คุยกับ “ณัฐกร เวียงอินทร์" Digital Content Editor เบื้องหลัง GM Live หมุดหมายใหม่ของ GM Magazine
“ครบรอบขวบปีที่ 31 หากเปรียบเป็นผู้ชายสักคน GM กำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ที่เปี่ยมด้วยพลังมากล้น แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราได้ปักหมุดสร้าง Milestone ไว้ไม่น้อยแล้วก็ตาม ในฐานะนิตยสารผู้ชายที่มียอดผู้อ่านสูงสุด เรามิได้หยุดอยู่แค่นั้น เรากำลังเดินหน้าสู่หมุดหมายใหม่ เราสนุกกับการหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อสื่อสารกับคุณผู้อ่านให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น"
นี่คือบางช่วงบางตอนของบทบรรณาธิการ โดย “อนันต์ ลือประดิษฐ์" บรรณาธิการบริหาร ฉบับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งเป็นฉบับครบรอบ 31 ปีของนิตยสาร GM นิตยสารไลฟ์สไตล์ผู้ชายที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย
ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านมากมายเหมือนในอดีต ดังนั้นแพลตฟอร์มใหม่ที่ทุกคนจ้องมองและมุ่งจะไปให้ถึงก็คือแพลตฟอร์มออนไลน์ หนุ่มหล่อมาดหรูอย่าง GM ก็ไม่อาจต้านกระแสธารนี้ แต่แน่นอนการการเดินไปยังหมุดหมายใหม่ของ GM จึงไม่ใช่การปล่อยตัวให้ล่องลอยไปตามกระแส แต่พวกเขาซุ่มซ้อมเตรียมตัวมาพอควรภายใต้การนำของ “ณัฐกร เวียงอินทร์" คนหนุ่มเลือดใหม่ไฟแรงที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากจีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป ให้เป็นผู้กรุยทางไปสู่หมุดหมายใหม่นาม GM Live
GM Live กับ GM Magazine มันไม่เหมือนกันทีเดียว นอกจากแฟตลฟอร์มคนละแบบแล้ว เนื้อหาที่อยู่ในGM Live คือ เราคัดสรรมาจากทั้ง GM Magazine บวกกับนิตยสารในเครือทั้งหมดทั้ง GM Car, GM Watch, GM2000, GM Biz, GM Vacation ,GM Travel และ 247 Free Magazine บวกกับคอนเทนต์ใหม่ที่ทีมออนไลน์จะสร้างขึ้นมาเองและก็บวกกับคอลัมนิสต์ในเครือบางส่วน
ถ้าพูดแบบให้เข้าใจง่ายๆเนื้อหาในนิตยสารในเครือจะถูกหยิบเข้าไปในออนไลน์หมด แต่เราจะขึ้นแบบ ซีเล็คชั่นให้มันเป็นกระแส ที่เราหยิบคอนเทนต์ข้างในมาเพราะเรารู้ว่าอาร์ไคฟ์ (archives) ที่เรามีมันสำคัญ
