ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวงการสื่อกำลังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ด้วยศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพและเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเนื้อหา สำนักข่าวไทยพีบีเอสได้จัดงาน "AI Horizons: The Future of Media" ภายใต้ธีม "Media & Ethics in the AI Era" โดยมีการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของวงการสื่อไทย ทั้งในมุมมองภาควิชาการ ภาคการผลิต และภาคการกำกับควบคุม ในหัวข้อ "Intelligent Broadcasting & Media with AI" เพื่อหารือเกี่ยวกับการนำ AI มาปรับใช้ในการผลิตสื่อ และการจัดการกับความท้าทายทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นในยุคนี้
ผศ. ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการนำเอไอมาช่วยในการทำงานในวงการสื่อว่า การใช้ AI มีทั้งโอกาสและข้อกังวลที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ในด้านบวก AI ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์สื่อที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งและตรงจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสื่อที่ผลิตออกมา โดยเฉพาะในแง่มุมการลดต้นทุนและการเปิดช่องทางใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจที่มีศักยภาพสูงขึ้น
ด้านดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA เน้นย้ำว่า อย่าให้ความกลัวเป็นอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยี เพราะ "ข้อดีของ AI มีมากกว่าข้อเสีย" ดังนั้น ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหมั่นติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีเอไออย่างต่อเนื่อง เพราะเอไอสามารถช่วยปลดล็อกข้อจำกัดที่เคยมีในกระบวนการผลิตสื่อ การปรับตัวให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องทำ
คุณอนุพงษ์ ไชฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีกระจายเสียงสื่อ กล่าวว่า AI มีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสื่ออย่างมาก โดยยกตัวอย่างผลงานจากไทยพีบีเอสที่ได้นำความอัจฉริยะของ AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในฐานะสื่อ เช่น AI Vertical LIVE ที่ให้ผู้ชมสามารถรับชมไลฟ์สดแนวตั้ง ตอบโจทย์การเสพสื่อบนมือถือ หรือ AI in Brief บริการช่วยสรุปเนื้อหาข่าวที่มีความยาวให้กระชับและเข้าใจง่ายบนเว็บไซต์
แม้โอกาสดี ๆ และประโยชน์จากการใช้งาน AI จะมีมาก แต่โอกาสเหล่านั้นก็มาพร้อมกับความท้าทาย ดร.สกุลศรีได้ยกถึงสิ่งที่น่ากังวล เช่น ความโปร่งใสในเรื่องจริยธรรม การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงปัญหาความขาดแคลนของ "ความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์" หรือ Empathy ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เอไอไม่สามารถทดแทนได้ นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการใช้ AI ในแต่ละขั้นตอนของการผลิตสื่อ ว่างานบางประเภทหรือบางกระบวนการจำเป็นต้องพึ่งพา AI มากน้อยเพียงใด การใช้งาน AI ควรพิจารณาความจำเป็นและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง
ดร.ศักดิ์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสพสื่อที่ผ่านการปรับแต่ง (personalization) ว่า แท้จริงแล้ว แม้การปรับแต่งเนื้อหาตามความสนใจของผู้บริโภคจะช่วยให้การเสพสื่อมีความเฉพาะเจาะจงและตรงกับความต้องการมากขึ้น แต่ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณในการบริโภคข่าวสารอย่างรอบคอบ เพราะการรับข้อมูลที่ถูกปรับแต่งเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนจากความจริง
นอกจากนี้ ดร.ศักดิ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้ AI ยังต้องดูในเรื่องบริบทที่ตรงกับความต้องการของเรา อย่างการใช้ AI ในด้านการศึกษา เราก็ต้องมาดูว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การใช้ AI จึงจำเป็นต้องดูให้เข้ากับบริบทของเด็กแต่ละคนด้วย
แม้ว่าประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอยู่มาก แต่คุณอนุพงษ์ ไชฤทธิ์ ได้กล่าวถึงการใช้ AI ในการป้องกันปัญหาด้านลิขสิทธิ์ว่า AI สามารถจัดการและตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อย ช่วยลดความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นและเสริมความปลอดภัยในกระบวนการสร้างสรรค์เนื้อหา
ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตสื่อ ดร.สกุลศรี กล่าวว่า ทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานในอนาคตคือ การตรวจสอบข้อมูล (verification) และความสามารถในการปรับตัว (adaptability) เมื่อ AI กลายเป็นเครื่องมือที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนเผยแพร่จะกลายเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับสื่อมวลชน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จในการใช้ AI ในวงการสื่อจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสื่อนั้นสร้างคุณค่าต่อสังคม และใช้งาน AI ด้วยความรับผิดชอบอย่างแท้จริง
ด้านดร.ศักดิ์ แนะนำว่า การใช้คำสั่งกับ AI หรือการควบคุมการทำงานของ AI จะกลายเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึกฝน เนื่องจากปัจจุบันทุกคนสามารถใช้ AI สร้างรูปได้เหมือนกัน ดังนั้น รูปที่สร้างขึ้นมาจาก AI ก็จะมีจำนวนมากมาย ดังนั้น ผู้ใช้ AI จะต้องหัดใช้คำสั่งหรือ Prompt ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ภาพหรือเนื้อหาที่ได้จาก AI มีความแตกต่างจากคู่แข่ง
นอกจากนี้ ผู้ใช้งาน AI ควรให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือ AI ที่ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ส่วนคุณอนุพงษ์ เสริมท้ายว่า ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในวงการสื่อ คือการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการ "ทำลายความกลัว" ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะงานหลายๆ ตำแหน่งในองค์กรสื่อจะต้องมีการปรับตัวใหม่ให้สอดคล้องกับการใช้ AI พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