แม้ว่า คำถามที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ที่ว่า "AI คืออะไร" แล้ว "จะใช้ AI อย่างไร" หรือคำถามยอดนิยมที่ชี้ให้เห็นว่า หลายคนยังคงกังวลว่า "AI จะมาแทนที่เรารึเปล่า" คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ ผู้บริหารของ Google Thailand อย่างคุณไอริณได้แนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนมุมมองจากการเป็น"นักการตลาด"สู่การเป็น"ผู้บริโภคธรรมดา ๆ"คนนึงแทน แล้วจะพบว่า จริง ๆ แล้ว AI อยู่ในทุก ๆ ส่วนของชีวิตเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร และอยู่เบื้องหลังโซลูชั่นต่าง ๆ ของ Google มาโดยตลอด เช่น Predictive AI อย่าง Google Maps ผู้ช่วยยอดนิยมของใครหลายคนที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือในเรื่องการเดินทางไปไหนมาไหน Google Maps เปิดตัวในไทยมาตั้งแต่ปี 2552 และเราก็ได้ใช้งาน Google Maps กันมาตั้งนานโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้งาน AI อยู่ ด้วยเหตุนี้ กรณีของ Google Maps จึงน่าจะทำให้หลาย ๆ คนคลายความกังวลและมีคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า "เราจะเชื่อ AI ได้ยังไง" เพราะที่ผ่านมา เราก็ขับรถตามที่ Google Maps บอกจนสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้อง
สำหรับนักการตลาดในยุคปัจจุบันแล้ว AI มีความสำคัญมาก เนื่องจากหัวใจของ AI คือ ความสามารถในการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้นหาข้อมูลแล้วจึงประมวลผลออกมาคล้าย ๆ กับสิ่งที่มนุษย์คิด ซึ่งการประมวลผลและค้นหาข้อมูลแบบนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มักจะนิยมใช้คำสั้นๆ ในการค้นหา ได้พัฒนามาสู่การค้นหาโดยใช้คำที่มีความยาวขึ้นและมีรายละเอียดมากขึ้นจนกลายเป็นประโยค ไอริณได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน 15% ของการค้นหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ล้วนเป็นคำค้นหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับการทำตลาดแบบ Paid Search เพราะเราสามารถใช้ AI ซึ่งมีความสามารถในการใช้ข้อมูลจาก Google มาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้ โดย AI ของ Google จะพิจารณาจากวิดีโอล่าสุดที่ผู้ใช้งานรับชม และดู 5 คำค้นหาล่าสุด เพื่อประเมินว่าผู้ใช้งานหรือผู้บริโภครายนี้มีความสนใจในผลิตภัณฑ์จริง ๆ หรือไม่ หรือแค่สนใจในสินค้าและบริการที่อยู่ในหมวดหมู่ใกล้เคียงกันเท่านั้น การวิเคราะห์เชิงลึกด้วย AI เช่นนี้ จะช่วยให้การลงทุนในการโฆษณาแบบ Paid Search มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจจริง ๆ
นอกจากนี้ ทาง Google ยังได้แบ่งกลุ่มผู้ใช้ AI ออกเป็น 4 ระดับ ตามระดับการนำ AI มาใช้ในองค์กร ดังนี้
AI Explorer: องค์กรที่เริ่มนำ AI มาใช้ โดยมีการใช้งาน AI ประมาณ 33%
AI Adopter: องค์กรที่นำ AI มาใช้ในระดับปานกลาง โดยมีการใช้งาน AI ในสัดส่วนระหว่าง 33-65%
AI Leader: องค์กรที่นำ AI มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้งาน AI ระหว่าง 66-100%
AI Pioneer: องค์กรที่สามารถพัฒนาโซลูชัน AI ได้เอง
และจากผลการศึกษาพบว่า การนำ AI มาใช้ให้ผลลัพธ์ในด้านของการประหยัดเวลาในการทำงานและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
AI Explorer: สามารถการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้ 18%
AI Adopter: สามารถการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้ 73%
AI Leader: สามารถการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้สูงถึง 95%
จากข้อมูลสถิติข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ยิ่งองค์กรนำ AI มาปรับใช้มากเท่าไร องค์กรและคนในองค์กรก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ของการประหยัดเวลาในการทำงานและประหยักค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น จากการค้นคว้าของ Google ยังพบด้วยว่า องค์กรที่นำ AI มาปรับใช้ สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 20-50%
ไอริณได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลในการพัฒนา AI ว่า "ความฉลาดของ AI ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ Data" เพราะ Data สามารถแปลงเป็นข้อมูลเชิงลึก หรือ Insights ที่มีคุณค่า โดยทาง Google มองว่า AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของบริษัทที่ต้องการ "ทำให้ข้อมูลเข้าถึงได้สำหรับทุกคน"
สำหรับนักการตลาด ไอริณแนะนำให้ใช้ AI ในการทำงานที่ซ้ำซาก เช่น การรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูล แล้วนำเวลาที่ประหยัดได้ไปใช้ในการคิดสร้างสรรค์ พัฒนาบุคลากร และวางแผนกลยุทธ์ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Google จะมี AI Solutions ที่ช่วยให้เกิดการซื้อขายได้ แต่การสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ยังคงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของนักการตลาด ซึ่งยังคงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับลูกค้าเพื่อผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน
อ่านกันมาถึงตรงนี้ ท้ายที่สุดแล้วอย่าลืมว่า "You're the marketer, AI is the enabler" คำคมส่งท้ายบนเวทีจากคุณไอริณ "เราน่ะเป็นนักการตลาด ส่วน AI เป็นผู้ช่วยของเรา"