Media Talk: จับชีพจรสื่อไทยท่ามกลางยุค Digital Disruption

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2020 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและความปั่นป่วนของยุคดิจิทัลที่ถาโถมเข้าหาสื่อต่าง ๆ ทำให้สื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุค Digital Disruption ทั้งในแง่ของรูปแบบการนำเสนอ คอนเทนต์ และแพลตฟอร์ม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งการล้มหายตายจากของสื่อดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวได้ สลับกับภาพการเกิดใหม่ของสื่ออีกหลายประเภทที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจนประสบความสำเร็จ ปี 2563 จึงถือเป็นอีกปีที่จะวัดความแข็งแกร่งและการปรับตัวของสื่อแต่ละประเภทอย่างแท้จริง

สื่อที่น่าจับตาที่สุดในขณะนี้ ได้แก่ "โซเชียลมีเดีย" และ "Over The Top TV" หรือ OTT TV ซึ่งเป็นบริการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เนื่องจากสื่อดังกล่าวได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ด้วยความได้เปรียบจากการเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีเนื้อหาหลากหลาย โดยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและรายได้มหาศาลที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจ แตกต่างกับสื่อดั้งเดิมที่เคยทรงอิทธิพลอย่าง "นิตยสาร" และ "หนังสือพิมพ์" ที่ต้องกอดคอกันยุติการตีพิมพ์หรือปิดกิจการไปหลายราย ส่วนที่เหลือก็ต้องแสวงหาหนทางในการเอาตัวรอดกันต่อไป ในยุคที่สื่อออฟไลน์ถูกลดทอนความสำคัญลง

สำหรับสื่อยอดนิยมของคนไทยอย่าง "โซเชียลมีเดีย" นั้น ยอดผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในปี 2562 เริ่มทรงตัว โดยกระแสความนิยมได้หันไปอยู่ที่ทวิตเตอร์แทน ทั้งนี้ ทวิตเตอร์เปิดเผยข้อมูลว่า ยอดการใช้งานของคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 35% ในช่วงปี 2561-2562 หรือเติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในทุกแพลตฟอร์มที่มีมหาศาลในปัจจุบัน ส่งผลให้สื่อชนิดนี้ขึ้นแท่นเป็น Mass Media ใหม่เทียบชั้นสื่อดั้งเดิมที่เคยครองตลาดอย่างทีวีและหนังสือพิมพ์

ความนิยมของโซเชียลมีเดียยังทำให้ "อินฟลูเอนเซอร์" เข้ามามีบทบาทสำคัญบนสังคมออนไลน์ โดยอินฟลูเอนเซอร์เป็นกลุ่มคนที่เน้นการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ "การรีวิว" หรือการแบ่งปันประสบการณ์จริงตามหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ด้วยรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่เข้าถึงได้ง่ายและดูมีความจริงใจนี้ ส่งผลให้อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่น่าจับตามอง โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเป็นอินสตาแกรม

ด้านสื่อที่โดดเด่นในยุคดิจิทัลอีกสื่อหนึ่งเห็นจะหนีไม่พ้น "Over-The-Top TV " หรือ OTT TV ในปัจจุบัน OTT TV ที่ให้บริการในประเทศไทยมีหลายราย อาทิ Netflix LINE TV หรือ AIS Play โดยสื่อในกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างน่าจับตา เนื่องจากรูปแบบการให้บริการและคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ จนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาค่าบริการที่เข้าถึงได้ หรือแม้แต่การแข่งขันเพื่อผลิตออริจินัลคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่า จำนวนผู้ชมในตลาด OTT TV ของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1.09 ล้านรายในปี 2561 มาอยู่ที่ 1.3 ล้านรายในปี 2562 และจะทะลุระดับ 2 ล้านรายภายในปี 2566

"ทีวีดิจิทัล" ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งด้านรายได้และต้นทุน เนื่องจากเมื่อย้อนดูรายได้ของทีวีดิจิทัลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หลายช่องยังเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โดยในช่วงเดือนเมษายน 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสามารถยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตได้ มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ตัดสินใจยื่นขอคืนใบอนุญาตทั้งหมด 7 ช่องด้วยกัน

