Media Talk: โซเชียลแพลตฟอร์มดังร่วมแชร์เทรนด์มาแรงในไทย พร้อมนำเสนอฟีเจอร์น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday February 27, 2020 18:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) เปิดเวทีใหญ่ให้เหล่าโซเชียลแพลตฟอร์มชั้นนำระดับโลกได้มาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปบนโลกโซเชียลตลอดปี 2562 และแนวโน้มใหม่ ๆ ที่น่าจับตาในปี 2563 ณ งาน Thailand Zocial Awards 2020 โดยในเวทีนี้ ไวซ์ไซท์ ได้เชิญผู้บริหารจากโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ มาร่วมแชร์เทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลของไทย และนำเสนอฟีเจอร์ที่น่าสนใจของแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปใช้กับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

*วิดีโอแนวตั้ง ฟีเจอร์ Stories กำลังมาแรง คนไทยนิยมซื้อของออนไลน์ผ่านแอปแชท

คุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ ผู้บริหาร เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทรนด์การรับชมวิดีโอปรากฏให้เห็นว่า วิดีโอแนวตั้งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตคอนเทนต์ได้เริ่มทำวิดีโอแนวตั้งเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์นี้บ้างแล้ว เช่น มิวสิควิดีโอล่าสุดจากศิลปินชื่อดังอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์ หรือแม้แต่แบรนด์ไอทีชื่อดังอย่างซัมซุง ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทย

เหตุผลที่ทำให้วิดีโอแนวตั้งได้รับความนิยมนั้น เป็นเพราะดูได้ง่าย ใช้มือถือสมาร์ทโฟนข้างเดียวก็ดูได้ไม่ลำบาก เมื่อเทียบกับวิดีโอแนวนอนที่อาจต้องถือทั้งสองมือ ซึ่งมีข้อมูลสถิติรับรองเทรนด์นี้ด้วยว่า ผู้เข้าชมเว็บไซต์วิดีโอหันมาถือมือถือเพื่อชมวิดีโอในแนวตั้งเพิ่มขึ้นถึง 82.5%

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจในไทยคือ การใช้ฟีเจอร์ Stories หรือการลงรูป-คลิปสั้น ๆ แบบเรียลไทม์และรูปหรือคลิปนั้นๆ จะหายไปในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งคุณสิรินิธิ์ ยกให้เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และเฟซบุ๊กเองก็ให้ความสำคัญจนนำฟีเจอร์ Stories ขึ้นบนทุกแอปที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ ได้แก่ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ และวอตส์แอปป์

คุณสิรินิธิ์ เปิดเผยว่า ฟีเจอร์ Stories มีการใช้งานสูงมากและยังเข้าถึงคนทุกวัยด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีลูกเล่นเยอะ ทำให้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด นอกจากนี้ การที่รูปและคลิปที่โพสต์จะหายไปใน 24 ชั่วโมงนั้นทำให้ผู้ใช้งานแชร์สิ่งที่ต้องการแชร์ได้เลย ไม่ต้องมาคอยประดิดประดอยสิ่งที่ต้องการจะโพสต์แบบปกติ เช่น ผู้ใช้บางรายอาจใช้เวลาคิดนานมากกว่าจะโพสต์สเตตัสได้ หรือแต่งรูปนานกว่าจะตัดสินใจลงสักรูปหนึ่ง ทำให้คอนเทนต์ที่ออกมาบน Stories มีความ "จริงใจ" กว่าเพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดอะไรมาก และ "เรียลไทม์" กว่า เมื่อเทียบกับโพสต์ทั่วไปที่ปรากฏบนไทม์ไลน์ซึ่งหลายโพสต์อาจนานหลายวันแล้ว

ขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถนำฟีเจอร์ Stories ไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่ามีเพียงธุรกิจรีเทลที่ได้ประโยชน์ โดยผลสำรวจระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 84% มีความสนใจแบรนด์/ผลิตภัณฑ์มากขึ้นหลังจากที่เห็นสินค้าใน Stories ขณะที่ 63% มีการกดหาข้อมูลเพิ่มเติม และ 60% มีการซื้อผลิตภัณฑ์/บริการที่ตนเห็นบน Stories

สำหรับเทรนด์ที่ทำให้ไทยโดดเด่นกว่าประเทศอื่น คือ เทรนด์ที่เรียกว่า Conversational Commerce หรือการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านโซเชียลมีเดีย โดยคนไทยที่ตอบแบบสำรวจ 40% เคยซื้อขายสินค้าผ่านแอปแชท เมื่อเทียบกับสหรัฐที่มีการซื้อขายผ่านแอปแชทเพียง 5% นอกจากนี้ ผลสำรวจเดียวกันยังระบุด้วยว่า คนไทย 9 ใน 10 มองว่าแอปแชทมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อของตนเอง

