Media Talk: แกะรอย 6 Shifts เด่นวงการโซเชียลมีเดียและผู้บริโภคไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 27, 2020 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2562 และส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 ในงาน Thailand Zocial Awards 2020 ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ The SHIFT of Consumer Insight ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันดับแรก หรือ Shift ที่ 1 ได้แก่ Conversation Shift ยอดการใช้โซเชียลมีเดียในไทยยังคงมีปริมาณเท่าเดิม ขณะที่ปริมาณการส่งข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สถิติจำนวนข้อความบนโลกโซเชียลตลอด ปี 2561 ที่สูงถึง 7.2 พันล้านข้อความ สูงขึ้นจากปีก่อน 36% ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 74% เท่ากับปีที่แล้ว ในส่วนของแบรนด์ที่ไวซ์ไซท์เก็บข้อมูลจาก 1,399 แบรนด์ พบว่า 84% ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

Shift ที่ 2 ได้แก่ ค่า P90 ซึ่งเป็นค่ากลางที่ทางไวซ์ไซท์ได้จัดทำขึ้นมา เพื่อวัดประสิทธิภาพของคอนเทนต์ที่ได้มีการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มสื่อประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะมีการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ยอดเอ็นเกจเมนต์ ฯ

คุณกล้าเผยว่า ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีค่ากลางเพื่อใช้วัดผลการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียว่ามีประสิทธิภาพหรือทำได้ดีพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ในแพลตฟอร์ม YouTubeมีค่ากลาง คือ ถ้าได้รับค่าวิว 630,480 วิว จะถือว่าคลิปนั้นมีประสิทธิภาพ และถ้าเจาะลึกลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้านมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมรวมถึงโยเกิร์ต ไอศกรีม ต้องมีค่าวิวถึง 9,074,842 วิว ถึงจะเรียกว่ามีประสิทธิภาพเป็นต้น

Shift ที่ 3 ได้แก่ Multi-Categories Influencers ก่อนหน้านี้ จะมีการแบ่งประเภทของอินฟลูเอ็นเซอร์กันอย่างชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขอบเขตในการกำหนดประเภทอินฟลูเอ็นเซอร์ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการทำและนำเสนอคอนเทนต์ของอินฟลูเอ็นเซอร์ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น คงจะพูดได้ว่า Influencing boundary is blurred. หรือประเภทของอินฟลูเอ็นเซอร์ถูกกลืนจนไม่มีความชัดเจนดังเดิมไปเสียแล้ว

คุณกล้า กล่าวว่า 97% ของอินฟลูเอ็นเซอร์ได้เผยแพร่คอนเทนต์ของตนเองอย่างน้อย 2 ประเภทด้วยกัน เช่น อินฟลูเอ็นเซอร์สายบิวตี้ ไม่ได้ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการแต่งหน้าหรือเครื่องสำอางเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป บิวตี้บล็อกเกอร์หลายรายทำคอนเทนต์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รีวิวอาหาร ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การใช้อินฟลูเอ็นเซอร์ เพื่อทำตลาดแบบดิจิทัลแบบเดิมนั้น ควรจะต้องพิจารณาข้อมูลเส้นแบ่งประเภทของอินฟลูเอ็นเซอร์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้แคมเปญการทำตลาดของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

Shift ที่ 4 หรือ "ลูกทุ่ง Rocks" เป็นเรื่องราวของคอนเทนต์เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งที่มีความโดดเด่น ด้วยปริมาณการรับชมคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งผ่านทางยูทูปเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทางฝ่ายการตลาดหรือแบรนด์ทั้งหลายน่าจะสามารถนำไปใช้กำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้

Shift ที่ 5 ได้แก่ Dark side จากการรวบรวมสถิติและข้อมูลของไวซ์ไซท์ พบว่า ในปี 2562 นั้น มีการส่งข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน การกลั่นแกล้งกันหรือบุลลี่ และข้อความที่เกี่ยวกับบริการทางเพศ เป็นจำนวนมาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปในสังคม และทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเหล่านี้ได้

Shift ที่ 6 ได้แก่ Social Listening ซึ่งเป็นเรื่องราวของการวัดประสิทธิผลและการจัดทำข้อมูลเชิงลึกด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. โดยในปี 2563 ปริมาณข้อมูลจะมีมหาศาล การวัดผลการใช้งานสื่อและการใช้ข้อมูลเชิงลึกท่ามกลางข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้ จะช่วยให้แบรนด์หรือนักการตลาดสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการวัดฟีดแบคบนโซเชียลมีเดีย การจัดเรตติ้งของอินฟลูเอ็นเซอร์ หรือการวัดฟีดแบคในภาคธุรกิจต่าง ๆ

ในปีนี้ สิ่งที่แบรนด์ควรจะให้ความสำคัญคือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง รวมทั้งเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