ทันทีที่ “ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน”ตอบรับนัดสัมภาษณ์เราดีใจมากไม่คาดคิดว่าจะนัดได้ง่ายดายเพียงนี้ อย่าเข้าใจว่าเราคิดว่าคุณทรงกลดหยิ่งหรืออะไรนะครับ แต่ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่มีคอนเน็คชั่น ไม่มีเบอร์ตรง เบอร์อ้อมไปทางคนใกล้ชิดก็ไม่มี อาศัยเสี่ยงนัดไปทางกล่องข้อความ(Messenger)ในเฟซบุ๊ก The Cloud สื่อใหม่ที่ “ทรงกลด”เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลังแยกทางกับ a day ที่เคยร่วมงานกันมากว่า 14 ปี
ภารกิจหลักคือการคุยถึง The Cloud ธุรกิจสื่อใหม่ที่ “ก้อง-ทรงกลด”ร่วมก่อตั้ง แต่เมื่อสำรวจตรวจสอบคอนเทนต์ที่แทบจะเอ่อล้นในโลกออนไลน์ก็พบว่ามีผู้ทำไว้เรียบร้อยแบบแทบไม่หลงเหลืออะไรให้ไปถามต่อได้ โจทย์ใหญ่คือจะคุยเรื่องอื่นกับคุณก้องอย่างไรให้สามารถคงภารกิจหลักไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
ในแวดวงนิตยสาร "ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน" จัดอยู่ในกลุ่มซูเปอร์สตาร์ของวงการ ขณะที่นิตยสารถูกยกให้เป็นงานชั้นสูงของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ เหตุด้วยต้องหลอมรวมองค์ประกอบมากมายเพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวต่างๆ ให้มีพลังจนคนอ่านสัมผัสได้ ทั้งการวางเลย์เอาท์ ภาพประกอบ ประเภทและขนาดฟอนต์ ขนาดเล่ม ชนิดกระดาษ รายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจกว่าจะออกมาเป็นนิตยสารเล่มหนึ่ง
แต่อย่างที่ทราบกันว่าทุกวันนี้นิตยสารทยอยปิดตัวลาแผงกันไปหลายฉบับ คนในวงการนิตยสารเองหลายคนไหลมาทำสื่อในแพลตฟอร์มออนไลน์ เนื้อหาที่เคยต้องซื้อหรือแอบซุ่มอ่านตามแผงหนังสือไหลทะลักเข้ามาปรากฎในฟีดตามหน้าจอ จนเกิดคำถามตามมาว่า "เว็บไซต์มันล้นเกินไปหรือเปล่า?” รวมไปถึงคำถามแรงที่ว่า "คนนิตยสารที่หันมาทำออนไลน์คือผู้ร้ายทำลายวงการนิตยสาร?” ด้วยคุณสมบัติของคุณก้อง-ทรงกลด น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด และเชื่อว่าหลายคนอยากฟังมุมมองเรื่องนี้จากเขาควบคู่ไปกับเรื่องราวของ The Cloud สื่อใหม่ที่เชื่อว่าทำคอนเทนต์ออนไลน์ก็ประณีตได้ไม่ต่างจากนิตยสาร
“นิตยสารสามารถปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้อ่านได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็ปรับตัวเข้ากับวิธีการลงโฆษณาที่เปลี่ยนไปได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า ถ้าปรับตัวได้ผมว่ามันก็ยังอยู่ได้”
- จากประสบการณ์ในวงการสื่อที่ทำนิตยสาร a day มา 14 ปี มองสื่อออนไลน์อย่างไร