*Facebook Watch มั่นใจในความแตกต่าง เดินหน้าผลิตพรีเมียมคอนเทนต์สำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ

ข้อมูลจากเฟซบุ๊กระบุว่า คนไทยนิยมดูคลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊ก และ Facebook Watch มากติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยคุณธารินาฎ ภัทรรังรอง ผู้จัดการกลยุทธ์ด้านพันธมิตรของบริษัท ครีเอเตอร์ และการดูแลบุคคลสาธารณะ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ Facebook Watch ได้รับความนิยมและแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นนั้น เป็นเพราะคอนเทนต์วิดีโอบน Facebook Watch ถูกปรับให้เข้ากับความสนใจของผู้ชมแต่ละคน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านการคอมเมนต์ แท็กเพื่อน และกดแชร์ ส่งผลให้คนที่กดรับชมวิดีโอบน Facebook Watch นั้น มีความสนใจในตัวคอนเทนต์จริง ๆ

นอกจากนี้ Facebook Watch ยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ เพื่อหนุนการมีส่วนร่วมที่นอกเหนือไปกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Watch Party หรือการชวนเพื่อนมาดูวิดีโอที่กำลังสตรีมอยู่ไปด้วยกัน และยังมีโพลให้ผู้ชมมีส่วนร่วมไปกับเนื้อหาในวิดีโอด้วย โดยคุณธารินาฎ ได้ยกตัวอย่างรายการหนึ่ง ซึ่งใช้ฟีเจอร์โพลเพื่อให้ผู้ชมรายการกดเลือกว่า บุคคลที่อยู่ในรายการนั้นควรแต่งตัวด้วยชุดใด ทั้งหมดนี้ทำให้การรับชมวิดีโอบน Facebook Watch มีความเป็นอินเทอร์แอคทีฟ ต่างจากการรับชมวิดีโอทั่วไปที่อยู่ในลักษณะ Passive Watching หรือการรับชมวิดีโออย่างเดียว ไม่มีการตอบสนองใด ๆ

สำหรับกลยุทธ์ของ Facebook Watch ในปีนี้ จะอยู่ที่การผลิตพรีเมียมคอนเทนต์ร่วมกับคอนเทนต์จากครีเอเตอร์ชั้นนำที่จะออกอากาศผ่าน Facebook Watch ที่เดียว ซึ่งเป็นการสานต่อสิ่งที่เคยทำมาแล้วกับช่องทีวีชื่อดังของไทย เช่น ช่อง one31 และ GMM25 หรือแม้แต่คนดังของไทยอย่างน้าเน็ก และกันต์ กันตถาวร ในการนำคอนเทนต์ขึ้น Facebook Watch โดยคอนเทนต์ที่จะนำลงแพลตฟอร์มในปีนี้ มีทั้งคอนเทนต์เพื่อคนไทยโดยเฉพาะจากการจับมือกับวูดดี้ สอดอสไตล์ และเอม ตามใจตุ๊ด ไปจนถึงคอนเทนต์ระดับโลกเสิร์ฟให้ผู้ชมชาวไทย เช่น การแข่งขันบาสเกตบอล NBA

*"ทวิตเตอร์" แพลตฟอร์มที่ให้เสียงของทุกคนดังเท่าคนดัง แนะภาคธุรกิจแทรกตัวเข้ากระแสให้เนียน

คุณเอมี่ สิทธิเสนี ตัวแทนจากทวิตเตอร์ ประเทศไทย ได้เริ่มกล่าวบนเวทีด้วยการนำเสนอข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ ได้แก่ แฮชแท็กมาแรงในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ คือ #โคโรน่าไวรัส ซึ่งมีการพูดคุยด้วยแฮชแท็กนี้กว่า 2 ล้านครั้ง ขณะที่แฮชแท็กตัวบุคคลที่มีการพูดคุยมากที่สุดตลอดทั้งปี 2562 ที่ผ่านมาคือ #เป๊กผลิตโชค ซึ่งมีการพูดคุยด้วยแฮชแท็กนี้กว่า 133 ล้านครั้ง โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่แฟนคลับของเป๊ก ผลิตโชค มักจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและลงทวิตเตอร์เป็นประจำ ส่งผลให้แฟนคลับคนอื่น ๆ รีทวีตตามเป็นทอด ๆ

