เผยมุมมองการใช้ชีวิตในแวดวงสื่อสารมวลชนมาอย่างยาวนาน คลุกวงในทั้งสายข่าว สายพีอาร์ จนล่าสุดผู้หญิงเก่งที่อาจจะเรียกได้ว่าหญิงเหล็ก “จ๋อย - สุทธาทิพย์ อนันต์สารโสภณ" ก็เดินทางมาไกลจนขึ้นแท่นเป็นเจ้าของรายการทีวี “Horo Hiso" (โฮโร ไฮโซ) ที่ออกอากาศทางเคเบิ้ลทีวี ช่อง Psi40, Gmmz 41และ 78, big4 ช่อง 54, IPM 40, Youtube และดูสดทางสตรีมมิ่ง http://www.stationg.com/40 พร้อมคุยลึกแนวโน้มแวดวงพีอาร์ปี 2560 และจับตามองวงการสื่อสารมวลชนไทยอย่างใกล้ชิด!! จริงหรือที่สื่อไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงวิกฤตชัตดาวน์สื่อ ล้มระเนระนาดสะเทือนทั้งวงการ สิ่งพิมพ์พัง ออนไลน์ไปไม่รอด จริงหรือไม่ ...และเราจะมีทางออกอย่างไร
คุณจ๋อย - สุทธาทิพย์ อนันต์สารโสภณ เล่าแบ็คกราวด์การทำงานเบื้องต้นของเธอให้ฟังว่า เธอเริ่มเข้าวงการมาด้วยการเป็นสื่อออนไลน์ยุคแรก ประเดิมที่ “ผู้จัดการออนไลน์" สื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่สมัยนั้นยังไร้คู่แข่ง ก่อนจะได้มาสัมผัสประสบการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ จนมีโอกาสได้รับงานพีอาร์เป็นจ็อบเล็กๆ และผันตัวเองมาเป็นผู้บริหารด้วยการเปิดรายการทีวีเป็นของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันเธอก็ยังไม่ทิ้งงานที่เธอรัก ทั้งงานนักข่าว และงานพีอาร์ ที่ยังรับเป็นฟรีแลนซ์อยู่บ้างตามความเหมาะสม
“จริงๆ พี่ทำงานนักข่าวมาก่อน ทำมาได้พักใหญ่ๆ อยู่ผู้จัดการ แล้วมีพีอาร์ท่านนึงชักชวนมาลองทำงานพีอาร์เล็กๆ เชิญเพื่อนนักข่าวมางาน เก็บคลิปปิ้งข่าวอะไรอย่างนี้ เราก็ช่วยพี่เขามาเรื่อยๆ พอมีพีอาร์คนอื่นเห็นว่าเราทำได้ก็เลยชักชวนมาทำ เราก็ทำเหมือนเป็นฟรีแลนซ์ควบคู่กันไป โดยที่งานนักข่าวก็ยังทำอยู่ ต้องบอกว่านี่ตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนนะ นักข่าวที่จะมาทำพีอาร์แบบนี้ยังน้อยมาก"
ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะมีคนเห็นแววว่าเราทำงานพีอาร์ได้และชักชวนให้มาช่วย?
ใช้เวลานานไหมเหรอ จริงๆ ก็อยู่ที่โอกาสนะ พี่เขาคงเห็นว่าเรารู้จักคนเยอะ มีเพื่อนเยอะ เลยให้มาช่วยดู (อยู่ผู้จัดการมานานแค่ไหน?) โห นานมากค่ะ พี่ทำมาตั้งแต่เว็บสะแด่วดอทคอม เป็นของลูกชายคุณสนธิ ก่อนจะมาทำที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ก็ทำรายวันมาอีก 3-4 ปี ส่วนเว็บสะแด่วทำมาประมาณ 3 ปีกว่า รวมๆ ทำที่ผู้จัดการก็น่าจะ 6-7 ปีกว่า ถึงได้มีคนชักชวนมาทำพีอาร์ (เรียกว่าเป็นสื่อออนไลน์ยุคบุกเบิกเลยหรือเปล่า?) ใช่ๆ สื่อออนไลน์ยุคบุกเบิกเลย เรียกว่าตอนนั้นสื่อออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนปัจจุบัน ตอนนี้คือคนหันมาดูสื่อออนไลน์มากกว่าเปเปอร์ คือมันไวไง ดูได้เลย สมัยนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการถือเป็นเว็บหนังสือพิมพ์ข่าวอันดับหนึ่งของประเทศไทย เพราะขึ้นข่าวไวมาก มีสัมภาษณ์ปุ๊บ...ขึ้นเลย นอกจากพวกสกู๊ปอาจจะขึ้นช้าได้ แต่ถ้าเป็นข่าวอะไรที่ด่วนเราต้องขึ้นเป็นเว็บแรก มันเป็นการแข่งขัน
มุมมองที่เราเป็นสื่อออนไลน์ยุคแรก เมื่อมองมาที่สื่อออนไลน์ยุคปัจจุบันมีความเหมือนความต่างกันอย่างไร?
