สื่อยุคนี้คงจะคุ้นชินกับคอนเซ็ปต์เรื่องการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในยุคดิจิทัล แต่แค่ปรับตัวนั้นยังไม่พอ การผลิตและนำเสนอคอนเทนต์ตลอดจนการทำธุรกิจยังต้องปัง แต่จะทำอย่างไรให้การทำหน้าที่สื่อ การนำเสนอคอนเทนต์ และการสร้างรายได้ไปด้วยกันได้ "Digital Disruption ไม่ปัง ก็ พัง ทางรอดของคนวงการสื่อกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ" งานสัมมนาที่เชิญตัวแทนสื่อในแวดวงต่างๆมาถกถึงสิ่งที่ตนเองทำอยู่และมองว่าจะทำ รวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะให้คำตอบได้กับคำถามข้างต้น
นายสฤษฎ์เดช มฤคทัต บรรณาธิการข่าวดิจิทัล บางกอกโพสต์ แสดงความเห็นในมุมมองของสื่อและบริษัทสื่อฯว่า การพลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัลส่งผลกระทบต่อวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เนื่องจากทุกคนสามารถนำเสนอข่าวหรือเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็วผ่านอุปกรณ์และเทคโนโลยีโดยตรง จุดแข็งในการนำเสนอข่าวที่รวดเร็วของสื่อจึงหายไป สื่อต้องหันกลับมาเน้นในเรื่องของความลึกที่สามารถต่อยอดได้ พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ในปัจจุบันรฟท.ได้นำเสนอข่าวอุบัติเหตุรถไฟผ่านทางเฟซบุ๊กของหน่วยงาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมรวดเร็ว ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้สื่ออยู่รอดและแตกต่างคือ การหยิบข้อมูลที่รายงานจากรฟท.ไปต่อยอดให้ลึกขึ้น และเพิ่มมูลค่าเป็นของตัวเองให้ได้
นอกจากนี้ บรรณาธิการข่าวดิจิทัล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน บางกอกโพสต์ กำลังเร่งพลิกโฉมองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร และกลยุทธ์การบริหาร บริษัทวางเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนมานำเสนอข่าวผ่านช่องทางดิจิทัลบนเว็บไซต์ของตัวเอง ด้วยการดึงผู้อ่านจากแพลตฟอร์มอื่น เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ที่เปรียบเป็นตัวกลางที่ล่อให้ผู้อ่านคลิกเข้าเว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ และสร้าง engagemnt ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้อย่างแท้จริง บริษัทจึงสร้างช่องคอมเมนท์ข่าวที่กลุ่มผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยน สอบถามความเห็นกับผู้เขียนในเว็บไซต์ ซึ่งจะมีแอดมินที่คอยดูแลเว็บไซต์
ด้าน นายโชกุล ศกุณต์ไชย อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ผลิตคอนเทนต์ ลูกชายคนโตของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล นิตยสารบันเทิงชั้นนำของไทย เปิดใจว่า การพลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัลไม่ส่งผลกระทบแต่เพียงสื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นการพลิกโฉมระดับอุตสาหกรรม เพราะทุกธุรกิจสามารถก้าวขึ้นมาทำโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือองค์กรของตนได้โดยไม่ต้องผ่านสื่อเก่า ดังนั้น สื่อจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นการปรับตัวผ่านการสร้างความร่วมมือ (collaboration) กับธุรกิจอื่นๆ และแตกแขนงธุรกิจของตัวเอง (diversification) ด้วยการต่อยอดรากฐานเดิมที่สะสมความน่าเชื่อถือมาอย่างยาวนาน และได้ยกตัวอย่างนิตยสารด้านบันเทิงที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับดาราว่า นิตยสารประเภทบันเทิงสามารถต่อยอดธุรกิจได้ด้วยการทำ influencer marketing ซึ่งนอกเหนือไปจากการขายข่าวดาราแบบเดิมเท่านั้น
