เห็นคำว่า “เจ้าแม่" แล้วอย่าเพิ่งนึกไปถึง ขาใหญ่ ขาโหด สายแข็ง นะคะ แต่ถ้าพูดถึง “พี่ปุ๊ – ลัทธพร จิตรวิเศษ" ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ AETAS Hotels & Residences แล้ว ถ้าจะยกคำว่า “เจ้าแม่พีอาร์สายโรงแรม" ให้เธอก็คงไม่ผิด เพราะในระยะเวลา 20 ปี พี่ปุ๊เดินสายเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานพีอาร์ในโรงแรมต่างๆ มาแล้วร่วม 10 แห่ง ได้รับทั้งรอยยิ้ม ความสุข ความทุกข์ ความท้าทายมากมายทุกรูปแบบ ถ้าจะคุยเรื่องโรงแรมและการทำงานพีอาร์คงไม่มีใครให้รายละเอียดได้ครบถ้วน ชัดเจน และตรงไปตรงมาเท่าเธอคนนี้อีกแล้ว
ถ้าพร้อมแล้วก็ไปพูดคุยพร้อมทั้งแอบเก็บเกี่ยวประสบการณ์จาก “พี่ปุ๊ AETAS" พีอาร์สาวเก่งคนนี้กันเลยดีกว่า
สวัสดีค่ะ ชื่อลัทธพรนะคะ เป็นพีอาร์เมเนเจอร์ ทำงานในสายพีอาร์มาตลอด ประมาณ 20 ปี (พีอาร์โรงแรมตลอดเลยหรือเปล่า?) เคยเป็นพีอาร์สถานเสริมความงามอยู่พักนึง ประมาณ 2 ปีได้ ช่วงที่มีวิกฤติการเมือง เราเลยหนีวงการโรงแรมไป เพราะมีผลกระทบต่องาน พอการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นก็เลยกลับมาทำโรงแรมอีกครั้งนึง
พี่ปุ๊จบสายโรงแรมมาโดยตรงเลยหรือเปล่าคะ?
จริงๆ แล้วพี่จบทางด้านภาษาศาสตร์ โทสื่อสารมวลชน
ทำไมถึงเลือกสมัครทำพีอาร์โรงแรมเลย?
ที่จริงไม่ได้เลือกหรอกค่ะ เป็นความบังเอิญมากกว่า เพราะตัวเองไม่ชอบงานแบบเจ๊าะแจ๊ะ เราไม่ชอบจากข้างใน แรกเริ่มเลยเราทำพีอาร์บริษัทก่อสร้าง ต้องมีติดต่อราชการด้วย วิศวกรก่อสร้างด้วย แผนกที่พี่ทำเค้าบอกว่าเป็นสื่อสารประชาสัมพันธ์ แต่แนวงานก่อสร้างมันไม่ใช่เรา พอดีเห็นข่าวรับสมัครพีอาร์โรงแรมนารายณ์ เราก็เลยไปสมัคร เรียกว่าเริ่มสายพีอาร์โรงแรมจริงๆ ก็ที่โรงแรมนารายณ์นี่แหละค่ะ เป็น PR Officer ทำที่นี่ได้ประมาณปีกว่าๆ แล้วก็มีย้ายไปอีกหลายโรงแรมเหมือนกัน
ถ้ารวมที่ปัจจุบันด้วย (AETAS) ก็น่าจะได้เกือบ 10 โรงแรมแล้วค่ะ ที่ทำมาก็มีหลายระดับนะ 3 ดาวบ้าง 5 ดาวบ้าง ก็จะได้ประสบการณ์แตกต่างกันไป ตัวอย่างโรงแรมที่พี่เคยทำพีอาร์ก็มี โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ คราวน์ พลาซ่า ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม อันนี้เพื่อนชักชวนมา แล้วก็มี โรงแรมสุโขทัย, โรงแรมรามาดา เดมา มักกะสัน , โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์, โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์, โรงแรมอีสติน มักกะสัน, โรงแรม แรมแบรนดท์ กรุงเทพฯ และล่าสุดก็คือ AETAS เอาคร่าวๆ จะอยู่แต่ละโรงแรมประมาณ 2 ปีค่ะ
AETAS ตอนนี้กี่ปีแล้วคะ?