มันก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และก็หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนสื่อออนไลน์ก็จะเป็นประเภท Total website ที่รวมทุกๆ อย่างไว้ด้วยกัน แต่ว่าหลังๆ เห็นว่ามีสื่อออนไลน์เฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งเดาว่าเติบโตมาจากเพจในเฟซบุ๊กนั่นแหละ เฟซบุ๊กทำให้เห็นความเป็นไปได้ว่าสามารถสื่อสารเรื่องเฉพาะกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมาได้ ก็เลยมีเว็บไซต์ที่พูดเฉพาะเรื่องเกิดขึ้น แล้วมันก็คงเป็นเทรนด์เหมือนกับสื่ออื่นๆ ก็คือโลกของคนทำสื่อยุคนี้ไม่ได้เป็นโลกของผู้ผลิตรายใหญ่อีกต่อไป แต่ใครก็ตามที่มีไอเดียที่แตกต่างและมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนก็สามารถทำสื่อของตัวเองได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีแค่เว็บไซต์มีทั้งรูปแบบวิดีโอ พอดแคสต์ (Podcast) หรือรูปแบบสำนักพิมพ์เล็กๆ
- มองว่าสื่อออนไลน์เป็นทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะกลุ่มนิตยสารหรือเปล่าครับ
ผมว่ามันคนละเรื่องกันนะครับ ถ้านิตยสารที่ดีมันก็รอดอ่ะครับ แต่ถ้ามันห่วยไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือกระดาษมันก็ไม่รอด ผมว่าควรกลับไปดูคุณภาพของสื่อก่อนคือไม่ใช่คนคิดว่า เฮ้ย..นิตยสารรายเดือนมันหมดยุคแล้ว ดังนั้นฉันต้องเปลี่ยนเป็น Free Copy ดีกว่า แล้วคิดว่าทำ Free Copy แล้วมันจะรอดหรือทำออนไลน์แล้วมันจะรอด ผมว่าสุดท้ายปัจจัยที่กำหนดว่าจะไปรอดหรือไม่รอดมันไม่ใช่รูปแบบของสื่อ มันเป็นเรื่องของรูปแบบเนื้อหาต่างหาก
- แต่ส่วนใหญ่ที่ต้องเลิกกันไปก็บอกเหตุผลว่าเพราะคนอ่านย้ายไปอยู่บนออนไลน์
ผมว่ามันไม่เกี่ยวว่าคนไปอยู่ที่ไหน แต่นิตยสารสามารถปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้อ่านได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็ปรับตัวเข้ากับวิธีการลงโฆษณาที่เปลี่ยนไปได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า ถ้าเกิดว่าสามารถปรับตัวได้ผมว่ามันก็ยังอยู่ได้
คือผมว่าการทำสื่อยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ เราไม่สามารถใช้วิธีคิดเหมือนเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนได้อีกแล้วเพราะว่าคนเปลี่ยนทุกวัน ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถปรับตัวตามพฤติกรรมการเสพสื่อในยุคนี้มันก็ยากที่จะอยู่รอดได้
- ทำสื่อมามากกว่า 10 ปี พอจะลำดับให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่าอะไรมันเปลี่ยนไปบ้าง
