Media Interview: เว็บข่าวธุรกิจ "Brand Inside" การรวมตัวที่ลงตัวของ 3 ฝ่าย

ข่าวทั่วไป Monday June 12, 2017 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากความคิดตั้งต้นว่าอยากก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวธุรกิจแนวใหม่ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความคิด หากแต่ลงมือทำอย่างจริงจังและดึง 4 แบรนด์ใหญ่ในตลาดมาร่วมสนับสนุนการเริ่มต้นภายใต้แนวคิด “ธุรกิจ คิดใหม่” นำเสนอการปรับตัวของธุรกิจเดิม และแนวคิดของธุรกิจใหม่ ครอบคลุมในทุกวงการธุรกิจ

กลายมาเป็น "Brand Inside" เว็บไซต์ข่าวธุรกิจที่มีคอนเทนต์ไม่ธรรมดา และเชื่อว่าสำหรับผู้ที่สนใจข่าวธุรกิจ คงพอจะได้เห็นคอนเทนต์ของพวกเขาผ่านฟีดหน้าจอของพวกท่านกันมาบ้างแล้ว

"พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์" เริ่มต้นด้วยการเป็นนักข่าวไอที และนักข่าวเศรษฐกิจ ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และโพสต์ทูเดย์ มีโอกาสเรียนรู้งานจากแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนขยับเข้าเรียนรู้งานด้านสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ในช่วงที่เครือบางกอกโพสต์ มีแผนจะขยับเข้าสู่วงการทีวี จากนั้นไปชิมลางทำเว็บไซต์ข่าวชื่อดัง Marketingoops ก่อนตัดสินใจทิ้งงานประจำมาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งเว็บไซต์ Brandinside.asia

ชื่อเว็บทำไมต้องดอทเอเชีย (.asia)

ก็ ดอทคอม (.com) มันหมด(หัวเราะ) ตอนเรานั่งคิดชื่อเราใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็นั่งลิสต์ชื่อกันเยอะมาก คือชื่อมันมี 2 แบบ แบบแรกคือชื่อที่ไม่สื่อ นี่ยกตัวอย่างมั่ว ๆ นะ เช่น The Duck สำนักข่าวเป็ด หรือ The Table คือชื่อไม่ต้องสื่ออะไร อีกแบบคือชื่อที่สื่อความหมาย คือมีคีย์เวิร์ดอยู่ในนั้น เราก็เลือกว่าเราเอาแบบที่มันสื่อดีกว่า ก็ลิสต์ออกมาหลายชื่อแต่จองไม่ได้ คือชื่อดอทคอมถูกใช้หรือมีการจองไว้หมดแล้ว แล้วเราก็ลองนั่งเปิดดูมันมีดอทเอเชีย(.asia)ด้วย มันก็ดูอินเตอร์นะ แล้วก็ให้ภาพว่า เราอยู่ในเอเชียด้วย

เล่าเรื่อง Brand Inside ให้ฟังหน่อยครับ

Brand Inside มันเกิดจาก 3 ปาร์ตี้ ก็คือมี ผม และมี “หน่อย-กิตติชัย ทังนิธิรัตน์” และ Blognone (บริษัท บล็อกนัน จำกัด) คือ “มาร์ค – อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์” และ “ลิ่ว – วสันต์ ลิ่วลมไพศาล” มีความคิดตรงกันว่าเว็บข่าวแบบนี้ยังมีน้อย น่าจะมีทางเลือกมากกว่านี้ เอ่ยชื่อตอนนี้ก็คงจะมี 4-5 เว็บที่คงจะเห็นๆ กันอยู่ เลยรู้สึกว่าเราอยากทำของเราเอง เครดิตจุดเริ่มต้น ขอยกให้ “หน่อย” ที่เป็นคนรวม 3 ปาร์ตี้เข้าด้วยกัน ทำให้ 3 คนมานั่งคุยกัน ว่า “เฮ้ย ทำเถอะ!”

3 ฝ่ายที่ว่านี้ ส่วนผสมเป็นอย่างไร ใครมีจุดเด่นอะไรบ้าง

Blognone มีความเชี่ยวชาญในการทำเว็บไซต์ข่าว เป็นเพียวเว็บไซต์ (Pure website) มาตั้งแต่แรก เก่งทางด้านเทคนิค ส่วนผมมาสายคอนเทนต์ คือมองเห็นว่าเทรนด์มันน่าจะได้ คนอ่านหนังสือที่เป็น รายวัน รายสัปดาห์น้อยลง ถ้าเป็นรายเดือนก็ต้องเป็นงานที่ประณีตจริงๆ ส่วน หน่อย-กิตติชัย เป็นสายการตลาด เอาตรงๆ ก็คือมาร์เก็ตติ้งคิดโมเดลการตลาดให้กับเว็บ เมื่อ 3 คนก็เลยมารวมกัน มันเลยเป็นความลงตัว

ตอนนี้ทีมงาน Brand Inside มีสมาชิกทั้งหมดกี่คน

นอกจากกลุ่ม Co-founder แล้วก็มีทีมงานอีก 2 คน ซึ่งทีมผู้บริหารก็จะช่วยหาข้อมูลมา support หรือเขียนข่าวที่สนใจ ส่วนคนวิ่งงานจะเป็นทีมงาน กอง บก.

เปิดเข้าไปดูเว็บ Brand inside เห็นมี Founding Sponsors เป็นแบรนด์ชั้นนำทั้งนั้นเลย ดูดีน่าอิจฉามาก

จริงๆแล้วเป็นความคิดของ “หน่อย-กิตติชัย” เขาเป็นสายการตลาดไง เขาก็จะดูว่าจะก่อตั้งเว็บไซต์อย่างไรให้มันดูดี เติบโตได้เร็ว และดูน่าเชื่อถือ เนื่องจากแบ็คกราวด์ของแต่ละคนอยู่ในวงการ (สื่อ) อยู่แล้ว คือน่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าเราไม่ได้มาหลอกสร้างเว็บไซต์แล้วมาหาเงิน แต่เราตั้งใจทำจริง ๆ ทีนี้เราก็ไปเห็นโมเดลต่างประเทศว่า มีการทำ Founding Sponsors ก็คือใช้ตัวพวกเรานี่แหละ(หัวเราะ) เข้าไปคุยกับสปอนเซอร์ว่า คุณจะมีชื่อเป็น Founding Sponsors และชื่อนี้จะติดอยู่กับเว็บเราตลอดเลยว่าคุณให้การสนับสนุนเราตั้งแต่วันแรก

ตอนเดินเข้าไปคุยกับสปอนเซอร์ซึ่งก็รายใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ทำอย่างไร เอาอะไรไปให้เขาดู

ออกแนวเข้าไปขายฝัน คือกางแผนธุรกิจว่าเรามีความตั้งใจอย่างไร เป้าหมายคืออะไร มีใครเป็นสมาชิกบ้าง เราจะทำอย่างไรให้มันไปถึงเป้าหมาย

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ

คุยว่าเราอยากทำเว็บไซต์ Business ถ้าพูดว่า Business มันเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง เช่น การตลาด แบรนด์ดิ้ง กลยุทธ์ นโยบายรัฐ เทรนด์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงแนวคิดเรื่อง Digital transformation องค์กรไหนที่มีการเปลี่ยนผ่านตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จากนั้นก็เอาแนวคิดทั้งหมดนำเสนอไปที่องค์กรที่เราสนใจ เข้าไปนำเสนอแผนงานและแนวคิด เพื่อชวนมาเป็น Founding Sponsors

ปกติคนทั่วไปคิดถึงข่าวสายนี้ต้องคิดถึงข่าวตลาดหุ้น เป้าหมายคือนักลงทุน แต่พอเข้าไปดู Brand inside แล้วไม่ใช่ แล้วกลุ่มเป้าหมายของเราคืออะไร

