PR Interview: มุมมองพันธุ์บวก ฟรีแลนซ์...ฟรีไลฟ์ “ณัฐกานต์ อินเป็ง"

ข่าวทั่วไป Friday December 2, 2016 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไม่ต้องทำบุญมาแต่ชาติปางไหน แต่ทำตัวเองได้ในชาติปางนี้ PR Interview สัปดาห์นี้ ขอพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับ วิถีแห่งโชค (อันโรยด้วยกลีบกุหลาบ) ที่สามารถสร้างได้เอง ในสกู๊ปพิเศษ เจาะลึกชีวิตฟรีแลนซ์ กับพีอาร์หน้าใหม่ในวงการฟรีแลนซ์ แต่ขึ้นแท่นตำนานในแวดวงสื่อมวลชน “ณัฐกานต์ อินเป็ง" หรือ “คุณแมว" ที่จับพลัดจับผลูต้องพลิกชีวิตจากอาชีพนักข่าวแสนรักเสมือนเป็นอวัยวะที่ 33 มากว่า 20 ปี เข้าสู่วงการพีอาร์แบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ทันตั้งตัว และไม่เคยมีอาชีพนี้อยู่ในหัว แต่ดันประสบความสำเร็จซะงั้น!!

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจทำให้สื่อสิ่งพิมพ์พากันปิดตัวลง แมกกาซีน หนังสือพิมพ์ พากันล้มเป็นโดมิโน่ คุณแมว ก็ไม่แคล้วได้เข้าร่วมขบวนการเตะฝุ่นไปด้วยในชั่วข้ามคืน แต่คำว่า “ตกงาน" แทบใช้ไม่ได้กับผู้หญิงคนนี้ บอกลางานเก่าปุ๊บ งานใหม่ก็เข้ามาปั๊บ โดยที่เธอเองยังไม่ทันได้เริ่มต้นดิ้นรน กดดัน หรือเข้าสู่สนามแข่งขันกับใครเลย ตลอดการสนทนากับผู้หญิงลุคส์มั่นที่นั่งอยู่ตรงหน้าในตอนนี้ ทำให้คนฟังได้แต่คิดและอยากจะอิจฉาหนักมากว่า

“คนอะไรกันนะ...ทำไมถึงได้มีชีวิตดี๊ดี แฮปปี้สมหวังไปซะทุกเรื่อง อย่างกับเดินอยู่บนถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา ในชีวิตคนหนึ่งคนจะสามารถโชคดี ดวงดีโดยไม่ต้องร้องขอ ไม่ต้องอาศัยหยาดเหงื่อและหยดน้ำตา ก็มีชิ้นปลามันพรีเมี่ยมยกกำลังสองลอยมาเข้ามือเองได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ? อย่างนี้ก็ได้เหรอ?"

อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังดูเป็นชีวิตที่แสนง่ายสั่งได้ดั่งใจจนใครๆ ต้องอิจฉา แต่เมื่อได้พูดคุย เจาะลึก ล้วงลึก และสัมผัสอัธยาศัยของเธอกันอย่างละเอียดใกล้ชิดแล้ว ก็ทำให้รู้ว่า นี่เป็นการสัมภาษณ์ที่คุ้มค่ามากจริงๆ บางครั้งความเรียบง่ายก็ให้อะไรเราได้มากกว่าที่คิด และความโชคดีของเธอคนนี้ที่มีงานเข้าตลอดโดยไม่เคยต้องวิ่งงันงกขายงานหาลูกค้าเองเลยแม้แต่ครั้งเดียวตลอด 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา ก็เป็นโชคที่มาจากการวางตัวของเธอเองนี่แหละ เป็นโชคดีที่ใครๆ ก็มีได้โดยไม่ต้องสละอะไร และมีแต่กำไรเห็นๆ ถ้าอยากรู้ว่าชีวิตคิดนอกกรอบของแม่สาวฟรีแลนซ์คนนี้จะพาโชคดีมาได้อย่างไร ลองเขยิบเข้าไปรู้จักเธอใกล้ๆ กันเลยค่ะ