AETAS นี่จะเข้าปีที่ 3 แล้ว (นี่คือทำลายสถิติจากทุกโรงแรมที่ผ่านมาเลยหรือเปล่า?) ยังๆๆ ฮอลิเดย์ อินน์ 4 ปี คือการทำงานของพีอาร์ หลายคนจะไม่คิดแบบพี่ คือพี่เป็นคนขี้เบื่อ บางทีทำอะไร ทำๆไปแล้วมันตัน ก็ต้องการเติมน้ำใหม่ ได้ทำอะไรใหม่ๆ แล้วการย้ายมาทำแต่ละที่จะได้ในเรื่องประสบการณ์ด้วย ได้ความท้าทายใหม่ๆ ได้การเรียนรู้ เพราะประสบการณ์จากแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน บางคนมองว่าการย้ายโรงแรมบ่อยๆ มันจะดูไม่ค่อยดี แต่สำหรับพี่พี่ไม่คิดอย่างนั้น สำหรับพี่เวลาย้ายบ่อยๆ เราได้อะไรเยอะมาก เริ่มจากเพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อม การทำงาน ทำให้เราได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่ ทำให้เราได้คิดตลอดเวลา
มีตั้งเป้าให้ตัวเองมั้ยคะว่าอยากเก็บประสบการณ์ให้ได้ถึงกี่โรงแรมดี?
พอแล้ว ด้วยอายุขนาดนี้นะ เราจะไม่หาอะไรที่มันท้าทายไปกว่านี้แล้ว เพราะ 1.เราได้เจอมาหมดแล้ว 2.ด้วยอายุเรา มันไม่มีอะไรท้าทายไปมากกว่านี้แล้ว และ 3.สำคัญที่สุด คือ เราอยู่ที่นี่แล้วเราอบอุ่น สิ่งที่ได้รับจากองค์กรตรงนี้มทำให้เรามีขวัญกำลังใจ มีไอเดียในการสร้างสรรค์งาน ทำให้เราอยากมาทำงาน ตื่นเต้นกับการทำงานตลอดเวลา จะไม่มีโจทย์ข้อต่อไปเลยว่า เอ้ย…ย้ายที่ทำงานหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เรามีความท้าทาย ไม่มีในหัวแล้วค่ะ
ตั้งแต่ทำพีอาร์โรงแรมมา มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง?
ปัญหาอุปสรรคของการทำงานมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนี้เสมอไป บางอย่างอยู่ที่ตัวโรงแรมก็มีอุปสรรค เช่น ไม่ได้รับความร่วมมือจากแผนกต่างๆ อย่างการทำพีอาร์จะต้องทำโปรโมชั่นตลอด เพราะฉะนั้น ฟันเฟืองหรือแผนกต่างๆ ก็จะต้องให้ความสำคัญ และเห็นความสำคัญกับการทำพีอาร์ด้วย แต่บางทีไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เห็นความสำคัญกับตรงนี้ คือในระหว่างปีมันจำเป็นต้องมีอีเวนท์อะไรสลับออกมาให้เราได้ทำอะไรเล่นบ้าง เค้าต้องคิด พอเค้าคิดมาเราก็จะได้คิดในท่อนของเราต่อว่าจะมีเทคนิคทำพีอาร์อย่างไรให้คนมา เมื่อเขาไม่คิดเราก็คิดต่อไม่ได้ ก็เป็นอุปสรรคอยู่เหมือนกัน
ปัญหากับนักข่าวก็มีเหมือนกัน บางคนก็น่ารัก บางคนเลือก แบ่งมาตรฐาน 3 ดาวไม่เอาอะ เชิญมางานยากมาก ตามแล้วตามอีกจนเราท้อ บางทีก็มีน้อยใจเหมือนกันนะ ว่าเค้าตั้งเกณฑ์โรงแรมไว้ยังไง เราก็อยากนะทำ 5 ดาว 6 ดาว 7 ดาว แต่ในเมื่อ 3 ดาว เค้าให้ความสำคัญกับแผนกนี้ อยากให้โรงแรมเค้ามีชื่อเสียง มีโปรโมชั่นออกไป เค้าก็จำเป็นต้องจ้างพีอาร์ แต่พอเราทำ คนที่ต้องซัพพอร์ตเราคือนักข่าว เขาก็ต้องเห็นความสำคัญของเราด้วย แต่บางทีอย่างที่บอกว่าเขาเลือกจนเราแอบมีความน้อยใจ เราก็เลยโอเค ไม่ก็ได้ แต่ต้องบอกก่อนว่าตอนทำ 3 ดาว เราก็เลือกนะ ไม่ได้ไปทัชแมกกาซีนไฮๆ อะไรขนาดนั้น เพราะแบบนั้นเขาไม่มาอยู่แล้ว เราก็รู้เกณฑ์ของเขาว่าต้องว้าวจริงๆ เราว้าวให้เขาไม่ได้ แต่ก็มีนะ นักข่าวที่น่ารักๆ อยู่กับพี่มาตั้งแต่พี่ทำโรงแรมเล็กๆ จนโรงแรมใหญ่ๆ ไม่เกี่ยงเลย ไม่ว่าเราอยู่โรงแรมระดับไหนเขาก็มา ส่วนที่ไม่มานี่คือเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธนะ แต่ผลัดเป็นสิบครั้งได้ จนเราต้องถอยออกมา
การทำงานกับนักข่าวสำหรับพี่คิดว่าต้องใช้กลยุทธ์แบบไหน?
