"ซอฟท์พาวเวอร์" (Soft Power)เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ นอกจากเมนูฮ็อตอย่างข้าวเหนียวมะม่วงหรือศิลปะการแสดงอย่างโขนแล้ว "ภาพยนตร์"ได้ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยในฐานะ "ซอฟท์พาวเวอร์" สเต็ปถัดไปที่ควรจะให้ความสำคัญหรือไม่อย่างไร 3 กูรูในวงการได้มาร่วมถกกันในงาน World Film Festival of Bangkok Forum 2022 ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในหัวข้อ "ภาพยนตร์ไทยในฐานะซอฟท์พาวเวอร์กับการก้าวสู่ตลาดภาพยนตร์ในระดับสากล"
คุณปราโมทย์ บุญนำสุข ผู้เชี่ยวชาญกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงมุมมองที่มีต่ออนาคตและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยว่า ปัจจุบันภาพยนตร์ถือเป็นโอกาส ภายหลังจากสถานการณ์โควิด ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ไทยเผยแพร่สู่ผู้ชมในวงกว้าง
นอกจากนี้ ทางกองทุนพัฒนาสื่อฯยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้กำกับภาพยนตร์และผู้ที่ทำงานในวงการ โดยยกระดับในจุดที่ขาด ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ทางกองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้ส่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมด้านภาพยนตร์ที่เกาหลี ซึ่งถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จนทำให้ซอฟท์พาวเวอร์ของเกาหลีแทรกซึมในทุกอณูของเหล่าแฟนคลับซีรีส์ ศิลปิน และบอยแบนด์ชื่อดัง
ด้านคุณพรชัย ว่องศรีอุดมพร คณะกรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มองว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นทั้ง "โอกาสที่ได้มา" และ "โอกาสที่เสียไป" เพราะเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการเผยแพร่ภาพยนตร์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีในการสร้างโอกาสสำหรับภาพยนตร์ไทย
ส่วนในเรื่องของการเสียโอกาสนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และหันมาใช้บริการหรือดูหนังออนไลน์มากขึ้นแทนการดูหนังในโรงภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตขาดรายได้ในส่วนนี้ไป ดังนั้น หากภาครัฐและภาคเอกชนช่วยหาทางออกร่วมกัน มีการบูรณะร่วมกันทุกภาคส่วน ห่วงโซ่ธุรกิจภาพยนตรือาจกลับมาเป็นเหมือนเดิม
อีกหนึ่งประเด็นที่คุณพรชัยพูดถึงก็คือ การมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองเนื่องจากช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์อย่างภาพยนตร์ในไทยยังมีอยู่น้อย จึงจำเป็นต้องพึ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมถึงการได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ภาพยนตร์ไทยมีโอกาสเติบโต
ทั้งนี้ คุณพรชัยยังเสริมถึงจุดนี้ว่าแม้จะมี Production ที่ดีก็ตาม แต่ Marketing และ Distribution ที่ไม่ดีก็อาจไปไม่ถึงฝั่ง
"ทั้งจุดแข็งจุดอ่อนมันคือจุดเดียวกัน ก็คือคนไทย คนไทยเป็นจุดแข็งด้วย คนไทยก็เป็นจุดอ่อนด้วยในตัวของเขาเอง" คุณพรชัยกล่าว
คุณพรชัย มองว่า แม้รัฐจะให้ความใส่ใจกับซอฟท์พาวเวอร์ของภาพยนตร์มากแค่ไหน จุดแข็งและจุดอ่อนของภาพยนตร์ยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็คือคนไทย ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน ควรเริ่มจากการมองให้เป็นภาพเดียวกัน เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถ พัฒนาทรัพยากรบุคคล หลีกเลี่ยงการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนเพื่อผลักดันอุตสาหกรรม จึงจะสามารถก้าวผ่านไปด้วยกันได้ในที่สุด
ทางด้านคุณฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับหน้าใหม่กับผลงานเรื่องแรก "หน่าฮ่าน" ให้ความเห็นถึงวงการหนังไทยว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวว่า อุตสาหกรรมหนังไทยมีคนหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ได้รับโอกาสน้อยและถูกมองข้าม เนื่องจากยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ รวมทั้งเรื่องต้นทุนที่มีไม่เพียงพอ ทางภาครัฐและเอกชนควรเริ่มจากการมองเห็นปัญหาเป็นภาพเดียวกัน รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของสื่อในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งในประเด็นนี้ คุณฉันทนามีมุมมองที่สอดคล้องกับคุณพรชัยที่ว่าต้องมีการพัฒนาและเริ่มต้นแก้ปัญหา มีการสนับสนุนจากรัฐเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กำกับมือใหม่มีที่ยืนในวงการ
นอกจากนี้แล้ว คุณฉันทนากล่าวถึงซอฟท์พาวเวอร์ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายว่า เป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การบอกเล่าเป็นเรื่องราว แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างทำให้คอนเทนต์เหล่านั้นไม่ได้รับแรงผลักดันสู่สายตาในวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง "หน่าฮ่าน" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตกลุ่มเด็กๆที่อีสานที่ชอบเต้นหน่าฮ่าน ซึ่งถูกตัดสินจากสายตาคนส่วนมากในเชิงลบ ทั้งที่การเต้นแบบนี้เป็นวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่อยู่มานานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นวิถีชีวิต และสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อย ๆ โดยจุดนี้เป็นสิ่งที่หลายคนควรทำความเข้าใจ
จากมุมมองของทั้ง 3 ฝ่ายที่ได้มีการแชร์ประสบการณ์และความเป็นไปได้แล้ว เชื่อว่า ภาพยนตร์ไทยจะได้ก้าวต่อไป แม้ว่าจะต้องใช้เวลาและอดทนรอก็ตาม