คิดใหม่ ทำใหม่ มองใหม่ อย่างยืดหยุ่น “ไอยย์รัศ สิทธิพูล" หรือ “โน้ต" สาวบางร่างเล็กที่ความสามารถไม่เล็กตามตัว มาพร้อมดีกรีผู้ก่อตั้ง บริษัท โน้ตเอเบิ้ล แบงค์คอก จำกัด กับ Managing Director ผู้มีมุมมองเปิดกว้าง รักความท้าทาย มาพร้อมคติประจำใจ “ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้" ด้วยการก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งแห่ง “สตาร์ทอัพ" หวังเป็นพีอาร์เจ้าแรกในไทย นำทีมสู่ความสำเร็จด้วยวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้าและไม่เหมือนใคร เล็งเห็นโอกาสจากตลาดรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม รวมถึงมูลค่าตลาดโซเชียลอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าสูง แต่ยังไม่มีเอเจนซี่รายใดเข้ามาจับจองพื้นที่ ขณะที่การทำงานสไตล์ NOTABLE BANGKOK ก็ยังสมกับเป็นบริษัทยุคดิจิตอล สรรค์หาคนเก่งและดีที่ร่วมงานกันได้อย่างมีคุณภาพโดยไม่จำกัดพื้นที่ความสามารถ สามารถเนรมิตผลงานจากมุมใดก็ได้ผ่านเทคโนโลยีที่ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
เปิดมุมมองการทำงานที่ไม่มีกำแพงใดขวางกั้นพลังความเป็นมืออาชีพได้ กับ “โน้ต - ไอยย์รัศ สิทธิพูล"
เล่าถึงที่มาที่ไป กว่าจะเป็น NOTABLE?
ตั้งแต่เรียนจบมาโชคดีได้ทำงานกับเจ้านายคนแรก ซึ่งท่านทำงานที่โอกิลวี่มา 20 กว่าปี แล้วมาเปิดเอเจนซี่ของตัวเอง แล้วพี่โน้ตได้มาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ เป็นเอเจนซี่โฆษณา และเป็นออแกไนเซอร์ด้วย แล้วเด็กจบใหม่ได้มาทำงานกับเจ้านายที่มืออาชีพและมีแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานสากล ได้คำๆ นึงมาจากเจ้านายคนนี้ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ต่อให้งานยากงานโหดก็เราทำมาจนได้ ถูกฝึกมาแบบนั้น เราจึงไม่เคยมองว่างานเราเป็นปัญหา ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องทำมันให้ได้ เหมือนได้ฝึกให้เราเป็นผู้หญิงที่เรียกว่าถึกได้เลย ได้เจออะไรหลายๆ อย่าง ได้ลุย โชคดีมากจริงๆ เราได้เริ่มต้นมาจากความยากของงาน พอเราได้วิชามาจากตรงนี้ทำให้เราได้มองภาพทั้งหมด พีอาร์มาร์เก็ตติ้ง วงการคืออะไร จากนั้นก็ได้มาทำงานที่ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ตอนนั้นเป็นพีอาร์อินเฮาส์ เจ้านายคนแรกตอนนั้นเป็นพยาบาล และด้วยภาพลักษณ์คือสุขุมเรียบร้อย ก็เหมือนมาปราบเรา เพราะเด็กนิเทศน์จะเป็นแนวโหวกเหวกโวยวาย เราก็จะได้ฝึกในเรื่องบุคลิกภาพไปด้วยในตัว เพราะเราต้องอยู่ในสังคมที่ต้องเรียนรู้การทำงานกับผู้ใหญ่ ถึงขั้นระดับศาสตราจารย์ เราก็ได้เรียนรู้เหมือนถูกขัดเกลามากขึ้น เรื่องกาลเทศะ แต่ก็ยังมีความเป็นตัวเองอยู่ จากเด็กที่ออกจะขวานผ่าซากนิดนึงก็กลายมาเป็นเราในวันนี้
อาจารย์ด้านงานพีอาร์ก็ได้จากสมิติเวชเลยหรือเปล่า?
โชคดีอีกแล้วที่ได้เข้าไปทำงานตอนบริษัทแบรนด์ดิ้ง และดึงคนเก่งๆ เข้ามาบริหาร เข้ามาทำงาน ทำให้พี่โน้ตได้เจอเจ้านายมากความสามารถอีกแล้ว ซึ่งก็เป็นมืออาชีพและมีแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานสากลเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นอาจารย์ด้านงานพีอาร์ได้เลย ทำให้เราทำงานสตรองทั้งหลักการและความคิด นายเป็นคนที่เก่งมาก เราก็จะเรียนรู้จากเขา นายอ่านหนังสืออะไร นายฟังอะไร อยู่กับนายคนนี้มาประมาณ 6 ปี ได้เรียนรู้งานพีอาร์จากนายมาเยอะเลย ต้องบอกว่าเจ้านายแต่ละคนให้วิชามา
เจ้านายแต่ละคนนี่มาจากโอกิลวี่ทั้งนั้นเลย ทำไมพี่ถึงไม่เข้าโอกิลวี่เลยล่ะ?
เราคิดเองว่าคนที่อยู่องค์กรนี้ได้ต้องเก่งมาก ซึ่งเรายังไม่มั่นใจตัวเองว่าจะทำได้หรือไม่ และอาจจะคุ้นเคยกับองค์กรไทยแล้ว แต่พี่คิดว่า การได้ทำงานกับนายที่มีเราซัพพอร์ต มันเป็นทุกบทบาทของงานเลย ทั้งกระบวนการคิด การตัดสินใจ การทำงาน เป็นประสบการณ์ที่ Shortcut ดี ใช้เวลาสั้นในการทำงานและลงมือทำไม่ต้องไปหาเอาเองซึ่งอาจจะใช้เวลานานกว่าจะตกผลึก ประกอบกับ ได้มีอีกโอกาสได้ไปร่วมสร้างแบรนด์ใหม่ในระยะสั้นๆ ที่ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิตอล จำกัด (มหาชน) คือแบรนด์ โรงพยาบาลเปิดใหม่ เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ เป็นโรงพยาบาลพรีเมี่ยมเฉพาะทางแห่งแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ ในเครือเกษมราษฎร์ เขาเปิดเป็นพรีเมี่ยมก็เลยเชิญผู้ที่มีความสามารถในโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมไปบริหาร แล้วซีอีโอก็เชิญเราไป เป็น Assistant Director ดูเรื่อง Corporate Communication เราก็ได้วิชาบริหารจากซีอีโอท่านนี้ ได้ความเนี้ยบ ความเป๊ะติดมาด้วย เพราะเราจะเป็นคนช่างสังเกต ก็จะปรับตัวตาม เลยได้ความเป๊ะมาบ้าง สำหรับที่นี่ก็เหมือนได้ฝึก การมอง การคิด การทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูง การให้ลงรายละเอียดกับเนื้อหาทุกงานที่ทำ และเราก็อายุยังน้อย ก็รู้สึกว่าถูกจับตามองตลอด
กดดันมั้ยคะ?
ตอนนั้นเพิ่งจะ 30 เอง ไปอยู่ตรงจุดนั้น เวลานั่งประชุมเราค่อนข้างจะมั่นใจในงานของเรา เพราะเราถูกสอนให้เก่งในงานของเรา แต่ที่กดดันคือต้องทำงานกับผู้ใหญ่เยอะมาก ในโต๊ะบริหาร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้ไปนั่งอยู่ตรงนั้น คนที่อยู่ตรงนั้นก็ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น แต่เราก็ต้องสู้ ต้องลุย (ต้องร่วมงานกับผู้ใหญ่มากๆ ทำให้มีปัญหาอุปสรรคอะไรกับเราบ้างมั้ยตอนนั้น?) พี่รู้สึกว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคนะ แต่อุปสรรคมันอยู่ที่เขาจะเข้าใจในตัวงานของเราหรือเปล่า อาจจะเป็นวัฒนธรรมของแต่ละรุ่นๆ ถ้าคนที่ไม่เข้าใจ อาจจะด้วยการทำงานที่ต่างกัน ต่างสายกัน ก็จะทำให้เราต้องทำงานไปด้วยอธิบายไปด้วย ซึ่งจุดนี้ก็อาจจะทำให้งานช้าไปบ้าง อาจจะไม่ได้ผลตามที่ใจเราอยากให้เป็นไปบ้าง
แล้วพี่มีแผนรับมืออย่างไรบ้าง?
ก็ทำงานหนักขึ้นค่ะ สู้ไปกับมัน เพราะบางอย่างเปลี่ยนแปลงได้ บางอย่างเปลี่ยนไม่ได้ เราก็ต้องสู้กับมันให้ถึงที่สุด อย่างที่บอกว่าไม่มีอะไรทำไม่ได้ แต่ทำได้มากทำได้น้อย บางครั้งก็ต้องยอม (เคยท้อจนอยากจะเลิกบ้างไหม อยู่ในสภาวะกดดันขนาดนี้?) มีบ้างนะ แต่เชื่อในศักยภาพตัวเอง เคยอ่านประโยคนึงที่บอกว่า เมล็ดพันธุ์ที่ดีถ้าอยู่ในดินที่ดีมันก็จะเจริญ เรามองว่าถ้าวันนี้เราทำในสิ่งที่ใช่แล้ว แล้วมันไม่ตอบโจทย์ ถ้าเราเชื่อว่าเราเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี ก็แสดงว่าดินตรงนั้นอาจจะยัง ไม่เหมาะกับเรา ช่วงนึงเราคิดว่าถ้าเราผลักดันในสิ่งที่ต้องสร้างแล้วมันยังไม่เต็มที่ เราไปทำอะไรที่เราภูมิใจดีไหม แต่เราก็ยังรักในอาชีพพีอาร์อยู่ แต่ ประกอบกับเราโชคดีมีพี่ๆ นักข่าวแนะนำลูกค้ามาให้ เราอยู่วงการเฮลท์แคร์มาเกือบ 7 ปี เราก็เลยลองทำโปรดักอื่นดูบ้าง และตัวเราเองก็อยากเรียนรู้ด้านอื่นๆ พอดี ก็เลยตัดสินใจออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้โปรดักอื่นๆ อยู่ช่วงนึง
แล้วความคิดที่จะเปิดบริษัทตัวเองเริ่มจากตอนไหน?
พี่มีความคิดอยู่อย่างว่า ถ้าอยู่ในองค์กรมันต้องโตขึ้นๆ แล้วนี่เราออกมาทำเองจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้นะ ก็ต้องโตเหมือนกัน ก็เลยเริ่มมีการวางมิชชั่นให้ตัวเอง ว่าต้องเปิดบริษัท มีปรึกษาผู้ใหญ่บ้าง ผู้ใหญ่สนับสนุน เราก็เอาเลยเปิดเลย และก็โชคดีที่ได้โปรเจ็คใหญ่เข้ามาเป็นงานแรก เป็นของ สสส. แล้วก็มีงานมาเรื่อยๆ แต่แปลกนะ งานที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นสื่อมวลชนแนะนำมาทั้งนั้นเลย
สื่อที่พี่สนิทจะเป็นสายไหน?
อาจจะเป็นเพราะเราอยู่สมิติเวชมาค่อนข้างนาน สื่อที่เราสนิทก็จะเป็นสายสุขภาพ การตลาดบ้าง ไลฟ์สไตล์ บิวตี้
เป็นฟรีแลนซ์อยู่นานแค่ไหน กว่าจะมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองได้สำเร็จ?
เอาเป็นว่าตอนที่มาเปิดบริษัทไม่เคยคิดว่าจะเปิดบริษัทได้เองนะคะ แต่มานั่งคิด ตอนนี้เงินเดือนเท่านี้ แล้วถ้าจะได้เงินเท่านี้ต้องอายุเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบหรอกนะ แต่เหมือนเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เรามองว่าอยู่ตรงนั้นไม่แฮปปี้ เราจะทำอะไรได้บ้าง แต่พอออกมาทำเองช่วงแรกๆ 2-3 เดือนแรกก็ จิตตกนะคะ เหมือนเราเคยมีเพื่อน พักกลางวันกินข้าวกับเพื่อน พอตอนนี้กลายเป็นต้องกินคนเดียวแล้ว สังคมก็เปลี่ยนไป แต่อาจจะด้วยความที่เราเป็นคนแอคทีฟตลอดเวลา ก็เลยจะบอกตัวเองว่าต้องสตรองนะ แล้วก็ผ่านจุดนั้นมาได้ค่ะ เริ่มเซ็ตตัวเองและบริหารจัดการตัวเองได้เป็นระบบมากขึ้น มีการทำกลยุทธ์ของลูกค้า มีการตั้งเป้า พอเริ่มเปิดบริษัทก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้มัน คิดไว้ว่ายังไงก็ต้องเปิด (ที่มาเปิดบริษัทเพราะมีใครผลักดันเราหรือเปล่า?) ไม่เลยค่ะ ผลักดันตัวเอง (ไม่ได้มีเหตุผลอะไรอื่นๆ ด้วย?) ไม่มีเลยค่ะ ไม่มีหุ้นส่วนด้วยค่ะ เปิดคนเดียวด้วย มีแม่เป็นประธาน มีน้องสาวเป็นกรรมการ (หัวเราะ) ก็มานั่งคิดเหมือนกันนะว่าเราทำมาได้ยังไง คนอื่นนี่เค้าเปิดบริษัทกันต้องมีพาร์ทเนอร์ มีเพื่อนคู่คิด มีคนช่วยถกประเด็น แต่เราทำทุกอย่างด้วยตัวเราเองคนเดียวหมดเลย แต่เวลาเราต้องการคำแนะนำก็จะปรึกษาผู้ใหญ่ที่เรานับถือ แต่เหมือนปีแรกยังไม่ได้เกิดการคอนซัลท์เท่าไหร่ เพราะว่าทำงานแล้วลุยๆๆ แก้ปัญหา ปีแรกที่เปิดเหมือนเป็นการจัดระบบงาน มันต้องเป็นยังไง ไทม์ไลน์ต้องเป็นยังไง รับลูกค้ายังไง ปีที่ 2 ก็เริ่มบริหารลูกค้า เริ่มรู้แล้วว่าเราต้องดูแลลูกค้ายังไง เซอร์วิสยังไง ให้ลูกค้าต่อสัญญายังไง เพราะฉะนั้นปีที่ 1 และ 2 เนี่ย งานเยอะมาก
งานมันกองมาตั้งแต่ก่อนเปิดบริษัทหรือเปล่าค่ะ?
ก็ด้วย ไม่ถือว่ากองดีกว่า แต่ว่างานเข้ามาเยอะ ท้ายที่สุดแล้วพอเราทำ เราจะมีข้อมูล เราจะรู้ว่าเราจะทำยังไงต่อไป อย่างปีแรกมีลูกค้าประจำ 2 เจ้า แต่อีเวนท์เป็นสิบ ปีแรกทำงานจนหมดสภาพ งานหนักมาก (คือเราทำคนเดียวเลยหรือเปล่าช่วงนั้น?) ไม่ค่ะ จะมีทีมค่ะ ช่วงแรกจะเป็นทีมฟรีแลนซ์ เพราะเราก็เพิ่งเซ็ตตัว และงานพีอาร์ไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่ออฟฟิศด้วย เราก็ทำงานงานแบบเน้นผลลัพธ์ ถึงเวลาเราก็จะเรียกทีมประชุมทุกอาทิตย์ สัปดาห์ละครั้ง ไม่ต้องมานั่งออฟฟิศ บางทีเค้าอยู่ที่อื่นก็อาจจะทำงานดีกว่าก็ได้ บางคนเค้าชอบทำงานกลางคืนเช้าไม่ตื่นก็มี ซึ่งเราก็โอเค เราอยู่ในยุคนี้ก็ต้องปรับตัว ทำงานกับคนยุคใหม่ ต้องปรับตัวตามสไตล์กันไป
กว่าจะเซ็ตทีมได้นี่ใช้เวลานานมั้ย ปริมาณงานกี่มากน้อย?
ปีนี้เราเปิดดิจิตอล มาร์เก็ตติ้งด้วย โชคดีที่เราได้คนเก่งมา คนเก่งคนนึงสามารถทำงานได้หลายอย่าง ตอนแรกเราก็คิดว่าเราต้องมีคนเยอะมั้ย แต่ท้ายที่สุดเราก็พบว่าเราใช้คนตามความจำเป็น เราใช้นักเขียนฟรีแลนซ์บ้างก็ได้ เรามีกราฟฟิกอยู่ต่างประเทศนะ ก็วิดีโอคอลกัน ส่งงานกัน งานอะไรยังไงเท่าไหร่ ก็ส่งกลับมา คือปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทำให้เราทำงานง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า กราฟฟิกเราอยู่ญี่ปุ่น เค้าจะต้องเข้าออฟฟิศมั้ย ไม่ต้อง ให้เขาทำงานที่บ้านก็ได้ ไลน์กรุ๊ปเราก็มี จะคอมเมนท์กันก็ง่าย งานก็เลอค่าไม่จำเป็นต้องมาเจอกัน เพียงแค่เราใช้มืออาชีพ จบนะ (หัวเราะ) โน้ตว่าคนเก่งสำคัญ ที่ผ่านมาเคยเจอแบบเก่งแต่ไม่น่ารักก็มี แต่เวลามันก็จะคัดกรองให้เราเอง โน้ตโชคดีอย่างที่เจอคนเก่งด้วยน่ารักด้วย ทำให้การทำงานเราราบรื่น และได้ผลงานที่น่าพึงพอใจ
ยังไงคะคนเก่งที่ไม่น่ารัก พอจะเล่าหน่อยได้มั้ย?
เอาแบบในภาพรวมในวงการนี้ที่เคยเห็นแล้วกันนะคะ ตัวอย่างคนเก่งแต่ไม่น่ารักก็อาจจะเป็นแบบมีความสามารถ อาจจะทำงานด้วยกัน ช่วยกันอยู่ดีๆ แต่ทำไปทำมาก็แอบมาดีลลูกค้าไปทำเองซะยังงั้น หรือคนที่เก่งรอบด้านแต่ทำงานด้วยยาก ประเภท ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง พูดกับเราอย่าง แต่พูดกับคนอื่นอีกอย่าง จนเกิดความร้าวฉานแตกแยกอันนี้มันก็มีเหมือนกัน ณ ปัจจุบันพี่มองว่าเราต้องการคนเก่ง หรืออาจจะไม่ต้องมากก็ได้ขอให้ดี แล้วเดี๋ยวเรามาพัฒนากัน แต่อย่างที่บอกว่าพี่ค่อนข้างโชคดีที่ได้คนที่ทั้งเก่งและดีมาร่วมงาน อย่างทีมกลยุทธ์ของพี่ก็จบจากอังกฤษ มีประสบการณ์แน่นมาก และเป๊ะมาก ทีมดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งก็ได้มาจากเบอร์หนึ่งของประเทศเลย เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งมาก ทุกคนจะมีความชัดเจนกับเรา
มีแต่คนเก่งหาตัวจับยากอย่างนี้ พี่โน้ตมีกลยุทธ์บริหารทีม บริหารลูกน้องอย่างไรบ้างคะ?
คุยกับลูกน้องแต่ละคนต้องคุยไม่เหมือนกัน ตอนแรกเราเข้าใจว่าไลน์กรุ๊ปคุยทุกเรื่องเท่าเทียมกัน แต่เฮ้ย!! มันไม่ได้นะ วันนี้ต้องคุยแบบนี้ บางคนก็ได้ใจซะเหลือเกิน จะทำงานฟรีเราก็ต้องบอกว่าไม่ได้นะ เธอต้องกินข้าว ต้องมีค่าใช้จ่าย บางคนก็ต้องการขวัญและกำลังใจ คือเราเหมือนมองว่าเราให้ใจกับทุกคน ใครชอบแบบไหนเราก็ดูแลแบบนั้น (พี่เคยเรียนหรือชอบอ่านหนังสือพวกจิตวิทยาอย่างนี้หรือเปล่า?) ก็มีอ่านบ้าง ชอบพวกคำคมอะไรต่างๆ แรกๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจิตวิทยาสำคัญ แต่หลังๆ เราเริ่มมารู้ว่ามันก็สำคัญนะคะ เราก็เริ่มใช้ความรู้สึกแล้ว ต้องใช้วิธีเอาใจเขามาใส่ใจเรา ท้ายที่สุดแล้วเราร้อยเปอร์เซ็นต์กับทุกคน
แนวโน้มจะขยายทีม เพราะตัวงานมาเยอะขึ้น?
พีอาร์ทำเหนื่อยนะคะ เราไม่ได้มองว่าพีอาร์จะทำให้เรารวย แต่เราทำพีอาร์เพื่อต่อยอดให้มีธุรกิจที่ 2 ที่ 3 มีคอนเนคชั่นเพิ่มขึ้น กว้างขวางขึ้น พี่เคยพาสื่อไปทำงานที่เมียนมา แล้วพี่เข้าถึงผู้ใหญ่ที่นั่น เลยได้ทำบิสิเนสเทรนนิ่ง คือเมียนมาไม่ได้เปิดให้ใครก็ได้เข้าไป ซึ่งเมื่อพี่ได้มีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจต่อยอดที่นั่นมันทำให้เราภาคภูมิใจเหมือนกันนะ เพราะนั่นแสดงว่าเขาเชื่อใจเรา เมียนมาไม่ทำงานกับคนที่ไม่รู้จัก แล้วอย่างช่วงที่อีเวนท์ถูกเลื่อนไปหลายงาน พี่ก็เริ่มมองแล้วว่าเราหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้ เราต้องต่อยอดให้มีธุรกิจอื่นๆ มาซัพพอร์ตต่อไป อาชีพพีอาร์เป็นอาชีพที่มีความสุข และเราได้พัฒนาเรื่องคอนเนคชั่น พัฒนาตัวเองจากประสบการณ์ลูกค้า พัฒนาระบบ การคอมมิวนิเคทต่างๆ
แล้วธุรกิจที่ 2 3 4 ของพี่โน้ตที่วางไว้คืออะไร?
ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกพี่โน้ตคิดไว้ว่าจะต้องทำงานกับแบรนด์ใหญ่ๆ ให้ได้อย่างน้อย 10 บริษัทในปีนี้ จนเมื่อไม่นานมานี้พี่โน้ตมีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่หลายๆ คนที่เก่งในวงการ เขาก็ให้ไอเดียว่าทุกวันนี้ Start UP SME เยอะมากในประเทศไทย เขาก็ทำมาร์เก็ตติ้งตามหลักการของเขาไป แต่เขาไม่รู้เรื่องพีอาร์เลย ไม่รู้ว่าจะทำพีอาร์อย่างไร จะเจอนักข่าวยังไง พี่ก็เลยมาได้ไอเดียว่า ทำไมเราไม่ลองมาเปิดตลาดด้านนี้ดูล่ะ ทำไมเราไม่ทำให้เรากลายเป็นพีอาร์ของสตาร์ทอัพเบอร์หนึ่งและเบอร์แรกของประเทศไทยให้ได้ภายในปีนี้ล่ะ พี่เลยตัดสินใจที่จะบุกสตาร์ทอัพและ SME ตรงนี้ ที่สำคัญคือตอนนี้รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมมีจำนวนกว่า 2.8 ล้านราย มูลค่าตลาดโซเชี่ยลอีคอมเมิร์ซสูงถึง 2.3 พันล้านบาท แล้วของพีอาร์ล่ะ พี่ว่ามันไม่มีตัวเลข พี่ต้องคว้ามาให้ได้ (พี่จะเป็นเจ้าแรกเลย?) ใช่ค่ะ นี่คือเป้าหมายหลักของปีในปีนี้ ที่พี่ต้องทำให้ได้
พี่โน้ตมองว่าจุดแข็งของพี่คืออะไร?
เราคัดเลือกทีมจากคนที่มี Passion ในการทำงาน ที่พร้อมใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โฟกัสการทำงาน กระตือรือร้น พยายามสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรา
การแข่งขัน?
เรามองว่าการแข่งขันในตลาดพีอาร์ค่อนข้างสูง เอเจนซี่ค่อนข้างเยอะ และทำงานหนักมากเช่นกัน แต่เรายังมีกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ (กลุ่มเป้าหมายของเราคือ?) สตาร์ทอัพค่ะ (กลุ่มเป้าหมายใหม่ของเราเลยใช่มั้ยคะเนี่ย?) ใช่ค่ะ และเราก็จะเป็นพีอาร์เอเจนซี่เจ้าแรกที่ประกาศให้โลกรู้ ว่า สตาร์ทอัพไทยของเรานั้นเก่งยังไง
อาวุธมัดใจลูกค้าของบริษัทเราคืออะไร?
เราพยายามตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ให้บริการลูกค้าเต็มที่เท่าที่จะทำได้ และยืดหยุ่นค่ะ
เป้าหมายสูงสุดในงานพีอาร์ของพี่โน้ต?
พี่มองว่าอาชีพพีอาร์เป็นงานที่ทำให้เรามีความสุข ก็อยากทำไปเรื่อยๆ แต่ปีนี้จะมุ่งเป้าหมายไปที่สตาร์ทอัพ เป็นเจ้าแรกและเบอร์หนึ่งให้ได้ในปีนี้ (แล้วเป้าหมายระยะยาว หรือเป้าหมายในชีวิตที่อาจจะไม่จำกัดแค่ในวงการพีอาร์ก็ได้?) ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่รู้ว่าทุกวันต้องหมดไปอย่างมีประโยชน์ พี่ยังคงค้นหาคำตอบอยู่ทุกวัน ทุกเช้าที่ตื่น รู้แต่ว่าต้องทำทุกงานให้ดี และจะทำงานพีอาร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องต่อยอดความคิดของเราออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมกับอยู่บนพื้นฐานของงานที่เรารักและทำให้เรามีความสุขด้วย
เกณฑ์การรับงาน?
ปัจจุบันเป็นแบบเขาบอกต่อมาทั้งนั้นเลยนะ ยังไม่ได้ไปติดต่อใคร ก็จะมีสตาร์ทอัพนี่แหละที่เป็นที่แรก (บริษัทพี่เปิดมากี่ปีแล้วคะ?) ขึ้นปีที่ 3 ค่ะ ปีแรกเรียนรู้งาน ปีที่ 2 เรียนรู้คน เรียนรู้ลูกค้า และปีที่ 3 เรียนรู้การบริหาร เรียนรู้การสร้างรายได้ค่ะ (หัวเราะ)
ภาพรวมพีอาร์ เทรนด์ปี 2560 จะเป็นไปในทิศทางไหน?
ตอนนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก เราต้องปรับตัวมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องของสื่อ และคอนเทนต์ (ยังไงบ้าง?) ในเรื่องของสื่อเราต้องมีกลยุทธ์ วางแผนในการทำงานกับสื่อ คอนเทนต์ก็ต้องเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ธรรมดา มีประโยชน์กับโลก ไม่ใช่เขียนขึ้นมาแค่บอกว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน แต่ต้องเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณค่ามาก เราแค่รู้สึกว่าปีนี้เราเปิดออนไลน์เพิ่มเลยรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ถ้าเปิดพีอาร์อย่างเดียวเนี่ย จะรู้สึกหวิวๆ แต่ออนไลน์เนี่ย ทุกคนยังต้องใช้ เรามองว่าถึงเศรษฐกิจจะไม่ดีแต่คนก็ยังต้องใช้พีอาร์ (พี่อยากแตกไลน์เปิดมีเดียเพิ่มด้วยมั้ย?) ไม่ดีกว่าค่ะ เราไม่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ พี่มองว่าเราเล่นในด้านที่เราชำนาญดีกว่า
ส่วนเทรนด์ปี 2560 ปัจจุบันมีธุรกิจเกิดใหม่ค่อนข้างเยอะไม่ว่าจะเป็น SME รวมทั้งกลุ่ม Start up ส่วนนี้จึงเป็นโอกาสในตลาดอีกมาก สำหรับการเปลี่ยนแปลงของสื่อนั้น เรากำลังเข้าสู่ยุค O2O (Offline to Online) อย่างเต็มรูปแบบ เทรนด์การทำประชาสัมพันธ์ต่อจากนี้จะต้องผสมผสานทั้งการทำธุรกิจแบบ Offline และ Online ควบคู่กัน ดังนั้น กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์จึงไม่สามารถเลือกโฟกัสเพียงด้านหนึ่งด้านใดได้ เราต้องให้ความสำคัญทั้งสื่อออฟไลน์และสื่อออนไลน์โดยมองเป็นโครงสร้างเดียวกันและพิถีพิถันในการสร้างคอนเทนต์ที่ถือเป็นหัวใจของงาน ด้านประชาสัมพันธ์ที่จะทำให้ลูกค้าของเราโดดเด่นที่สุดในตลาด
เทรนด์สื่อที่เปลี่ยนไป สิ่งพิมพ์ที่จัดว่าเป็นหัวใจหลักของคนทำงานพีอาร์ได้มีการปิดตัวลง พี่โน้ตมองว่าตรงนี้ส่งผลกระทบอะไรกับบริษัทเราบ้างมั้ย แล้วเราวางแผนจะไปทิศทางไหนต่อ?
เรามองว่ามีผลกระทบบ้าง แต่เราเชื่อว่าสื่อออฟไลน์ก็ยังต้องอยู่ เหมือนคนไทยกินข้าว ต่อให้ยุคดิจิตอลมา แต่เว็บตอนนี้มีเป็นร้อยเว็บ แต่เอาเข้าจริงคนเข้ากี่เว็บ หนึ่งเว็บ สองเว็บ สามเว็บ ถ้าบอกว่าเราตามต่างชาติ เราตามอเมริกา ก็จะเห็นว่าที่อเมริกาก็มีสื่อเทรดิชั่นนอล หรือสื่อสิ่งพิมพ์ (Offline) อยู่เต็มไปหมด ก็ยังไม่ได้หมดไป พี่มองว่าคนที่อยู่ไม่ได้อาจจะอิ่มตัวหรือเปล่า หรือว่าไม่ปรับตัว แต่ที่พี่เห็นคนที่ยังอยู่ได้ก็เป็นกลุ่มคนที่ปรับตัวตามกระแสนิยม มีการเปิดออนไลน์เพิ่มเข้ามา ควบรวมสื่อมากขึ้น พี่เห็นสื่อปิดตัวไปก็มีสื่อใหม่เปิดตัวมา พี่ว่าทุกคนไม่ตายหรอกถ้าเราปรับตัวให้เหมาะ แต่ทุกคนก็มีเหตุผลของเขา พี่ไม่ได้มองว่าคนที่ปิดตัวคือแพ้หรือว่าผิดพลาดอะไรนะ แต่ทุกคนมีเหตุผลของแต่ละคน ถ้าจะสู้ก็อาจจะต้องหาคนเก่งมาบริหาร ต้องปรับ ต้องอยู่ ต้องมี เอาเป็นว่าลองเดินไปตามแผงหนังสือ ต่อให้สื่อปิดตัวไปมากมายถามว่าเราอ่านหนังสือบนแผงได้ครบทุกเล่มมั้ย ก็ไม่ พี่ว่าพี่ยังทำงานกับสื่อออฟไลน์ได้อีกเป็นสิบปีค่ะ
มุมมองเกี่ยวกับพีอาร์ ที่พี่บอกว่าการแข่งขันในวงการสูง แต่พี่ยังเป็นบริษัทเอเจนซี่เล็กๆ อยู่ เรามีวิธีเอาตัวรอดจากตรงนี้ยังไง?
ทำงานของเราให้ดีที่สุดค่ะ ไม่กลัว ถ้าเราทำงานให้ลูกค้าได้ดีพอ ต่อให้เราปฏิเสธลูกค้า ลูกค้าก็ไม่ยอมปล่อยเรา ถ้าเราทำงานที่ดีและมีคุณภาพให้ลูกค้าแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวเลยค่ะเรื่องการแข่งขัน (คู่แข่งของพี่คือใคร?) พี่ว่าตัวเองนี่แหละค่ะ และลูกค้า (อ้าว ทำไมอย่างนั้นล่ะคะ?) เพราะว่าลูกค้าเขาเร็ว พี่ต้องมองตัวเอง ลูกค้าเร็วและรู้รายละเอียด รู้ข้อมูลอะไรเยอะมาก
พีอาร์คอปอเรทมองว่า เอเจนซี่เป็นคู่แข่ง พี่มีมุมมองความคิดเห็นกับตรงนี้อย่างไร?
ไม่อยากให้มองเอเจนซี่ว่าเป็นคู่แข่ง แต่เป็นการมาซัพพอร์ตงานกันมากกว่าค่ะ พี่เคยอยู่อินเฮาส์มาก่อน งานเยอะมาก เราเชื่อว่าพีอาร์องค์กร ยังไงก็ต้องพึ่งเอเจนซี่ เพราะงานภายในมันเยอะมากนะ คิดดูว่าองค์กรใหญ่ๆ นอกจากต้องสื่อสารคนเป็นพันๆในองค์กร ทีมยิบย่อยต่างๆ สื่อสารออกมาข้างนอกอีก ถ้าสื่อสารภายในยังไม่ลงตัวไม่ครบถ้วนแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปสื่อสารกับสื่อ ท้ายที่สุดแล้วพี่อยากให้องค์การมองว่าพีอาร์อินเฮาส์ก็สำคัญ แต่วัตถุประสงค์คือเพื่อพีอาร์ในองค์กรหรือเปล่า พอพี่เป็นเอเจนซี่พี่ทำงานกับสื่อเต็มที่ ขณะที่อินเทอร์นอลทำไม่ได้ เพราะต้องประชุมเช้า ประชุมเย็น ทำสรุปนู่น นี่ นั่น พี่มองว่ามันเป็นเรื่องต้องยอมรับ และต้องใช้นะ (หัวเราะ) เพราะภาระภายในองค์กรค่อนข้างหนัก
คิดเห็นอย่างไรกับคำที่บอกว่าพีอาร์ฟรีแลนซ์ทำให้ภาพรวมพีอาร์ถูกลดมูลค่าลง เพราะฟรีแลนซ์ชอบทิ้งงานจนทำให้คำว่า พีอาร์พลอยติดลบและได้รับผลกระทบไปด้วย?
พี่มองว่าทุกคนต้องทำมาหากิน ทุกคนต้องมีที่ยืนของตัวเองในสังคม แต่ละคนก็มีบทบาทที่ต่างกัน ถ้าคุณใช้งานฟรีแลนซ์ก็จะได้งานแบบฟรีแลนซ์ จะไม่ได้มืออาชีพแบบเอเจนซี่จัดให้ แต่ถ้าคุณรับได้คุณก็จ่ายน้อย แต่ถ้าต้องการอะไรที่เป็นมาตรฐานสากล คุณก็จ่ายสูงหน่อยเพื่อได้งานที่ดี แต่พี่มองว่าด้วยความที่ทุกวันนี้ยังมีช่องว่าง ยังมีกลุ่มเป้าหมายอีกเยอะ เราก็แบ่งๆ กันไป ท้ายที่สุดแล้วผลงานมันจะบอกเองว่าคุณเป็นตัวจริงหรือเปล่า คนจริงโลกรู้
ชื่อบริษัทมาจากชื่อตัวเองเลย?
มาจากชื่อพี่ด้วย แต่นอกจากนี้ยังมีความพิเศษตรงที่มีผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งตั้งให้ เพราะภาษาอังกฤษคำว่า NOTABLE แปลว่า มีชื่อเสียงด้วย โน้ตเอเบิ้ลแบงค์คอก พีอาร์เอเจนซี่ ที่สร้าง Passion เพื่อก้าวสู่การเป็นมืออาชีพด้านพีอาร์