PR Executive ด้านยานยนต์มองความน่าเชื่อถือ ประสบการณ์ รวมถึงงบประมาณ เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของงานพีอาร์ ขณะที่ประเด็นข่าวและความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ 2 เป็นหัวใจของทำการพีอาร์ให้กับธุรกิจยานยนต์
คุยกับ PR Executive คุณชัชวาลย์ สิทธิ์กานต์เกียรติ (เตี้ยง) แห่งบริษัท โปรเฟสชันแนล มีเดีย บิสซิเนส คุณเตี้ยงเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงยานยนต์ สื่อมวลชน ในฐานะพีอาร์งานมหกรรมยานยนต์ หรือ Motor Expo ที่พบเจอกันเป็นประจำทุกปี และเช่นกัน ช่วงปลายปีนี้ งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 ก็จะเปิดฉากขึ้นตามกำหนด
สัปดาห์นี้ คุณเตี้ยงได้มีโอกาสร่วมแชร์ แนวคิด มุมมองต่างๆ ในการทำงานพีอาร์แวดวงรถให้กับสาวก PR Interview กันแบบไม่กั๊ก
คุณเตี้ยง เปิดเผยว่า ปี 2560 ก็เป็นปีที่ 4 แล้วที่บริษัททำงานให้กับมหกรรมยานยนต์ แล้วถามว่าทำไมลูกค้ายังใช้บริการของเราอยู่จนถึงปัจจุบัน ? : การทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ ต้องมีแผน ต้องมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สื่อมวลชน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประสานงาน เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งความสัมพันธ์ของการเข้าสังคมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับงานพีอาร์ นอกจากนั้นการค้นหาสิ่งใหม่ๆ อัพเดทเทรนด์ของโลกยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก จึงต้องปรับตัวให้พีอาร์กลายเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ตัวเราให้มีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นมืออาชีพ และด้วยความเป็นมืออาชีพจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาต่อไป (นั่นแหละครับคือคำตอบว่าทำไม) อนาคตการทำพีอาร์ในแวดวงรถยนต์จะไปในทิศทางไหน ? : พีอาร์ จะไปในทิศทางของออนไลน์มากขึ้น สำหรับองค์กรใหญ่ จะมองพีอาร์ที่เป็นมืออาชีพ มีความน่าเชื่อถือ ส่วนองค์กรเล็ก งบประมาณจำกัด จะมองพีอาร์ในแบบที่สามารถตอบโจทย์ได้ในงบประมาณจำกัดเช่นกัน หรือไม่ก็ทำพีอาร์เอง หากมีบุคคลากรที่มีความสามารถ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแวดวงไหนความน่าเชื่อถือ ประสบการณ์ รวมถึงงบประมาณของลูกค้า จะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของงานพีอาร์โดยอัตโนมัติ
ส่วนเรื่องของแวดวงยานยนต์นั้น ปัจจุบันขยายตัวตามเทคโนโลยี โดยสื่อปรับตัวไปเป็นสื่อออนไลน์มากขึ้น และจะขยายตัวเป็นสื่อออนไลน์แบบที่มีภาพเคลื่อนไหวมากขึ้นตามความนิยมของผู้บริโภค ดังนั้น ไม่ว่าสื่อจะไปในทิศทางไหน หากพีอาร์ก้าวทันสื่อก็ถือว่ามีการปรับตัว แต่...เมื่อไหร่ที่พีอาร์มองเห็นถึงอนาคต หรือกำหนดทิศทางได้นั้น จึงจะเรียกได้ว่า “มืออาชีพ"
สื่อในการทำพีอาร์ของเรา ? : มองว่าสื่อในการทำพีอาร์ทุกที่ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ บรอดแคสท์บล็อกเกอร์ ฯลฯ / สิ่งสำคัญไม่ใช่สื่อที่มีในมือเท่านั้น แต่เป็นสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ และมีพาวเวอร์ในการสื่อสารออกไป ซึ่งเป็นสื่อที่ต้องค้นหาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของงานพีอาร์ ยิ่งโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกดิจิตอล ทุกสิ่งอยู่บนดิจิตอล จึงต้องปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ เพราะสื่อปรับตัว พีอาร์ก็ต้องปรับตัวให้ทันตลอดเวลา