เป้าหมายจับกลุ่มที่เรียกว่า “knowledge worker” ตั้งแต่กลุ่มนักศึกษาไปจนถึงระดับผู้บริหารเลย เราเป็นเว็บไซต์ธุรกิจที่มีข่าว บทสัมภาษณ์ รายงาน บทวิเคราะห์ และความรู้ ในเรื่องหุ้นจะเน้นที่ใกล้ตัวและน่าสนใจ เช่น หุ้นวุฒิศักดิ์ (EFORL) หุ้นของ After You (AU) แต่เราจะเข้มข้นในเรื่อง Business มากกว่า

กล้าทิ้งงานในองค์กรสื่อที่ดูมั่นคงมาทำเว็บไซต์ข่าวเอง แสดงว่ามองว่าสื่อดั้งเดิมมันไปไม่ได้แล้วใช่ไหม

ส่วนตัวมองว่าการที่อยู่องค์กรใหญ่มาก่อนทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน เราเคยได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คือเคยไปทำพวกทีวี-เว็บไซต์ เราก็รู้ว่าทีวีมองเห็นแล้วมันไม่

ใช่แนวทางของเรา และธุรกิจอาจจะไม่เฟื่องฟูเหมือนอดีต พอมาทำเว็บไซต์เราได้รู้เลยว่าอันนี้มันใช่

ถามว่าทำไมกล้าออกมาทำเอง ส่วนหนึ่งคือไม่เชื่อเรื่องความมั่นคง คือบริษัทอาจจะมั่นคง แต่เราไม่ได้มั่นคงไปด้วย จะอยู่บริษัทเล็ก บริษัทใหญ่ ออกมาทำกิจการของตัวเองมันแล้วแต่วิถีทางของแต่ละคน ถามตัวเองดีกว่าว่า มีเป้าหมายอะไรในชีวิต ถ้าอยู่บริษัทใหญ่ ๆ แล้วแฮปปี้ อยู่กับการทำงานแบบเข้า 9 โมงเช้า ออก 5 โมงเย็น สิ้นเดือนรับเงินเดือนนั่นก็คือ ความสุขของชีวิตแบบหนึ่งก็เลือกไป ไม่มีอะไรผิด แต่ผมรู้สึกว่าผมอยู่แบบนี้ ทำงานตลอด เริ่มงานได้ทันที ตี1 ตี2 ยังนั่งเขียนงานอยู่เลย อยากหยุดก็หยุด สำคัญคือ ต้องมีความรับผิดชอบที่ค่อนข้างสูง

ตอนนี้เรามานั่งคุยกันอยู่ในร้านกาแฟ เพราะ Brand inside ไม่มีออฟฟิศ ?

ไม่มีครับ

ทำไมถึงไม่มี ?

ไม่มีออฟฟิศเพราะไม่จำเป็น ในยุค Digital transformation หลายธุรกิจไม่ต้องมีออฟฟิศอาจจะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า บุคลากรมีความสุขกว่า แต่ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับประเภทและลักษณะ แต่ Brand Inside เป็นสื่อออนไลน์ แล้วจะมีออฟฟิศไปทำไม

แล้วทำงานกันอย่างไร

ทำงานบนโลกออนไลน์ เน้น Output คือ เน้นคุณภาพผลงานที่ออกมา

อย่างตัวเราเป็นบรรณาธิการ(บก.)เราทำงานอย่างไร ปกติก็บก.จะมอบหมายงานแต่ละวัน จากนั้นก็ตรวจงานก่อนเผยแพร่ แล้วกระบวนการเราเป็นแบบนั้นไหม

