อย่าบอกว่าคนไทยไม่เก่ง เพราะตั้งแต่เปิดคอลัมน์ PR Interview มา ทำให้เราได้พบกับคนเก่งๆ มากมายที่กำลังเฉิดฉายอยู่รอบตัวคุณ อย่างในวันนี้ก็เช่นกัน เราได้รับเกียรติจากสาวน้อยไฟแรงที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามนามว่า “ลักษณ์ษิพร ฤกษ์สอาด" หรือ “น้องบู" ที่ตอนนี้เรียกได้ว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีกับอายุเพิ่งแตะเลข 3 เธอผ่านประสบการณ์มาแล้วมากมายทั้งงานสายชิล สายโหด รวมถึงงานเหนือการควบคุม ทั้งวงการข่าว สิ่งพิมพ์ ราชการ ครีเอทีฟ จนขึ้นแท่นเป็น บก. สูงสุดของตำแหน่งในวงการข่าวที่บริษัทในเครือของยักษ์ใหญ่อย่างอาร์เอส กระทั่งวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ทำเอาหลายคนโซเซ ล้มลุกคลุกคลาน แต่สาวน้อยคนเก่งคนนี้กลับได้เดินตามความฝันทำงานประชาสัมพันธ์ที่ตามหามานานแบบไม่ทิ้งช่วงต่อทันที กับตำแหน่งที่ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ “ผู้จัดการส่วนประชาสัมพันธ์การตลาด" (Marketing DIV.MGR.) ที่ห้างใหญ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่าง บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัทในเครือ (THE MALL GROUP) ทำเอาเราต้องติดต่อขอสัมภาษณ์ให้มาแชร์ประสบการณ์กันด่วนๆ ส่วนเรื่องราวของเธอจะน่าติดตามแค่ไหน และมีมุมมองอะไรดีๆ ให้เรานำมาปรับใช้ได้บ้าง มาติดตามกันเลยค่ะ
เอาจริงตอนเรียนอยากเข้าวงการอยู่แล้วก็เลยเรียนนิเทศวารสาร สายข่าวนี่แหละ เลยได้มาฝึกงานสายบันเทิงที่สยามรัฐที่แรก แต่พอมาทำจริงๆ เฮ้ย!! มันชิลอะ เราอยากได้โหดๆ กว่านี้ อยากได้สไตล์สาวออฟฟิศ ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะไม่ทำสายข่าวแล้ว ก็ไปสมัครแล้วได้เป็นเลขาที่นิติศาสตร์จุฬาฯ เชื่อไหมว่าพอเราเข้าไปเป็นราชการปุ๊บ ทำให้เรารู้สึกว่าสายข่าวนี่เหมาะกับเราที่สุด (หัวเราะ) เราจะต้องผมดำ เราจะต้องรวบผม เราจะต้องใส่ตะแกรงครอบหัว เราจะต้องใส่กระโปรงคลุมเข่า เราต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น เราต้องใส่สูท เราต้องประชุม เราต้องเซ็นเอกสาร ราชการเต็มๆ คือ...ไม่ไหวแล้ว มันไม่พอดี รู้สึกมันก็เกินไป อย่างอันนู้นมันก็ชิลเลย อิสระเต็มที่ ความคิด การแต่งตัว ทำอะไรก็ได้ กลายเป็นสงสัยเราจะเหมาะกับสายข่าวนี่แหละ ก็เลยทำที่นี่แค่หมดอายุสัญญา 1 ปี แล้วกลับมาทำนิตยสารสตาร์คลิป เขียนคอลัมน์ แล้วมีพี่ที่สนุกดอทคอม เห็นผลงานที่เราเขียนแล้วชอบ เลยติดต่อมา พอได้ไปคุยก็รู้สึกน่าสนใจ เพราะงานนักข่าวเราก็เคยทำแล้ว นิตยสารก็เคยแล้ว ก็เลยโอเคมาลองทำเว็บไซต์ดูบ้าง ทำที่นี่นานสุด 2 ปี เราได้อะไรกับมันเยอะ แต่ด้วยความที่เราอาจจะ alert เอง รู้สึกว่าถ้าเราเป็นนักข่าวเราก็จะเป็นแค่นักข่าว ก็จะสุดแค่ที่นักข่าวไม่เติบโตไปกว่านี้ เป็นนักข่าวเต็มที่ก็เป็นได้แค่บก.บห. แค่นี้ ก็เลยคิดว่าหรือเราจะเปลี่ยนสายดี ก็กลับมาคิดว่าเราควรจะเปลี่ยนสายอีกรอบนึง ก็เลยมาเป็นครีเอทีฟ
ก็เคยเป็นครีเอทีฟที่ไบร์ททีวี แต่ด้วยความที่เราเสียดายคอนเน็คชั่น ก็เลยตัดสินใจทำครีเอทีฟรายการข่าวบันเทิงก่อน อย่างน้อยคือเอาตัวเองให้รอดจากการเป็นครีเอทีฟก่อน แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ต่างจากเดิมที่เป็นนักข่าวบันเทิง อาจจะเพราะว่าเราอยู่สายเดิม ก็เลยลองเปลี่ยนสาย เลยมาเสนอโปรเจ็คให้กับที่แกรมมี่ ช่อง ONE พี่เขาก็ให้การบ้าน ให้เราลองคิดรายการถ้าโอเคก็จะรับ เราก็เสนอไป ก็เสนอมั่วๆ แหละ เพราะเราก็ไม่ได้รู้อะไร เสนอแบบคนทั่วไปอยากรู้อะไร และเราอยากทำอะไรบ้าง ก็ครบวงจรเลย ปรากฏได้ไปทำงานที่ช่อง ONE
ยังเป็นครีเอทีฟอยู่ แต่เปลี่ยนรายการเป็นรูปแบบวาไรตี้แล้ว ทอล์ค ช้อป ชิม กิน เที่ยว คือครบเลยใน 1 รายการ เราได้ทำทุกสิ่ง แต่แล้วโลกก็พากลับเข้ามาวงการเดิม (หัวเราะ)
คือตอนจะออกจากช่อง ONE ดันไปได้งานที่อาร์เอส เค้าเสนอให้เราเป็น บก. ซึ่งตอนนั้นเราอยากทำที่อาร์เอสเพราะอยากเป็นพีอาร์ แต่พอไปคุยเขาบอกว่าเราน่าจะเหมาะกับ บก. เราก็...บก.เหรอ สายข่าว สุดท้ายเราก็ได้กลับมาเป็นนักข่าว เอ้า บก. ก็ บก. สุดท้ายเราก็ออกจากแกรมมี่ โอเคเราได้ลองแล้ว แต่เรารู้สึกว่าไม่ชอบทำรายการ ลองแล้วมันไม่ใช่ แต่ถามว่าทำได้มั้ย ทำได้ ให้ทำต่อก็ทำได้ แต่ในเมื่อโอกาสมันมาให้เราได้โตจากอาชีพนักข่าว ได้ขึ้นมาเป็น บก.แล้ว ก็ลองเสี่ยงดู อันนี้ก็ทำได้ประมาณปีนึง แต่ว่าอันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะออกแล้ว ออกด้วยเหตุจำเป็น บริษัทปรับโครงสร้างนิดหน่อย ก็เสียดายเหมือนกัน แต่เราก็รู้สึกว่าที่ไปสมัครอาร์เอสเพราะอยากทำพีอาร์นะ ก็เลยรู้สึกเหมือนยังไม่จบ ยังไม่จบกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น ก็เอาอีก พอรู้ว่าบริษัทปรับโครงสร้างปุ๊บ ก็โอเคค่ะ หนูขอไปตามฝันของหนู
ไม่รู้สิ รู้สึกว่าการเป็นพีอาร์มันได้อะไรเยอะ ถ้าเราเป็นนักข่าว เราเป็นสายไหนเราก็จะได้แค่สายนั้น แต่สำหรับการเป็นพีอาร์แล้ว โดยเฉพาะเป็นพีอาร์เดอะมอลล์แล้วเนี่ย มันเหมือนกับเป็นพีอาร์องค์กร ไม่ใช่พีอาร์ที่รู้จักแต่นักข่าวบันเทิงนะ เขียนได้แต่ข่าวบันเทิงอย่างที่เราถนัด มันกลายเป็นว่าเราต้องทำหมดเลย CSR การตลาด หน้าสตรี สังคม เยาวชน บันเทิง เราต้องรู้จักครอบคลุม มีอะไรให้เราเรียนรู้ ให้ต่อยอดไปเรื่อยอย่างไม่มีวันจบ แต่นักข่าวเป็นอะไรที่จำเจแล้ว ไปถึงสัมภาษณ์ๆ ถอดเทปๆ ลงข่าว จบ แต่ในขณะที่พีอาร์ สมมติได้รับโปรเจ็คมาโปรเจ็คนึง ไม่มีดารานะ งานนี้ผู้บริหารนะ งานนี้ CSR งานนี้ต้องเป็นเซลส์นะ เราจะต้องทำยังไงต่อ คิดสคริปต์เอง ทุกอย่างเอง เขียนเอง เหมือนเป็นครีเอทีฟในตัวด้วย มีคนมาบรีฟให้เราอีกที แต่มันก็ทำให้หลากหลายมากขึ้น วันนี้อยู่ๆ ได้ไปรู้จักหน้าสตรี วันนี้อยู่ๆ ก็ CSR มาแล้วจ้า (หัวเราะ)
ตอนเป็นนักข่าวได้คอนเน็คชั่นเยอะ การจะโตต้องยอมรับว่าอาชีพนักข่าวมีส่วนช่วยกับตรงนี้เยอะให้เรามีทุกวันนี้อย่างมากเลย เพราะนักข่าวจะต้องติดต่อกับพีอาร์ด้วยกัน ต้องรู้จักนักข่าวสำนักอื่น เวลาไปทำงานที่อื่น เราพูดได้ว่าเราติดต่อกับผู้จัดการดาราได้นะ เรารู้จักคนนู้นคนนี้ แล้วพอเราไปทำงานสายอื่น มันต้องลิงค์กันหมด ยังไงมันต้องติดต่อกันหมด เลยทำให้เราโตได้ เพราะนักข่าวเลย แต่ของครีเอทีฟ คอนเน็คชั่นทุกอย่างมันเริ่มหาย ข้อเสียคือมันเริ่มหายไป เราต้องมานั่งคิดว่าวันนี้รายการเราจะออนอะไรดี นู่นนี่นั่น แต่สิ่งที่เราได้คือความอดทน เพราะว่าเราไม่ได้ทำงานกับเอกสารเป็นหลัก เราจะต้องทำงานกับคน เราจะต้องเจอกับพิธีกร เจอกับตัดต่อ เจอกับทุกอย่าง รายการสด ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างรายการสดเราไม่รู้เลยว่าเราจะเจออะไร วันดีคืนดีไฟดับ ทำไงล่ะ วันดีคืนดีสัญญาณเน็ตไม่มา พิธีกรมาสาย ดีไม่ดีก็ตัดต่อเอง ตัดผิด อินเสิร์ทผิด ทำไงล่ะ (ต้องตัดเองด้วยเหรอ?) ไม่ คือบางทีตัดต่อมาผิด อีกสิบนาทีจะเข้ารายการแล้ว ตัดต่ออินเสิร์ทภาพกับเนื้อหาไปคนละเรื่องเลย เราก็ต้องเฮ้ย...ไปหาภาพมาให้เค้าใหม่นะ แล้วเวลา 10 นาที กับรายการสด เลื่อนไม่ได้ ทุกอย่างต้องแก้ปัญหา หรืออยู่ดีๆ พิธีกร รถติด ปวดท้อง มาไม่ได้ เราก็อ้าว ทำไงล่ะ ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป
ครีเอทีฟเริ่มจากคิด เริ่มจากหาของ แต่โปรดิวเซอร์จะคุมทุกอย่างที่ครีเอทีฟทำอีกทีนึง สมมติจะเขียนสคริปต์ โปรดิวเซอร์จะต้องมาตรวจอีกทีว่าถูกมั้ยครบมั้ย เวลาออกอากาศสด ครีเอทีฟอาจจะต้องดูภาพรวมว่าพิธีกรพูดถูกมั้ย แต่ขณะเดียวกัน โปรดิวซ์จะต้องดูรวมยิ่งกว่า อย่างเราอยู่หน้าสตู เบื้องหลัง CG ซาวด์ต่างๆ โปรดิวซ์จะต้องเป็นคนดูว่าถูกหรือเปล่า แต่จริงๆ มันควรจะจบทุกอย่างที่ครีเอทีฟแล้วล่ะ ถ้าครีเอทีฟทำงานดีๆ โปรดิวเซอร์ก็จะสบายเลย สบายใจไปได้ครึ่งนึงว่างานเรารอด แต่ถ้าเจอไม่ดีโปรดิวซ์ก็จะรับผิดชอบหนักสุด
เราตื่นเต้นยิ่งกว่าโปรดิวซ์อีก จริงๆ จะถูกกดดันที่สุด อย่างที่บอกว่าครีเอทีฟเป็นตัวเริ่มต้น เพราะต้องขายงานก็มาจากหัวครีเอทีฟ แต่ถ้าเรทติ้งไม่ดี ก็จะมองแล้วว่าทำไม เพราะอะไร ข่าวไม่ดีหรือเปล่า เราต้องมานั่งลุ้นกันทุกวันเลย ถ้าเรทติ้งขึ้นมาสูงเราก็ไม่ได้สบายใจนะ ผิดปกตินะ ทำไมเรทติ้งดี วันนี้มันมีอะไร ก็ต้องไปดู หรือถ้ามันราบเรียบมาตลอด อยู่ๆ เรทติ้งตก เราก็เฮ้ย เพราะอะไร ทำไม คือบางรายการอาจถูกยุบหรือปรับรูปแบบรายการไปเลยก็มี
อายุงานจริงๆ 5 ปี กับการทำงานสักประมาณ 5-6 ที่ได้ (หัวเราะ)
ใช่ค่ะ (แสดงว่าเราต้องมีอะไรดีเข้าตากรรมการ งานเลยวิ่งเข้าหาตลอด?) สไตล์เลยค่ะ มีแค่ที่นี่ พีอาร์เดอะมอลล์ ที่มาสมัครเอง ที่แรกเลยค่ะ ตื่นเต้นมาก เค้าสัมภาษณ์กันยังไง มีเทสต์ด้วยเหรอ ตื่นเต้นสุดๆ ส่วนที่ถามเรื่องงานวิ่งหาก็น่าจะเป็นสไตล์แหละ อย่างตอนอยู่นิตยสารก็เป็นสไตล์ที่ชอบเขียนข่าวเอง พอไปสนุกก็เขียนข่าวเอง เราจะไม่ได้แห่ไปสัมภาษณ์ดาราเหมือนที่อื่น จะดูงานแล้วหาจุดเด่น หาเรื่องราวอะไรมาเขียนให้มันแปลกออกไป ไม่ซ้ำใคร เพราะถ้าไปสัมภาษณ์รวมเนื้อหามันก็จะเหมือนกันหมดทุกสื่อ ออกพร้อมๆ กัน ไม่มีจุดขาย แต่ถ้าอย่างเราหาจุดสังเกตุอะไรเด่นๆ แล้วเขียน มันก็จะเป็นข่าวที่มีแค่ที่เราที่เดียว ไม่ซ้ำใคร แต่เอาจริงๆ นะ ให้พูดอย่างไม่น่าเกลียดคือมันเป็นฐานมาจากความขี้เกียจของเราเอง(หัวเราะ) เราเป็นคนขี้เกียจ ขี้เกียจถอดเทป ถามตอบๆ เป็นหน้าเลยอะ เราเลยเปลี่ยนแนวไปเลย บอกช่างภาพไปถ่ายคนนี้ๆ มา บนเวทีเราต้องเจออะไรก่อนที่คนอื่นจะสัมภาษณ์ เราเล็งเลย อาจจะเป็นชุดอะไรอย่างนี้ แซวเลย อะไรที่แซวแล้วจะเป็นจุดสนใจ สัญชาติญาณนักข่าวมันจะมีภาพผุดขึ้นมาในหัวอยู่แล้วว่าเราจะเล่นอะไรดี แล้วก็จะเขียนไม่เกิน 10 บรรทัดด้วยนะ (หัวเราะ) คือเป็นสไตล์ที่คนถูกใจซึ่งเบสมาจากความขี้เกียจ (หัวเราะ)
หนึ่งคือ พอรู้ว่าเราจะต้องออกจาก บก.และ ก็ขอตามฝันหน่อยสิ เราอยากเป็นพีอาร์มานานแล้ว ขอสักทีเถอะ ก็เลยเดินเข้ามาสมัครดื้อๆ เลยนะ ส่งเมล์มาบ้าง ตอนเดินเข้ามาสมัครเหมือนเขาไม่เห็นด้วย โอ้โห รอนานมาก เอาจริงๆ ที่ส่งเมล์เข้ามาก็รอนานมากเหมือนกัน แต่อย่างที่บอก พอเรารู้สถานการณ์บริษัทเก่า เราก็เริ่มยื่นใบสมัครแล้ว ก็เลยทำให้พอจบจากที่นู่นก็สามารถมาต่อกับที่นี่ได้เลย ซึ่งตอนแรกแค่อยากทำตามฝัน อยากรู้ว่าพีอาร์เป็นยังไง ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดใช่มั้ย เพราะทุกคนก็กรอกหูว่าเราจะทำได้เหรอ พีอาร์เปรียบเสมือนเบ๊เลยนะ ต้องรองรับอารมณ์ เราก็แบบ มันขนาดนั้นเลยเหรอ การเป็นพีอาร์ทำไมจะต้องมารองรับอารมณ์คน มาตามใจทุกคน มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างที่เราอาจจะยังไม่รู้ ก็เอาวะ ต้องลองดู
ไม่เลย คือไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าเขาสมัครหรือไม่สมัคร รู้แค่ว่าฉันจะทำ ส่งเมล์เลย มาสมัครเลย แต่ที่ฮากว่าคือ ตอนที่เขาเรียกมาสัมภาษณ์เรียกมาจากใบสมัครรุ่นเก่าที่เราเคยกรอกไว้ ส่วนอันใหม่เค้าไม่เห็นเลยนะ เค้าหาเราไม่เจอ ฟลุคมาก ก็มาคุยอยู่ 2 รอบ ก็แปลกดี เราก็พูดกับเขาตรงๆ ว่าเราไม่ได้เก่งพีอาร์นะ ที่นี่ที่แรก แต่เราก็พร้อมปรับ ในส่วนของคอนเน็คชั่นก็มีแต่ของบันเทิงด้วยซ้ำ เพราะเราโตมากับบันเทิง ทีแรกก็ไม่คิดว่าเขาจะเปิดโอกาสให้ แต่ก็โอเค ที่นี่เปิดโอกาสให้เรา
โทรหาเพื่อนเลยค่ะ เราทำที่ไหนดี เราเอายังไงดี แต่สุดท้ายเราอยากทำที่นี่ตั้งแต่แรกแล้ว มันก็ไม่ต้องเลือกเยอะ แล้วทุกคนก็ เออ...จะทำที่ไหนก็ทำเถอะ ทุกคนก็คิดว่าจะทำได้สักกี่เดือน เพราะที่ผ่านมาอยู่ไม่ค่อยนาน (หัวเราะ) แต่เราก็บอกนะครั้งนี้นานจริงๆ นะ เพราะงานทำทุกวันไม่เหมือนกันสักวัน เราทำได้ตลอด แล้วโตขึ้นทุกอย่าง โตขึ้นเรื่อยๆ ความคิดโตขึ้น ภาษาโตขึ้น การเขียนโตขึ้น ที่สำคัญคือตัวเราโตขึ้น มีความอดทนมากขึ้น เราเข้าหาผู้ใหญ่มากขึ้น มันเปลี่ยนไปหมดเลย มันเหมือนเปลี่ยนโลกไปเลย ไม่ต้องมาเจออีกโลกนึง เราไม่เคยต้องมานั้งทาปาก ใส่รองเท้าส้นสูง ถือกระเป๋าทำงาน ซึ่งทุกวันนี้เจอหมด เข้าออกตรงเวลา ซึ่งเราไม่ชิน เคยแต่แบบตื่นเที่ยงทำงานบ่ายก็ได้ อะไรอย่างนี้ ก็ต้องปรับตัวเยอะในตอนแรก เอาจริงคือจะบอกว่า อาชีพอะไรก็ได้ ขอแค่เราได้ลองไปทำ เชื่อว่าต่อให้ไม่มีประสบการณ์ทุกคนก็ทำได้ถ้าใจอยากทำ แต่ถ้าใจไม่อยากทำอะไรก็ทำไม่ได้เพราะว่ามันเหมือนต่อต้าน แต่นี่เรามาด้วยความอยาก ซึ่งวันแรกจะร้องไห้เลยนะ...
วันแรกอยู่ๆ รับโปรเจ็คเลย ทั้งที่ไม่เคยทำพีอาร์เลยนะ รับโปรเจ็คงานวันเด็ก แล้วจัดเดอะมอลล์ทุกสาขา ทั่วประเทศ คิดดูสิ ปกติเจอแต่อีเวนท์งานเดียว นี่เจองานใหญ่เลย ทุกอย่างงงไปหมด ต้องทำยังไง ต้องส่งงานใคร ข่าวสังคมติดต่อใคร ปฏิทินทำไง ไม่เคยเขียน อย่างที่อื่นเค้าจะรับงานแล้วช่วยกันคิดเอางานมารวมกันตอนท้าย แต่ที่นี่คือหนึ่งคนรับไปเลยหนึ่งโปรเจ็ค ดูแลรายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ 1 ถึง 10 ทำไปเลยคนเดียว ซึ่งมันก็ดีอย่างที่เราจะรู้ทุกอย่างตอบได้ แก้ไขปัญหาเองได้ รู้ว่าต้องทำอะไรในจุดไหน แต่ตอนนั้นเป็นงานแรกชนิดที่เราไม่รู้อะไรมาก่อนเลย ไม่มีประสบการณ์ก็เลยงงๆ จนถึงหน้างานกันเลยทีเดียว แต่โชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานคอยช่วย หัวหน้าคอยช่วย เลยทำให้ผ่านงานแรกมาได้ค่ะ
ถ้ามีหน้างานเราก็ควรไป เพราะเราจะรู้รายละเอียด เวลาขาดเหลืออะไร หรือมีปัญหาอะไร เราก็จะจัดการได้ (เราเป็นพีอาร์หลักของเดอะมอลล์เลยใช่มั้ยตอนนี้?) ใช่ค่ะ มันเหมือนเดอะมอลล์กรุ๊ปทั้งหมด เหมือนจุดศูนย์กลาง ของเราคือประชาสัมพันธ์องค์กร อะไรก็ตามที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ หรืองานเทศกาลอะไรก็จะเป็นเราจัด