“พี่จบนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ชีวิตไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเลย เรียนก็ไม่เก่ง ไม่รู้ว่าไปติดได้ยังไง เพราะเป็นคนเก่งกีฬา แต่วิชาการนี่ไม่เก่งเลย มาได้ที่นี่เพราะใกล้บ้าน ได้มาแบบไม่รู้ว่านิเทศศาสตร์คืออะไรด้วยซ้ำ เลือกตามเพื่อน แต่ที่เรียนได้คือไม่ต้องท่องจำ พี่เรียนรุ่นแรกๆ เลย เหมือนเป็ด ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ประชาสัมพันธ์ โฆษณา จนปี 3 ให้เลือก ก็เลือกสื่อสารมวลชน เพราะเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ชอบเดินทาง คิดว่าน่าจะตรงกับเรา เราไม่ชอบกรอบ พี่เป็นคนไม่มีกรอบ และพอเรียนจบมาก็ว่าจะพักก่อน จะเที่ยวก่อน บ้านอยู่รามอินทรา แต่เพื่อนชวนมาสมัครงานที่ปิ่นเกล้า ก็เลยบอกว่าไปเป็นเพื่อนเฉยๆ ถ้าได้จะไม่ทำนะเพราะไกลมาก ปรากฏไปกัน 4 คน ไม่มีใครได้ พี่ได้คนเดียว ก็เลยเออ...ลองดู เป็นนักข่าว (วัฏจักร) ทำข่าวคอลัมน์สัมภาษณ์เป็นหลัก สัมภาษณ์ฝ่ายบุคคล เกณฑ์รับคนอะไรอย่างนี้ สัมภาษณ์อาชีพ OTOP เพราะเป็นหนังสือแหล่งงาน รายสัปดาห์ จะได้เดินทางไปต่างจังหวัดกับรุ่นพี่ ชีวิตมีความสุขมาก เดือนนึงได้เดินทาง หายไปสัก 15 วัน ชอบ สนุก ไฟแรง แล้วก็มีคอลัมน์เล็กๆ น้อยๆ บ้าง จนบริษัทมีปัญหาช่วงปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจ เจ้านายก็เรียกมาทำ เขามาเปิดบริษัทใหม่ (บริษัท วัฏฏะ คลาสสิฟายด์ส จำกัด) ก็ทำคอลัมน์เหมือนที่เดิมนี่แหละ โดยรวมก็เป็นนักข่าวมาได้ราว 20 ปี จนเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน เกิดวิกฤติสิ่งพิมพ์อีก เพราะมีเรื่องโซเชียลเข้ามา สิ่งพิมพ์ก็เริ่มมีการลดคน พี่ก็เลยออกมา"

จากวิกฤติรอบนี้ทำให้เราผันตัวเข้าสู่วงการพีอาร์เลยหรือเปล่า และทำไมถึงเลือกมาเป็นพีอาร์?

“ช่วงที่เป็นนักข่าว พี่ได้รู้จักพี่ๆ เพื่อนๆ วงการพีอาร์หลายสาย ทั้งอีเวนท์ เอเจนซี่ พีอาร์โรงแรม คุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง เพราะมีการไปทำข่าวกัน ก็คุยกันช่วยเหลือกันจนสนิท เราไม่ได้เลือกงานด้วย คือถ้าว่างเราจะไป แล้วพอเขารู้ว่าพี่จะออกก็มีการพูดคุยกันว่าสนใจจะมาทำมั้ย ตอนที่ออกมาก็มีเฟลอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน ก็ตั้งใจว่าจะพัก อีกแล้ว(หัวเราะ) พอดีเพื่อนเปิดบริษัทพีอาร์อยู่ก็ชวนมาทำด้วย พี่ก็บอกเลยว่าพี่หาลูกค้าไม่เป็นนะ ความรู้มีแค่เขียนข่าว พูดคุยกับผู้คนได้ ไปไหนได้หมดไม่ติดเรื่องเวลา พี่ก็เริ่มทำกับเขาเป็นจ๊อบ เป็นฟรีแลนซ์ พี่ก็ทำกับเขาเรื่อยมา จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 2 ปีนิดๆ เป็นฟรีแลนซ์มาตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นงานจ๊อบ เช่น แถลงข่าว เปิดตัวสินค้า เปิดตัวโปรโมชั่น พี่จะทำหน้าที่ในการเชิญสื่อ เขียนข่าว ติดต่อประสานงาน ส่งจดหมายเชิญ"

แล้วพอเป็นพีอาร์เต็มตัวแล้ว ทางเดินหลังจากนั้นเป็นอย่างไร?