สำหรับพี่นี่ต้องใช้ความจริงใจอย่างเดียวเลยจริงๆ อย่างที่เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นนักข่าว และนักข่าวหลายๆ คนพูดกันก็คือ บางทีจะเจอพีอาร์ที่ไม่สัมผัสถึงความจริงใจ หลายมาตรฐาน จิ๊จ๊ะกันแค่ตอนมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ง้อสื่อ อย่างเช่น ตอนจะตามมาสัมภาษณ์ ตามมางานคุยดีมาก แต่พองานเสร็จแล้ว เจอกันมองข้ามหัวไปเลย เหมือนไม่รู้จักกันเลย ประมาณนี้ ฝั่งนักข่าวย่อมไม่แฮปปี้อยู่แล้ว พี่เลยรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สุดเลยที่ต้องใช้ในการทำพีอาร์ก็คือความจริงใจ จริงใจระหว่างกันทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน คือถ้ามีปัญหาอะไร หรือไม่สะดวกยังไงก็คุยกันได้ สบายใจทั้ง 2 ฝ่าย
ย้อนกลับไปตรงที่มีปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือภายใน พี่แก้ปัญหาตรงจุดนี้อย่างไร?
พี่ไม่แก้ปัญหา พี่พยายามหามุมอื่นเล่น ถ้าเค้าเอาตัวคอสท์ (cost) มาเป็นปัจจัยหลักในการทำโปรโมชั่นแล้วเนี่ย ยังไงเขาก็ไม่ทำ เพราะเขาเจ็บตัว พอคอสท์เขาสูงขึ้นแล้วไม่มีรายรับขึ้นมา เราการันตีให้เขาไม่ได้ว่าจะได้รับรายได้เท่านี้ๆ เราทำได้คือการกระจายข่าว การหาสื่อที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าอยากให้โปรแรงก็ต้องลงทุนในสื่อบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะชอบหรือเปล่า ถ้าทำครบแล้ว ทั้งลงสื่อเสียเงินก็แล้ว สื่อไม่เสียเงินก็แล้ว แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่พอใจของ F&B (Food and Beverage Service หรือ แผนกบริการอาหารและเครื่องดื่ม) เราก็ต้องยอมรับตรงนี้ เพราะเราไม่สามารถบังคับผู้บริโภคได้ เราก็เปลี่ยนไปจับอย่างอื่นตามกระแสแทน อย่างช่วงนี้เทรนด์สุขภาพมาแรง ก็หันไปทำคอร์สโยคะ คอร์สว่ายน้ำแทน คือพี่จะไม่พยายามไปแก้ในจุดที่แก้ไม่ได้ จะไม่ดึงดันทำโปรโมชั่นที่เราก็มีประสบการณ์แล้วว่า ไม่ประสบความสำเร็จ
ที่ทำมาร่วม 10 โรงแรม ปัญหาแบบนี้พบบ่อยมั้ยคะ?
ไม่บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมเล็กๆ มากกว่า (แล้วปัญหาของโรงแรมใหญ่ๆ คืออะไร?) พี่ไม่เอาตัวโรงแรมมาตัดสิน พี่มองว่า คนที่อยู่ F&B ถ้ามีมุมมองที่กว้าง เข้าใจการทำโปรโมชั่น เขาก็จะพยายามผลักดัน จะมีมุมครีเอทของเขาออกมาตลอด F&B จะเป็นตัวขับเคลื่อนโปรโมชั่น มีอะไรให้เล่นเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องแค่อาหารก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่นแค่กับแขกข้างนอก กับแขกข้างในก็ทำได้
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ชอบที่ไหนมากที่สุด เพราะอะไร?