กองเรามันจะไม่ใหญ่เหมือนหลายๆ ค่ายออนไลน์ที่เขาประกาศตัว แต่สิ่งที่เรามีคือแต่ละกองบก.เล่มมีทรัพยากรและความถนัดเฉพาะด้านบางอย่างที่เราหยิบมาใช้ได้ เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องเสียงเราก็นึกถึง GM 2000 ถ้าพูดถึงเชิงธุรกิจก็พูดถึง GM Biz หรือถ้าพูดบันเทิง วาไรตี้ ไลฟ์สไตล์ ก็เป็น247 ซึ่งข้อมูลพวกนี้ทางกองบรรณาธิการเขาทำไว้ดีแล้ว หน้าที่ของพวกเราก็คือเอามันมาหีบห่อใหม่เพื่อที่จะมาเล่าขึ้นออนไลน์
มันก็เวิร์คระดับหนึ่งนะ ถ้าเราเอามาหีบห่อใหม่ ยกตัวอย่างนึงที่เราทำแล้วมันเวิร์ค คือ บทสัมภาษณ์ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ต้นฉบับมาจากนิตยสารนะ มันทำให้เราเชื่อว่าจริง ๆ คอนเทนต์ที่ดีถ้าเราเอามาใส่หีบห่อใหม่ให้มันเหมาะกับแพลตฟอร์มมันก็ขายได้ มันก็มีคนที่ตามอ่านอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่วิธีการเล่าของบทสัมภาษณ์ไตรภพ มัน Old school มาก ก็คือมันเล่า Q&A และก็ไม่ได้มีเทคนิคอะไรเลย แต่ว่าในเนื้อหาทุกคนพออ่านแล้วมัน อ่านแล้วมาคุไปกับมัน
ส่วนที่เราทำเอง คือ เราตั้งใจทำ Men Interest ถามว่า ผู้ชายสนใจอะไรบ้าง ฟุตบอล การเมือง ไลฟ์สไตล์ Hang out หรือแม้แต่ความคิดเชิงปรัชญาก็คือสิ่งที่ผู้ชายสนใจ แต่สิ่งพวกนี้ที่เขาสนใจเราจะมาเป็นแพ็กเกจ ทำอย่างไรให้มันน่าอ่าน คือโลกออนไลน์ตอนนี้มันแข่งกันอยู่ 2 แบบนะ แบบแรกคือสำนักข่าว อย่างที่เราเห็นในมติชน ข่าวสด ไทยรัฐออนไลน์ หรือแม้แต่ The Momentum แต่อีกแบบหนึ่งคือเนื้อหาเชิงบล็อกเกอร์กึ่งเว็บคอนเทนต์ ยกตัวอย่างเช่น The Matter หรือ Mango Zero พวกนี้ไม่ได้เล่นข่าวแถวแรก หมายถึงเกิดอะไรขึ้นเขาไม่เล่นแต่เขาจะย่อยทีหลังจากกระแส เราก็เหมือนกัน เราจะไม่บอกว่าเราเป็นสำนักข่าว แต่เราคือเว็บคอนเทนต์ที่ issue เราคือสิ่งที่ผู้ชายสนใจ
‘เป้าหมายของเราคืออยากสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Vanilla Content" ก็คือ คอนเทนต์ที่เวลาผ่านไป 2-3 ปีแล้ว เวลาอ้างอิงเขาก็ต้องเอาตัวนี้ของเราไป’
เชื่อว่าคน B+ ยังอ่าน แต่โมเดลมันกลับกันตรงที่ว่าเราเอาของเสียเงินมาทำให้มันฟรี พอมันฟรีแล้วก็เลยดูไม่เกี่ยวกับกำลังซื้อแต่เกี่ยวที่พลังในการเข้าถึงข้อมูลมากกว่า เลยคิดว่าคนที่เข้ามาอ่าน GM Live ยังไงมันก็กว้างขึ้น เราจั่วหัวก็จริงว่ามันคือ Men Interest ที่พูดถึงเรื่องผู้ชายก็จริง แต่ถ้าเราไปโพสต์รูปดาราดังๆ อย่าง “เบสท์ ณัฐสิทธิ์" คนที่อ่านไม่ใช่ผู้ชายนะแต่เป็นผู้หญิง ขณะเดียวกันถ้าเราเอาเน็ตไอดอลดังๆ อย่างล่าสุดก็เป็น “แฮปปี้ แนนซี่" กลุ่มคนที่อ่านก็คือผู้ชาย มันเลยมีความกลับกันบางอย่างจนเรารู้สึกว่า issue ถ้าบอกว่าแมนมากไป แต่ถ้าเป็นแมนในเชิงไอดอลหรือเชิงรูปร่างอะไรบางอย่างบาทีเรื่องเพศมันสลับกันหมดเลยนะ เราเก็เลยคิดว่าถ้าเราเปรียบเว็บไซต์เราเป็นสินค้า ของบางอย่างที่แบ่งชัดเจนว่าเป็นสินค้าผู้ชายผู้หญิงก็จะไม่ได้เข้าถึงของพวกนั้นเลยนะ แต่มันก็มีสินค้าบางอย่างที่มันเป็น unisexเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย
เราเลยบอกว่า เราไม่ได้ออกตัวว่าเราเป็นสื่อสำนักข่าวอะไรขนาดนั้น เราไม่อาจพูดเต็มปากได้เพราะเราทำงานขายอย่างเต็มกำลังกับเอเจนซี่เลยอันนี้พูดกันตรงๆ แต่ในขณะเดียวกันในอีกบทบาทเราก็ต้องเป็นสื่อด้วย เราพูดกันในทีมงานว่า Men Interrest อย่างหนึ่งคือเราต้องมีเรื่องการเมืองนะ และการเมืองมันก็ต้องมีตรวจสอบ ไม่ว่ารัฐบาลไหนมายังไงการตรวจสอบมันก็ต้องมีอยู่ แต่เราก็จะตรวจสอบในแบบของเราว่าถ้ามันเกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น เช่น Single Gateway ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่า GM ก็เป็นเจ้าหนึ่งที่บอกว่าถ้ามันเกิดขึ้นมันมีปัญหาแน่ ๆ
คือเราเลือกทีมโดยพยายามมีแกนกลางว่ามีคนที่สนใจในหลายๆเรื่อง หลักๆคือเรื่องไลฟ์สไตล์แหละ แต่คำว่าไลฟ์สไตล์มันแตกออกไปได้หลายทางนะ บางทีการเมืองก็คือไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งนะ เอาง่ายๆ เวลาไปวงเหล้าสิ่งที่ผู้ชายคุยกันมันก็จะมีปรัชญา การเมือง กีฬา มันมีครบหมดเลยถ้าจะทำ และเรามองว่าต่อให้เราไม่ได้ทำสำนักข่าว แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการทำสื่อทุกวันนี้ก็คือว่า ข่าวทุกวันมันไม่ใช่ Who What Where When Why How อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นข่าวที่เรียกว่า Creative News ซึ่งเป็นข่าวที่เก็บจากแถวสองนะ แถวแรกคือสำนักข่าวใหญ่เขามีกำลังคน เขาสามารถรายงานได้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ไหนอย่างไรซึ่งมันยังสำคัญนะ แต่ว่าอีกมุมหนึ่งคือด้วยกำลังกองทุกวันนี้เราเล็กสิ่งที่เราทำคือจะสร้าง Creative News ขึ้นมา เช่น การวิเคราะห์ข่าว การมองต่างมุม ตรงนี้มันสำคัญเพราะเป้าหมายของเราคืออยากสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Vanilla Content" ก็คือคอนเทนต์ที่เวลาผ่านไป 2-3 ปีแล้วเวลาอ้างอิงเขาก็ต้องเอาตัวนี้ของเราไป อันนี้คือในฝันเลยนะ ขอเพิ่มเติมอีกนิดด้วยว่า โปรดักส์ของ GM Live มันไม่ได้มีแต่ตัวข่าว แต่จะมีการนำเสนอหลายรูปแบบทั้งคลิป อินโฟกราฟฟิก แคนวาส รวมไปถึงเฟซบุ๊กไลฟ์ และคลิปสัมภาษณ์
เราไม่รู้เราต่างยังไง แต่คาแรกเตอร์เราคือการอัพเดทเรื่องราวสำหรับผู้ชายยุคใหม่ คือภาพ GM มันคือคำว่า Gentleman พอมันขึ้นออนไลน์มันก็ยังต้องเป็นแบบนั้น และก็มีเรื่องที่คิดว่าจะต้องเป็นคาแร็กเตอร์ของ GM Live คือต้องฉลาด ดูดี และด้วยความที่เป็นออนไลน์มันจึงไม่ใช่ผู้ชายซีเรียส มันต้องตลกได้แต่ในมุมอารมณ์ดีมันจะมีความแหลมคมบางอย่าง GM Live คอนเซ็ปต์คือ เราไปเยี่ยมบ้านเพื่อนหรือเพื่อนมาเยี่ยมบ้านเรามันก็จะมีท่าทีบางอย่างที่จะเล่นได้ แต่ที่สุดแล้วเนื้อหามันต้องตอบอะไรได้บางอย่างและเชื้อเชิญให้คนมาอ่าน
แล้วคนจะเสียเงินซื้อแมกกาซีนทำไม ในเมื่อรอของฟรีได้ในออนไลน์จริง ๆ มันมีบางอย่างที่เราไม่ได้เอามาลง มันมี 2 แบบคือ คุณอยากเสพสื่อทันทีทันใดไหมเพราะในเล่มเราไม่ได้ไปเปลือยมันมากนะ มันเหมือนกับหนังสือพิมพ์เขาก็จะมีข้อตกลงว่าห้ามเอาคอนเทนต์นี้ลงเพราะเราจะขายในกระดาษ อันนี้ก็เหมือนกันคือ บางคอนเทนต์เราจะจั่วขึ้นมาสั้นๆ แล้วที่เหลือก็คือไปอ่านในเล่ม แต่บางคอนเทนต์เราก็เล่นไปเลยแต่ในขณะที่ปล่อยอันนี้เราจะไม่เอามาทั้งหมดในเล่มเราจะเก็บบางส่วนให้คนเข้าไปอ่านในเล่มให้ได้ แต่บางคอนเทนต์ที่มันล่วงเวลามา อย่างเคสสัมภาษณ์ไตรภพ ถ้าจำไม่ผิดสัมภาษณ์ไตรภพ ในเล่มวางแผงกุมภาพันธ์ แต่เราหยิบมาวางออนไลน์มีนาคม ซึ่งแบบนี้คิดว่ามันคนละกลุ่มลูกค้าถ้าคุณอยากอ่านเร็วก็ต้องซื้อ และปัจจุบันถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่า GM ลดหน้าลงไปแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งมันเป็นทั้งตลาดที่สื่อกระดาษมันถอย แต่มองว่าสำหรับสื่อเครือใหญ่ที่ปรับตัวเข้ากับออนไลน์มันถอยเพื่อทำงานร่วมกับออนไลน์นะ คุณค่าของกระดาษมันยังมีอยู่ทั้งในแง่เนื้อหาและการยืนยันตัวตนว่าเรายังมีคาแร็กเตอร์แบบนี้อยู่นะ แต่คาแร็กเตอร์อีกแบบหนึ่งอยู่บนโลกออนไลน์
คือเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี่ไม่นานเลยนะเมื่อปีที่แล้ว วิธีการขายออนไลน์กับเล่มมันขายแบบนี้ คือเอเจนซี่ซื้อเล่มแล้วพ่วงออนไลน์ แต่ปัจจุบันมันขายแยกกันแล้วนะ แล้วยอดมันก็เริ่มจ่อกันแล้วนะในค่ายที่เขาทำงานขายได้ดี แต่ที่สุดแล้วดีไม่ดีต่อไปมันจะเป็นออนไลน์นำแล้วพ่วงเล่มมา
