Media Talk: New Media-New Gen เส้นทางสู่มืออาชีพในโลกยุคเทคโนโลยี 5G

ข่าวทั่วไป Tuesday August 23, 2022 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Media Talk: New Media-New Gen เส้นทางสู่มืออาชีพในโลกยุคเทคโนโลยี 5G

สื่อในโลกยุคเทคโนโลยี 5G เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายต่างๆ นานา อีกทั้งยังคาดการณ์ได้ยาก หากสังคมตกอยู่ในวิกฤตการณ์และขาดเสถียรภาพ การแพร่กระจายของเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดต่อผู้คนในสังคม ไฮไลต์ในงานสัมมนา "เส้นทางสู่สื่อมืออาชีพโทรทัศน์และวิทยุรุ่นใหม่ (New Media-New Gen) โดยสมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ฯ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณะ (กสทช.) จะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างไรและจะมีอะไรอีกบ้างนั้น Media Talk ขอพาผู้อ่านไปติดตามกันได้เลย

Media Talk: New Media-New Gen เส้นทางสู่มืออาชีพในโลกยุคเทคโนโลยี 5G

ในปี 2565 การแพร่กระจายของเทคโนโลยี 5G ได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลให้บุคลากรในวงการสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ (New Media-New Gen) เป็นกลุ่มคนที่องค์กรต้องการ อย่างไรก็ดี การพัฒนาของเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในงานสื่อสารมวลชน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็มีอิทธิพลโดยตรงต่อผู้นำทางความคิด ซึ่งผู้นำทางความคิดเหล่านี้ใช้นวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำหรับการเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลง

ธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาว่า ความท้าทายที่ทางบริษัทได้เผชิญก็คือ บริษัทรู้ว่าการสื่อสารในเรื่องเทคโนโลยี 5G นั้นยาก จึงได้สร้างชุมชน 5G (5G Community) ที่ประกอบด้วยสตูดิโอผลิตคอนเทนต์แห่งอนาคต (TRUE 5G XR STUDIO) และศูนย์กลางความรู้และพัฒนานวัตกรรม 5G (TRUE 5G WORLDTECH X) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G ที่จะนำไปสู่การสร้างพลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมของไทยผ่านการทำความรู้จักกับประสบการณ์ครั้งใหม่แห่งโลกนวัตกรรม

ธวัชชัย กล่าวต่อไปว่า งานผลิตสื่อที่มีพื้นฐานความเร็วจากเทคโนโลยี 5G รองรับนี้ ส่งผลให้เกิดเนื้อหาคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเหล่าผู้บริโภคตัวจริง (User Generated Content) ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าโฆษณาชิ้นใหญ่ในอดีตที่โด่งดังในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่มีขีดจำกัดอีกต่อไป ผู้บริโภคสามารถเลือกสัมผัสประสบการณ์ได้ด้วยตัวเองแบบ 360 องศา เทคโนโลยี 5G จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจ และเห็นภาพได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การสร้างจินตนาการก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ ของเหล่าผู้บริโภคที่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่สตาร์ทอัพ (Startup) ต่างก็สนใจปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อที่จะนำเข้าสู่โมเดลธุรกิจภายในช่วงปลายปี 2565

ส่องมุมมองสื่อ

สำหรับการมาของเทคโนโลยี 5G นั้น ธีรยุทธ ชุนหบดี บรรณาธิการบริหาร Next by Nation บริษัท เนชั่นทีวี จำกัด ซึ่งเป็นวิทยากรในงานสัมมนาอีกราย กล่าวว่า เบื้องหลังที่น่าสงสัยและน่าคิดสำหรับการนิยามคำว่าการแพร่หลายอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตนั้น หมายถึงรูปแบบใหม่ของการสื่อสาร หรือพัฒนาการของความสัมพันธ์แบบใหม่ ตลอดจนการสร้างศูนย์กลางทางอำนาจ และอิทธิพลใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อ

ธีรยุทธ กล่าวว่า ความซับซ้อนของคนทำสื่อในปัจจุบันต้องมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบและการกลั่นกรอง เพราะบทบาทคนทำสื่อในโลกยุคใหม่มีความเข้มข้น ทำให้บุคลากรสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ (New Media-New Gen) จำเป็นต้องรับบทบาทในการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้อง คนทำสื่อต้องพยากรณ์ และวาดภาพในอนาคต เพื่อบอกกล่าวกับสังคมให้เตรียมรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมีสติ

ทั้งนี้ บก.บห. Next by Nation ยังได้กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำงานในวงการสื่อมวลชนด้วยว่า ต้องถามตัวเองว่าอยากเข้ามาในวงการสื่อสารมวลชนเพื่ออะไร หากต้องการเข้ามาเพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ แต่ถ้าอยากหารายได้ก็คงจะไม่เหมาะ เพราะนักข่าวเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่รวย ต่างจากอินฟลูเอ็นเซอร์

นอกจากนี้ ยังต้องถามตัวเองด้วยว่ามีความถนัดในด้านใด งานสื่อสารมวลชนนอกจากจะต้องค้นหาข้อมูลที่มีความหลากหลายแล้วจะต้องมี "ต่อมเอ๊ะ" หรือความสงสัยใคร่รู้ในข้อมูลที่จะนำเสนอ ท้ายสุดการเล่าเรื่องที่ดี ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราวที่เข้าใจยากให้คนหลาย ๆ กลุ่มเข้าใจได้นั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ควรจะทำให้ได้

ธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ข่าวเป็นคอนเทนท์ แต่ทุกคอนเทนท์ ไม่ใช่ข่าว บุคลากรสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ควรทำความเข้าใจกับอำนาจของสื่อที่เปลี่ยนไปอยู่ในมือของทุกคน ดังนั้น นอกจากความท้าทายในการเรียบเรียงแล้วถ่ายทอด สื่อมวลชนควรจะต้องรู้จักทักษะการรายงาน การตรวจสอบ และการพยากรณ์ล่วงหน้าด้วยเช่นกัน

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังคงท้าทายขีดความสามารถของบุคลากรสื่ออีกมากมายในอนาคต คนทำสื่อต้องปรับเปลี่ยนตนเองจากความเคยชิน และรักษาความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่คนทำสื่อมีความรับผิดชอบต่อคนในสังคม นำเสนอข้อเท็จจริงหรือความเที่ยงตรงอย่างรอบด้าน ความฝันที่จะเป็นสื่อมืออาชีพในโลกยุคดิจิทัลคงไม่ไกลเกินเอื้อม


แท็ก วารสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