พี่ว่ามันก็คล้ายๆ กัน แต่ว่าการแข่งขันจะสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน บางเว็บมีการก็อบปี้ข่าวมาลงและไม่ให้เครดิต นักข่าวบางส่วนจะมีบ่นๆ ว่านักข่าวสมัยนี้จะไม่ได้ทำงานด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่..ที่ว่าเราต้องทำ เราต้องเขียนเอง แต่จะไปก็อบลิงค์เค้ามา ก็อบข่าวเค้ามาและไม่ขึ้นเครดิตให้ เราก็จะเห็นเฟซบุ๊กบางเพจที่นักข่าวเป็นเจ้าของเว็บเองจะเขียนบ่นๆ นิดนึงว่าทำไมเอาข่าวเขาไปใช้แล้วไม่ให้เครดิตบ้างเลยว่าเป็นข่าวของเขา ถามว่าพี่เคยเจอบ้างมั้ย ของพี่เองมีบ้างแต่น้อย ไม่เหมือนปัจจุบันที่การแข่งขันสูง สมัยก่อนออนไลน์ไม่เยอะ ก็จะไม่หนักหนาขนาดนี้ เพราะการจะก๊อบไปมันเห็นชัดก็จะไม่ค่อยสะดวกนะพี่ว่า
พี่มองว่าพอจะมีทางออกทางแก้ไขอะไรได้บ้างไหมสำหรับสถานการณ์อย่างนี้?
พี่ว่ามันแก้ยากนะ คือถ้าในใจพี่นะ พี่อยากให้นักข่าวทุกคนทำงานด้วยใจของตัวเอง ผลงานของเราก็อยากให้ทำเองมากกว่า เพราะจะภูมิใจกว่า อย่างการเอาของคนอื่นมาลง มันไวก็จริง แต่ภูมิใจเหรอ มันไม่ใช่ของเรา อย่างการสัมภาษณ์จากแหล่งข่าวเดียวกันพร้อมกัน เนื้อหาแน่นอนว่าคงไม่ต่างกัน แต่การเขียนมันจะมีสไตล์ของใครของมัน อย่างน้อยๆ รีไรท์ซะหน่อยให้มันดูเป็นชิ้นงานที่เราได้เขียนด้วยภาษาของเราเองบ้างก็ยังดี
สถานะสื่อออนไลน์ตอนนี้เหมือนพีระมิดกลับหัว?
ใช่เลย สื่อออนไลน์เมื่อก่อนถ้ามีการจัดเรียงลำดับก็จะอยู่บ๊วยๆ เลย พีอาร์จะไม่ค่อยให้ความสนใจและความสำคัญ ซึ่งตอนนี้อย่างที่เห็น โลกมันเปลี่ยน เทคโนโลยีสำคัญ ดูมือถือได้ ไม่ต้องดูกระดาษ สื่อออนไลน์จากท้ายก็ขึ้นมาอยู่บนยอดพีรามิด แต่เท่าที่คุยกับผู้บริหารบางคนที่เป็นยุคเก่าอยู่เขาก็ยังมองว่าสิ่งพิมพ์ดูสวยงามกว่าอยู่นะ
แล้วพี่เคยเจอเหตุการณ์สะบัดบ๊อบบ้างไหมตอนทำออนไลน์ยุคบุกเบิก?