“ส่วนหนึ่งด้วยการที่เรามีเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ดี พี่ก็เลยจะได้งานมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าเราถนัดสายการตลาด เศรษฐกิจ เวลามีการเปิดตัวสินค้า หรือเปิดตัวบริษัท เพื่อนก็จะนึกถึง พี่ๆ ก็จะนึกถึง พี่พีอาร์ก็จะโทรมา ก็จะชวนเรามาทำว่างานนี้ทำมั้ย สายนี้รับมั้ย พี่อยากจะบอกว่าคนที่ไม่เคยทำในวงการพีอาร์เลย ไม่เคยรู้เลย สำคัญมากคืออีเมล์นักข่าว เบอร์โทรนักข่าว ถ้าไม่มีทำงานลำบาก ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงในวงการ คอนเนคชั่น สำคัญมาก เราไม่ได้หวังแค่ว่าเป็นอาชีพเรา แต่เหมือนมีอะไรแล้วนึกถึง เราเคยช่วยเขา เขาเคยช่วยเรา พี่ก็ได้สายบันเทิงเพิ่มเข้ามาอยู่ในมือด้วย อีกส่วนนึงคือน้องที่พี่รู้จักคนนึงเป็นฟรีแลนซ์ เค้ามีสื่ออยู่ในมือ แล้วพี่ปรึกษาเค้าว่าพี่มาทำตรงนี้ แล้วสายนี้ๆ พี่ไม่มีเลย เค้าให้เราหมดเลยเบอร์โทร อีเมล์ (เขายอมให้ง่ายๆ เลยเหรอ ปกติงานด้านนี้จะหวงคอนเนคชั่นกันนะ?) ถูก พี่ถึงได้บอกว่าพี่โชคดีที่ได้เพื่อนดี ได้พาร์ทเนอร์ดี เค้าไม่หวงเลย เป็นน้องที่น่ารักมาก แล้วเราก็ทำงานมาด้วยกัน มีความไว้ใจเชื่อใจกัน พี่ก็ได้ตรงนี้มา ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีทำพีอาร์ไม่ได้ ถึงคุณจะมีคอนเนคชั่นระหว่างสื่อดีมากแค่ไหนมันก็เท่านั้น เพราะเราต้องทำในวงกว้าง ถ้าเป็นไปได้ต้องมีหลายๆ แชนแนล เพราะลูกค้าเราหลากหลาย จากการตลาดพี่ก็เริ่มได้ในส่วนของไอที บันเทิง เศรษฐกิจ อสังหาฯ ก็เริ่มมา"

ที่ทำมามีลูกค้ามาใช้บริการพีอาร์เราเยอะมั้ยคะ?

“ระยะเวลา 2 ปีกว่า พี่มีลูกค้าที่พี่ทำเป็นจ๊อบเกือบ 20 เจ้า และหลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าประจำคือเซ็นสัญญารายปี ราย 3 เดือน 6 เดือนเข้ามาบ้าง ความยากก็จะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่มีสื่อในมือแล้ว...พี่คะวันนี้จะมีแถลงข่าว วันนี้จะเปิดตัวสินค้า วันนี้จะไปเยี่ยมโรงงาน ทึ่เคยทำแค่นี้ก็จะไม่ใช่แล้ว เราต้องทำการบ้านทำเพิ่ม อย่างเซ็นสัญญา 3 เดือน เราจะคิดอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง นอกจากจัดสัมภาษณ์กลุ่ม ส่งภาพข่าว จัดงานแถลงข่าว เราต้องคิดเรื่องการตลาดไว้ด้วย ไม่ใช่แค่จ๊อบเดียวจบรับตังค์ อันนี้เป็นรายเดือน ลูกค้าก็จะคาดหวังกับเรามากขึ้น เราก็ต้องศึกษาเพิ่ม"