ชอบ AETAS ที่สุดค่ะ ต้องขอบอกเลยว่าตั้งแต่ทำงานมาทั้งหมดทั้งปวง พี่ไม่เคยเจอเลยว่าเจ้าของที่ไหนจะอะเมซิ่งได้เท่าที่นี่ เป็นคนที่เห็นค่าของความเป็นคน มีจิตใจเมตตา ไม่ก้าวก่าย ไม่แทรกแซง เขาจ้างมาทำหน้าที่นี้แล้วเขาก็จะมั่นใจให้ความไว้วางใจในตัวบุคลากรนั้นๆ ว่าจะทำงานให้เขาได้สำเร็จ แล้วผลที่กลับมาคือเราไม่อึดอัด สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้เรามีเวลามาครีเอทมาคิดงานได้ เพราะถ้าเราต้องอึดอัดเวลาเจ้าของมาเนี่ย เราจะคิดไม่ออกหรอก มันจะอึดอัด เดี๋ยวนายว่านะ มันจะเป็นรอยอุดตันไปหมดเลย อันนี้พูดจากใจเลยนะ ที่นี่เป็นที่ที่เราตื่นแล้วอยากมาทำงานเลย ทุกอย่างขับเคลื่อนมาจากข้างใน มันมีความสุข เราไม่เคยคิดล่วงเวลา ไม่ได้นึกถึงว่าจะต้องได้โอทีนู่นนี่อะไรเลย มาจากใจเราจริงๆ
ภาพรวมงานพีอาร์โรงแรมมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง?
ภาพรวมพีอาร์อย่างที่ทุกคนทราบคือทำประชาสัมพันธ์ให้องค์กร โปรโมทองค์กรไปสู่สาธารณชน การทำโปรโมชั่นในสายโรงแรมแต่ละที่มันก็คล้ายคลึงกัน ขึ้นอยู่กับพีอาร์แต่ละคนว่าจะให้ความสำคัญกับจุดไหน
แล้วปัจจุบันที่ AETAS พี่ปุ๊ต้องดูแลในส่วนไหนบ้าง?
นอกเหนือจากในเรื่องของการเขียนและส่งข่าวประชาสัมพันธ์ ก็จะมีกิจกรรมย่อยๆ ของโรงแรม มีงานปาร์ตี้ แทงกิ้วปาร์ตี้ อีเวนท์แยกย่อยๆ เราก็ต้องดีลตรงนั้นด้วย อย่างงานเวดดิ้ง โชว์เคส ที่จะมีทุกปี เราต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นออแกไนเซอร์งานนี้เองเลย ทั้งโปรโมทงาน ครีเอทการ์ด เชิญพิธีกร วีไอพีที่มาร่วมงาน จัดการแสดงในงาน รวมทั้งตัวพาร์ทเนอร์ข้างนอกที่มาร่วมในงานของเราด้วย เราทำเองทั้งหมดเลย อย่างงานมี 2 วัน ก็ต้องดูช่วงไฮไลท์บนเวทีให้ว้าวๆ นิดนึง
ภาพรวมธุรกิจโรงแรมเป็นอย่างไรบ้าง?
ในส่วนของ AETAS ตอนนี้ไม่มีผลกระทบในเรื่องการเข้าพักเลย ภาพรวมยังดีอยู่ ถ้าจะตกก็จะตกในส่วนของห้องสัมมนาจัดเลี้ยง แต่ห้องพักยังเท่าเดิม (ลูกค้าเราเป็นกลุ่มไหน?) จะเป็นยุโรป อเมริกา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นญี่ปุ่น มากกว่า 60% ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจะชอบ AETAS Lumpini เพราะใกล้สถานที่ท่องเที่ยวที่เขาชอบ ธนิยะ สีลม อะไรอย่างนี้ ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน เดินทางสะดวก ส่วนแขกที่เข้าพัก AETAS Bangkok ซ.ร่วมฤดี จะชอบแนวสงบเงียบ จะไม่ใช่นักท่องเที่ยววัยรุ่น ชอบความสะดวกสบายแต่ไม่หวือหวา
ในฐานะพีอาร์อาวุโสในสายงานโรงแรม อยากให้พี่ปุ๊แนะนำน้องๆ ที่สนใจอยากจะเข้ามาทำงานด้านนี้?