ก็เจอนะ แต่ดีที่มีชื่อผู้จัดการออนไลน์ เขาก็เลยยังให้ความสำคัญหน่อย เพราะผู้จัดการมีครบทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ ถือเป็นสื่อใหญ่ ก็จะไม่เจออะไรหนักมากเท่าสื่อเล็กๆ หรือเว็บทั่วๆ ไป แต่สมัยนี้โอเพ่นมากขึ้น ผู้คนรวมถึงพีอาร์ก็ยอมรับสื่อออนไลน์มากขึ้น
วิกฤตโลกออนไลน์ และสื่อออนไลน์?
พี่ว่าสื่อปัจจุบันเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้วนะ คนอ่านอะไรที่ฉาบฉวยมากขึ้น สมัยก่อนกว่าจะทำข่าวออกมาได้สักชิ้นต้องลงทุนลงแรงมาก แต่เดี๋ยวนี้เล่นกันง่ายๆ ซะเป็นส่วนมากอย่างที่เห็น แล้วเรื่องการแชร์อีก สำคัญมาก อยากฝากเตือนคนอ่านต้องใช้วิจารณญาณด้วยเพราะเดี๋ยวนี้ข่าวปลอมก็เยอะ บางทีเห็นแล้วแชร์เลย แชร์ไปในวงกว้าง กลายเป็นเผยแพร่เรื่องผิดๆ บิดเบือนออกไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ฉะนั้นเบื้องต้นเราต้องใช้วิจารณญาณของเราก่อน ถ้าอันไหนไม่แน่ใจก็ไม่ควรแชร์
อัพเดทปัจจุบันพี่จ๋อยทำอะไรบ้าง?
ยังทำรายการทีวี ยังเป็นนักข่าว ตอนนี้ทำรายการทีวีของตัวเองชื่อว่ารายการ Horo Hiso จะเป็นรายการเกี่ยวกับไฮโซและการดูดวง ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่ถนัดเพราะก่อนหน้านี้พี่เป็นนักข่าวหน้าสตรี หน้าเซเลบไฮโซ และก็เป็นพีอาร์ด้วย รับงานฟรีแลนซ์ถ้ามีคนมาจ้าง และก็ยังเขียนข่าวหนังสืออยู่ เขียนเดลิมิเร่อร์ เขียนผู้จัดการบ้าง นิตยสาร 2 ภาษาของไบเทคบางนา อย่างรายการทีวีของเราต้องมีการอีเวนท์ด้วย มีไปสัมภาษณ์ตามงาน ซึ่งก็เป็นงานที่เรารักและถนัดด้วย พี่อยู่ในวงการนี้มาไม่ต่ำกว่า 15 ปีแล้ว นานมาก
จุดเปลี่ยนหลังเป็นเจ้าของรายการเองแล้ว?
เป็นเจ้าของรายการ สามารถตัดสินใจได้หมด เริ่มแรกตอนอยู่สยามดารา มาคุยกับพี่หมอดูไฮโซที่พี่รับเป็นผู้จัดการส่วนตัว และบังเอิญมีคนมาชวนทำรายการทีวี เราก็คิดว่าทำไม่ได้หรอก ไม่ได้เรียนมาทางนี้โดยตรง ไม่ได้ฝึกงาน ไม่ได้อยู่กอง และไม่มีหัวทางด้านนี้เลย แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวชวนเพื่อนมาช่วย เพื่อนทำรายการใหญ่ ก็มีคุยกันอยู่ 4-5 คน รวมพี่หมอด้วย แต่พอถึงเวลาจริงๆ เพื่อนพี่ก็มาไม่ได้แล้ว เพราะต้องดูงานทางนู้นเป็นหลัก
ในส่วนพีอาร์พี่ดูสายอะไรบ้าง?
