ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) นำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสในโลกแห่งการทำงาน เอไอจะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากน้อยแค่ไหน และเราต้องเตรียมตัวอย่างไร Media Talk มีคำตอบจากผู้บริหาร 3 วงการ ได้แก่ ไอที ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและทรัพยากรบุคคล รวมทั้งคอนเทนต์จากเวทีสัมมนาในงาน SEAT 2024 (South East Asia Technology Conference 2024) ภายใต้หัวข้อ "The Future of AI"
คุณโชค วิศวโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Debuz และ GAMEINDY อีกทั้งยังเป็นรองกรรมการผู้จัดการของเว็บไซต์อันดับต้นของไทยอย่าง Kapook.com และเชี่ยวชาญด้าน Digital Media กล่าวว่า การเข้ามาของเอไอมีอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจดิจิทัล มีเดีย ที่ผ่านมา ตนเองได้จัดทำเฟรมเวิร์ค (Framework) แนะนำวิธีการทำงานควบคู่กับเอไอไว้ 3 หัวข้อด้วยกัน ดังนี้
Ideation - ใช้เอไอเป็นผู้ช่วยระดมความคิด สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆและหนทางของความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
Production - ใช้เอไอร่างงานออกมาคร่าวๆก่อน แล้วจึงใช้ทักษะของมนุษย์เข้าไปช่วยทำให้งานออกมาสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ "AI draft Human craft"
Optimization - ใช้ไอเออย่างมีจิตสำนึกที่ดี เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า
คุณโชค กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันมี Claude AI เอไอแชทบอตที่รองรับคำสั่งและสามารถโต้ตอบเป็นภาษาไทยได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีความสามารถในการเขียนบทความเทียบเท่ากับ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ระดับจูเนียร์ หรือดีกว่ามาตรฐานทั่วไป ที่เมื่อได้รับการขัดเกลาด้วยทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์แล้ว จะสามารถผลิตผลงานที่มีมาตรฐานดีกว่าทั่วๆไปได้อย่างง่ายดาย
"นับเป็นสัญญานที่ดีสำหรับประเทศไทยที่กำแพงภาษาในเอไอนั้นได้ถูกทลายลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ธุรกิจในท้องถิ่นสามารถขยายวงกว้างไปสู่ระดับนานาชาติได้เช่นกัน" คุณโชค กล่าว
ตัวช่วยร่นระยะเวลาในการทำงาน
ทางด้านคุณนภัทร ศิริวรางกูร พาร์เนอร์จากบริษัท Kincentric ที่ดูแลและเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรต่างๆก็ได้ออกมาร่วมแชร์มุมมองที่มีต่อเอไอว่า นับตั้งแต่เอไอเริ่มเข้ามาในปัจจุบัน เอไอก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกระบวนการทำงานอย่างมาก โดยเฉพาะการร่นระยะเวลาในการทำงาน ที่แต่ก่อนบางโปรเจคจะต้องใช้เวลาดำเนินการเป็นปีหรือสองปี แต่เมื่อใช้เอไอเข้ามาช่วยในการทำงาน กลับใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 สัปดาห์เท่านั้น เช่น การเขียน Job description ที่จำเป็นจะต้องทำการค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดที่ปกติใช้เวลาประมาณ 4 เดือน แต่ก็สามารถทำให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 4 สัปดาห์เมื่อใช้เอไอเข้ามาช่วย ในขณะที่พนักงานระดับซีเนียร์สามารถใช้เอไอเป็นผู้ช่วยเปรียบเสมือนเป็นเลขาของตัวเอง ซึ่งช่วยได้กับการรับมือโปรเจคหลายๆโปรเจคพร้อมกันในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยลดความเหนื่อยล้าและภาระงาน เสริมสร้างสุขภาวะที่ดี และสามารถใช้เวลาได้อย่างมีประโยชน์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเกี่ยวกับเอไอจากผู้บริหารธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology: ICT) อย่างคุณสุรศักดิ์ วานิชวัฒน์พิบุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี Huawei Cloud ประเทศไทย ซึ่งคุณสุรศักดิ์มองว่า ทุกๆองค์กร ไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทใด หรือแม้กระทั่งฝั่งของผู้บริโภคเอง ก็จะได้รับผลประโยชน์จากการใช้เอไอในการทำงานอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น หัวเว่ยที่นำเอไอมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และระบบเชื่อมต่อที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ของงานที่ไม่เพียงแต่เป็นผลดีสำหรับองค์กรเท่านั้น แต่ยังสร้างโซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคได้อีกด้วย
ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดในอนาคต?
ผู้บริหารทั้งสามท่านได้แบ่งปันความเห็นที่ใกล้เคียงกันว่า การนำเอไอมาใช้ในการทำงานนั้น จำเป็นต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ต้องรู้จักปรับตัวตามเทคโนโลยีให้ทัน เหมือนสมัยที่อินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ถือกำเนิดและเข้ามามีบทบาทเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เพราะหากเรามัวแต่ยึดติดกับแนวคิดที่ว่า เอไอจะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ มนุษย์ที่เชื่อมั่นแบบนั้นและไม่รู้จักเรียนรู้หรือปรับตัว การคิดและทำแบบนี้นี่เองที่จะทำให้มนุษย์ถูกเอไอแย่งงานเสียเอง
นอกจากนี้เอไอ ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียง Generative AI เท่านั้น แต่ยังมี Predictive AI และ Recommendation AI อีกด้วย ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง พนักงานรุ่นใหม่ก็จำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะด้านไอเอเพื่อรับมือกับการทำงานในอนาคต ในขณะที่พนักงานระดับอาวุโสก็ต้องใช้ประสบการณ์เพื่อยกระดับการใช้งานเอไอให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่สำคัญไปกว่านั้น การจะนำเอไอมาใช้ในองค์กรนั้น ผู้บริหารระดับสูงเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้น รวมถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พนักงานซึ่งเป็นผู้ที่รู้ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดีที่สุด ก็ควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตการใช้งานเอไอให้เหมาะสม และอยู่ภายใต้จิตสำนึกที่ถูกต้อง