มันก็ลำดับยากมาก แต่ก็พอจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการอ่าน เมื่อก่อนพฤติกรรมของคน อยากอ่านน้อยลง แปลว่า ไม่สามารถอ่านอะไรยาวๆ ที่ไม่มีรูปได้ แล้วก็ชอบดูมากกว่าชอบอ่าน เพราะฉะนั้นหากต้องการเขียนตัวหนังสือไม่กี่ประโยคยังต้องแปลงให้กลายเป็นไฟล์ภาพก่อนเพื่อเราจะได้มองมัน
"เมื่อก่อนเราอาจจะมองคุณค่าของงานเขียนชิ้นนึงว่ามีไว้อ่านเพื่อให้เราได้รู้ แต่ว่าตอนนี้คุณค่าของงานชิ้นนึงมันอาจจะไม่ได้เอาไว้อ่านก็ได้ มันอาจจะเอาไว้โชว์ให้คนอื่นรู้ว่าฉันสนใจเรื่องนี้ คือไม่ได้เอาไว้อ่านแต่ไว้บอกชาวบ้านว่าฉันสนใจเรื่องพวกนี้เป็นการประกาศสถานะอะไรบางอย่างของตัวเองบนโลกออนไลน์ สิ่งที่มันเป็นไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ว่ามันคือสิ่งที่เป็น ซึ่งก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน”
- ตั้งใจทำเนื้อหาใน The Cloud ให้ไว้อ่านหรือไว้โชว์ หรือทั้ง 2 อย่างครับ
นั่นไม่ใช่เป้าหมายของเราครับ ผมเป็นคนทำสื่อรายเดือนมาก่อน แล้วเรามีเรื่องที่อยากเล่าและคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยมีคนเล่า ก็เลยอยากเล่า แล้วก็รู้สึกว่าในขณะที่ทุกคนแข่งกับการทำคอนเทนต์ที่อิงกับ Current คือแข่งกันเร็ว มันน่าจะมีเนื้อหาประเภทอื่นที่พูดเรื่องอื่นบ้าง แล้วเราคิดว่ามีคนที่รออ่านเรื่องแบบนี้อยู่แต่ยังไม่มีใครทำให้เขาอ่านเท่านั้นเอง
- พอออกมาทำบริษัทเองแล้ว สิ่งที่อยากทำทั้งหมดมีอะไรบ้างครับ
เยอะมากครับ มีเวลาฟังนานแค่ไหนอ่ะครับ (หัวเราะ)
- ถ้าถามให้เจาะจงคือบริษัท Cloud & Ground จะทำอะไรบ้างครับ
ทำเว็บไซต์ The Cloud ทำนิตยสารชื่อ The Ground ทำอีเวนต์ ทำการเดินทาง(Trip) ซึ่งไม่ได้พาไปเที่ยว แต่คือการพาไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการเดินทาง เรามองทริปเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งโดยพาคนไปสัมผัสเรื่องราว ซึ่งผมทำมาตลอดสิบกว่าปีที่ผานมา ทำวิดีโอด้วยซึ่งเราไม่ได้อยากเป็นผู้ผลิตวิดีโอ แต่เราทำตัวเป็นเครือข่ายไปรวบรวมYouTuber ที่ทำงานน่าสนใจและมีสไตล์ที่โดดเด่นแต่คนอาจจะรู้จักไม่เยอะเข้ามาไว้เป็นเครือข่ายและแชร์คอนเทนต์เหล่านั้น รวมถึงทำเวิร์กชอป และทำทอล์กด้วยซึ่งจะค่อยๆ ทยอยปล่อยออกมาตามวาระโอกาส เรามีอยู่ไม่กี่คน ทั้งบริษัทมี 20 คน ทำคอนเทนต์ 10 คน อีเวนต์ 10 คน เราอยากทำสิ่งที่เราสนใจและคิดว่าทำได้ดีก่อน
- ในเชิงธุรกิจถ้าจะออกมาทำงานติสท์ๆ อย่างเดียวก็คงจะไปไม่รอด ได้วางแผนธุรกิจไว้บ้างไหมครับ
ทั้งหมดลงทุนกัน 2 คน มีผมกับ “ช้างน้อย-กุญชร ณ อยุธยา” ไม่มีใครเป็นนายทุนอะไรเพราะรู้สึกว่าอยากให้บริษัทนี้เป็นบริษัทของศิลปินที่ตัดสินใจโดยวิธีคิดของนักสร้างสรรค์ แต่ว่าแน่นอนยิ่งพอเป็นเงินพวกเราเองก็ต้องคิดกับมันมากขึ้น แล้วเราก็สนใจความยั่งยืนทางธุรกิจมากๆ นะครับ ที่เราบอกว่าจะออกมาทำเนื้อหาที่มันสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตคนอื่นหรือสังคมดีขึ้นอย่างแรกสุดที่เราต้องคิดก็คือเราต้องอยู่รอดก่อนถ้าเราไม่รอดก็คงไม่มีแรงจะไปคุยกับใคร ดังนั้นเราก็วาง Business Model ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่กลับมามันจะเป็นอะไรบ้าง เราทำงานร่วมกับแบรนด์โดยที่ไม่ได้มองแค่การลง Ads หรือแบนเนอร์ แต่ว่าทำงานสื่อสารร่วมกันกับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็ทำอยู่กับหลายๆ แบรนด์ รวมไปถึงเรื่องของการทำคอนเทนต์เชิงโฆษณาร่วมกัน คือเราไม่รับ Advertorial ไม่รับโพสต์งานที่เราไม่ได้เขียน แต่ที่เราจะทำกับแบรนด์ก็คือเราจะสร้างคอนเทนต์ร่วมกันเป็นคอนเทนต์ที่เราภูมิใจ คนอ่านอยากอ่าน และตอบโจทย์แบรนด์ นั่นคือสิ่งที่เราทำร่วมกันแต่ก็แล้วแต่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร จะเรียก Advertorial อีกรูปแบบนึงก็แล้วแต่ แต่สำหรับเรา เราเรียกมันเป็นคอนเทนต์แบบนึงที่เราโอเคกับมัน ซึ่งหลายๆ แบรนด์ก็ยินดีร่วมงานกับเราภายใต้เงื่อนไขนี้ซึ่งก็น่าดีใจมาก
- ในแผนธุรกิจที่คิดไว้ สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทมาจากอะไรครับ
ในช่วงแรกรายได้หลักมาจากอีเวนต์ คือคนจะมองว่าเราเป็นคนทำคอนเทนต์อ่ะเนอะ แต่จริงๆ แล้วยูนิตที่รวมกันมี 2 ส่วน คือส่วนคนทำคอนเทนต์กับคนทำอีเวนต์ซึ่งก็ทำอีเวนต์ระดับประเทศมามากมายตั้งแต่งาน a day bike fest งาน HUMAN RUN จนได้รับการโหวตให้เป็น 5 อันดับแรกของงานวิ่งในเมืองไทยที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังเคยทำงานเสวนา งานทริป และงานประกวดต่างๆ มากมายซึ่งคนก็อาจจะไม่ได้รู้สิ่งเหล่านี้ อีเวนต์ก็เป็นรายได้หลักในช่วงแรก ในขณะที่เว็บไซต์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ว่าตอนนี้พอเว็บไซต์readthecloud.co เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็มีแบรนด์ต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกับเราในเชิงของการทำคอนเทนต์ร่วมกัน แล้วก็บางแบรนด์ก็ทำไปมากกว่านั้นคือทำเป็นโปรเจกต์ ซึ่งมันไม่ใช่มีแค่ตัวคอนเทนต์ แต่มันจะเป็นการผสมผสานระหว่างคอนเทนต์กับอีเวนต์เข้าด้วยกัน ตอนนี้ก็มีอยู่สองสามอันแต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่ามีอีเวนต์อะไรบ้าง
