PR Interview: คุยกับ “B O W” ทำพีอาร์อย่างไร ในยุคสื่อออนไลน์ครองตลาด

ข่าวทั่วไป Monday June 19, 2017 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ถ้าจะบอกว่า คุณโบว์-พัณณิตา จันทร์รัตนกุล เกิดมาเพื่อทำงานสายพีอาร์คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงนัก เพราะตั้งแต่เธอเรียนจบมาก็เริ่มทำงานที่บริษัทพีอาร์ชั้นนำถึง 2 แห่ง แม้ในช่วงเวลาที่เธอรู้สึกว่าอิ่มตัวกับงานสายนี้แล้ว แต่โลกก็หมุนวนมาให้เธอกลับมายืนในเส้นทางเก่าที่เธอคุ้นเคย

ตลอดการสัมภาษณ์ คุณโบว์-พัณณิตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท B O W จำกัด พอจะจับใจความได้ว่า อันที่จริงเธอไม่ได้อิ่มตัวหรือเบื่อกับงานสายพีอาร์ เพียงแต่เธอไม่ได้ทำงานพีอาร์ในแบบที่เธอต้องการต่างหาก

จากสาวน้อยในบริษัทพีอาร์ชั้นนำค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากการทำงานและการศึกษาต่อในต่างประเทศ ตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเองลุยทำงานพีอาร์ในแบบที่เธอเห็นว่าสอดคล้องกับยุคสมัย

-เห็นเทรนด์ของโลกดิจิทัลตั้งแต่เรียนที่อังกฤษ เมื่อกว่า 10 ปีก่อน

เรียนจบใหม่ๆ ก็เริ่มทำงานที่ 124 Communications Consulting ต่อจากนั้นก็ทำที่ Branded The Agency แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Management in marketing ที่ประเทศอังกฤษ เรียนจบก็กลับมาทำงานที่ Branded The Agency อีกครั้งหนึ่ง

ตอนเรียนที่อังกฤษ โบว์ เรียนที่เมืองบาธ (Bath) ด้วยความที่ว่าบาธเป็นเมืองเล็กและไม่ได้มีทุกอย่างครบเหมือนลอนดอน สิ่งที่ทำให้เรารู้จักในเรื่องความเป็นโลกดิจิทัลคือ การ Shopping online ค่ะ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปคือ 10 ปีที่แล้ว ที่เมืองไทยยังไม่ได้มีระบบ e-commerce ที่แพร่หลายเท่าในปัจจุบัน แต่ที่อังกฤษ e-commerce คือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รองรับการเข้าถึงโลกออนไลน์ก็มีพร้อมมากกว่า อย่างเวลาหาข้อมูลเรื่องการเรียน ก็ทำได้ง่ายและคล่องตัวสูงมาก เปิดเว็บแต่ละหน้าก็รวดเร็วเหมือนเราเปิดหนังสืออ่านเลย และตอนนั้นเริ่มเป็นยุคเริ่มต้นของ facebook เราก็เริ่มเห็นว่ามีแบรนด์เริ่มเห็นโอกาสในการทำตลาดใน platform นี้

ตอนนั้นสิ่งที่ได้เห็นจากการทำการตลาดในโลกออนไลน์ตอนที่เรียนอยู่ที่โน่น ก็จะมี การทำ SEO (Search Engine Optimization) และการทำอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีค่อนข้างแพร่หลาย ทำให้คนรู้จักแบรนด์เราได้มากขึ้น รวมถึงการทำเว็บบล็อกโดยบล็อกเกอร์ (Blogger) ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งทางฝรั่งจะชอบเขียน ชอบอ่านกัน เว็บบล็อกจึงมีเยอะก็จะมีบทความหรือข้อมูลต่างๆ ทำให้เราหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนได้ง่ายขึ้น บวกกับส่วนตัวมีวิชาที่เรียน เกี่ยวกับเรื่อง New Media และ Digital Marketing ก็รู้สึกสนใจและคิดว่าเรื่องดิจิทัลต้องเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเราแน่นอน เพราะมันเหมือนเปิดโลกกว้าง และช่วยให้เราสะดวกสบายมากขึ้นในการติดต่อสื่อสาร หรือหาข้อมูล เราก็เลยคิดว่าอยากทำให้มันได้ที่ประเทศไทย