นายภัทรินทร เทวาภิภัทรภูวดล ผู้ผลิตรายการ Workpoint ซึ่งรับผิดชอบรายการชื่อดังอย่างคนอวดผี เลขอวดกรรม และ Let me in Season 3 คู่แฝดคู่แฟน กล่าวว่า โจทย์ที่ต้องคิดคือเราทำรายการให้ใครดู เนื่องจากปัจจุบันคนดูไม่ได้เจาะจงอีกแล้วว่าต้องมาดูรายการนี้ ตอนนี้ แต่สามารถดูได้จากทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นรายการต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนวิธีนำเสนอ โดยช่วงต้นรายการนั้นสำคัญที่สุด ผู้ทำรายการต้องนำสิ่งที่ดีที่สุดมาไว้ต้นรายการเพื่อดึงดูดคนดูให้ได้
หรือถ้าเป็นในส่วนของแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียอย่างเช่นเฟซบุ๊ก หรือยูทูบนั้น ภาพตัวอย่าง ชื่อคลิป และช่วงต้นคลิปนั้นจะมีความสำคัญมาก โดยคนดูปัจจุบันนั้นจะมองแค่ช่วงต้นของรายการหรือคลิป ถ้ารู้สึกว่าไม่น่าสนใจก็จะข้ามคลิปนั้นไปเลย และอีกอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ในปัจจุบัน คือการทำซับไตเติลไว้ในวิดีโอ เนื่องจากในปัจจุบันนั้น กลุ่มคนดูหลายรายเปิดดูรายการในสถานที่ที่ไม่สามารถเปิดเสียงได้
นอกจากนี้ ภัทรินทรยังกล่าวด้วยว่า บุคลากรในองค์กรต้องทำได้ทุกอย่าง และปรับตัวตามคนดู ตอบสนองต่อสิ่งที่คนดูต้องการ อีกอย่างคือ อย่ามองว่าการทำงานมานาน แปลว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกทั้งหมด สิ่งที่ต้องทำคือการฟังเด็กรุ่นใหม่บ้าง เพราะสิ่งที่เรารู้กับสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่รู้ มุมมองของเรากับมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ อาจจะไม่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด
ทางด้านนายปกรณ์ รัตนทรัพย์ศิริ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ MONO29 มองว่า สิ่งที่สำคัญคือการเล่าเรื่อง เดิมสื่อเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับผลลัพธ์ แต่ปัจจุบันนั้นไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนั้นแล้ว เทคโนโลยีทำให้เกิดสื่อขึ้นมามากมาย แต่ก็นำมาซึ่งความสงสัยว่า สิ่งที่สื่อออกมาให้เห็นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และสุดท้ายคนดูก็จะหันกลับมามองหาสื่อรายเก่า ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ที่เป็นสื่อจริง ๆ
คุณปกรณ์ยังมองว่า องค์กรนั้นต้องปรับตัว ถ้าใช้วิธีเดิม องค์ประกอบเดิม ต่อให้ทำดีแค่ไหนผลลัพธ์ก็จะไม่ดีกว่าเดิม ดังนั้นถ้าอยากให้ดีกว่าเดิมต้องหาวิธีใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่นการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ 2 แบรนด์ที่อยู่คนละส่วนกัน หรือเคยเป็นคู่แข่งกัน เช่น MONO กับ แกรมมี่ ที่จะร่วมมือกันทำเพลงและภาพยนตร์
ในการปรับตัวนั้น เรื่องคนสำคัญที่สุด สิ่งที่ผู้นำแสดงออกมานั้น จะสะท้อนถึงตัวองค์กร และสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของตัวองค์กรด้วย ตอนนี้ผู้นำต้องแสดงตัวตนออกมาให้โลกได้รู้จักว่าคุณคือใคร นอกจากนี้ mindset ของคนในองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเป็นไปในทางเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และสามารถสื่อสารให้เข้าใจกันในองค์กรได้ เราก็จะสามารถควบคุมการกระทำให้เป็นไปในทางเดียวกันได้
ปกรณ์ มองว่า วงการสื่อต้องคอยจับตาดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น สื่อต่าง ๆ อาจจะไม่ถึงกับอยู่ไม่ได้ แต่ต้องปรับตัว โดยความสำคัญยังคงอยู่ที่คอนเทนต์และความน่าเชื่อถือ แม้วิธีหรือแพลตฟอร์มที่ใช้นำเสนอจะเปลี่ยนไปก็ตาม
ทางด้านคุณภัทรินทร มองว่า สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ในอนาคตสื่อจะเป็นอย่างไร จะนำเสนออะไร และคนรุ่นใหม่จะได้รับอะไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่รายการเด็กนั้นตายจากไปแล้ว ถ้าหากเด็กต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับช่วงวัย เขาจะหาได้จากที่ใด ตอนนั้นจะยังมีให้รับชมอยู่หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุม ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา