PR Interview: เปิดวิสัยทัศน์ พีอาร์ สพฐ. ความท้าทายของการสื่อสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2016 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"อย่าหยุด! อย่าหยุดพัฒนาตนเองให้ก้าวทันยุคของการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสาธารณชนให้มากที่สุด"

ทิพวรรณ์ เมืองเสน (นุช) นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรียกได้ว่า ความเป็นนักประชาสัมพันธ์แทบจะอยู่ในสายเลือด การันตีด้วยปริญญาตรี นิเทศศาสตร์บัณฑิต สาขาการประชาสัมพันธ์ ต่อด้วย ปริญญาโท วารศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการสื่อสารองค์กร อีกใบ ประสบการณ์ด้านการประชาสัมพันธ์มากกว่า 8 ปี จับงานด้านพีอาร์ที่แรกในตำแหน่ง ตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร ให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคในด้านสินค้าและบริการ รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์องค์กร

ปัจจุบันรับราชการข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ บทบาทหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดชอบไม่น้อยเลยทีเดียวทั้งงานเขียนข่าว เขียนคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุกระเสียงผ่านรายการก้าวไปกับการศึกษาไทย FM 92.0 MHz พิธีกร หรือแม้กระทั้งทำสื่อมวลชนสัญจร เรียกว่า ครบจบในตำแหน่งเดียว ที่ยากไปกว่านั้นคือ จะทำอย่างไรให้สารที่ส่งไปนั้นเข้าถึงสาธารณชนได้ในวงกว้าง เพราะเรื่องของการศึกษาถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการพัฒนาคน พัฒนาชาติ

คุณนุชเล่าว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ "การสื่อสารไปยังวงกว้าง เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่สาธารณชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่นักประชาสัมพันธ์จะต้องวางแผนการประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ และต้องตอบโจทย์กับความต้องการด้านข้อมูลข่าวสารของผู้รับสารในยุคปัจจุบัน"

คุณนุชได้ให้นิยามงานพีอาร์ไว้ว่า? : เป็นบุคคลผู้ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรในการทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรภายในองค์กร บุคคลภายนอกองค์กรให้มีความเชื่อมั่นในองค์กร เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี มีความรู้ในเรื่องการดำเนินงานขององค์กรดีในทุกส่วนงาน มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และองค์กร เพื่อให้องค์กรได้รับการยอมรับและเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในที่สุด รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรภายในองค์กรและบุคคลภายนอกองค์กร ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติงานอย่างมีแบบแผนและกระทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง พร้อมทั้งมีการประเมินผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้งานขององค์กรดำเนินไปด้วยดี และได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากประชาชนที่เกี่ยวข้องเสมอ

วัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ของ สพฐ.? : สร้างความรู้และความเข้าใจให้กับสาธารณชน การเผยแพร่และชี้แจงผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณชนได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย วัตถุประสงค์ การดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ รวมทั้งการสร้างความเชื่อถือ ไว้วางใจ และศรัทธาในนโยบายและการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ ให้กิจการดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นพร้อมทั้งการปกป้องและรักษาชื่อเสียงขององค์การ และสร้างความสัมพันธ์อันดีให้องค์กรต่อสาธารณชน

นอกจากนี้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ หรือการเข้าใจผิดเรื่องข้อมูลข่าวสาร เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยหน่วยงานด้านการศึกษาได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ทุกฝ่ายล้วนให้ความสนใจ

ใครคือกลุ่มผู้รับสารหลักของ สพฐ. ? : กลุ่มข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

ลักษณะคอนเทนต์ หรือ ข่าวสาร ที่เราสื่อออกไป : เป็นประเด็นที่น่าสนใจต่อนักข่าว ผู้รับสาร ประชาชนทั่วไป เนื่องจากข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษาของบุตรหลานถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนล้วนให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กและเยวชนไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคอนเทนต์ที่นำเสนอต้องตรง พร้อมกับต้องคุมปริมาณและคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอให้ดี

ส่วนใหญ่ สพฐ. จะเน้นการพีอาร์แบบใด ? : มีการพีอาร์ผ่านช่องทางที่หลากหลายทั้งผ่านสื่อสารมวลชน การส่งข่าวแจก จัดการแถลงข่าว สื่อมวลชนสัญจร สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อ OBEC TV. หรือสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน โซเชียลมีเดีย สื่อบุคคล การซื้อโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ และช่วงเวลาถ่ายทอดจากโทรทัศน์เพื่อดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์

ลักษณะการทำงานของเรามีขั้นตอนอย่างไร ? : เริ่มด้วยวางแผนการประชาสัมพันธ์ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย จุดเด่นที่จะประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นหัวข้อ (Theme) ของการประชาสัมพันธ์ จากนั้นต้องมีการกำหนดสื่อ รวมทั้งเทคนิคที่จะใช้ ทั้งในสื่อที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นสื่อองค์กร และสื่อมวลชน (Mass Media) ที่เราจะอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ จากนั้นต้องมีเทคนิคหรือวิธีการของการให้ข่าว เช่น การจัดแถลงข่าว การนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานศึกษา เป็นต้น โดยจะต้องคำนึงถึงข้อดีและข้อจำกัดของสื่อแต่ประเภท พร้อมทั้งมีการประเมินผลหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการดำเนินงาน ต้องปรับปรุงให้การประชาสัมพันธ์มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเป้าหมายสูงสุด

ความแตกต่างระหว่างการทำพีอาร์ในภาครัฐกับภาคเอกชน ? : น่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณและรายละเอียดการดำเนินการงาน ซึ่งการประชาสัมพันธ์ภาครัฐจะใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ที่จำกัด และมีการดำเนินการตามระเบียบที่ได้มีการกำหนดไว้

ข้อได้เปรียบของพีอาร์องค์กร ? : เป็นหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นองค์กรที่มีการดำเนินการเพื่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบและได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเป้าหมาย และสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างดียิ่ง ถือเป็นข้อได้เปรียบด้านความร่วมมือในการดำเนินการงานประชาสัมพันธ์

มองภาพรวมวงการพีอาร์องค์กรรัฐในอนาคตเป็นอย่างไร ? : ปัจจุบันรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไป ช่องทางการสื่อสารมีมากขึ้น เพราะพัฒนาการทางเทคโนโลยีมีผลต่อโครงสร้างการสื่อสารในปัจจุบัน เดิมสื่อยุคก่อนจะมีแค่สื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แต่ปัจจุบันมีช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารต้องปรับตัวเพื่อใช้ช่องทางการสื่อสารแบบใหม่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ยุคนี้เลยถูกเรียกว่าเป็นยุคของการสื่อสารแบบ โซเชียลมีเดีย การพีอาร์ในภาครัฐเองก็ต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสม

เราต้องปรับตัวอย่างไรกับการทำงานที่เทคโนโลยีมีผลต่อโครงสร้างการสื่อสารในปัจจุบัน ? : ถือเป็นยุคที่ท้าท้ายสำหรับการทำงานด้านนี้ โดยนักพีอาร์ต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้รับสารและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เพื่อช่วยให้การพีอาร์เกิดผลที่ดีตรงตามวัตถุประสงค์มากขึ้น เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการประชาสัมพันธ์ โลกยุคปัจจุบันได้ก้าวมาสู่ยุคดิจิทัลอย่างเกือบสมบูรณ์ สื่อเดิม (โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์) ยังคงอยู่ แต่มีการปรับเปลี่ยน ส่วนสื่อใหม่ก็จะเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่มากขึ้นโดยเฉพาะ สมาร์ทโฟน แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต

และเชื่อว่าสื่อใหม่ในยุคดิจิทัลนี้ตอบโจทย์ให้การกระจายข้อมูลสู่กลุ่มเป้าหมาย ถือเป็นความสะดวกและลดขั้นตอนการทำงานของพีอาร์เป็นอย่างดี "ที่สำคัญที่สุดคือ การทำพีอาร์ไม่ว่าจะยุคไหนก็ต้องทำความเข้าใจในเชิงลึกกับสิ่งที่เรากำลังทำ เพราะหากเราเข้าใจก็จะรู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร หรือจะเลือกอะไรให้เหมาะสมกับเส้นทางที่เราจะเดิน เพื่อให้ปลายทางพบกับความสำเร็จ"

การทำงานร่วมกับสื่อ หรือนักข่าว ประสบความสำเร็จไหม? : ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือเผยแพร่ข้อมูลข่าวการศึกษาให้สาธารณชนได้รับทราบ นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังเป็นกระบอกเสียงและมีส่วนช่วยในการช่วยเหลือ และการเข้าถึงการศึกษาฐานรากของเด็กในทุกที่ทุกแห่งหนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เราคิดว่าประเด็นข่าวที่นำเสนอจะช่วยองค์กรได้อย่างไรบ้าง ? : ในทุกประเด็นข่าวที่นำเสนอต่อสาธารณชนจะช่วยในการสร้างความรับรู้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทำอย่างไรถึงจะอยู่ในวงการพีอาร์ให้ยั่งยืน? "อย่าหยุด! อย่าหยุดพัฒนาตนเองให้ก้าวทันยุคของการเปลี่ยนแปลง ให้การดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสาธารณชนให้มากที่สุด" รวมทั้งต้องมีความรู้ความสามารถในการทำงานอย่างดีเยี่ยม ต้องทำงานร่วมกับบุคคลอื่นในทีมงาน หรือกลุ่มเป้าหมายอย่างดีเลิศ ต้องมีคุณธรรมในการปฏิบัติงาน และอีกเรื่องที่สำคัญ การเป็นคนเก่ง กล่าวคือ เก่งคน เก่งงาน เก่งคิด เก่งเรียน และการเป็นคนดี

ในช่วงท้ายนี้ พี่นุชยังฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่ ที่สนใจงานพีอาร์ต้องมีทักษะจำเป็นอะไรบ้าง : สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาจบใหม่ที่สนใจงานพีอาร์ อันดับแรกเราต้องมีความรู้ มีทักษะ กระบวนการคิดด้านการสื่อสาร อาจเริ่มต้นจากประสบการณ์ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และหาคำตอบกับตัวเองให้ได้ว่าเราชอบงานด้านนี้หรือไม่ ถ้าตอบตัวเองว่าใช่แล้วก็เดินหน้าลุยเลย !

งานพีอาร์ถือเป็นงานที่ต้องอาศัยศิลปะในการทำงานพอสมควร คนทำงานด้านนี้จำเป็นต้องพัฒนาฝืมือ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานให้มีมากขึ้นตลอดเวลา ซึ่งการฝึกปรือฝีมืออยู่ตลอดนั้น เพราะไม่ใช่แค่เรามีอาชีพพีอาร์ แต่จะทำให้เรามีความเป็นพีอาร์อยู่ในกระแสเลือด

"พัฒนา มุ่งมั่น ก้าวสู่การเป็นนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ ไม่ใช่แค่มีอาชีพเป็นนักประชาสัมพันธ์!" คีย์ซัคเซส ที่คุณนุชยึดถือเป็นหลักในการทำงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