ทีนี้พอกลับมาทำงานพีอาร์ที่ Branded The Agency เราก็พยายามจะเสนอในเรื่องการทำดิจิทัลเข้าไปด้วยในการเสนอแผนลูกค้า ซึ่งตอนนั้นสิ่งที่จะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ จะเป็นเชิงเว็บบล็อก หรือ การทำเว็บฟอรั่ม ซี่งปัจจุบันคือการทำ seeding เช่น pantip ซึ่งเรามองว่าถ้าเราทำในช่องทางเหล่านี้ ก็จะเป็นสื่อออนไลน์ที่แบรนด์สามารถสื่อสารถึง End Consumer ได้โดยตรง ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะปกติ เราทำงานพีอาร์ เราจะต้องผ่านสื่อ และสื่อก็จะไปคัดกรองข้อมูลเขียนข่าวเพื่อตีพิมพ์หรือเผยแพร่ แต่ว่าตอนนั้น (ย้อนกลับไป 8-9 ปีก่อน) ตอนนั้นลูกค้ายังไม่ได้เชื่อมั่นในเรื่องของงานออนไลน์ อาจจะเพราะปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น พฤติกรรมของคนตอนนั้นอาจจะยังไม่ได้นิยมเสพสื่อจากออนไลน์เท่าไหร่ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในไทยยังไม่ได้รองรับเหมือนทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนยังไม่ได้แพร่หลาย และทุกคนไม่ได้ติดตามข้อมูลผ่านฟีดออนไลน์กันขนาดนี้ แต่ก็ยังพยายามนำเสนอในแผนลูกค้ามาตลอด

-เริ่มด้วยการอิ่มตัวงานสายพีอาร์ สู่การเป็นเจ้าของบริษัทพีอาร์

คิดอะไรอยู่ใช่ไหมค่ะ (หัวเราะ) คือมันมีช่วงที่ลาออกมาเพื่อพยายามหางานอะไรใหม่ๆ ทำ ช่วงที่ออกมา ณ ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าอิ่มตัวกับงานพีอาร์ในแบบเดิม เริ่มอยากศึกษางานดิจิทัลอย่างจริงจัง เพราะคิดว่ามันต้องทำได้สิ ตอนนั้นมองว่าเมืองไทยกับงานดิจิทัลเริ่มมาแล้ว ตอนที่ออกมาเราก็ทำอย่างอื่นไปก่อน แต่ก็มีคนติดต่อเราให้ไปทำงาน (พีอาร์) อยู่เรื่อยๆ เราก็เลยคิดว่าถ้าเราต้องกลับไปทำงานแบบนี้ เราก็ต้องเปิดบริษัทเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากกว่าที่รับเป็นฟรีแลนซ์ พอเปิดบริษัทก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำงานพีอาร์เพียงอย่างเดียว เราคิดว่าเราอยากทำในเชิง Branding ตั้งแต่การคิด CI(Corporate Identity)ให้แบรนด์ด้วยเลย แต่ด้วยความที่ว่าเราโตมากับงานพีอาร์ คนก็จะรู้จักเราในสายงานพีอาร์ มันเหมือนหน้าเรามีป้ายติดอยู่ว่า “อ๋อ..คุณโบว์ที่ทำพีอาร์” ดังนั้นเราก็ต้องชัดเจนกับตัวเองเหมือนกัน ว่าเราโตมาในสายนี้ คนเชื่อมั่นเราในสายนี้ เราก็คงต้องดำเนินงานในสายนี้ต่อได้ แต่ทีนี้พอเป็นบริษัทของตัวเองแล้ว เราอยากจะหยิบจับอะไรเข้ามาเพิ่มเติมให้ลูกค้า ก็อยู่ภายใต้การตัดสินใจของเราแล้ว