คุณเอมี่ เปิดเผยว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ต้องการให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าคนดัง เพียงแค่ทวีตข้อความเพียงครั้งเดียวก็อาจมีอิทธิพลกว้างขวางอย่างที่คาดไม่ถึง โดยข้อความตั้งต้นจากคนธรรมดา ๆ คนเดียว ก็มีโอกาสเข้าถึงคนหมู่มากได้ เช่น เมื่อมีคนดังรีทวีตข้อความต่อ จนกลายเป็นที่สนใจของผู้ใช้ทวิตเตอร์กระแสหลักในท้ายที่สุด โดยความพิเศษของทวิตเตอร์คือ เมื่อมีผู้นำไปรีทวีตต่อแล้ว คนที่รีทวีตก็อาจนำไปต่อยอดด้วยภาษาของตนเอง จนทำให้คนที่เห็นข้อความที่ถูกรีทวีตดังกล่าวรู้สึกอินไปกับข้อความนี้และกระจายข่าวสารในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยในทวิตเตอร์นั้น ข้อมูลสถิติระบุว่ามีมากกว่า 1.4 พันล้านครั้งแค่ในไทยเพียงประเทศเดียว การหาจุดที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ทวิตเตอร์และแทรกตัวอย่างแนบเนียนเป็นกุญแจสำคัญ และเมื่อทำสำเร็จแล้วผลที่ได้ก็จะมหาศาล เนื่องจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์มีความสนใจกับสิ่งที่ตนเองติดตามจริง ๆ และคอนเทนต์ในทวิตเตอร์ก็สามารถแชร์ได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลายกว่าแพลตฟอร์มอื่น โดยคุณเอมี่ เปิดเผยผลสำรวจว่า ในการตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งนั้น ความรู้สึกว่าตนเองเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์/บริการบางอย่างมีอิทธิพลถึง 23% ซึ่งทิ้งห่างไม่มากจากชื่อเสียงและอันดับของแบรนด์ (29%)

*"ไลน์" เผย "ความเชื่อใจ" คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เพื่อคนไทยโดยเฉพาะ

ปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายในการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับกลุ่ม SME เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่มากมาย และยังมีสินค้าจากจีนที่พยายามช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วย อย่างไรก็ดี คุณกฤษณะ งามสม หัวหน้าฝ่ายธุรกิจโฆษณาประจำไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจกลุ่ม SME ในไทยยังคงมีการเติบโต เมื่อวัดจากยอดการเปิด Official Account ในไลน์ ซึ่งมีอัตราการเติบโต CAGR ปี 2558- 2562 สูงถึง 110%

คุณกฤษณะ เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ SME ยังคงขายได้ คือความเชื่อใจที่เกิดจากการสนทนาที่มีความปลอดภัย เพราะธุรกิจนั้นเปรียบเสมือนคนแปลกหน้าในสายตาผู้บริโภค โดยผลสำรวจระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 77% มองว่าการสนทนาผ่านมือถือเป็นการสื่อสารที่มีความปลอดภัย ตามมาด้วยแอปแชท (65%) และโซเชียลมีเดีย (45%) และยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจ 68% รู้สึกเชื่อใจแอปแชทอย่างไลน์ ไลน์จึงเป็นเครื่องมือที่ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อใจก่อนที่จะตัดสินใจซื้อมากขึ้น เช่น การแชทแบบ 1:1 กับลูกค้า

นอกจากนี้ คุณกฤษณะ ยังได้แชร์สูตรเด็ดสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจผ่านไลน์ด้วยเช่นกัน อย่างแรกคือการเปิด Official Account หลายบัญชี เพื่อรองรับลูกค้าหลายกลุ่ม สองคือการหมั่นเชิญชวนให้ผู้ใช้งานไลน์กดเพิ่มเพื่อน สามคือการใช้ฟีเจอร์ริชเมนูที่ไลน์เปิดให้ใช้กันฟรี ๆ ให้เป็นประโยชน์ และสุดท้ายคือการมีทีมงานคอยพูดคุยกับลูกค้าแบบ 1:1 โดยเฉพาะ

สำหรับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ไลน์เปิดตัวในปีนี้เพื่อเอาใจคนไทยโดยเฉพาะ ได้แก่ ฟีเจอร์แรกที่เปิดตัวไปแล้วคือ MyShop ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขายสามารถลงสินค้าเพื่อจำหน่าย ขณะที่ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีฟังก์ชันอำนวยความสะดวกมากมายคล้ายแอปมาร์เก็ตเพลสชื่อดัง แต่ยังไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของไลน์ในการพูดคุยกับผู้ขายแบบ 1:1 ส่วนอีกฟีเจอร์หนึ่งคือ Self Serve ซึ่งเป็นโฆษณารูปแบบหนึ่งเพื่อเชิญชวนให้ผู้ใช้งานไลน์กดเพิ่มเพื่อน ในรูปแบบของระบบหลังบ้านที่ทำให้ผู้ซื้อโฆษณาปรับงบและกลุ่มเป้าหมายได้เอง และมีแผนเปิดให้ใช้งานในเดือนเมษายนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