"การทำพีอาร์ในปัจจุบันต้องอัปเดตข่าวสารความรู้แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง จากทุกสื่อทั้งสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย รวมถึงการพูดคุยกันภายในทีมว่าตอนนี้มีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้างและจะแนะนำลูกค้าอย่างไร เรียกได้ว่าการทำงานพีอาร์ต้องรวดเร็ว การทำงานในวงการนี้เป็นการทำงานที่หนักกว่าเมื่อก่อนมาก" คุณดีดี้ ณัฏฐณิชา สังขะทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลิสเตอร์ พีอาร์ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานพีอาร์มากว่า 20 ปี ได้บอกเล่าถึงวิถีพีอาร์ในยุคดิจิทัล
คุณณัฏฐณิชา กล่าวถึงสถานการณ์สื่อในปัจจุบันว่า ต้องยอมรับว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง แต่ว่ายังมีความสำคัญอยู่ในแง่ของการนำเสนอภาพลักษณ์ ให้กับแบรนด์แฟชั่นลักซ์ชัวรีที่ส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะลงคอนเทนต์ในสิ่งพิมพ์ที่เป็นนิตยสารอยู่ เนื่องจากเป็นโปรโตคอลจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ยังต้องใช้นิตยสารในการนำเสนออิมเมจและภาพของสินค้าอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารในธุรกิจอื่น ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของธุรกิจแต่ละประเภท
ส่วนสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากอยู่แล้ว และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทำให้การทำพีอาร์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ปัจจุบันลูกค้าต้องการลงคอนเทนต์บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมมากกว่าเว็บไซต์ แต่โดยส่วนตัวแล้ว คุณดีดี้จะแนะนำลูกค้าว่าการลงคอนเทนต์บนเว็บไซต์เปรียบเสมือนการนำเสนอภาพลักษณ์ขององค์กรหรือบริษัทที่เสิร์ชเมื่อไรก็ยังเจอข่าวและรูปภาพที่ต้องการนำเสนอ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความรวดเร็ว แต่พรุ่งนี้เราอาจจะไม่เห็นข่าวของเราในหน้าฟีดบนโซเชียลมีเดียเหล่านี้แล้วก็เป็นได้
คุณดีดี้ มองว่า ปี 2565 การใช้อินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL เป็นเทรนด์ในการทำพีอาร์ที่ยังได้รับความนิยมและไปได้ต่อ เพราะลูกค้าบางกลุ่มต้องการใช้แต่อินฟลูเอ็นเซอร์ในการทำพีอาร์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น สินค้ากลุ่มความงาม (Beauty) ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใช้จ่ายงบประมาณในสื่อดั้งเดิมแล้ว แต่จะเลือกใช้บิวตี้บล็อกเกอร์ หรือ KOL แทนมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คุณดีดี้ยังมองว่า สื่อดั้งเดิมอย่างนิตยสาร หรือสำนักข่าว ก็ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานพีอาร์อยู่เช่นกัน ในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทหรือองค์กรของแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก แต่การเลือกทำการตลาดผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL จะช่วยได้ในเรื่องของการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ พร้อมๆ กับจุดขายและคุณประโยชน์ของสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อเกี่ยวกับสินค้าที่เรียลกว่าช่องทางอื่น ดังนั้นจึงช่วยเสริมในเรื่องของการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี ในยุคนี้การทำให้สินค้ามีภาพลักษณ์ที่ดูดีและคนสนใจอยากจะซื้อสินค้านั้นถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการบอกเล่าหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร คอนเทนต์วิดีโอจะได้รับความนิยมมากขึ้น เหตุผู้คนอ่านข้อความน้อยลง
คุณดีดี้ ได้กล่าวถึงเทรนด์ของสื่อและผู้บริโภคว่า คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอจะได้รับความนิยมมากขึ้น การทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคอ่านข้อความน้อยลง และชอบความสะดวกรวดเร็ว เช่น หากเราต้องการหาข้อมูลเพื่อที่จะซื้อรถยนต์ 1 คัน เราก็จะไม่มานั่งอ่านข้อมูลมากมาย แต่อาจจะเลือกดูวิดีโอรีวิวรถ หรือ เทสต์ไดรฟ์แทนมากกว่า อีกทั้งสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็ทำคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอได้อย่างน่าสนใจและเผยแพร่ในช่องทางของตนเองมากขึ้น ผู้บริโภคก็สามารถรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย สอดคล้องกับปัจจุบันที่ผู้บริโภคเปิดหรือดูทีวีน้อยลง เพราะความสนใจของคนในการเสพสื่อจะเสพเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่สำหรับงานพีอาร์เราต้องเสพทุกสื่อ
หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง การทำกิจกรรมเพื่อพีอาร์ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง คุณดีดี้ กล่าวว่า เราเริ่มเห็นแล้วว่าช่วงครึ่งปีหลัง (2565) มานี้ แบรนด์สินค้าต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรม จัดอีเวนต์เยอะมากขึ้น หลังจากที่งานเหล่านี้หายไปประมาณ 2 ปีกว่า ๆ เพราะสถานการณ์โควิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนต่างโหยหาการออกมามี Experience ร่วมกับงานนั้นๆ เช่น หากต้องการที่จะซื้อกระเป๋า หลายคนก็อยากจะออกมาดู มาสัมผัสสินค้าจริง แน่นอนว่าผู้บริโภคอาจจะคุ้นเคยและชินกับการซื้อของออนไลน์ไปแล้วก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังโหยหาการออกมาใช้ชีวิตและออกมาทำกิจกรรมอยู่ ปี 2566 พฤติกรรมผู้คนก็ยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากนี้ ผู้คนจะเดินทางกันเยอะมากขึ้นด้วยในปี 2566
ในมุมของการทำอีเวนต์ การทำพีอาร์ปี 2566 นั้น ก็จะได้รับความนิยมและคึกคักมาก ส่วนแบรนด์เองก็จะเน้นอินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL เป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์เพื่อทำตลาดหรือโปรโมตสินค้านั้น จะมีการใช้ดาราเยอะขึ้นมาก ๆ รวมทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ระดับนาโนหรือไมโครก็จะมีการดึงมาใช้ในการสื่อสาร เพื่อกระจายการรับรู้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ระดับนาโนและไมโครเหล่านี้ มีส่วนทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าตามได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสินค้า แบรนด์จึงจะประสบความสำเร็จในการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL อย่างไรก็ดี แบรนด์ต่าง ๆ ยังไม่ได้ทิ้งสื่อดั้งเดิม ยังมีการใช้สื่อประเภทนี้อยู่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรหรือบริษัท