PR Interview: แชร์ประสบการณ์ฟังเพลินกับพีอาร์สุดแซ่บ "เต๋า" ปวรวรรณ จันทร์สมุทร แห่ง CK CONNECTION

ข่าวทั่วไป Friday October 28, 2016 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดสกู๊ปพิเศษ PR INTERVIEW ฉบับแซ่บเวอร์ กับตัวแม่ทีมพีอาร์แห่ง ซีเค คอนเนคชั่น (CK Connection) “เต๋า - ปวรวรรณ จันทร์สมุทร" พีอาร์ที่มีบุคลิกและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามแบบฉบับ “เต๋า ซีเค" ที่รับรองว่า เพียงได้เจอเธอครั้งเดียว คุณจะไม่สามารถลืมเธอได้เลย

“ปวรวรรณ จันทร์สมุทร" หรือ “พี่เต๋า" ปัจจุบันรับตำแหน่ง Media Relations ประจำบริษัท “ซีเค คอนเนคชั่น" แรกเริ่มเดิมที เธอทำงานเกี่ยวกับการประสานงานต่างประเทศ ทั้งฝึกงานที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานทูตอังกฤษ และงานจัดทำวีซ่า ก่อนที่จะเบนเข็มมาเริ่มทางเดินใหม่บนถนนสายประชาสัมพันธ์ ทว่าเส้นทางที่เธอเลือกครั้งนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยความเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยใกล้ชิดงานสายนี้มาก่อนเลย คอนเนคชั่นใดๆ ก็ยังไม่มี แต่งานแรกที่เธอได้รับมอบหมายกลับเป็นโจทย์หินที่สร้างความท้อแท้ใจให้เธอเป็นอย่างมาก จนเจ้าตัวเองยังอดคิดไม่ได้ว่า “งานใหม่ครั้งนี้เห็นทีจะไปไม่รอดซะแล้ว" แต่ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภายในบวกกับโลกใบใหม่ที่เธอยังไม่เคยเจอ กลับกลายเป็นสิ่งเติมเต็มในชีวิตที่ทำให้ “เต๋า ปวรวรรณ" ยังคงยืนหยัดรักมั่นในงานพีอาร์ มานานถึง 5 ปี อีกทั้งความเป็นกันเองของเธอยังทำให้สามารถคลุกวงในสื่อหลากหลายสายหลากหลายสไตล์ได้อย่างแน่นแฟ้น และเป็นที่รักของสื่อมวลชนที่ได้ร่วมงานอยู่เสมอ

มาทำความรู้จักพีอาร์สุดแซ่บคนนี้กันก่อน...

สวัสดีค่ะ ชื่อเต๋า ปวรวรรณ จันทร์สมุทร นะคะ เริ่มเข้าวงการพีอาร์ตั้งแต่ปี 2554 ก่อนหน้านั้นเริ่มจากงานทำวีซ่าไปต่างประเทศ แล้วอยากเปลี่ยนงานใหม่ก็เลยเสิร์ชดู แล้วก็ได้มาทำงานที่ TQPR ในตำแหน่งมีเดีย รีเลชั่นส์ เป็นที่แรก ก็ได้รับประสบการณ์ที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดีที่น่ารัก ทุกคนช่วยฝึกฝนเราจนเรามาได้ไกลถึงปัจจุบันนี้ แต่ตอนแรกที่เข้าไปทำงานใหม่ๆ นี่คิดว่าไม่น่ารอด เพราะต้องจำชื่อสื่อ จำหลายคนมากมาย ช่วงเดือนสองเดือนแรกก็ท้ออยู่เหมือนกัน แต่ก็ทำมาได้เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ก็ทำงานสายพีอาร์มาได้ 5 ปีแล้วล่ะ คือทำที่ TQPR มา 3 ปี แล้วปัจจุบันทำที่ซีเค มาได้ 2 ปี ใกล้จะขึ้นปีที่ 3 แล้ว