-นิยามของ B O W COMPANY LIMITED

บีโอดับเบิลยู คือ บริษัท พีอาร์ดิจิทัล เอเจนซี่ ชื่อบริษัทจริงๆ ย่อมาจาก BRAND OPTIMIZED WISE โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้แบรนด์ของลูกค้าสื่อสารออกไปให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจะทำให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้า และลูกค้าได้รู้จักแบรนด์ได้อย่างไรบ้าง ถึงเราจะทำงานพีอาร์มาก่อน แต่สิ่งที่เราได้สัมผัสไปพร้อมๆกันคือ การทำแบรนด์ของลูกค้าให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพราะฉะนั้น เราก็จะศึกษาเรื่องการทำแบรนด์ควบคู่กับการทำงานพีอาร์มาตลอด ซึ่งอย่างที่บอกไปตอนแรกว่าทุกคนรู้จักเราในฐานะพีอาร์ เพราะฉะนั้นงานที่รับเข้ามาทำมันก็คืองานพีอาร์ตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่เราเพิ่มเข้าไปให้ลูกค้าคือเราเพิ่มงานที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ งานที่ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ ซึ่งเราก็เพิ่มช่องทางของงานออนไลน์ เข้าไปด้วย ซึ่งพอเราเพิ่มส่วนนี้เข้าไป คนก็รับรู้และรู้จักแบรนด์ของลูกค้าเราดีขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีสโคปงานที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากงานพีอาร์ที่เป็น Traditional

-สัดส่วนงานดิจิทัล มากกว่า งาน Traditional ?

สัดส่วนระหว่างานพีอาร์ที่เป็น Traditional กับ ดิจิทัล ณ ตอนนี้คือ จะมีความใกล้เคียงกันอยู่ คือ Traditional อยู่ที่ประมาณ 40% ส่วนดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 60% ซึ่งสัดส่วนงานดิจิทัลเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว งานพีอาร์ทุกชิ้นของเราก็จะมีดิจิทัลสอดแทรกอยู่ด้วยในตัว แล้วก็มีงานที่เป็นดิจิทัลอย่างเดียวเยอะขึ้น

-ตอนเปิดใหม่ ๆ มีปัญหาเรื่องอะไรบ้างครับ ?

จริง ๆ ถ้าปัญหาส่วนใหญ่ของเราในตอนแรกคือความไม่ชัดเจนในตัวบริษัทว่าเราทำอะไร หรือถนัดอะไรกันแน่ เราบอกว่าเราทำ Branding ซึ่งเอาเข้าจริงมันกว้างมาก คือ งานดีไซน์ออกแบบเราก็ทำ งานซื้อสื่อเราก็ทำ งานพีอาร์ก็ทำ งานอีเวนท์เราก็ทำ คือลูกค้าก็จะรู้สึกงงๆกับเราว่าสรุปเราถนัดด้านไหน ซึ่งต่อมาเราก็ต้องให้ความมั่นใจลูกค้าโดยการโฟกัสตัวเราให้ชัดว่า เราโตมาจากงานสายพีอาร์ และการที่เราทำงานสายนี้มาเรามีประสบการณ์อะไรมาบ้างและสามารถนำมาปรับใช้กับลูกค้าได้อย่างไรบ้าง ลูกค้าก็จะเข้าใจว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานพีอาร์ และอีเวนท์ หลังๆก็จะมีงานดิจิทัลที่เพิ่มเข้ามา

“สิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าการทำงานของพวกเราน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ก็คือการทำงานของพวกเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูกค้า พูดคุยกับลูกค้า และสิ่งที่เราจะมอบให้กับลูกค้า อันนี้จะเป็นสิ่งพิสูจน์เรามากกว่าว่า เราไม่ได้มาทำเล่น ๆ แต่เรามีความตั้งใจ และเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่”

-อะไรคือสิ่งที่ BOW จะมอบให้ลูกค้าได้ ?

สิ่งแรกก็คือ ต้องดูว่าความต้องการของลูกค้าคืออะไร ขอบข่ายของงานเป็นยังไง มีความวิตกกังวลเรื่องอะไร ปัญหาของลูกค้าคืออะไร วิธีการทำงานของ B O W คือเราต้องค้นหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการก่อน แล้วเรามาวิเคราะห์สิ่งที่ลูกค้าต้องการว่าจะทำออกมาในแบบไหน เราจะสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งเรามองถึงคู่แข่งของลูกค้าด้วย แล้วเราก็มาดูต่อว่าสิ่งที่ลูกค้าอยากจะสื่อสารคืออะไร ซึ่งเราคิดว่าเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงกับความต้องการ

สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ ดูว่าลูกค้าต้องการอะไร ต้องการสื่อถึงใคร เราจะมองในเรื่อง Right message, Right target และ Right channel เพราะฉะนั้น Key message ของลูกค้าต้องชัดเจน ว่าสิ่งที่เขาอยากสื่อสารจะถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนใน channel ที่มันถูกทาง นี่คือสิ่งที่เราจะมอบให้กับลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ เราต้องหา key อันนี้ให้เจอ เพื่อบริหาร budget ลูกค้าให้คุ้มค่ามากที่สุด และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คู่แข่งเยอะไหม จุดแข็งเราคืออะไร ?

ทุกบริษัทจะมีรูปแบบและจุดเด่นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ได้มีใครแข่งกับใครแบบเต็มตัว มองว่าทุกบริษัทต่างก็เอื้อกันเพราะมันช่วยทำให้ตลาดโต ธุรกิจสายนี้ไม่มีทางที่เราจะเป็น Monopoly อยู่แล้ว แต่การที่มีบริษัทอื่นๆในแบบเดียวกันมันจะทำให้เราพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้เราเรียนรู้ต่อไป

ถ้าเป็นจุดแข็งของ B O W เราคิดว่าจุดแข็งเรา คือ เราสามารถสร้างคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ค่อนข้างชัด เรามีข้อมูลดิจิทัลที่ค่อนข้างแน่นที่จะช่วยสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าได้ และอีกอย่างหนึ่งคือเรามีทีมงานที่ดีทั้งงานออฟไลน์และออนไลน์ที่เอื้อกันอยู่

-ผลงานชิ้นโบว์แดง ?

ผลงานที่เราค่อนข้างโอเคและแฮปปี้จะเป็นการโปรโมทรายการทีวีรายการหนึ่ง เป็นรายการทีวีที่มีทุกปีแต่ปีที่ผ่านๆ มามันอาจจะไม่ได้รับความนิยม แต่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์อยากใช้ออนไลน์เข้ามาช่วย เราก็เลยวางแผนตั้งแต่ตัวเฟซบุ๊ก influencer การสร้าง content ต่างๆ ที่จะออกไป ซึ่งเราก็ทำการบ้านอย่างหนักเหมือนกันว่าเราจะหยิบประเด็นอะไรที่จะทำให้เกิดกระแสในโลกโซเชียล

ถ้าในส่วนของรายการทีวี การทำออนไลน์คือการอยากได้กระแส เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดกระแสหรือการพูดถึง นั่นจะทำให้คนมาดูย้อนหลังหรือกลับมาติดตามรายการ ส่วนออฟไลน์ธรรมดาจะช่วยในเรื่องของ Awareness ว่ามีรายการนี้อยู่และมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานออนไลน์ของโปรเจ็คนั้น ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ยอดรีช (Reach) และ Engagement ก็สูง มีคนพูดถึงและจดจำได้ เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

-ทำงานในวงการพีอาร์มานาน พีอาร์สมัยแรกที่ทำกับยุคปัจจุบันแตกต่างกันไหม ?

จริงๆ ก็มีทั้งความเหมือนและความต่าง ส่วนที่เหมือนกันคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการยังเหมือนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ การโปรโมทตัวลูกค้า และการตอกย้ำแบรนด์ อันนี้ยังคงเหมือนกัน

แต่สิ่งที่แตกต่างกันจากเมื่อก่อนคือ เรื่องวิธีการทำงาน ซึ่งเราจะมองแต่ Traditional Media ไม่ได้แล้ว ต้องมองพวกงานออนไลน์มีเดียที่จะเข้ามาด้วย แต่ไม่อยากให้มองแค่ว่าออนไลน์มีเดียวเป็นแค่ 1 Channel ในการสื่อสาร แต่มันคือตัวสะท้อนความต้องการของลูกค้าที่มาจากดาต้าที่อยู่ในโลกดิจิทัล เพราะฉะนั้นวิธีการสื่อสารงานมันต้องมีการวิเคราะห์คอนเทนต์มากขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าอยากเห็น อยากอ่าน อยากฟัง ให้เหมาะกับช่องทางที่เราสื่อสารออกไป