หลักๆ พี่ดูสายบันเทิง แคมปัส มันคาบเกี่ยวกันมาจากตอนทำผู้จัดการ ดูสายเซเลบบ้าง แต่เซเลบมาได้ดีตอนอยู่ดาราเดลี่แล้ว เริ่มมีคอนเนคชั่นทางด้านนี้มากขึ้น การทำพีอาร์คือการใช้คอนเนคชั่น ความกลมเกลียวรักใคร่กับสื่อมวลชน ถ้ารักกันมากเท่าไหร่เขาก็มีความเมตตาลงข่าวให้เรามากขึ้นเท่านั้น (ความถี่ในการรับงานพีอาร์?) ปัจจุบันรับน้อยลงนะ งานพีอาร์สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน บางทีคนรับอย่างฉาบฉวย อาจจะด้วยเศรษฐกิจไม่ดี เงินมันไม่ได้เยอะเหมือนสมัยก่อน บางทีบิดกันด้วยราคา ไม่ใช่คุณภาพ
ตอนนี้เป็นผู้บริหารเอง เป็นเจ้าของรายการเองก็ดูน่าจะอยู่จุดที่สูงสุดแล้ว ทำไมถึงยังต้องรับงานพีอาร์อยู่อีก?
ที่รับงานพีอาร์เป็นเพราะใจรัก เราชอบ มันสนุกดี การทำงานพีอาร์ได้เจอคนหลากหลาย และงานพีอาร์จะต้องเป็นคนที่พร้อมจะดูแลคนอื่น เทคแคร์เป็น อยู่กับคนเป็น เราจะได้เจอคนหลายแง่หลายมุม อย่างเวลาเราออกต่างจังหวัดเราก็จะรู้แล้วว่าต้องแก้ไขสถานการณ์อย่างไร แบบไหน รายได้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เอามาช่วย แต่ก็อย่างที่บอกแหละว่ารายได้มันไม่เหมือนเดิม น้อยลง เลยเป็นความชอบล้วนๆ ก็เหมือนที่เราทำรายการทีวี เพราะเราชอบการทำข่าวถึงทำ จริงๆ ก่อนหน้านี้ ตอนที่พี่อยู่หนังสือก็มีพีอาร์บริษัทหลายที่มาชวนว่าไปทำกับเค้ามั้ย เพราะเห็นว่าเราคล่อง แต่เราก็ไม่ได้ไป เพราะเรารักงานด้านนี้ ถามว่าทำพีอาร์ควบคู่ได้มั้ย ทำได้ แต่เรารักงานนักข่าวมากกว่า ถ้าให้เลือกก็เลือกนักข่าวมาก่อน
ความยากเมื่อต้องนั่งเก้าอี้บริหารคนอื่น?
ต้องดูทุกอย่าง ลูกน้องทำเสร็จก็จบ กลับบ้านได้ ไม่ต้องคิดอะไรต่อ แต่เราต้องมาวางแพลนว่าอาทิตย์หน้าแขกรับเชิญเป็นใคร จะหาเงินจากไหน จะคุยกับลูกค้ายังไงให้ได้งาน คือทุกอย่างเราต้องคิดเองวางแผนเอง มีคนถามว่าทำไมไม่จ้างคนไปวิ่งข่าวให้ แล้วเราอยู่ข้างใน เพราะเราเป็นเจ้าของแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราจะรู้จักคนเยอะมั้ยถ้าเราอยู่แต่ข้างใน การเป็นนักข่าวก็ดี เป็นเจ้าของรายการก็ดี คอนเนคชั่นสำคัญ เราต้องรู้จักคนเยอะๆ เราจะได้ความรู้ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ และการที่เราสัมภาษณ์เราจะได้มุมมองที่เจ๋งมาปรับใช้ในชีวิตเราได้ทุกสิ่งอย่าง ให้เราเปิดใจ อะไรที่ดีก็เปิดรับมาใช้กับชีวิตตัวเอง
แรงบันดาลใจ หรือไอดอลในการทำงาน?