จริงๆ มันไม่นานนะ ย้อนไปสมัยเรียนเมื่อสัก10 ปีที่แล้ว สิ่งที่ทำทุกวันคือซื้อหนังสือพิมพ์มติชนมาอ่าน แล้วเรารู้สึกฟินกับการอ่านมาก ทำงานใหม่ ๆ สามสี่ปีแรกก็ยังฟิน จุดเปลี่ยนคือ ปี 2554 ที่ไอโฟน 4 มันเริ่มมี แล้วมันเป็นนโยบายมติชนที่ให้มีด้วย แต่รู้สึกว่ามันเป็นรุ่นที่ตอบโจทย์ทุกอย่างโหลดแอพฯมานั่งอ่านอะไรได้หมด แล้วเราเริ่มรู้สึกว่าเราอ่านหนังสือน้อยลง เพราะทุกอย่างเราเริ่มติดตามข่าวจากอินเทอร์เน็ตหมด ตอนนั้นก็ทำงานอยู่มติชนออนไลน์ เทรนด์ออนไลน์มันเริ่มมาแล้วแต่ยังไม่เต็มตัวขนาดนี้ คือเมื่อก่อนมันขายแค่แบนเนอร์ แต่เดี๋ยวนี้มันขายรีวิวทั้งเล่ม หมายถึงว่ามีลูกค้าติดต่อมาขอรีวิวนี่หน่อยเราก็ทำ และอย่าลืมว่าเราจ้างคนมาทำออนไลน์ต้นทุนมันคือจบตรงนั้น แต่ถ้าหนังสือเล่ม สมมติเราจะทำอะไรสักเรื่องหนึ่งมันต้องแบกอีกหลายแสนนะ มันมีค่ากระดาษ แต่ถ้าเราทำทีวีมันก็ต้องแบกค่าสตูดิโอ ค่าเช่าอุปกรณ์และค่าสัมปทาน แต่อันนี้ก็คือว่ามีเว็บไซต์หลังบ้านที่ดีและมีทำงาน มันจบแค่นั้นเองนะแล้วที่เหลือเราก็หาเงินกัน มันก็เลยเป็นโอกาสสำหรับตอนนี้ที่ต้องรีบเข้ามา แต่ที่นี้เราก็มองไม่ออกว่ามันจะเกิดฟองสบู่มันจะเกิดแบบทีวีดิจิตอลไหม ถ้าจะบอกว่าไม่เกิดเราก็ไม่รู้ แต่เรามองว่าตอนที่ดิจิตอลทีวีเกิดสิ่งที่มันแบกมาคือค่าสัมปทานแต่อันนี้มันไม่มีค่าอะไรเลยคือมันถูกมาก และที่สุดอย่างวูดดี้ หรือ The Mask Singer เขายอมที่จะมาปล่อยไลฟ์ลงเฟซบุ๊ก ลงยูทูป แล้วก็เอายอดมารวมกันเพื่อที่จะยันกับเอเจนซี่
ไม่เล่าได้ไหม (หัวเราะ) ตอนนี้ราคาโฆษณา (ในออนไลน์) มันขึ้นแบบสมเหตุสมผลนะเท่าที่รู้เรต แต่บางที่พูดจริงๆ ว่ามันก็เฟ้อจริง ๆ แต่เราก็ต้องมี Engagement ในเฟซบุ๊กยังไง เข้าถึงลูกค้ายังไง นั่นหมายถึงว่าในปีนี้เอเจนซี่เขาเริ่มขยับเข้ามาในโลกออนไลน์กันแล้วและเขารู้ด้วยว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ หมายถึงว่า คนตามเพจเยอะแต่ Engagement น้อย เขา(เอเจนซี่) ก็จะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่ามันไม่ไปถึงกลุ่มลูกค้าที่เขาต้องการ ซึ่งจริงๆ โมเดล GM Live ก็เหมือนทุกที่คือเดี่ยวนี้หมดยุคแบนเนอร์ รูปแบบมันมี 1.Advertorial กับ 2.Review ซึ่งทุกที่ก็จะมีเรตราคาถ้าAdvertorial คือเขาทำมาเสร็จแล้วเราแค่แชร์ให้ ก็เรตราคาหนึ่ง ส่วน Review อันนี้เราไปทำให้เขา เราก็มาเขียนให้อันนี้ก็อีกแบบหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดมันจะมีทั้งรูปแบบบทความ อินโฟกราฟิก ไวรัลคลิป ถ้าคือภาษาทีวีที่เขาเรียกว่าไทอิน (tie-in) นั่นแหล่ะคือรายได้ของออนไลน์ตอนนี้ที่มันกำลังเป็นอยู่
