อย่างเช่นละคร อย่างเช่นเรื่องข่าวมากขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวคอนเทนต์ของกีฬาในบางประเภทนะครับ ที่ยังสร้างเรทติ้ง แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วเรทติ้ง 5 อันดับแรกก็คงยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลงอันดับเท่าไหร่ ในส่วนของ 6-10 อาจมีขยับบ้างจากเกือบ 10 มาบ้าง แต่หลัก ๆ แล้ว เรทติ้งยังใกล้เคียงกันอยู่ แต่ส่วนที่น้อยกว่านั้นลงไปเนี่ยก็เหนื่อยหน่อยที่จะอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนปรนจากกสทช.แล้ว อีกหน่อยคงเห็นภาพการเลย์ออฟจากที่ต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ
จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมค่อนข้างอิ่มตัว Twitter ยังมาแรงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กแลอินสตาแกรมไทยเริ่มอิ่มตัวแล้ว หลังจากที่มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ กระแสความนิยมดังกล่าวได้ไปปรากฏบนอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง นั่นคือ ทวิตเตอร์ ซึ่งข้อมูลจาก Wisesight ระบุว่า ยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์เป็นประจำ ณ เดือนพ.ค. ปีนี้ อยู่ที่ 9.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 66.7% เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์ปี 2018 จากงาน Thailand Zocial Awards 2018 ที่เคยประกาศไว้ที่ 5.7 ล้านราย
ทวิตเตอร์ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ หลังยอดผู้ใช้งานปีที่แล้วก็ทะยานขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยคุณอาร์วินเดอร์ กุจราล กรรมการผู้จัดการประจำทวิตเตอร์ เอเชียแปซิฟิก เคยกล่าวที่งาน DAAT DAY 2018 ว่า ไทยมียอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์เติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลัก ๆ ในปีนี้ยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา ขณะที่หัวข้อการสนทนาที่แต่เดิมเน้นหนักเรื่องความบันเทิง เช่น ศิลปินเกาหลี และภาพยนตร์-ละครนั้น ขณะนี้ได้เริ่มขยับขยายมาพูดคุยในประเด็นที่กว้างขึ้น เช่น ข่าวการเมือง การจราจร
ในฝั่งของแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาทุ่มโปรโมทแบรนด์ใน Twitter กันมากขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมทวิตเตอร์ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายของหลายแบรนด์ด้วยกัน โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้ประกาศ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำในไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวัดจากการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 สำหรับแบรนด์ที่ติดอันดับนั้นครอบคลุมหลายกลุ่มสินค้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม อาหาร ของกินของใช้ และสินค้าไอที แบรนด์ที่ติดอันดับนั้นได้แก่ AIS, Oishi, Watsons, Samsung, MK Restaurants, KBank, 7-Eleven, L’Oreal Paris, Wall’s และ Lays
การที่ทวิตเตอร์ได้ประกาศ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำในไทยเป็นครั้งแรกนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับทวิตเตอร์มากขึ้น เพื่อใช้แพลตฟอร์มนี้โปรโมทผลิตภัณฑ์และบริการของแบรนด์ และสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายในลักษณะที่เป็นกันเองและทันใจกว่า เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองมากมายเหมือนแพลตฟอร์มอื่น ขณะเดียวกัน แม้ยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยจะพุ่งสูงขึ้นมาก แต่การใช้งานทวิตเตอร์ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เท่ากับว่าทวิตเตอร์ยังมีโอกาสเติบโตรออยู่อีกมาก ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไปว่าทวิตเตอร์ จะยังรักษาความนิยมนี้ต่อไปได้หรือไม่
โซเชียลมีเดียนอกจากจะได้รับความนิยมแซงหน้าสื่ออื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยความเร็วและความสะดวกในการใช้งาน โซเชียลมีเดียก็นำมาซึ่งปรากฎการณ์ "ข่าวปลอมข่าวกุ"
ดร.มานะ กล่าวว่า ข่าวปลอมข่าวหลอกก็คงจะมีมากขึ้นแต่คนก็คงจะระวังมากขึ้นแล้ว แต่คนก็จะเริ่มเตือนกันเวลาที่มีข่าวปรากฎการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก็มีการเตือนกันเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันปริมาณของข่าวปลอมก็ไม่ได้ลดน้อยลง อาจจะมีการเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์เองเนี่ย เป็นแหล่งหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นหรือเด็กรุ่นหลังเล่น หนีจากเฟซบุ๊กมาทวิตเตอร์กับอินสตาแกรมค่อนข้างเยอะ แล้วก็เป็นตัวหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนนะครับ คนที่เล่นเฟซบุ๊กกลายเป็น Gen-X เป็นส่วนใหญ่นะครับ Gen-X, Gen-Y ที่ยังเล่นโซเชียลมีเดียชนิดประเภทเฟซบุ๊กเยอะ
จับตาแนวโน้มสื่อครึ่งปีหลังกับดร.มานะ
ดร.มานะ มองว่า ครึ่งปีหลังโดยรวมในตัวของเฟซบุ๊กหรือว่าโซเชียลมีเดียหลายแห่งก็จะพยายามปรับอัลกอริทึมนะครับ เน้นในเรื่องของวิดีโอมากขึ้น ปลายปีก็น่าจะมีการคุยกันมากขึ้นถึงเรื่องของการประมูล 5G จะมีการนำเรื่อง 5G มาพูดกันมากในช่วงท้ายปีหรือต้นปีหน้ามากขึ้น แนวโน้มความสำคัญของเรื่อง 5G ก็อาจจะมีการคุยกันมากขึ้น ว่ามันจะมีผลยังไง แต่ว่าในปลายปีที่จะถึงนี้ โซเชียลมีเดียจะเริ่มให้ค่ากับวิดีโอที่มีความยาวมากขึ้น ในส่วนของเฟซบุ๊ก คือแทนที่จะเป็นวิดีโอสั้น ๆ 3-5 นาที ก็จะเริ่มปรับอัลกอริทึมเพื่อเปิดให้กับวิดีโอที่มีความยาวนานขึ้นหน่อยได้มีโอกาสฟีดขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะดึงเอาสายตาจากจอทีวีดิจิทัล ก็อาจจะเป็นตัวหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกับช่องทีวีใหม่อีกช่องหนึ่งเกิดขึ้นมานะครับ นอกเหนือจากทีวีดิจิทัลที่เป็นคู่แข่งเอง