แขกรับเชิญบางคนที่มาแล้วทำให้เรารู้สึกว่าเขาเก่งจังเลย อย่าง ดร.สมศักดิ์ ชลาชล คือพี่ชอบคนเก่ง และคุณนภัทร โภคาสัมฤทธิ์ (คุณบอย) คือเขามีต้นทุนแค่หมื่นบาทแต่สามารถทำให้ตัวเองมีธุรกิจเป็น 500-600 ล้านบาท พี่ชอบมาก ตอนแรกจะให้เขาออกรายการแค่เทปเดียว พอสัมภาษณ์แล้วชอบความคิดของเขาเลยให้ออก 2 เทปเลย เพราะคนที่ฟัง คนที่ดูก็จะได้แรงบันดาลใจจากเขาเหมือนที่เราได้ พี่เคยถามว่า “ทำไมน้องบอยถึงกล้าจังเลยล่ะ กล้าลงทุนทุกสิ่งอย่าง แล้วถ้าเกิดวันนึงเจ๊งล่ะ?" เค้าบอกพี่ว่า “พี่ครับ ผมเคยไม่มี ผมเคยเริ่มต้นจากศูนย์ ถ้าผมจะกลับมาที่ศูนย์อีก ทำไมผมต้องกลัวด้วยล่ะ" พี่แบบเฮ้ย!! มันเจ๋งอะ เค้ากล้า และไม่ใช่สักแต่จะกล้านะ แต่เป็นกล้าแบบมีหัวคิด เค้าคิดอย่างถ้วนถี่แล้วถึงออกมาเป็นผลอย่างดี กล้าแล้วต้องคิดด้วย ผลจึงจะออกมาดี
อย่างทำรายการทีวี ถ้าพี่ไม่ทำ ไม่ลอง พี่ก็จะไม่รู้ คนส่วนใหญ่จะคิดว่า โดนบีบ เปลี่ยนงาน ทำไงดี พี่จะบอกทุกคนเลย พี่เคยเป็นมาก่อน ตอนถูกบีบออกจากงานที่นึง เคยคิดว่าจะทำได้เหรอ จะอยู่ได้เหรอ พอเวลาผ่านมาเราก็คิดว่าถ้าตอนนั้นไม่มีอะไรมาบีบมากดดันให้เราออก เราก็คงอยู่แค่นั้น ไม่ได้มาเป็นเจ้าของรายการแบบนี้ คนเราทุกคนมีจุดเปลี่ยน แต่ต้องกล้าที่จะลองเปลี่ยน สมมุติมีแรงกดดันทำให้ออก เราไม่รู้หรอกว่าออกมาแล้วอาจจะดีกว่าเดิมก็ได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่คุณลองหรือยัง ไหนๆ ก็มีแรงกดดันให้คุณเปลี่ยนแล้ว คุณลองเปลี่ยนดูมั้ย พี่ว่าทุกคนต้องเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ในช่วงนึงของชีวิต เปลี่ยนงาน เปลี่ยนนาย คือความท้าทายว่าจะอยู่ได้มั้ย บางคนนอยด์ไปก่อนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ลองเลย ฉะนั้นเราต้องลองก่อน
พี่เป็นทั้งเจ้าของกิจการ และได้ทำงานที่ตัวเองรัก ตอนนี้จะเรียกว่าประสบความสำเร็จตามเป้าได้หรือยัง?
พี่ไม่เคยตั้งเป้าว่าพี่จะประสบความสำเร็จได้แค่ไหน บางคนจะบอกให้เราตั้งเป้าตัวเอง แต่พี่เป็นคนที่แบบเครียดง่าย ก็เลยไม่พยายามให้มีเป้าให้มีอะไรมาครอบตัวเอง พี่เป็นคนค่อนข้างจริงจัง ก็จะคิดว่าทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ปล่อย พี่จะยึดคติว่า สุดมือสอยก็ปล่อยมันไป
กลยุทธ์ในการทำงาน และเกณฑ์การรับงานของพี่จ๋อยคืออะไร?