งานมหกรรมยานยนต์ (Motor Expo) ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่มาก และมีการจัดงานยาวนานหลายวันเรามีวิธีคุมงานอย่างไรให้อยู่ ทั้งรับมือกับนักข่าว และลูกค้า ? : การทำงานมหกรรมยานยนต์เป็นการทำงานแบบมืออาชีพ ลูกค้ามีความเป็นมืออาชีพ พีอาร์เป็นมืออาชีพ จึงมีการระดมความคิดในทุกมุมมอง ทั้งลูกค้า พีอาร์ และมองไปถึงความต้องการของสื่อมวลชน ซึ่งแผนแต่ละปีได้มีการศึกษาถึงปัญหาเมื่อจบงาน และนำมาปรับปรุงพัฒนาให้งานครั้งต่อๆ ไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งศึกษางานใหญ่อื่นๆ เพื่อนำข้อดีมาปรับใช้กับงานของเราอีกด้วย
และไม่ว่าจะเป็นนักข่าวหรือลูกค้า ผมมองว่า เป็นการทำงานที่ต้องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ครบถ้วน รอบด้าน ซึ่งหากถามว่าจะรับมืออย่างไรนั้น ในแต่ละเหตุการณ์คงมีการรับมือที่แตกต่างกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มีเหตุผล ซื่อสัตย์ และใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาในงานนี้ ซึ่งต้องขอบคุณผู้ที่ให้คำปรึกษาเพื่อที่จะชนะปัญหาทุกคน
คิดอย่างไรกับการใช้พริตตี้สาวสวยกับวงการรถยนต์ ? : พริตตี้ช่วยให้มีคนมาสนใจรถยนต์มากขึ้น แต่ไม่ใช่สิ่งชี้วัดว่าจะทำให้ยอดขายดีขึ้น รถยนต์จะขายได้ต้องมีทั้งคุณภาพดี การตลาดที่ก้าวหน้า การสื่อสารตรงเป้าหมาย และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น พริตตี้ไม่ใช่การตอบโจทย์ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
เตรียมตัวอย่างไรในการทำพีอาร์ให้กับงาน Motor expo ? : การวางแผนงานไว้ล่วงหน้า ดังนั้นหากถามว่า เตรียมตัวนานแค่ไหน ต้องตอบว่า เราเตรียมตัวตลอดเวลาในการทำงาน ไม่ว่าจะก่อนงาน ระหว่างงาน หรือหลังงานจบแล้ว เราต้องพร้อมตลอดเวลา
ในการจัดงานแต่ละปีเรามีวิธีการทำงานให้น่าสนใจอย่างไร ไม่ให้ซ้ำกับปีก่อนๆ ? : เรามีหน้าที่นำเสนอสิ่งที่ตรงประเด็น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และสื่อสารไปยังสื่อให้ได้รับการเผยแพร่ ดังนั้น ประเด็นที่สื่อสารมีความสำคัญ คำว่า “ซ้ำซาก" เป็นคำถามที่คนไม่อยากตอบเพราะคิดว่า “ซ้ำซาก" แต่สำหรับผม หากการจัดงานมีมายาวนานหลายสิบปีแล้วได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ผมไม่มองว่าเป็นประเด็น “ซ้ำซาก" แต่มองว่าเป็นวิธีการที่พิสูจน์แล้วด้วยการจัดงานว่าประสบความสำเร็จ หากมองบวก ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ ครับ
มองการแข่งขันในวงการพีอาร์ ? : มีการแข่งขันกันสูง เนื่องจากพนักงานที่เป็นพีอาร์ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มองหาความก้าวหน้า หันมารับงานเองมากขึ้นเพราะด้วยประสบการณ์ที่พร้อม ความสัมพันธ์กับสื่อที่พร้อม ที่เหลือก็หาลูกค้า ถ้าทุกอย่างครบ และมาพบกัน พนักงานคนหนึ่งก็จะก้าวข้ามเป็นเจ้าของธุรกิจมาแข่งกับบริษัทพีอาร์ในที่สุด ซึ่งบริษัทใหม่จะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเก่ง หากเก่งจริงก็จะก้าวเป็นคู่แข่งได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจุบันเป็นอย่างนี้มากแล้ว
หัวใจของทำการพีอาร์ให้กับธุรกิจยานยนต์คืออะไร ? : มองประเด็นข่าวยังมีความสำคัญอันดับหนึ่ง ตามด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ 2 สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบหลัก นอกนั้นเป็นเรื่องรองลงมา แต่ก็ขาดไม่ได้ ทั้งเทคโนโลยีในการสื่อสาร การเข้าถึงสื่อใหม่ เป็นต้น
ปิดท้ายด้วยคำพูดหล่อๆ ของคุณเตี้ยงว่า คีย์ ซัคเซส ในการทำงานคือ ผมทำงานด้วย “หัวใจ"