ไม่ได้ใช้เลย เริ่มใหม่หมดเลย ถึงบอกว่าเหมือนจะร้องไห้เลยตอนแรก เข้าไปนั่งประชุมทุกคนโอเคค่ะ ตามนี้ค่ะ ได้ค่ะ เราคือ โอเคอะไรกันอะ เราไม่รู้ ทุกอย่างมีเวลาจำกัด ยังไม่ทันได้เรียนรู้งานเลย มาวันแรกเจองานใหญ่เลย หัวหน้าก็ช่วยปรับให้ ก็ยังดีที่มีคนมาช่วย ถ้าไม่มีก็คงไปแล้วอะ (แล้วคอนเน็คชั่นที่มีช่วยอะไรบ้างไหม?) ไม่ได้ช่วยเลย เพราะพีอาร์องค์กร ไม่ได้เกี่ยวกับบันเทิง มันไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่ ต่อให้มีก็คือเล็กน้อยมาก กว่าจะมีกอสซิบดารา บันเทิง มันต้องไปผ่านข่าวสังคม ผู้ใหญ่ CSR มาก่อน กว่าจะไปถึงบันเทิง ภาษาก็ต้องปรับหมดเลย ภาษาต้องทางการขึ้น เฮดไลน์ก็เช่นกัน จะมาแจ๊ดแจ๋เหมือนตอนเขียนข่าวบันเทิงที่เราคุ้นชินไม่ได้ มันซีเรียสไปถึง Enter เว้นวรรค ต้องเคาะเท่าไหร่ คือเราต้องเขียนข่าวอยู่แต่เปลี่ยนแนว (ก็ยังต้องคิดโปรเจ็ค ไม่เหมือนครีเอทีฟเหรอ?) โปรเจ็คไม่ต้องคิดแล้ว เรารับมาอย่างเดียวแล้วมาต่อยอด
สกู๊ปนี่ยากสุดเลยนะ เราเตรียมคำถามแบบข่าวบันเทิงมาเลยจ้า 10 คำถาม 1 หน้ากระดาษ แล้วไปเจอเซเลบ เหลือ 5 คำถาม แล้วอย่างบันเทิง เราก็เขียนตามที่เค้าตอบ แต่อันนี้คือต้องเอาที่เขาตอบมาเรียบเรียงให้สวยงามอีก ในขณะที่บันเทิงไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนเรียบเรียงได้ ตอนนั้นคือรู้สึกว่า ทำไมไม่ให้เราเขียนไปเลย ทำไมต้องมานั่งเรียบเรียงใหม่ อันนั้นคือที่คิดในใจตอนแรกๆ นะ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว ที่เราไปสัมภาษณ์เขาเพราะอยากรู้ความคิดเห็นของเขา แต่ที่ต้องมาเรียบเรียงใหม่เนี่ย เพราะหน้าที่เราเขียน เด็กก็อ่านได้ ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ เราจะมาโผงผางแบบบันเทิงมันไม่ได้ ก็เริ่มเข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละสเต็ปๆๆ
ตอนแรกก็คิดแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าโอเค โอเคกว่าบันเทิง ในที่นี้คือเวลาได้ยินว่าเซเลบทุกคนก็จะนึกถึงไฮโซ คนรวย จะต้องเยอะนู่นนี่นั่น แต่ไม่เลย เพราะคนกลุ่มนี้คือเขามีทุกอย่างอยู่แล้ว อาจจะขาดแค่ชื่อเสียง ถ้าเราไปแล้วสร้างชื่อเสียงให้เขา เขาจะยินดี เขาไม่เหมือนบันเทิงที่จะแบบฉันไม่แคร์ ยังไงเธอก็ต้องมาทำข่าวฉัน ฉันโพสต์ไอจีเธอก็เขียนข่าวแล้ว พอดังขึ้นมาแล้วก็เยอะ เดินสวนกันจำเราไม่ได้ก็มี แต่อย่างเซเลบเขาจะรู้อยู่แล้ว เรามาสัมภาษณ์เขา เราจะทำให้เขาดูดีขึ้น จะไม่มีด้านลบ จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์กันมากกว่า จะไม่มีด้านลบด้านบวกเหมือนข่าวบันเทิง มันจะบวกๆๆ อย่างเดียว อย่างเขาบริจาคเงินช่วยน้ำท่วม เราไปสัมภาษณ์เขา เขาก็ยินดี ยินดีที่จะพูด ยินดีที่จะตอบ แล้วเวลาข่าวออกไป ตัวเขาเองก็จะได้รับฟีดแบกดีๆ กลับมา เราก็แค่ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าหาผู้ใหญ่ มีความนอบน้อมเป็นเด็ก โตขึ้น ได้อะไรเยอะ