เป็น แต่มันไม่ต้องมีออฟฟิศอะ(หัวเราะ) สมมติว่าข่าวชิ้นไหนเราชอบ เราคุยกันผ่านแอปพลิเคชั่นซึ่งเดี๋ยวนี้เราใช้กันตลอดเวลา ก็ใช้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สมมติมีงานก็คุยกันว่าไปงานนี้ไหม ประเด็นมันประมาณนี้ เราเล่นเรื่องอะไรดี ทางน้องๆ ในทีมก็จะเสนอว่าเล่นอย่างนี้ไหม เราก็จะคอยบอก เช่น เฮ้ย มันเสี่ยงเกินไป หรือ เอาเรื่องนี้ดีกว่า แต่ถ้าบางทีทีมงานไม่เห็นด้วย บอกว่าอยากเล่นประเด็นนี้ ก็โอเคได้ ลองจัดมา มันกลายเป็นว่าผมไม่อยากเรียกตัวเองเป็น บก. ผมอยากให้รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงานกัน อยากให้รู้สึกว่า discuss กันได้อย่างเต็มที่

รูปแบบขายสินค้าโฆษณาในเว็บไซต์ เดี๋ยวนี้คงไม่ใช่แค่ขายแบนเนอร์อย่างเดียวแล้วใช่ไหม

ความเห็นส่วนตัว แบนเนอร์ คือหมดยุคไปแล้ว แทบไม่มีใครสนใจแบนเนอร์โฆษณา ยกเว้นโปรโมชั่นแรงๆ ก็อาจจะได้ผล แต่ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใช้แล้ว

ไปไกลถึงขั้นไหนแล้วครับ

ตอนนี้งานโฆษณาในเว็บไซต์ส่วนใหญ่เป็น Advertorial หรือ การจ้างเขียน ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละเว็บแล้วว่า มองเรื่องการจ้างเขียนอย่างไร บางบริษัทอาจใช้วิธีการบรีฟงาน แล้วสร้างสรรค์ผลงานออกมา บางบริษัทอาจจะให้หัวข้อกว้างๆ แล้วปล่อยให้ฟรีสไตล์มันก็แตกต่างกัน วิธีบรีฟงานก็อาจจะอยากได้ข้อมูลที่จะสื่อให้ลูกค้าได้ครบถ้วน ขณะที่แบบฟรีสไตล์ อาจจะมานั่งคุยกัน หารือกันว่าอยากให้เขียนอะไร ซึ่ง Brand Inside ก็มีทั้งสองแนว แต่ชอบแนวพูดคุยหารือกันมากกว่า มันอาจจะทำให้ได้เนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น ก็ขึ้นกับความต้องการของลูกค้า

เรทราคา Advertorial ในวงการเดี๋ยวนี้ราคาประมาณเท่าไหร่

ราคา Advertorial ไม่ได้มีราคามาตรฐานชัดเจน ขึ้นกับแต่ละชื่อเสียง ฐานคนอ่านของแต่ละเว็บ เรทก็อยู่ประมาณ 10,000 – 60,000 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น บางคนอาจจะตกใจว่าทำไมราคาสูง แต่เอาจริงๆ สุดท้ายก็อยู่ที่ว่า ลูกค้าจะซื้อหรือไม่

ในมุมคนอ่านเดี๋ยวนี้แยกไม่ออกแล้วใช่ไหมว่าอะไรเป็นโฆษณา อะไรเป็นข่าวหรือเนื้อหา

Brand Inside ประกาศนะว่า งานชิ้นไหนเป็น Advertorial

งานออนไลน์ยังแข่งกันที่ยอดคนคลิกเข้าชมเว็บไซต์อยู่ไหม ยอดคนเข้าเว็บสูง ๆ ยังจำเป็นอยู่ไหม

ผมมองว่าเดี่ยวนี้แข่งขันกับตัวเองมากกว่า เว็บที่เปิดมานานแล้วมีคุณภาพเขาก็จะมียอดคนอ่านประจำสูง เราเป็นเว็บใหม่คงไม่ได้วางเป้าหมายจะไปแข่งขัน เรียกว่ามองเป็นเป้าหมายดีกว่า ว่าวันหนึ่งเราจะก้าวไปถึงจุดนั้นให้ได้ ส่วนหนึ่งก็เหมือนเป็นเพื่อนร่วมสายอาชีพกันด้วย

แสดงว่ายอดคลิกเข้าเว็บไซต์ยังเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอยู่

สำคัญ แต่มันแตกต่างไปจากเดิม ในอดีต ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ บ้านหลังหนึ่งรับหนังสือพิมพ์ A แล้วก็คงไม่รับหนังสือพิมพ์ B แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ เปิดอ่านเว็บ A ไปแล้ว ก็อาจจะอ่านเว็บ B ได้อีก การเข้าถึงง่าย ยิ่งถ้ามีเนื้อหาการนำเสนอที่แตกต่าง ยังไงคนก็ตามมาอ่าน

เวลาไปคุยกับเอเจนซี่ เราเอาอะไรไปโชว์เขา

บอกข้อมูลที่จำเป็น เช่น จุดเด่นของเว็บ จำนวนคนอ่านโดยเฉลี่ย อัตราการเติบโต จากนั้นการตัดสินใจจะเป็นของเอเจนซี่ ว่าจะซื้อโฆษณามั้ย บางเว็บราคาต่ำ บางเว็บราคาสูง ถ้ามีงบ 60,000 บาท อาจจะซื้อจากเว็บหนึ่งได้ครั้งเดียว แต่ซื้อจากอีกเว็บได้ 6 ครั้ง แต่คนอ่านก็น้อยกว่า ต้องเปรียบเทียบเอง

เห็นสื่อใหญ่ ๆ ก็ปรับมาลงสนามออนไลน์เต็มรูปแบบ กระทบกับสื่อใหม่เล็ก ๆ อย่างเราไหม

ถามว่ากระทบมั้ย ส่วนตัวมองว่าไม่กระทบ เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงออนไลน์ สามารถอ่านข่าวได้ตลอด เราไม่ได้เน้นแข่งกับใคร เราเน้นแข่งกับตัวเอง เราพยายามทำผลงานให้ดี เพิ่มฐานผู้อ่านปัจจุบันมียอดแฟนเพจ 46,000 เราก็ตั้งเป้าขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าคอนเทนต์เราดี คนก็จะอ่านของเราบ่อย ลูกค้าก็สนใจลงโฆษณากับเรา

มีเป้าที่ฝันไว้ไหมครับว่าต้องไปถึงจุดไหน แล้วคิดว่ามันจะเพียงพอไปทำอะไรในสิ่งที่เราต้องการ

ไม่มี

ทำไมครับ วิธีการหารายได้ไม่ได้พึ่งพิงกับยอดติดตามในโซเชียลมีเดียเหรอ

จะว่าไม่พึ่งก็ไม่ได้ เว็บที่ยอด UIP (จำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์)ต่ำๆ มันก็ไม่มีใครสนใจ แต่ถ้ามันสูงๆ มันก็ดี แต่ถ้าเราจะตั้งเป้าสูงๆ ไปจะทำได้ไหม ไม่รู้ เลยคิดว่าทำให้ดีทุกๆ วัน วันนี้มีคนกดไลค์เพิ่มหนึ่งพันคน เฮ้ยดีจัง วันนี้ไม่ถึง มาสำรวจตัวเองว่าไม่ถึงเพราะอะไร สำรวจตัวเองทุกๆ วัน แล้วคุยกันตลอดว่าวันนี้เราพลาดตรงไหน หรือวันนี้ทำไมเราดี แต่หลายครั้งก็เจอนะว่ามันดีเพราะอะไรก็ไม่รู้ อย่างบางเรื่อง โพสต์ขึ้นไปคนอ่านเพียบ ถามว่าเพราะอะไรเราก็ไม่รู้

อนาคตคิดว่ามันจะเป็นปัญหาไหม เพราะเหมือนว่าเราจับทางไม่ได้

ส่วนตัวผมไม่มองเป็นปัญหา ในชีวิตเรามันมีเซอร์ไพรส์ทุกวัน เราคงไม่สามารถจับทางอะไรได้ 100% แต่ในทีมเราตอนนี้เราเริ่มหาคาแรคเตอร์ของตัวเอง คาแรคเตอร์ของเว็บเริ่มชัดแล้ว ตอนแรกทุกคนไม่เข้าใจว่า Brand inside.asia นำเสนออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นธรรมดาของคนที่เพิ่งรู้จักกัน แต่ตอนนี้เริ่มรู้กันแล้วว่าคนนี้เป็นอย่างไร ทีนี้ตัวนักเขียนแต่ละคนเริ่มมีคาแรคเตอร์ของตัวเองแล้ว เริ่มรู้ว่าเราจะเลือกเรื่องอะไรมาเล่า ตอนนี้ผมว่าอย่างน้อย 70% เราคาดการณ์ได้ แต่สุดท้ายมันก็เหมือนกับชีวิตประจำวันเรา มันจะมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์อยู่ประมาณ 30%

เฟซบุ๊กเท่าที่ดูมันผูกขาดมากเลย มองอย่างไรครับ

เราปฏิเสธไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่แย่ หมายความว่ามันเป็นบริการที่กำหนดพฤติกรรมคนทั้งโลก หลายคนยังใช้ไม่เป็น คิดว่ามันปลอดภัยเป็นส่วนตัว แต่จริงๆ แล้วเฟซบุ๊กเป็นเรื่องส่วนตัวสาธารณะ คือคุณเอาเรื่องส่วนตัวไปบอกบนที่สาธารณะ ดังนั้นอย่าหวังว่า มันจะไม่มี impact ทีนี้พอในมุมธุรกิจมันแย่ตรงมันผูกขาด ตอนนี้ยอดรีช (Reach) ของทุกเว็บต้องเข้าผ่านเฟซบุ๊กหมดเลยอย่างน้อยก็ 60% บางที 80-90% ยังมี ที่เหลือก็เป็นเข้าผ่าน Google, Twitter หรือ Line เท่ากับตอนนี่เราเอาชีวิตสื่อไปผูกกับเฟซบุ๊ก แล้วถ้าวันหนึ่งเฟซบุ๊กหายไปหรือถ้าวันหนึ่ง เค้าบอกว่าเราจะตัดการเข้าถึงของคุณแล้ว ให้จ่ายเงินมา เราจะทำอย่างไร ?

อีกประเด็นคือในต่างประเทศเขาพยายามทำรูปแบบ subscription แต่บ้านเราทำไม่ได้ บ้านเรามองว่าข่าวสารหาอ่านได้ฟรี และเป็นข่าวในประเทศ ต่อให้ไม่อ่านของสื่อหนึ่ง ก็ไปอ่านจากอีกสื่อหนึ่งได้ ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก ขณะที่ในต่างประเทศ สำนักข่าวทำข่าวเพื่อตอบสนองคนทั้งภูมิภาค หรือทั้งโลก มีกลุ่มเป้าหมายเป็นร้อยล้านคน คนอเมริกาอยากรู้เรื่องเอเชีย คนยุโรปสนใจข่าวในแอฟริกา การเสียเงินสมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสาร มันคุ้มค่า

เป้าหมายของ Brand Inside ในระยะยาวคืออะไรครับ

เป้าหมายเลยมาจากชื่อ .asia คือสักวันหนึ่งถ้ามันเป็นที่ถูกอ่านในละแวก(เอเชีย)นี้ทั้งหมด มันก็เป็นเรื่องที่ดี ตอนนี้ยังทำภาษาไทยอย่างเดียวแต่แนวคิดที่จะทำ 2 ภาษาก็มีอยู่แต่มันยังยากเกินไปในตอนนี้ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายว่าอยากมี 2 ภาษา อยากให้มันออกไปทั่วเอเชียได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