ในช่วงแรกๆ ที่ท้อ มีอะไรเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรายังคงอยู่ในงานสายพีอาร์มาได้จนถึงทุกวันนี้? บอกตัวเองอย่างเดียวเลยว่าต้องทำให้ได้ ที่ท้อตอนแรกเลยคือให้หาสื่อญี่ปุ่นในไทย แล้วเราไม่เคยทำตรงนี้มาเลย แล้วมาเจอสื่อญี่ปุ่น สื่อต่างชาติ เราเลยรู้สึกว่ามันห่างมาก เพราะแค่สื่อไทยเราก็ยังไม่รู้มีอะไรบ้างเลยตอนนั้น เป็นการเริ่มใหม่หมดเลย ตอนนั้นรู้สึกว่าคงจะไม่น่ารอด แต่แล้วเราก็บอกตัวเองว่า โอเค!! ต้องทำได้!! (ทำท่าเรียกพลัง) เราต้องตั้งเป้า สร้างทัศนคติที่ดีให้กับตัวเอง และโชคดีที่มีพี่ๆ เพื่อนๆ มีคนช่วยที่ดีด้วย มีคนที่ให้เราพึ่งพาได้ในตอนนั้น

งานแรกคือทำวีซ่า?

ตอนแรกเริ่มจากฝึกงานที่ ตม.ก่อน แล้วได้มาทำงานที่สถานทูตอังกฤษ แล้วก็มาทำเป็นวีซ่าเอเจนซี่ ต้องดีลแบบทั่วโลกเลย ก็ต้องใช้ความจำเยอะเหมือนกัน เพราะเป็นงานที่ต้องเป๊ะ ต้องรู้พวกกฏ ข้อจำกัดของแต่ละประเทศที่ทำวีซ่า คิดว่าเราก็น่าจะได้ในเรื่องความจำจากตรงนี้มาด้วย มาช่วยเสริมในงานพีอาร์ปัจจุบัน

เหมือนเริ่มจากงานค่อนข้างอินเตอร์แล้วทำไมมาลงเอยที่งานพีอาร์? จริงๆ งานพีอาร์ก็อินเตอร์นะ เพราะที่แรกที่ทำก็ดีลลูกค้าต่างชาติ สายการบินต่างชาติ มีการส่งข่าวให้ฝรั่งบ้างอะไรบ้าง

ซีเค คอนเนคชั่น เปิดมากี่ปีแล้ว?

ซีเค เปิดมาตั้งแต่ 2554 เปิดมา 5 ปีแล้วค่ะ โดยจากตอนแรกที่พี่แอนซึ่งทำงานมาหลายงาน แล้วมีแต่คนบอกให้เค้าจดทะเบียนบริษัทได้แล้วล่ะ ก็เลยเกิดเป็น ซีเค คอนเนคชั่น ตอนพี่เต๋าเข้ามาบริษัทก็เรียกว่าใหญ่แล้วนะ ตอนแรกบริษัทนี้เน้นงานบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนเราเข้ามาก็มีรับพวกงานมาร์เก็ตติ้งด้วยแล้ว สายงานก็จะกว้างขึ้น แต่ก็ยังดังในกลุ่มบันเทิงอยู่

ตอนนี้ในส่วนของซีเค และในส่วนที่พี่เต๋าดูแลงานพีอาร์มีสายอะไรบ้าง?

บันเทิงก็มี ล่าสุดเดี๋ยวจะมีคอนเสิร์ตเกาหลี มี B1A4 และก็ VIXX ค่ะ มีงานกีฬาด้วย จะมีงานแฟนมีทติ้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไอเลิฟยูไนเต็ด มีของธรรมศาสตร์ ไทยยินตัน สลินดริ้งค์ คือทุกสาย ซีเคฯ รับหมดค่ะ

ขอ 3 อันดับ งานที่ท้าทายและยากสุดที่เคยเจอมา?

อันแรกต้อง ททท. เลยค่ะ เพราะต้องมีส่งข่าวไปลงเว็บต่างประเทศด้วย แล้วต้องมีการหาคอนแทค และทำให้ตัวลิงค์ข่าวออกมาเยอะๆ ด้วย จัดว่ายากเอาการ รองลงมาก็เป็น สลินดริ้งค์ (ลูกค้าใหม่ล่าสุด) เพราะต้องเน้นในส่วนของชื่อเสียงและภาพลักษณ์ผู้บริหาร จะทำอย่างไรให้ภาพลักษณ์ลูกค้าเรา จากที่มีคนรู้จักในข่าวกอสซิบบันเทิง กลายมาเป็นภาพในส่วนของบิสิเนสแมนให้ได้ ก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย มีความใหม่สำหรับเรา อีกอันนึงน่าจะเป็นพวกคอนเสิร์ตที่มีไลน์อัพที่ไม่ได้ดังเท่าไหร่ หรือดาราหน้าซ้ำ ก็จะมีความยากในส่วนของการขายรายการ งานระดับประเทศบางงานก็ยากนะ

ภาพรวมตั้งแต่มาทำพีอาร์มา 5 ปีแล้ว มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง?