มองว่ามันน่ากลัว ตรงที่ว่ามันรู้ทุกเรื่อง มันมีทุกอย่างอยู่ในมือ แล้วเราไม่เคยรู้เลยว่าเฟซบุ๊กมันต้องการทำอะไร แล้วมันอยากให้เราทำอะไร และมันต้องการอะไรในอนาคต คือเรารู้ตอนที่มันปล่อยออกมาแล้ว ประเด็นคือถ้าใครรู้ตรงนี้ได้มันกุมความได้เปรียบ ซึ่งคิดว่าเจ้าใหญ่เขารู้นะ อย่างเคยคุยกับผู้ใหญ่ของเวิร์กพอยท์มันเหมือนกับเขารู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นแต่บางเรื่องเขาพูดไม่หมด แต่เขารู้ว่าอะไรมันจะเกิดตอนนี้ ตรงนี้ ซึ่งถ้าใครที่เข้ามาแล้วรู้ก่อนมันจะเหนื่อยน้อยกว่าซึ่งมันแยบยลกว่าเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วมากนะ อย่างตอนนี้อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กที่ปรับให้คนเห็นเพจน้อยลง เพราะเขาอยากให้เราเสียเงินไปซื้อเพื่อโปรโมทเพจให้คนเห็นมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยทรัพยากร เราทิ้งมันไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องกลับไปดูหลังบ้านกลับไปดูเว็บ
เมื่อก่อนเรามีบทบาทถามคนอื่น แต่ตอนนี้คุณมาถามพี่ แล้วเวลาพี่ถามคำถามแบบนี้พี่จะโดนสวนกลับมาว่า มันตอบไม่ได้เลย เหตุผลเพราะว่า ขนาดคาดการณ์ 3 เดือนยังยาก ที่สุดแล้วเอาตรง ๆ เราก็ต้องทำงานกับเฟซบุ๊ก เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า จะมีโมเดลอะไรที่มันใหญ่และสร้างเครือข่ายได้ระดับเฟซบุ๊กนะ แต่ประเด็นคือก็ต้องย้อนกลับไปอย่างที่บอกว่า ถ้าเรารู้ก่อนว่าเฟซบุ๊กจะทำอะไรเราจะได้เปรียบคนอื่นมากๆว่าเขากำลังจะทำอันนี้เราชิงทำก่อนเลย อย่างล่าสุดที่เขาฮิตทำโหวตกันอ่ะมันไม่มีเนื้อหาอะไรเลยนะแต่ปรากฎว่า Engagement คนเยอะมาก นั่นแปลว่ามันจับพฤติกรรมคนได้ว่าคนชอบอะไรแบบนี้ แบบเข้ามากดไลก์ กดแตะอะไรแบบนี้ แต่บางคอนเทนต์ที่เราปั้นอย่างบทสัมภาษณ์คมๆ คนไม่อ่านก็มี
สำหรับเว็บไซต์ GM Live น้องชายคนสุดท้องของจีเอ็ม กรุ๊ป จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างที่บอกว่าพวกเขาเริ่มเปิดเว็บ ทดลองทำงานกันมาระยะหนึ่งแล้ว และด้วยฐานผู้อ่านของนิตยสาร GM ทำให้น้องใหม่อย่าง GM Live มีผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กแล้วกว่า 1.4 แสนคน ขณะที่ Popular Articles ของเว็บไซต์อย่างบทสัมภาษณ์ไตรภพ มียอดคนอ่านใกล้ทะลุ 2 แสนคนในไม่ช้า แต่นี่คือจุดเริ่มต้นบนถนนสายใหม่นี้เท่านั้น น้องใหม่อย่าง GM Live กำลังซุ่มทำงานอย่างหนักเพื่อดันตัวเองไปสู่ตำแหน่งผู้นำไลฟ์สไตล์ผู้ชายในโลกออนไลน์เหมือนพี่ใหญ่ที่ทำสำเร็จมาแล้วในโลกสื่อสิ่งพิมพ์
ติดตามพวกเขาได้ที่ www.gmlive.com หรือเพจเฟซบุ๊ก GM Live