“สมมติพี่มีลูกค้าเจ้านึงขายของกิน เราก็ต้องรู้ว่าบริษัทเขาขายอะไรบ้าง ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเขาคือใคร มีแผนการตลาดยังไง พีอาร์จะได้ช่วยเข้าไปซัพพอร์ทให้คนรู้จักสินค้าเขามากขึ้น ให้คนมาซื้อของเขามากขึ้น เราต้องทำการบ้านละ ไม่ใช่แค่แถลงข่าว เก็บคลิปปิ้งส่ง แต่ลูกค้าที่เจอมาจะน่ารักมาก เค้าไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย บางรายก็ต้องการแค่ให้ชื่อของเค้า สินค้าของเค้าผ่านหูผ่านตาผ่านสื่อต่างๆ สิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวี"

อย่างยุคนี้สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมาก เราได้รับผลกระทบหรือผลประโยชน์อะไรจากตรงนี้บ้าง?

“พอมาถึงตอนนี้มีในเรื่องของโซเชึยลมีเดียเข้ามา พีอาร์ก็เริ่มทำงานยากขึ้นละ สิ่งพิมพ์หายไป แมกกาซีนหายไป ทำอย่างไรจะให้ลูกค้าเข้าใจ ว่าจะไม่มีรูปของคุณ สินค้าของคุณบนกระดาษแล้วนะ เพราะสิ่งพิมพ์เนี่ยหน้าหาย ลดจำนวนหน้าลง แต่จะทำยังไงให้เอาสินค้าไปอยู่บนโลกโซเชียล แค่คลิกก็หาเจอเลย ซึ่งตรงนี้เป็นการรับสารจากจำนวนคนที่มากขึ้นกว่าสิ่งพิมพ์ หรือเป็นอีกช่องทางนึง ถ้าสิ่งพิมพ์ยังได้ลงอยู่ก็เป็นโอกาสดีของลูกค้า ตรงนี้แหละ เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจ ลูกค้าบางคน ถ้าเป็นยุคก่อนๆ หรือผู้บริหารที่มีอายุ เขาต้องทำความเข้าใจเยอะ เพราะเขายังคาดหวังกับการเห็นรูปตัวเอง เห็นสินค้าตัวเอง เป็นหนังสือเก็บได้ โซเชียลไม่เอา ดูเข้าถึงยากจากมุมมองของเขาประมาณนี้ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องมาทำความเข้าใจ เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนมุมมองลูกค้าได้ทั้งหมด แต่ถ้าได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเค้าฟังเราพี่ก็พอใจแล้ว ซึ่งลูกค้าพี่ส่วนใหญ่จะโอเค"

สื่อออนไลน์ปัจจุบันก็ดูไม่ค่อยเสถียร มาไวไปไวจนไม่รู้ว่าสื่อประเภทนี้จะอยู่กับเราได้นานเท่าไหร่ พี่เตรียมรับมือกับตรงนี้อย่างไร?

“ส่วนใหญ่แล้วพี่จะดูเรื่องโปรดักส์ ว่าสินค้าของลูกค้าเป็นอะไร เหมาะกับโลกโซเชียลมั้ย ถ้าไม่เหมาะเราจะทำยังไง บางทีสินค้า หรือตัวบุคคลมันไม่จำเป็นต้องใช้โซเชียลทั้งหมด บางอันอาจจะใช้ในเรื่องของสื่อสิ่งพิมพ์ หรือว่าทีวีได้ เราต้องคุยกับลูกค้าและหาสื่อที่เหมาะกับสินค้าของเขาให้เฉพาะเจาะจงไปเลย (สมมติถ้าสื่อโซเชียลเอาท์ไปแล้ว พี่จินตนาการว่าควรจะเอาสื่อแนวใหม่อะไรมาทดแทนดี?) โอ้โห คำถามนี้ยาก พี่ไม่ได้นึกมาก่อนเลย (หัวเราะ) แต่ก็เออเนอะ ถ้ามันไม่มีทั้งสิ่งพิมพ์ ทีวี โซเชียล หรือสื่อพวกนี้เข้าสู่ขาลง ประสิทธิภาพน้อยลง ก็น่าคิดเหมือนกันเนอะว่าจะใช้สื่อรูปแบบไหนมาทดแทนดี เพราะอย่างสื่อออนไลน์ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าอยู่ๆ มันจะบูมขึ้นมา อันนี้พี่เก็บกลับไปคิดเป็นการบ้านต่อเลยนะคะ พี่ก็ไม่ใช่สตีฟ จ๊อบด้วย (หัวเราะ) คิดไม่ออกเลยว่าถ้านอกเหนือจากไอทีแล้วจะมีสื่อด้านไหนโผล่มาได้อีก อาจจะแบคทูเบสิคเหรอ ขอไปคิดก่อนนะคะ