ความยากอยู่ที่ เวลาเราต้องการให้สื่อมาร่วมงาน อย่างกรุ๊ปมาร์เก็ตติ้งจะมีความท้าทายมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าวันนั้นจะมีงานอะไรมาชนบ้าง แล้วกรุ๊ปมาร์เก็ตติ้งค่อนข้างหวังผลสูง ถ้าสื่อมาร่วมงาน อย่างฟิกซ์มา 5 เล่ม ลูกค้าเห็นมาครบ 5 เล่ม ก็ต้องลง 5 เล่ม แต่เช้าวันรุ่งขึ้นไม่ได้ลงครบ 5 เล่ม ลง 3 บ้าง 2 บ้าง หรือบางทีเหมือนจะสัมภาษณ์เยอะแต่ก็ไม่ได้ลงอะไรอย่างนี้ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเฟลอยู่เหมือนกัน สายนี้ท้าทายแล้วค่อนข้างจะหวังผลสูง เราก็เลยต้องคอยลุ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าความง่ายของงานนี้ก็คือ ถ้าลูกค้าคุยได้ง่าย ก็จบ ถ้าลูกค้าเข้าใจเหตุผลนานาประการได้ ก็จบเลย

พี่เต๋าได้ร่วมงานกันสื่อหลากหลายประเภท พอจะบอกได้มั้ยว่าคาแรคเตอร์ของสื่อแต่ละสายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ที่เรารู้สึกว่าบุคคลิกค่อนข้างจะตายตัวจริงๆ ก็ต้องเป็นหน้ากีฬา กับหน้ายานยนต์ คือทุกคนจะมีคาแรคเตอร์เข้มๆ ความต้องการของสายนี้ เวลาอยากได้อะไร หรือจะขออะไรก็ค่อนข้างเป๊ะ เป๊ะปัง แต่ถ้าหน้าตลาด หน้าเศรษฐกิจ ก็จะเป็นแนวต้องการข้อมูลเชิงลึก ต้องล้วงลึกข้อมูลให้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ไม่ดีนะคะ ตรงนี้ก็ช่วยฝึกให้เรารู้ด้วยว่าเราควรจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหายังไง แต่ถ้าเป็นหน้าบันเทิงนี่ก็จะลั๊นลาปาจิงโกะ เป็นแนวเฮฮาปาร์ตี้ ไปไหนไปกัน อื่นๆ อย่างหน้าเยาวชน สังคมสตรี ก็ค่อนข้างจะเป็นแนวผู้หญิง ประมาณนั้นไป แต่ละสายก็จะมีคาแรคเตอร์ต่างๆ กันไป

แล้วส่วนตัวพี่เต๋าชอบสายไหน?

พี่ชอบมาร์เก็ตติ้ง มาก่อนเลย เพราะรู้สึกว่าสื่อสายนี้คุยคำไหนคำนั้น ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็บอกกัน ไม่ลงเพราะอะไร เขาก็จะบอกจะพูดมา เป็นอะไรที่ตรงๆ เลย สายที่สองเป็นบันเทิง เพราะเราคุ้นชินกับทั้ง 2 สายนี้

ปัญหาการทำงานที่เคยเจอมา ทั้งกับสื่อ ลูกค้า หรือเซเลบริตี้ที่เคยร่วมงาน?