ที่พี่จะแนะนำ อาจจะเป็นคำแนะนำที่ดูเชยๆ แต่พี่ว่ามันเป็นอะไรที่เป็นอมตะ อยากจะบอกพีอาร์รุ่นน้องๆ อย่างที่เคยเห็น คือเหมือนทำเล่นๆ ทำเป็นกระแส จากที่มีทำวิจัยว่าเด็กจบมาอยากทำงานอะไรกัน ก็จะมีแอร์โฮสเตส พีอาร์ ถ้ามองว่าการทำพีอาร์ต้องมาเดินฉาบฉวยสวยงามอยู่ล็อบบี้ แจกนามบัตร ดิฉันชื่อนั้นชื่อนี้ มันไม่ใช่ พีอาร์มันมากกว่านั้น คือใช่ โปรโมทตัวเอง แต่เราต้องมีดีให้เห็นด้วย งานพีอาร์ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ต้องรู้กระทั่งว่านักข่าวคนนี้เป็นนักข่าวเก่าใหม่ ต้องการข่าวแบบไหน เราต้องรับมือได้ในทุกสถานการณ์ คำพูดคำจา ความคิด ต้องไปพร้อมๆ กัน อย่ามองแค่งานพีอาร์เป็นแค่งานสนุกแค่เอาของไปสวัสดีนักข่าว ชวนกินข้าวแค่นั้น มันไม่ใช่ เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้ความจริงใจ ไม่ทิ้งขว้างนักข่าว อย่างนักข่าวมาถ่ายทำรายการในสถานที่ของเรา เราก็ต้องคอยประกบ ถามไถ่ น้ำได้หรือยัง ของที่เขาต้องการได้ครบหรือยัง ขาดเหลืออะไรมั้ย เพราะบางทีเขาก็เกรงใจที่จะมาบอกมาขอเรา ต้องใจเขาใจเราด้วย
คุณสมบัติและความสามารถหลักๆ ของพีอาร์โรงแรมควรทำอะไรได้บ้าง?
1. ภาษาต้องได้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ สื่อสารได้ ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเชี่ยวชาญชำนาญเหมือนเจ้าของภาษา 2. ทักษะในการเขียนข่าว ต้องไม่ซ้ำซากจำเจ มีลูกเล่นบ้าง การอ่านหนังสือเยอะๆ ก็ทำให้เราพัฒนาการเขียนของเราได้ด้วย ถ้าเราชอบอ่านเราจะวิเคราะห์จากนักเขียน พัฒนารูปแบบการเขียน ทำสิ่งธรรมดาให้ว้าวได้ พยายามศึกษาจากนักเขียน 3. เรียนรู้ พัฒนา เปิดรับสิ่งใหม่ๆ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ 4. ถ่ายรูปได้ระดับหนึ่ง
จากที่ทำงานสายพีอาร์โรงแรมมานานถึง 20 ปี พี่ว่าพี่ได้อะไร หรือได้พัฒนาอะไรจากตรงนี้บ้าง?
ได้สกิลต่างๆ จากที่พี่ถ่ายรูปไม่เป็นพี่ก็ถ่ายรูปเป็น ได้รู้จักคนหลายๆ แขนง ได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานหลายๆ แบบ ได้รู้จักการจัดอาหาร เพราะได้คลุกคลีอยู่กับการถ่ายรูปโปรโมชั่น เป็นต้น
นิยามพีอาร์ที่ดี หัวใจการเป็นพีอาร์
ง่ายๆ เลยนะ นิยามของการเป็นพีอาร์ที่ดี 1.เปิดใจกว้าง ยอมรับการพัฒนา ยอมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา 2.จริงใจ ในที่นี้คือจริงใจต่อผู้ร่วมงาน ผู้ที่ประสานงานด้วย โดยเฉพาะนักข่าว เราต้องจริงใจกับเขา ไม่ใช่เห็นว่าเป็นแค่คนที่เขียนข่าวลงข่าวให้เราเท่านั้น เราต้องรักษษคอนเนคชั่นกันตลอด ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องไม่ลืมว่าถ้าเราไม่มีพี่ๆ น้องๆ นักข่าว เราทำงานและขับเคลื่อนงานตรงนี้ไม่ได้ เพราะนักข่าวคือฟันเฟืองหลักในการทำงานพีอาร์เลย