เริ่มแล้วค่ะ เริ่มอ้อล้อ (หัวเราะ) เริ่มรู้แล้วว่าวิธีการทำงานอย่างไรให้เร็วขึ้น เขียนอย่างไรให้มันไม่ยาก นำทุกอย่างมาปรับใช้เพียงแค่เข้าใจกับงานที่ทำ มันจะมีจุดตรงกลางแค่จุดเดียวที่ทำให้สามารถแตกแยกย่อยออกไปได้เป็นสิบเลย
การเป็นพีอาร์ที่ดี อย่างที่บอกว่าคุณเป็นคนกระจายข้อมูล การเป็นพีอาร์ที่ดีคือคุณจะต้องรู้ข้อมูลให้หมด ต่อให้ไม่มีคนมาถามคุณก็จำเป็นต้องรู้ การที่คุณเป็นคนกระจายข้อมูลแต่เวลามีคนมาถามแล้วคุณตอบไม่ได้ ความน่าเชื่อถือมันก็จะลดลงทันที ในขณะเดียวกันอย่างที่มีคนถามตอนแรกว่าทำไมต้องมาทำพีอาร์ ต้องรองรับอารมณ์ นั่นหมายความว่าคุณไม่รู้ข้อมูลหรือเปล่า ถ้าสมมุติมีคนมาถามคุณแล้วคุณให้คำตอบเข้าไม่ได้มันก็เป็นเรื่องปกติที่เขาต้องโมโห แต่ถ้าเกิดว่าคุณทำหน้าที่ตัวเองได้ดี คุณรู้จักข้อมูล คุณรู้จักทุกสิ่งอย่าง คุณทำหน้าที่ของตัวเองมาอย่างดีและเต็มที่ คุณตอบเขาได้ คุณให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้ จะไม่มีใครมาเหวี่ยงคุณหรอก
จริงๆ ตอนแรกเราก็มองแบบนี้ ทุกคนคิดแบบนั้นจริงๆ แต่จริงๆ มันต่างกันเยอะเลย ตรงนั้นเขาก็เป็นพีอาร์ห้างเหมือนกัน เพียงแต่เป็นห้างๆ เดียว เขายืนแล้วคอยให้ความช่วยเหลือทุกคนที่มาเดิน แต่พีอาร์องค์กร คนจะไม่รู้จักห้างถ้าไม่มีพวกเขา พีอาร์องค์กรทำอะไรมากกว่าที่คุณคิด ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คนมาเดินห้าง มันยากตรงที่ห้างมีเป็นหลายสิบห้าง แต่ถ้าเราไม่สามารถถ่ายทอดข้อมูลให้คนมาเดินห้างในแต่ละวันได้ เราก็อยู่ไม่ได้ หน้าที่หลักของพีอาร์คือทำยังไงก็ได้ให้คุณเดินเข้าห้างให้ได้ โดยที่เราอาจจะเป็นเบื้องหลังที่คุณไม่ได้คิดว่า อ๋อนี่เราเป็นคนทำนะ คุณอาจจะไม่รู้ว่าเอาจริงๆ แล้วมันมีพีอาร์องค์กรอยู่บนโลกนี้ไม่ได้มีแค่พีอาร์ที่นั่งหน้ารีเซฟชั่น คอยประกาศตามหาคน มันยากตั้งแต่เริ่มต้นคิดเลยว่าเราจะไปแข่งอะไรกับห้างอื่น ห้างอื่นเค้าจะมีอะไร แล้วห้างเราจะมีอะไรมาดึงดูด วันพรุ่งนี้เราจะต้องทำอะไรให้คนมาเดินมาซื้อสินค้าในห้างเรา มันยากจริงๆ
คู่แข่งจริงๆ คือทุกบริษัทที่เป็นพีอาร์นี่แหละ คู่แข่งเราเยอะมาก เราเป็นพีอาร์องค์กรก็ไม่ได้หมายความว่าจะดูแลแค่องค์กร พีอาร์มันก็มีงานเข้ามา เพราะฉะนั้นคู่แข่งมันก็คือคนที่จะมาแย่งงานเรา (จริงๆ พีอาร์องค์กรก็ฟังดูแล้วไม่น่าจะมีใครมาแย่งงานเราอีกนะ ดูน่าจะใหญ่สุดแล้ว?) แย่งค่ะ คือพีอาร์องค์กรเราดูภาพลักษณ์องค์กรก็จริง แต่สินค้าบางตัว บริษัทอื่นเค้าก็ต้องการเข้ามาทำเหมือนกัน ก็เหมือนต้องแข่งกับเอเจนซี่ด้วย เอเจนซี่เค้าก็ทำพรีเซ็นต์มาสุดฤทธิ์เพื่อที่จะได้งานไป เราก็ต้องนำเสนอข้อดีของเราด้วยเหมือนกัน อย่ามองว่าเราห้างใหญ่ ไม่ต้องทำอะไรหรอก ยังไงเขาก็เลือก ไม่จริงค่ะ เพราะการที่ลูกค้าจะเลือกเขาไม่ได้มองจากเราห้างใหญ่ เขาเลือกจากคุณให้อะไรเขาได้มากกว่า ทุกบริษัทก็เลยต้องมาแข่งขันว่าใครให้อะไรได้มากกว่า ดังนั้นมันต้องไปแข่ง กับบริษัทเล็กๆ ก็ยังต้องแข่ง ไม่ใช่พีอาร์ห้าง เป็นคอปอเรทแล้วเอเจนซี่จะต้องวิ่งเข้าหาเรานะ อันนี้คนเข้าใจผิดกันเยอะมาก ขนาดเพื่อนยังมาติดต่อจะวางขายของดูให้หน่อย จะมาเช่าพื้นที่นู่นนี่ เดี๋ยวก่อน ไม่ใช่ว่าพีอาร์ห้างจะต้องรู้ทุกอย่างนะ บางทีก็คนละส่วนกัน แยกๆๆๆ (หัวเราะ)
อันนี้ต้องทีมเวิร์คเลยค่ะ เพราะว่าเวลาเราคิดโปรเจ็คสักอันมันต้องร่วมกันในทีม บวกกับความจริงใจ ความซื่อสัตย์ การรับปากลูกค้าแล้วต้องทำให้ได้ด้วย เพราะถ้ารับปากไปแต่ทำไม่ได้ ลูกค้าก็จะมาแค่ครั้งเดียวแล้วหันหลังให้เราเลย (จุดแข็งของเราและจุดแข็งของทีม?) จุดแข็งของเราคือความบ้าระห่ำ เค้าให้ทำอะไรมาก็ทำไปเถอะ รับงานอะไรมาแล้วต้องทำให้สำเร็จ จุดแข็งของทีมคือร่วมด้วยช่วยกันทำให้ผลงานบรรลุความสำเร็จ ขอแค่นี้เลย เราโฟกัสแค่งานที่รับผิดชอบ
สื่อตอนนี้กลายเป็นสื่อเว็บไซต์โอเคทุกสิ่งอย่าง ตอนนี้ต้องการโปรโมทผ่านทางเว็บไซต์เยอะ หนังสืออะไรลดลง สังเกตุได้จากปีที่ผ่านมาก็ปิดไปเยอะ แนวโน้มสื่อตอนนี้น่ากลัวนะ น่ากลัวมาก อย่างทีวีก็ไปเอาอะไรมากไม่ได้ เพราะเขามีเวลาจำกัด แต่หนังสือพิมพ์ถามว่าจำเป็นมั้ยก็ยังจำเป็นอยู่ ลูกค้าหลายๆ กลุ่มยังให้ความสำคัญกับสิ่งพิมพ์
ก็ต้องออนไลน์มาก่อน ณ ปัจจุบัน แต่ส่วนตัวมองว่าเว็บออนไลน์ไม่ได้ดีทุกเว็บ อยากให้มีเว็บดีๆ ที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เว็บที่แค่ให้คนกดเข้าไปเอายอดไลค์ อยากได้เว็บดีๆ ที่ช่วยกระจายข่าวสารเราได้ และมีความน่าเชื่อถือ มองว่าสื่อออนไลน์คือสื่อที่แข็งที่สุดตอนนี้ เราก็ต้องคอยอัพเดทตลอด
จะทำตรงนี้ไปเรื่อยๆ เต็มที่ ตั้งใจจะต้องโตจากอาชีพนี้ เพราะมองว่าอาชีพนี้มันโตได้อีกเยอะเลย พีอาร์ไม่ใช่แค่รองรับนักข่าว แต่เราได้อะไรเยอะเลย ภาษา คอนเน็คชั่น สังคมใหม่ๆ เพื่อนร่วมงานใหม่ๆ เราได้เรียนรู้ทุกวันเลย พีอาร์เป็นอาชีพที่ไปต่อยอดอาชีพอื่นๆ ได้ ถ้าทำอาชีพนี้ได้ดี บูเชื่อว่าไม่ว่าจะไปทำงานอะไรก็ทำได้ (เราวางแผนจะอยู่ที่นี่นานแค่ไหน?) เอาจริงๆ ไม่เคยคิดว่าจะออก มันมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมาก จนไม่ต้องวางแผนเลยว่าจะทำกี่ปีๆ ไม่แน่อาจจะอยู่ที่นี่ไปตลอดเลยก็ได้นะ
อยากจะบอกทุกคนว่าไม่ต้องยึดติดเลยว่าฉันจบด้านนี้แล้วฉันจะต้องทำงานนี้ อย่าไปกลัวการเปลี่ยนแปลงอาชีพหรืออะไรก็ตาม ถ้ามีโอกาสเข้ามาคุณต้องรับ เพราะโอกาสไม่ได้มาหาคุณบ่อยๆ ถ้ามีโอกาสมาแล้วคุณไม่เลือก วันหนึ่งที่คุณต้องการโอกาสแล้วเขาไม่มาหา คุณจะมานั่งเสียใจไม่ได้นะ ดังนั้นคือ อย่าไปกลัว โอกาสมาแล้วต้องลองสักตั้ง ต้องสู้ไปกับมัน ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้