ปัญหากับสื่ออาจจะเป็นในเรื่องความไม่แน่นอน ยกตัวอย่างการคอนเฟิร์มร่วมงาน เราไม่สามารถฟันธงได้แน่นอนตายตัว ว่าสื่อนี้จะมา หรือไม่มา จะมาได้ตามจำนวนหรือเปล่า เพราะตรงนี้อาจมีปัจจัยภายนอกมาเป็นอุปสรรค อย่างงานแทรก งานด่วนที่เราไม่สามารถคอนโทรลได้ แต่ตรงนี้เมื่อโยงมาในส่วนของลูกค้า ทำไมสื่อนี้ไม่มา บางคนพร้อมที่จะเข้าใจเรา แต่บางคนก็ไม่พร้อมที่จะเข้าใจเรา เราก็ต้องพูดให้ทุกคนเข้าใจให้ได้ ให้ทุกอย่างจบที่เรา ไม่ให้มีผลกระทบส่งต่อถึงคนอื่น ก็ต้องใช้การเจรจา ส่วนเซเลบริตี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องคิวการออกรายการ อย่างกรณีนึง เคยเจอเหตุการณ์ที่เซเลบริตี้ต้องไปออกรายการรายการนึง แต่ดันมาถึงก่อนรายการจะเข้าแค่ 5 นาที แล้วบอกว่าอยู่ได้ไม่นานต้องรีบไป จากเวลาที่บอกคือตัวรายการยังถ่ายไม่ทันเสร็จเลยแล้วจะไปได้ยังไง ทีนี้ล่ะ ปัญหาเกิด จะทำยังไง เราก็ต้องพยายามดึงตัวให้เค้าอยู่ถ่ายรายการให้จนจบให้ได้ ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

พี่เต๋าดูแลงานในส่วนไหนบ้าง และมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดตัวงานและสื่ออย่างไร?

ของพี่ดูในส่วนของการส่งข่าว การเชิญสื่อ การเขียนข่าว อันดับแรกเลย เราต้องดูในส่วนของความต้องการของลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอะไร ต้องการแบบไหน ซึ่งพอเรารู้เราก็จะตีโจทย์ตรงนี้และสานงานต่อได้ว่าจะส่งข่าวหน้าไหน เว็บไซต์ได้มั้ย ก็จะกลายเป็นคำตอบของเราเองโดยไม่ต้องลำบากใคร คือต้องตีโจทย์ให้แตกในแต่ละงานที่ทำนั่นเอง ด้านบริหารจัดการสื่อ สำหรับพี่ก็จะเชิญสื่อที่เรารู้จักก่อน แต่ถ้าเป็นสิ่งพิมพ์ หรืองานเฉพาะเจาะจง ก็จะเน้นที่การเชิญหัวหน้าโต๊ะข่าวก่อนเป็นอันดับแรก

ยุคโซเชียลจ๋าอย่างตอนนี้มีปัญหากับการทำงานบ้างหรือไม่?

มีเหมือนกัน เพราะว่าเราอยู่ในยุคที่ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ค่อนข้างจ๋า แต่ว่าในยุคนี้ทุกอย่างออนไลน์หมด ลูกค้าก็ต้องการในจุดนี้ เราก็ต้องหาอะไรใหม่ๆ หาคอนเทนท์ หาคอนแทคใหม่ๆ ตัวข่าวจะธรรมดาไม่ได้แล้ว ต้องมีอะไรที่คนอ่านแล้วรู้ว่าคืออะไร ต้องไม่ธรรมดา แต่ข้อดีคือความไวและความเร็วของเครือข่าย อยากรู้อะไรก็รู้เลย แค่เสิร์ชเท่านั้น

จากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้สื่อปิดตัวไปหลายเล่ม ในส่วนของพีอาร์ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?

ก็มีผลกระทบบ้างในการจัดสรรสื่อ ว่าจะเอากี่หัวกี่เล่ม คือเราต้องดูแนวโน้มความเป็นไปได้ ซึ่งความเป็นไปได้มันลดลงแน่นอน เพราะสื่อก็ปิดไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ อย่างคนที่เรารู้จัก ที่เคยโฟกัสไว้ สื่อปิดไม่พอ สื่อย้ายไปนู้นไปนี่กันด้วย เราก็ต้องมาตั้งหลักใหม่ ต้องคอยอัพเดทอยู่ตลอดเวลาว่าย้ายไปไหนทำอะไรกันบ้าง ข่าวเราก็ต้องอินไซด์ ก็ต้องคอยถามสื่อด้วยกัน เพราะเค้าก็จะมีฟีดแบกกับเรากลับมา

อีเวนท์บางงานใช้พีอาร์มากกว่า 1 เจ้า แล้วมาชนกัน ช่วงเดียวกัน เราทำยังไง?