ขอถามถึงสัดส่วนลูกค้าว่ามาจากช่องทางใดบ้าง และลูกค้าประจำตอนนี้มีกี่ราย?

“สัดส่วนจะเป็นเอเจนซี่ ทีมอีเวนท์ 70% ลูกค้าเก่าของทีมพาร์ทเนอร์ที่เป็นเพื่อนๆ พี่ประมาณ 30% ตัวงานก็จะหลากหลายเกือบครบทุกสาย เยอะสุดจะเป็นสายธุรกิจ บันเทิง กับ อสังหาฯ จะน้อย ส่วนลูกค้าประเภทเซ็นสัญญา ตอนนี้มีที่เซ็นรายปีเจ้านึง และมีราย 3 เดือนประมาณ 2 เจ้า ที่เหลือจะเป็นจ๊อบๆ มีเปิดตัวโครงการในเดือนธันวาคมนี้"

ลูกค้าที่มาเซ็นสัญญาระยะยาวกับเรานี่คือเขาเคยใช้บริการพีอาร์เรามาก่อนหรือเปล่า?

“อย่างรายปีเหมือนเป็นการแนะนำกันมา ส่วนนึงที่พี่เป็นฟรีแลนซ์ มีงานมาเรื่อยๆ พี่ไม่เคยออกไปหาลูกค้าเองเลย ก็คือเอเจนซี่ที่ทำพวกงานอีเวนท์ อีเวนท์จะไม่มีพีอาร์ พี่จะมีพาร์ทเนอร์เป็นน้องอีเวนท์ที่รู้จักกันอยู่หลายเจ้าเหมือนกัน เวลามีงานปุ๊บเค้าก็จะขายลูกค้าเป็นแพค แล้วก็จะส่งงานพีอาร์ให้พี่ ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่พี่ไม่เคยคิดนะ ว่าออกมาจะไปทำอะไร ไปทางไหนต่อ อายุเยอะแล้ว จะไปสมัครงานคงไม่ใช่ ไม่ได้คิดจะมาเป็นพีอาร์ ไม่ได้อยู่ในหัวเลย แต่จนถึงตอนนี้ก็มีงานเข้ามาตลอด สิ่งสำคัญเลยพี่คิดว่า ถ้าเราทำให้กับเขาครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จ ไม่เป็นที่น่าพอใจ ถูกคอมเพลนมา ไม่เป็นไปตามเป้า เขาก็คงจะไม่นึกถึงและคงจะไม่จ้างเรา นี่คือสิ่งที่พี่คิดนะ ว่าเราก็น่าจะทำงานได้โอเคเหมือนกัน ทั้งกับพาร์ทเนอร์ และลูกค้า เขาถึงได้กลับมาจ้างเราอีก"

หลักและเกณฑ์การรับงานของพี่เป็นอย่างไรบ้าง?

“พี่จะรับงานเอาที่ตัวเองไหว หลักการรับงานของพี่ก็จะดูก่อนว่าเราสามารถทำได้ไหม ไหวหรือเปล่า ถ้าทำไม่ได้ ดูแล้ว คุยแล้วไม่น่ารอด เราคงต้องปฏิเสธ เพราะเราไม่อยากให้ทำให้ลูกค้า หรือพาร์ทเนอร์ที่เอางานมาให้เสียชื่อ หรือเสียความรู้สึกในตัวเรา ถ้าเราไม่ได้ร่วมงานก็อาจจะแนะนำให้คนที่ถนัดในสายงานนั้นๆ ให้เขาไปลองคุยดูว่าโอเคมั้ย แต่ถ้าเราคิดว่าน่าสนุก ใจมาละ เราพอจะมีเครือข่าย มองเห็นช่องทางว่าจะสามารถทำอะไรให้กับโปรดักส์ ให้กับธุรกิจของลูกค้าเจ้านี้ได้บ้างพี่จะรับทำ เพราะอย่างน้อยๆ พี่จะมีความมั่นใจในตัวเอง 70% ว่าพี่ทำได้ ที่เหลือจะเป็นในเรื่องของสถานการณ์ข้างหน้า เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่งานที่ทำมาจะมีปัญหาน้อยมาก เพราะเบื้องต้นเราเอาตัวเองเป็นหลักแล้วว่าเราทำได้หรือไม่ได้"

ปัญหาน้อยมาก ก็แสดงว่าต้องมีบ้าง?

มีบ้าง มือใหม่อย่างอิชั้นก็ต้องมีบ้าง (หัวเราะ) บางทีมีในเรื่องของอีเมล์ โซเชียลมีเดียเข้ามา พี่เข้าใจว่าเว็บไซต์ต่างๆ คงมีหลายๆ แชนแนล อย่างเว็บรถก็คงไม่ได้มีแต่เรื่องรถอย่างเดียว เว็บอาหารก็คงไม่ได้มีแค่อาหาร อันนี้เป็นความผิดพลาดของเราเอง เราคิดว่าเขาคงมีทุกสายแหละ ตลาด อสังหาฯ ไลฟ์สไตล์ และด้วยความที่เราอยากให้ข่าวลงเยอะๆ เราได้อีเมล์มาเป็นแพค เราก็เลยส่งข่าวๆ ส่งไปยกแพคเลยประมาณนี้ เผอิญมีอยู่เหตุการณ์นึง เขาก็คอมเพลนกลับมาว่า เขาไม่มีที่ลงนะข่าวเรื่องนี้ ทีหลังให้สกรีนเนื้อหามาก่อนนิดนึงแล้วค่อยส่งให้เขา นี่ก็เป็นบทเรียนว่าเราคิดเอาเองไม่ได้ เราต้องศึกษาเพิ่มละ โลกโซเชียลเข้ามา เราต้องดูก่อนว่าเว็บนี้ๆ เป็นเรื่องอะไร แล้วส่งข่าวให้ตรงกับเว็บของเขา ไม่ใช่อะไรก็ได้ที่จะส่งไปหาเขา อันนี้สำคัญ มันก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไรนะ แต่ในความรู้สึกเราคือ เออ...ทำไมเราไม่ดูเลยนะ ทำไมไม่รอบคอบ ดูมันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเค้ารู้จักกับลูกค้าเรานี่ก็เป็นเรื่องได้เลยนะ"

ความถี่ของงานที่รับในแต่ละเดือน?

“แล้วแต่ช่วง ช่วงพีคสุดเดือนนึง 5 งาน เฉพาะจ๊อบนะ ไม่รวมลูกค้าประจำที่เซ็นสัญญารายเดือน รายปีอันนี้ต้องทำอยู่แล้ว หัวหมุนมาก นี่แหละเต็มที่ไม่เกิน 5 งานต่อเดือน แต่ถ้าน้อยสุดก็จะ 2 จ๊อบ แบบกำลังสบายๆ เลย (ทราบมั้ยคะว่าพวกบริษัทที่มีพีอาร์องค์กรอยู่แล้ว ทำไมเขาถึงต้องจ้างฟรีแลนซ์มาทำพีอาร์ให้อีก?) สินค้าบางรายมีพีอาร์องค์กรอยู่ แต่สินค้าเค้าเยอะ กิจกรรมเค้าเยอะ เค้าก็เลยต้องจ้างซัพ สมมติมีโปรดักส์ 5 ตัว องค์กรก็จะทำ 3 อีก 2 ส่งต่อมาที่ฟรีแลนซ์"

สังคมพีอาร์ฟรีแลนซ์ มีการแข่งขันสูงไหม?

“ในส่วนของพี่จะไม่ได้สัมผัสถึงการแข่งขันว่าสูงแค่ไหน แต่พี่จะได้ยินมาในเรื่องของการตัดราคา และรูปแบบการทำงาน ตัดราคาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าเขาอยากได้งานแล้วมาตัดราคา แต่พีอาร์ฟรีแลนซ์บางเจ้าเหมือนรับงบน้อย เพราะทำแค่ส่งข่าว หรือเชิญสื่อ แค่นั้น เขาก็จะถูกกว่า แต่พีอาร์บางคนทำครบวงจรเลยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คุยกับลูกค้า วางแผนให้ลูกค้า จัดเตรียมของ ส่งข่าว คลิปปิ้ง ก็จะเป็นอีกราคานึง อาจจะสูงกว่าแบบแรก แต่ก็ไม่ได้สูงกว่ามาก มันเป็นไปตามสโคปงานและเลเวลความยากง่าย ถ้าถามว่ามีฟรีแลนซ์รายย่อยแบบนี้เยอะมั้ย เท่าที่ได้ยินมาก็คิดว่าเยอะนะ เพราะนักข่าวบางคนก็มาทำฟรีแลนซ์ด้วย แต่เขาจะทำแค่สโคปเล็กๆ แค่นั้น"

สมมติถ้าพี่เจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด มีการตัดหน้า ตัดราคาแบบจะจะเลย พี่จะทำยังไง?

“พี่คงไม่ทำอะไร ปล่อยให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินใจเองเลย เพราะพี่ไม่ชอบไปแข่งขันกับใคร ชอบทำอะไรที่มันไม่เครียด ชอบทำอะไรที่มันสนุกๆ แต่ได้ความรู้ ได้เพื่อนดีๆ ได้คอนเนคชั่นดีๆ พี่จะไม่ไปทะเลาะกับใคร เรื่องอื่นมันก็มีเยอะอยู่แล้วไม่อยากจะไปอะไรกับใคร หรือมีปัญหากับใคร ใช้ชีวิตให้มันสนุกๆ ดีกว่า"

ความรู้สึกต่อบริการ IQ Media Link?

“ก็ดีนะพี่ว่า ก็เป็นอีกช่องทางในการกระจายข่าว จากที่เดิมอาจจะมีช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่ตอนนี้ พอมี IQML พีอาร์ก็จะได้ดูด้วยว่าธุรกิจของลูกค้า โปรดักส์ของลูกค้า สามารถที่จะกระจายข่าวไปทั่วโลกได้ บางทีอาจจะเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าไอที ที่คนทั่วโลกมองเห็น ใช้ได้หมด เราเป็นพีอาร์ก็ต้องดูด้วยว่า เหมาะมั้ย ถ้าตรงมันก็ดี ดีทั้งกับพีอาร์ และก็ดีทั้งกับลูกค้าเองด้วยในการที่จะเผยแพร่ข่าวออกไปได้วงกว้างนอกเหนือจากแค่ในประเทศเราอย่างเดียว พี่ว่าเป็นช่องทางที่ดี"

อ่านมาถึงตรงนี้ นอกจากจะได้มุมมองและแนวทางการทำงานดีๆ แล้ว เชื่อว่าเพื่อนๆ ก็คงพบคำตอบแล้วล่ะว่า “เทพแห่งโชคดี...ชีวิตดี๊ดี" ของพี่แมวอยู่ที่ไหน นั่นก็คือความ จริงใจ เสมอต้นเสมอปลาย เป็นตัวของตัวเอง และไม่คิดเล็กคิดน้อยกับสิ่งรอบตัวนั่นเอง เมื่อเราให้สิ่งดีๆ กับคนอื่นด้วยความจริงใจโดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน สิ่งดีๆ ที่เคยทำ ก็จะย้อนกลับมาหาเราเองโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ ความสุขอยู่รอบตัวคุณ…!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