ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง "คุณปู" สุวิตา จรัญวงศ์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore รวมถึงผู้จัดงาน Thailand Influencer Awards เผยว่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีอัตราการเติบโตสูงถึง 20-30% ต่อปี แม้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ปัจจุบันประเทศไทยมีอินฟลูเอนเซอร์มากถึง 9 ล้านคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความนิยมในการเสพคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียของคนไทย
อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้มาพร้อมกับความท้าทายหลายประการ เนื่องจากคนไทยใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียหลายชั่วโมงต่อวัน จึงต้องให้ความสำคัญกับสัญญาณต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้ ยังต้องระวังการใช้ AI ในทางที่ผิดเพื่อป้องกันการทุจริต ขณะที่ผู้บริโภคเองก็เริ่มเรียกร้องความโปร่งใสและสนใจประเด็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) กันมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยที่มีแนวโน้มเปิดกว้างและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
คุณปูกล่าวว่า สำหรับปีหน้า เทรนด์ที่กำลังจะมาคือ การก้าวเข้าสู่ยุค All-in-one Content Era" กล่าวคือ ในการทำคอนเทนต์หนึ่งชิ้น นอกจากอินฟลูเอนเซอร์จะต้องคำนึงถึงการสร้างการรับรู้ (Awareness) ที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระความรู้แล้ว ยังต้องคิดถึงประเด็นเรื่องการเป็นกระบอกเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยเช่นกัน
ทางด้านคุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงผลพวงที่เกิดจากการเติบโตของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ว่า เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทำให้บทบาทของกลุ่มธุรกิจรีเทล (Retail) เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้บริษัทต้องปรับแผนเพื่อขานรับพลังของครีเอเตอร์
โดยคุณวรลักษณ์ได้ชู 10 ประเด็นเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มตลาดค้าปลีก หรือ offline store ดังนี้
1. Omichannel Intergration: การทำให้สารที่สื่อออกไป จากช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นใจความหนึ่งเดียวกัน
2. Personalization & AI: การใช้ดาต้าและเอไอเป็นเครื่องมือสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตรงใจผู้บริโภค
3. Immersive Tech (AR/VR): ช่วยยกระดับประสบการณ์การซื้อขาย และดึงดูดลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย
4. Sustainability: จริยธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
5. Contactless Shopping: เช่น การโอนจ่ายหรือ self-checkout ที่เพิ่มความสะดวกสบายและลดการสัมผัส
6. AI Consumer Service: ใช้ AI อย่าง Chatbot หรือ Virtual Assistant เพื่อพัฒนาบริการและแนะนำสินค้าให้ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น
7. Experientail Retail: สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ลูกค้า ด้วย Events, Pop-ups หรือกิจกรรมร่วมต่าง ๆ
8. Smart Technology: ใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออัจฉริยะ สร้างประการณ์การซื้อขายแบบ Personalized
9. Loyalty Program: ซื้อใจลูกค้าด้วยระบบ membership หรือมอบสิทธิประโยชน์ที่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์และพฤติกรรมของลูกค้า
10. Health & Safety: เรื่องที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมากไม่แพ้กันกับ Sustainability ซึ่งทางผู้ทำธุรกิจก็สามารถนำเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยมาผนวกรวมเข้ากับรูปแบบการให้บริการหรือโปรโมชั่น
เทรนด์และอินไซต์เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่สามารถนำมาผนวกเข้ากับการให้บริการและการทำธุรกิจ เพื่อที่จะปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับประสบการณ์ของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ซึ่งผู้บริโภคมีความคาดหวังและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป