Media Talk: "อริยะ" เผย BEC ส่ง "CH3+" ลุยแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมเปลี่ยนจุดยืนจากการขายมีเดียสู่การขายรีซอร์ส

ข่าวทั่วไป Friday February 28, 2020 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Television SHIFT for New Era การปรับตัวของวงการโทรทัศน์กับยุคสมัยปัจจุบัน" เป็นหัวข้อที่นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นเวทีงาน Thailand Zocial Awards 2020 จัดโดยบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพูดคุยถึงแนวโน้มและการปรับตัวของสื่อทีวีในยุคปัจจุบัน ซึ่งเผชิญกับดิสรัปชั่นจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

*คู่แข่งโทรทัศน์ไม่ใช่แค่ทีวีดิจิทัลอีกต่อไป แต่ทุกอย่างที่แย่งชิงเวลาจากผู้บริโภคต่างเป็นคู่แข่งทั้งสิ้น

คุณอริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันคู่แข่งของโทรทัศน์ไม่ใช่เพียงทีวีดิจิทัลด้วยกันเท่านั้นแล้ว แต่คู่แข่งคือทุกอย่างที่แย่งชิงเวลาของผู้บริโภค เพราะคนทุกคนต่างมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของ mobile internet หรือการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือซึ่งทำให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเกิดแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ดึงเวลาจากคนดูไป เช่น OTT TV และคุณอริยะคาดว่า ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสู่การเป็น TV internet หรือการที่คนใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรทัศน์

ขณะที่พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของผู้บริโภคชาวไทยนั้น แบ่งเป็น 2 แบบ คือ Advertising Video on Demand (AVOD) หรือการรับชมแบบไม่เสียเงิน และ Subscription Video on Demand (SVOD) หรือการรับชมแบบสมัครสมาชิก ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมแบบ AVOD มากกว่า นอกจากนี้ แม้คอนเทนต์จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือแพลตฟอร์มซึ่งต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากสิ่งที่ผู้บริโภค 80-90% รับชม คือ คอนเทนต์ที่เป็นภาษาไทย ดังนั้นหากคุณเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีคอนเทนต์ภาษาไทย คุณจะไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้

*เตรียมผลักดัน CH3+ เชื่อมต่อโทรทัศน์สู่แพลตฟอร์มออนไลน์

ขณะเดียวกัน คุณอริยะได้เปิดเผยว่า ในต้นเดือนหน้า ทางบีอีซีเวิลด์ เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ คือ CH3+ (รีแบรนด์จากแพลตฟอร์มเดิมคือ Mello) โดยจะเชื่อมต่อโทรทัศน์เข้ากับช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถรับชมรายการของช่อง 3 ย้อนหลังได้ทั้งหมด รวมถึงจะมีระบบสะสมแต้ม (Points) ที่จะเปิดตัวตามมา เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้งานได้ และสามารถดึงดูดสปอนเซอร์ได้

พร้อมกันนี้ ยังเตรียมเปิดบริการ Direct-To-Consumer (D2C) โดยจะเชื่อมต่อแบรนด์ขึ้นจอโทรทัศน์ของช่อง 3 หรือแพลตฟอร์ม CH3+ เพื่อให้เจ้าของแบรนด์นำเสนอโฆษณาหรือสินค้าของตนเองให้ผู้บริโภคได้เห็น จากนั้นหากผู้บริโภคสนใจสามารถติดต่อได้ทันทีแบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางติดต่อที่แสดงขึ้นบนหน้าจอ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของช่องติดต่อประสานงานให้ทุกขั้นตอน ทำให้ช่อง 3 สามารถเปลี่ยนจุดยืนจากการขาย"มีเดีย"เป็นขาย"รีซอร์ส"แทน

*โทรทัศน์จะไม่ตาย แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

คุณอริยะยังเชื่อมั่นว่า ยังไง "โทรทัศน์" ก็จะยังไปต่อได้ ดูได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่างแอปเปิลกับกูเกิลยังพยายามนำบริการของตนเองอย่าง แอปเปิลทีวี และแอนดรอยด์ทีวี ไปนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า โทรทัศน์จะยังคงอยู่ เพียงแต่คอนเทนต์ข้างในจะเปลี่ยนไป

นอกจาก 2 บริษัทที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ก็พยายามนำผลิตภัณฑ์ของตนเองขึ้นจอโทรทัศน์เช่นกัน ดูได้จากการที่กล่องบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรีโมทที่ตอนนี้ก็มีปุ่มสำหรับเลือกช่อง Netflix หรือ Youtube เพื่อให้สอดคล้องกับยุคของสมาร์ททีวี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