ยกตัวอย่าง สินค้าไลฟ์สไตล์ไอที เช่น กล้อง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็มองว่าต้องเลือกสื่อด้านไอทีหรือสื่อสายตลาดอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเราต้องไปดู End-Consumer ว่าคนที่จะซื้อกล้องเป็นใครได้บ้าง เพราะความสนใจของคนต่างจากเมื่อก่อน คนอยากจะหาข้อมูลเรื่องกล้อง นอกจากจะไปหาช่องทางที่มีเกี่ยวกับกล้อง แล้ว สิ่งที่เราทำเพิ่มเติมคือ ทำคอนเทนต์ที่จะสื่อสารไปถึงตรงลูกค้าเอง ให้ไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของเขาโดยที่เขาไม่ต้องไปตามหาอ่านคอนเทนต์จากที่ๆ มันเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจจะต้องมีการใช้บล็อกเกอร์ ยูทูปครีเอเตอร์ ทำคอนเทนต์ออกมาเพื่อรองรับกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าของเรา เพราะฉะนั้นงานของ B O W จึงกว้างกว่างานพีอาร์ธรรมดาที่เป็นออฟไลน์ โดยเราจะวางแผนในเรื่องของงานดิจิทัลที่จะตอบโจทย์งานของลูกค้าให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

-เศรษฐกิจช่วงขาลงของวงการสื่อแบบนี้ส่งผลต่อธุรกิจเราบ้างไหม ?

ไม่ได้ส่งผลอะไรนะ ถ้ามองว่าสื่อสิ่งพิมพ์ลดน้อยลงก็ต้องกลับไปมองภาพใหญ่ว่าทำไมสื่อสิ่งพิมพ์ถึงปิดตัวลง ซึ่งก็เห็นได้จากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนเลยทำให้สื่อมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะลดขนาดหรือปิดไปบ้าง แต่มันกลายไปอยู่ในช่องทางออนไลน์ที่มากขึ้น แต่งานพีอาร์ไม่ได้รับผลอะไร เพราะเราสามารถหาช่องทางที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของเราอยู่แล้ว สิ่งที่ทาง B O W มีคือเราเข้าใจกับสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น และเราก็มองหาช่องทางต่างๆให้ลูกค้าของเราเป็นที่รู้จักจากกลุ่มเป้าหมายตามที่เขาอยากได้ เราจึงไม่คิดว่าการที่สื่อลดลงจะทำให้พื้นที่ข่าวหรือ PR value จะลดลง เรามีช่องทางอื่นที่เราจะสามารถตอบโจทย์และสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน

-มองว่าสื่อยังไม่ตาย ?

เอาจริงๆ สื่อออนไลน์กับออฟไลน์ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน สื่อออนไลน์มาเร็วไปเร็วแต่ความน่าเชื่อถือยังมีน้อยกว่าออฟไลน์ ถามว่าต่อไปออนไลน์จะครองโลกหรือเปล่า คิดว่าไม่ใช่ ส่วนตัวคิดว่ามันต้องไปควบคู่กัน ความน่าเชื่อถือจากสื่อ traditional ยังคงต้องมีอยู่ ข้อมูลบางอย่างทุกวันนี้เรายังจำเป็นต้องรอให้มีการแถลงหรือประกาศทางการผ่านทีวีหรือสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้นสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ยังต้องมีอยู่ควบคู่กัน

-เป้าหมายระยะยาวของบริษัท ?

อยากเป็นบริษัทดิจิทัลพีอาร์เต็มตัว คือ ณ ตอนนี้บริษัทยังถูกรับรู้ในความเป็น Traditional PR อยู่ แต่ต่อไปอยากให้เราถูกรับรู้ว่าเป็นพีอาร์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องดิจิทัลให้มาก

“บางคนคิดว่าดิจิทัลพีอาร์คือคนที่ใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาช่วยลงข่าวแล้วจบ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ดิจิทัลพีอาร์คือการวางแผนในเรื่องของงานดิจิทัลว่าเราจะให้ลูกค้าของเราออกไปในโลกออนไลน์แล้วคนจดจำรับรู้ในเชิง positive ยิ่งปัจจุบันดราม่าเกิดขึ้นง่ายมาก เราต้องมีความระมัดระวังอย่างมากในการทำคอนเทนต์ที่จะสื่อออกไป ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ดังๆลงข่าวให้แล้วจบ อันนั้นไม่ใช่ดิจิทัลพีอาร์ที่เราอยากเป็น แต่ที่เราอยากเป็นคือดิจิทัลพีอาร์เอเจนซี่ที่รอบรู้และเข้าใจในเรื่องของดิจิทัลอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งข้อมูลให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว การใช้ platform ต่างๆทางออนไลน์เพื่อสื่อสาร การวางแผนสื่อ การสร้างคอนเทนต์ให้เกิดการแชร์ การแก้วิกฤตผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