เคยเจอค่ะ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราค่อนข้างจะเจอคนที่คุยกันได้ เพราะเราเชิญพาร์ทบันเทิง เค้าเชิญไอทีอย่างนี้ ก็จะแบ่งกันเลย เวลาเจอหน้าสื่อ ถ้าจำหน้าสื่อได้เราก็ต้องรีบสวัสดีทักทายมาแต่ไกลเลย อันนี้เป็นกลยุทธ์ ก็อาจจะมีการถามไถ่ว่าได้หมายจากใคร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการคุยกันแต่โดยดีเคลียร์กันได้ (แต่ถ้าเค้าบอกว่าได้จากทุกคนเลยล่ะ?) ก็ลงทั้ง 2 โต๊ะไปเลยค่ะ (หัวเราะ)

เวลาจัดงานขึ้นมางานนึง อะไรเป็นตัวชี้วัดว่างานเราบรรลุเป้าหมายแล้ว?

มีเดีย คือ ข่าว คือ คลิปปิ้ง นั่นแหละ อย่างเดียวเลย แล้วดีเทลแต่ละสื่อต้องดูด้วย อันนี้เล่มนี้ลงแคปชั่น แค่นี้พอแล้ว โอเคแล้ว แต่จริงๆ อันนี้น่าจะใหญ่กว่านี้นะ แบบถามยาวเหยียดลงนิดเดียว ประมาณนี้ แต่ก็ไม่เป็นไรคืออย่างน้อยมีข่าวลงก็ถือว่าซัคเซสแล้วระดับนึง เพราะเราก็เข้าใจว่าพื้นที่ลงจำกัด บางทีก็ต้องลงข่าวของลูกค้าเค้าก่อน ฉะนั้นถ้าข่าวเราออกอย่างน้อย 3 เล่มขึ้นไปเราก็โอเคแล้ว ส่วนออนไลน์เราไม่ค่อยห่วง เพราะเราก็ดูแลได้ในระดับนึง แต่สิ่งพิมพ์เนี่ย พื้นที่น้อยต้องแย่งชิงกัน ได้ลงสัก 3 - 5 เล่มเราก็พอใจแล้ว

ในฐานะที่เป็นพีอาร์ เอเจนซี่ พี่เต๋ามีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับบริการ iQMediaLink?

ก็ดีนะ มันเป็นการช่วยทั้งหมดเลย ทั้งคนที่เป็นพีอาร์ใหม่ หรือคนที่เป็นงานอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าตรงนี้ทำให้คนที่อาจจะรู้เยอะอยู่แล้ว หรือรู้น้อยได้รู้ไปพร้อมๆกันด้วย อะไรที่เป็นการสร้างประโยชน์และสร้างความรู้ไปด้วยถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

อะไรที่ทำให้เราแฮปปี้กับงานที่ทำอยู่ จนทำให้อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้?

เราอยู่ที่นี่เหมือนเราได้รู้ ได้เรียนรู้ รู้ไปหมดเลย เหมือนมีความรู้รอบตัวเพิ่มขึ้น อย่างอยู่ที่เก่าเราจะแทบไม่ได้แตะในส่วนของบันเทิงเลย แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็เลยเหมือนได้เติมเต็ม ได้เปิดหูเปิดตา เปิดมุมมองใหม่ๆ แต่เราก็ต้องเปิดใจด้วยนะ ตอนมาใหม่ๆ ก็ต้องศึกษานิสัยใจคอกันก่อนเลย เราก็ต้องเปิดใจ และเราก็ต้องแสดงศักยภาพออกมาให้เค้าเห็นด้วย

หัวใจการทำงานพีอาร์?

ความชัดเจน ต้องรู้ในสิ่งที่ทำ ว่าทำอะไร อยู่ในจุดไหน ต้องเข้าใจกัน ช่วยเหลือกัน

คำแนะนำคนที่อยากเข้าสู่วงการพีอาร์

ต้องเปิดใจทำ เพราะพีอาร์ไม่ใช่งานที่ทำกันได้ทุกคน เพราะเป็นงานที่ค่อนข้างจะสเปเชียลลิสต์ และพีอาร์เป็นงานที่ค่อนข้างจะเน้นความจำ โดยเฉพาะในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ต้องจำให้ได้ จำให้ดี

พูดคุยสบายๆ แต่ได้ครบเต็มสาระ กับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการทำงาน แถมด้วยบรรยากาศการทำงานของสายข่าวประเภทต่างๆ ให้อ่านกันเพลินๆที่สามารถเก็บคำแนะนำดีๆ จากพีอาร์สุดแซ่บคนนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันได้นะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