PR Interview: พีอาร์ระดับชำนาญการพิเศษจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้ทำงานเชิงรุกรับมือการพลิกผันทางเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Friday January 13, 2017 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"การประชาสัมพันธ์เชิงรุกจำเป็น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในภารกิจ ผ่านศาสตร์และศิลป์ของการประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มเป้าหมายทราบ และมีส่วนร่วม"

สัปดาห์นี้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปรียา แสงนาค (อ้วน) นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ (หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์) กรมโยธาธิการและผังเมือง นับจนถึงปัจจุบัน กว่า 37 ปี กับการทำงานในสายงานประชาสัมพันธ์ ที่ดูแลในเรื่องการวางผังเมืองของประเทศและด้านช่าง กำกับดูแลกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ จำนวน 4 ฉบับ คือ กฎหมายผังเมือง กฎหมายจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายขุดดินถมดิน ซึ่งดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการผังเมือง การพัฒนาเมือง การอาคาร และการบริการด้านช่าง คุณอ้วนจึงพรั่งพร้อมไปด้วยประสบการณ์และแนวคิดเกี่ยวกับการพีอาร์ในภาครัฐ จะเป็นอย่างไรขอเชิญติดตามกันได้เลยค่ะ

ดูจากประสบการณ์ทำงานที่มากขนาดนี้ เราขอเริ่มที่คำถามนี้ก่อนดีกว่า การทำพีอาร์สมัยก่อนกับปัจจุบัน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ? : การทำพีอาร์สมัยก่อน เป็นการทำงานพีอาร์เชิงรับ มุ่งเน้นการใช้สื่อเป็นหลัก เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งยังต้องใช้รูปแบบการสื่อสารเชิงลึก โดยการทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประชาชนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย แต่ว่า...การทำพีอาร์ในปัจจุบัน "การประชาสัมพันธ์ต้องมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อการสื่อสารเชิงรุก ให้เกิดความรวดเร็วในการเผยแพร่ข่าวสาร เพื่อให้ทันต่อยุคแห่งการพลิกผันทางด้านเทคโนโลยีผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย"

ที่ผ่านมา ได้ยินคำว่า เศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เราปรับตัวอย่างไรในฐานะที่ทำงานภาครัฐ ? : ตามนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ในส่วนของภาครัฐคือการสร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำไปสู่การผลิต โดยทำงานให้น้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น และใช้สิ่งที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว คือ 1.ให้บริการฐานข้อมูลดิจิทัลด้านการผังเมือง เพื่อให้การสืบค้นข้อมูลของกฎกระทรวงผังเมืองรวม ในเชิงมิติทางพื้นที่ โดยแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายภาครัฐ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 2.โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเน้นหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินและรายได้ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

การทำพีอาร์ในช่วงที่คนไทยต่างร่วมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการวางแผนการทำงานอย่างไร เน้นรูปแบบการสื่อสารแบบใด ? : การทำพีอาร์ในช่วงไว้อาลัย เราปรับแผนการประชาสัมพันธ์ เน้นหนักไปทางด้านเผยแพร่โครงการตามแนวพระราชดำริ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การจัดทำหนังสือเรือนที่ประทับเขาดอกไม้และส่วนบริการ พื้นที่ต่อเนื่องโครงการชั่งหัวมัน ซึ่งเป็นผลงานการสำรวจ ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง การจัดนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการผังเมืองและการพัฒนาเมือง เช่น โครงการจัดทำผังเมืองรวมเมืองหนองใหญ่ จังหวัดชุมพร โครงการหัวหิน เมืองเฉลิมพระเกียรติ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี โครงการปรับปรุงอาคารเฉลิมพระเกียรติสิริกาญจนทักษิณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และโครงการก่อสร้างศาลากลางน้ำเพื่อประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งการจัดทำคัตเอาท์ขนาดใหญ่เพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 บริเวณด้านหน้ากรมโยธาธิการและผังเมือง และสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์หลักของกรมก็ได้ปรับให้มีความเหมาะสมในช่วงดังกล่าวด้วย

การจัดทำวารสารกรมโยธาธิการและผังเมือง ? : การพีอาร์ของกรมยังให้ความสำคัญกับสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจและข่าวสารความรู้ด้านการโยธาธิการและผังเมือง ที่เป็นสารประโยชน์ให้แก่บุคลากรภายใน และภายนอกองค์กร เพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมืองกับประชาชนและสาธารณชนกลุ่มเป้าหมาย เช่น วารสาร ออกเป็นรายไตรมาส ปีละ 4 ฉบับ นอกจากวารสารแล้ว ยังจัดทำ DPT สาร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจ และผลการดำเนินงานด้านต่างๆ รวมทั้ง กิจกรรมภายในองค์กร เพื่อสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยจัดทำเป็นรายเดือนปีละ 12 ฉบับ และอื่นๆ อย่าง หนังสือ คู่มือต่างๆ ที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆรอบตัวเรา เช่น ผังเมืองหน้ารู้, คู่มือดูแลบ้าน, ผังเมืองของเรา, การให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ 15 งานที่น่าภูมิใจ, การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตผังเมือง, การตรวจสอบสภาพตลิ่งและแนวทางการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น

อนาคตคิดว่าการทำพีอาร์จะไปในทิศทางใด ? : รูปแบบของการทำพีอาร์จะมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย จะมีการแข่งขันของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเวลาที่รวดเร็ว ฉับไว และกว้างขวาง มีการใช้ โซเชียล มีเดีย เพิ่มมากขึ้น อาจใช้บุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์น้อยลง เกิดนักข่าวพลเมืองเพิ่มมากขึ้น-นักข่าวมืออาชีพลดลง เป็นต้น ดังนั้น "ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ ต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคไฮเทคโนโลยี"

ความแตกต่างระหว่างการจัดทำพีอาร์ภาครัฐ และพีอาร์ภาคเอกชน ? : ภาครัฐทำในลักษณะของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แต่ภาคเอกชนมักเน้นหนักไปทางด้านการโฆษณามากกว่าการประชาสัมพันธ์ ส่วนสำคัญที่สุด คือเรื่องงบประมาณ ภาคเอกชนมีงบประมาณในการโฆษณาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทั้งปริมาณ คุณภาพ และความน่าสนใจผ่านสื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงในรูปแบบของมัลติมีเดีย เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างและต่อเนื่องเพราะเป็นองค์กรที่หวังผลกำไร

แต่ภาครัฐ มีงบประมาณจำนวนจำกัดตามที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี ดังนั้นการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต้องทำตามที่ได้รับงบประมาณ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ โดยไม่ได้หวังผลกำไรผ่านช่องทางของสื่อมวลชนตามที่งบประมาณสามารถจัดทำได้ รวมทั้งผ่านเครือข่ายประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ความน่าสนใจจึงไม่มากพอ และไม่ต่อเนื่อง

แล้วข่าวสารที่สื่อออกไปมีลักษณะใด ผู้รับสารนำไปใช้ด้านใดเป็นหลัก ? : ข่าวสารจากกรมโยธาธิการและผังเมืองใช้ช่องทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ข่าวแจก การจัดงานแถลงข่าว เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดอุบัติภัยด้านต่างๆ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน และสื่อมวลชน โดยเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลเชิงบวก เพื่อแก้ไขข่าวเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกรม ไปสู่สาธารณชนกลุ่มเป้าหมาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย สื่อมวลชน และเครือข่ายด้านการผังเมือง การพัฒนาเมือง และการอาคาร โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ

ด้วยประสบการณ์ที่มากขนาดนี้ เราคงไม่พลาดขอวิชาการแก้ไขปัญหาในการทำงาน ? : "การทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ต้องพัฒนาศักยภาพอยู่เสมอๆ เพื่อให้ตัวเองและทีมงานสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของยุคไฮเทคโนโลยี" ส่วนปัญหาการทำงานพีอาร์ในภาครัฐเป็นด้านของบุคลากร ซึ่งส่วนใหญ่การทำงานพีอาร์ภาครัฐ อาจไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดสรรผู้ที่จะมาทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานพีอาร์ ส่งผลให้มุมมองการทำงานไม่เป็นไปในศาสตร์และศิลป์ของวิชาชีพ รวมทั้งปัญหาด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตสื่อ ที่อาจไม่ทันสมัย และไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

การทำงานพีอาร์ ต้องมาพร้อม ? : การทำงานที่นอกจากการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อให้เกิดการเชื่อถือ ยอมรับ สนับสนุน และเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามภารกิจขององค์กรอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักแล้ว เรายังต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนประชาสัมพันธ์ ดำเนินการตามแผนที่กำหนด สามารถปรับแก้ให้ทันต่อสถานการณ์ และภาวะวิกฤติ โดยดำเนินการตามหลักจริยธรรมของนักประชาสัมพันธ์ คือ "มีจิตสาธารณะ ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รับผิดชอบ ทำงานเป็นทีมและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้การดำเนินงานพีอาร์บรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ เผยแพร่ผลงาน บริการประชาชน"

จะว่าไปแล้วผลงานของหน่วยงานนี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก หากใครสนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลความรู้ด้านต่างๆ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ผลงานกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดเตรียมไว้ให้ และโอกาสต้อนรับปี 2560 นี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ไม่พลาดที่ให้ประชาชนเข้าไปดาวน์โหลดแบบบ้าน ตามสโลแกน "บ้านสานฝัน ของขวัญปีใหม่ คนไทยมีความสุข" บ้านครอบครัวไทยร่วมสมัย หรือบ้านต้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว และบ้านห่วงใยไทยประชาสุขใจ มีให้เลือกกว่า 10 แบบ เอาที่ชอบที่โดน!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