สำหรับ "เว็บไซต์" นั้น นอกจากจะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารให้กับผู้บริโภคแล้ว ก็ยังถือเป็นสื่อที่ช่วยเสริมจุดแข็งให้กับธุรกิจในยุคปัจจุบันอีกด้วย โดยผู้ประกอบการได้เลือกใช้เว็บไซต์มาเป็นสื่อที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ พร้อมเป็นฐานข้อมูลที่ใช้เก็บบทความที่มีความยาว ก่อนที่จะใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์มาเป็นตัวเสริมให้คนเข้ามาอ่านเนื้อหาในเว็บไซต์ ทั้งนี้ เชื่อว่าเว็บไซต์จะสามารถยืนหยัดต่อไปได้ในอนาคต หากหมั่นสร้างคอนเทนต์ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่อาจพลิกได้ทุกขณะ

"วิทยุ" เป็นหนึ่งในสื่อที่ถูกเทคโนโลยีจู่โจมจนตั้งตัวลำบาก เนื่องจากกระแสการฟังเพลงออนไลน์และบริการสตรีมมิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้หลายรายการบนคลื่นวิทยุไปต่อไม่ไหว ทำให้ผู้เล่นที่เหลือต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้ฟังที่เปลี่ยนไป สำหรับกลยุทธ์การปรับตัวของสื่อวิทยุยังคงเป็นการพยายามสร้างรายได้จากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการนำคอนเทนต์จากออนแอร์ไปต่อยอดรายได้ การขยายฐานผู้ฟังผ่านสื่อออนไลน์ หรือการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดผู้ฟังให้เพิ่มขึ้น

แต่สื่อที่ต้องดิ้นเพื่อหาทางรอดมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง "นิตยสาร" และ "หนังสือพิมพ์" เนื่องจากต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จนทำให้สื่อที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่และทำรายได้มหาศาลกลับต้องพลิกตำราผ่าวิกฤต โดยปีที่ผ่านมา นิตยสารปิดตัวไปอย่างต่อเนื่องหลายสิบราย ขณะที่สถานการณ์ของหนังสือพิมพ์ก็ยังซบเซาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของรายได้จากการขายสื่อสิ่งพิมพ์และค่าโฆษณา ส่งผลให้ผลประกอบการตกต่ำกันถ้วนหน้า โดยหนังสือพิมพ์ไม่ว่าหัวใหญ่หรือหัวย่อยต่างต้องปรับตัวกันอย่างหนัก หรือปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความคล่องตัว ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนการผลิต และการลดจำนวนพนักงานลง

แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำให้นักข่าวมืออาชีพที่เคยคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงข่าวสารแบบออฟไลน์ หันมารวมตัวกันสร้างแพลตฟอร์ม "ข่าวออนไลน์" ขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสในโลกออนไลน์ที่แม้จะมีการรายงานข่าวสารข้อมูลจากหลายสำนัก แต่ก็ยังขาดแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นภาพการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มข่าวที่น่าติดตาม ทันสมัย เข้าใจได้ง่าย สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของคนยุคดิจิทัล ทั้งนี้ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของสื่อต่าง ๆ ท่ามกลางยุคแห่งเทคโนโลยีจะส่งผลให้พวกเขา "รอด" หรือ "ร่วง"

สำหรับผู้ที่สนใจภูมิทัศน์และสถานการณ์สื่อไทยแบบเต็มอิ่ม บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด สำนักข่าวและผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ชั้นนำของประเทศไทย ได้จัดทำรายงาน "Thailand Media Landscape 2020" โดยได้รวบรวมสถานการณ์สื่อไทยครอบคลุมสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ อินฟลูเอนเซอร์ ทีวีดิจิทัล OTT TV วิทยุ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ สำนักข่าว และเสิร์ชเอนจิน เพราะเราเชื่อว่า การติดตามภูมิทัศน์สื่ออย่างใกล้ชิดจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อไทยได้เป็นอย่างดี และจะนำไปสู่การใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รายงาน "ภูมิทัศน์สื่อไทย 2563 " (Thailand Media Landscape 2020) พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้วทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ https://www.infoquest.co.th/download-thailand-media-landscape-2020

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