มันไม่ใช่กลยุทธ์ มันเป็นการทำงานตามนิสัยส่วนตัวดีกว่า ทำงานตรงๆ ไม่หลอกลูกค้าและไม่หลอกนักข่าว อย่างข่าวลงวันจันทร์ หนังสือพิมพ์ ได้หรือไม่ได้ก็ต้องบอกลูกค้าไปตรงๆ ไม่ใช่ ได้ค่ะๆ แต่ถึงเวลาไม่ได้ หรือนักข่าวจะสัมภาษณ์เดี่ยว อั้ม พัชราภา เราก็ต้องบอกเลยว่าไม่ได้ อั้มไม่มีเวลาให้สัมภาษณ์เดี่ยวขนาดนั้น อั้มมีเวลาแค่สัมภาษณ์รวม แต่บางคนหลอกทั้งลูกค้าหลอกทั้งนักข่าว ถ้าทำแบบนั้นครั้งต่อไปเค้าก็ไม่เชื่อเรา ต้องทำงานด้วยความจริงใจ ใจเขาใจเรา ส่วนเกณฑ์รับงานพี่ชอบลูกค้าที่คุยรู้เรื่อง คนที่เขาพร้อมจะเข้าใจพีอาร์ และเข้าใจนักข่าวของเรา
มองแนวโน้มวงการพีอาร์ในปี 60 และวงการสื่อปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไร?
พี่ว่าวงการพีอาร์ยังมีงานให้ทำอีกเยอะนะ คนเก่า คนใหม่ ลูกค้า คนมาทำธุรกิจเยอะขึ้น น่าจะมีงานให้พีอาร์ทำอีกเยอะ รวมทั้งบริษัทพีอาร์ที่จะมีเพิ่มมากขึ้น เหมือนขนมมี...คนก็จะมารุม มากินกันเยอะขึ้น จะมีเจ้าใหม่ๆ เยอะขึ้น การแข่งขันสูงแน่นอน บิดราคากันอะไรอย่างนี้ (เราจะสู้กับเค้ามั้ย?) พี่ไม่ใช่คนที่รับงานเพื่อจะได้งานอะ จะรับงานลูกค้าที่เห็นค่าของเรามากกว่า ถ้าแบบไปหาเค้าเพื่อโน้มน้าวให้ใช้เราก็คงไม่ แต่ถ้าลูกค้ามาขอให้ช่วยทำพีอาร์ให้หน่อยถ้าคุยกันลงตัวก็โอเค
แล้วแนวโน้มสื่อปีหน้าล่ะ จะมีอะไรดีขึ้น อะไรเลวร้ายลง?
สิ่งพิมพ์ปิดแน่นอนอีกหลายสื่อ ทั้งหนังสือดังๆ ในเครือใหญ่ๆ โดยเฉพาะนิตยสารที่ต้นสูงกว่า ปิดแน่นอน เทรนด์ก็จะเปลี่ยนไป ออนไลน์จะมา มาแน่นอน มาเยอะด้วย จะมีคนโดดมาเล่นข่าวออนไลน์มากขึ้น
ถ้าวันนึงสื่อออนไลน์ก็มาถึงจุดอิ่มตัวและดาวน์ลงเหมือนกัน พี่ว่าจะมีสื่อใหม่ๆ อะไรมาแทน?
พี่ว่าน่าจะเป็นการรายงานของแต่ละคนมากกว่านะ อย่างที่บอกว่าทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนรายงานสดได้ อาจจะแชร์ ออฟ เดอะ เดย์ ใครก็ทำได้ อาจจะไม่เหมือนสมัยนี้ก็ได้ ใครก็ทำได้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าว แล้วก็มีที่ได้ฟังมาคือแนวโน้มเด็กที่เรียนสื่อสารมวลชนจะตกงานเยอะ สื่อทีวีจะลดลง ทีวีจะเป็นออนไลน์มากขึ้น เพราะคนดูผ่านเว็บกันเยอะเลย ดูข่าว ทีวี หนัง ละคร ดูออนไลน์หมด (และถ้าสื่อดาวน์หมด การทำงานของพีอาร์จะเป็นยังไง?) พี่ว่าดูจากช่วงที่ผ่านมา พีอาร์ก็ไปดูแลพวกบล็อกเกอร์กันมากขึ้น เริ่มเปลี่ยน แต่พี่ว่าบล็อกเกอร์ก็อยู่ได้อีกไม่นาน เพราะแรกๆ เป็นรีวิวจริง แต่ปัจจุบันเป็นแบบซื้อ จ่ายตังค์แล้วลงรีวิว คนดูเขาก็รู้ พี่ว่านี่ก็ไปเหมือนกัน ฟันธง!