- เห็นบอกว่าจะทำนิตยสารด้วย
ใช่ครับ จะเริ่มวางแผงเดือนมกราคมปีหน้า เป็นนิตยสารราย 3 เดือน ทำขายปกติ
- มั่นใจว่านิตยสารยังขายได้
ค่อนข้างมั่นใจนะครับ เพราะมันไม่ได้คิดเหมือนแมกกาซีนทั่วๆไปในยุคนี้ มันคิดอีกแบบนึง มันหารายได้ด้วยวิธีการอีกแบบนึง แล้วก็ไม่ได้พิมพ์เยอะแยะมากมายอะไร อย่างที่บอกไปแล้วว่าโลกยุคนี้มันไม่ได้เป็นโลกที่การทำสื่อขนาดใหญ่ที่นิตยสารเล่มหนึ่งจะขายได้ถล่มทลายอีกแล้ว แค่หากลุ่มเล็กๆ ของมันให้เจอและทำให้มันเป็นมากกว่าแมกกาซีนมันจะก็จะอยู่รอดได้
- ที่บอกว่านิตยสารมีวิธีหารายได้อีกแบบนึง พอจะแย้มให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่าจะทำอย่างไร
หนังสือผมพิมพ์สองสามพันเล่มถ้าขายหน้าโฆษณามันจะมีมูลค่าเท่าไหร่เชียว คือจะไปขาย Ad หน้าละเท่าไหร่ก็ไม่รู้เนอะ เราก็เลยไม่ได้ตั้งใจหารายได้จากการส่งทีมโฆษณาไปขายว่าจะลงหน้าละเท่าไหร่ๆ แต่ว่าเราจะทำอีกแบบนึง ยังอุบไว้ก่อน (หัวเราะ) เดี๋ยวรอชมกัน
“คิดว่าอนาคตของนิตยสารก็คงเหมือนสื่ออื่นๆ ที่จะต้องหาคาแรคเตอร์หรือจุดเด่นของมันให้เจอก่อน นิตยสารก็เจอปัญหาเดียวกันกับสื่ออื่นๆ มันอาจจะขายไม่ได้มากมายแบบเมื่อก่อน แต่มันก็ยังมีคาแรคเตอร์ของมันที่น่าจะมีคนอยากอ่าน อยากสะสม แปลว่ามันคงยังอยู่เพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่างของสังคม เพียงแต่ว่าสถานะของมันอาจจะไม่ได้ใหญ่โตเหมือนเมื่อก่อน”
- ในแผนธุรกิจระหว่างนิตยสารกับออนไลน์ อะไรเป็นหลักอะไรเป็นรองครับ
ออนไลน์ครับ นิตยสารที่จะทำชื่อ “The Ground” ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเป็นแค่หนังสือเล็กๆ ที่พิมพ์แค่สองสามพันเล่ม ออกราย 3 เดือน แต่เว็บไซต์มันมีทุกวันซึ่งทำให้มันมีความถี่มากกว่า เข้าถึงคนได้มากกว่า มันจึงเป็นพื้นที่ของการสื่อสารหลัก ส่วนนิตยสาร The Ground จะมีเนื้อหาหน้าตาอย่างไรต้องรอดู แต่บอกก่อนว่าเป็นคนละคอนเทนต์กับที่เห็นในเว็บไซต์ The Cloud ไม่ใช่การเอา The Cloud มารวมเป็นเล่ม มันเป็นอีกคอนเซปต์นึง
- เปิดตัวด้วยเว็บไซต์ readthecloud.co เห็นบอกว่าเป็นแมกกาซีนบนออนไลน์ ขยายความให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ
ก็คือเว็บไซต์ที่ถูกคิดแบบนิตยสารอ่ะนะครับ นิตยสารมีคาแรคเตอร์บางอย่างก็คืออ่านแล้วก็จะรู้ว่าคนเขียนเป็นใคร มีน้ำเสียงลีลามีเรื่องของคนเขียนที่ชัดเจน มี Art Direction มีคอนเซปต์ของเรื่องที่ชัดเจน ซึ่งคาแรคเตอร์พวกนี้คนอ่านต่อให้ปิดชื่อคอลัมน์ก็รู้ว่าเรื่องอะไรใครเขียน แต่สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ หายไป ในวันหนึ่งที่คนทำนิตยสารกำลังหนีไปสู่เว็บไซต์แล้วทุกคนก็ไปเขียนคล้ายๆ กันหมด ก็คือไปเขียนเป็น Fact เพื่อให้มันรวดเร็วสะดวกต่อการอ่านในช่วงเวลาสั้นๆ ก็เลยทำให้เสน่ห์ของการเขียนประเภทนี้มันหายไป ส่วนใหญ่เหลือแต่ข้อความที่เป็น Fact ก็เลยเห็นว่าเอาเสน่ห์ของการทำนิตยสารที่เราคุ้นเคยมาทำใหม่ในรูปแบบของออนไลน์น่าจะดีกว่า เราเรียกตัวเองว่าเป็น Magazine on Cloud ซึ่งก็ตั้งใจทำเนื้อหาที่เป็น Original Content เท่านั้นไม่ไปก๊อปหรือแปลจากของใครมา เราพยายามจะทำเนื้อหาที่มีความหมายกับผู้อ่านจริง ๆ ไม่ใช่แค่เฮ้ย!เขาฮิตเรื่องนี้กันเราก็อยากจะเล่าด้วย
- สิ่งที่ตั้งใจอยากให้คนเห็นเมื่อเปิดเข้ามาเว็บไซต์ The Cloud คืออะไร
ไม่รู้เข้ามาเขาจะเห็นหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ที่ตั้งใจอยากให้เห็นคือเรื่องราวที่ไม่ค่อยได้เห็นในเว็บไซต์อื่น ก็ค่อนข้างเชื่อว่าถ้าไปเปิดอ่านเนื้อหาใน The Cloud ไม่น่าจะเห็นเรื่องราวประเภทนี้ในเว็บไซต์อื่นมากนัก คนหรือเรื่องที่เราเลือกมาเขียนก็เป็นเรื่องที่เว็บอื่นเขาไม่ค่อยพูดกันหรือถ้าเขาพูดกันเราก็พูดในวิธีการที่แตกต่างออกไป
ยกตัวอย่างเช่น ข่าวคนไทยไปได้รางวัลกรังด์ปรีซ์ที่เทศกาลคานส์ ไลออน (Cannes Lions) เป็นรางวัลครีเอทีฟงานโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่วงการโฆษณาไทยเคยได้รับ ซึ่งทุกเว็บไซต์ก็ลงข่าวนี้ว่ามีงานของบริษัทนี้ได้รางวัลนี้ แต่เรารู้สึกว่ามันทำได้มากกว่านั้นรึเปล่า ก็เลยไปสัมภาษณ์คนทำและเขียนเบื้องหลังงานนั้นอย่างละเอียด ซึ่งก็ลงในวันนั้นเหมือนกัน มันก็อาจจะทำให้เห็นว่าเราทำอะไรที่แตกต่างได้ไม่ใช่มีแค่ข่าวสั้น ๆ เหมือนกันไปหมด ซึ่งผมไม่ได้บอกว่ามันผิดนะครับ แต่ถ้าทำแบบนั้นเหมือนกันหมดคนอ่านคงได้อ่านแต่สิ่งเดิมๆ แต่เราคิดใหม่และทำคอนเทนต์ในสิ่งที่ต่างออกไปนั่นคือสิ่งที่คนจะได้เห็นจาก The Cloud ครับ
“เราเป็นอีกคอนเทนต์ท่ามกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ที่มันมี ทำยังไงที่คนจะได้เห็นคอนเทนต์ของเรา เอาแค่ให้เห็นก่อน ส่วนเห็นแล้วเขาจะอ่านหรือไม่มันก็อีกเรื่องนึง”
- คลิกเข้าเว็บไซต์ The Cloud แล้วพบว่าเว็บสวยมากเลยครับ ทั้งภาพ ฟอนต์ และเลย์เอาท์ เล่าเบื้องหลังตอนคิดออกแบบกันหน่อยได้ไหมครับ
โจทย์คือเราพยายามจะสร้างสิ่งใหม่ๆ แต่เราก็ไม่ได้ทีมทำเว็บไซต์มืออาชีพ ก็พยายามลองคิดจากสิ่งที่เราอยากเห็นและยังไม่มีคนทำ คือในแง่เลย์เอาท์คงไม่ต่างกันมากเพราะเทรนด์เพจเว็บยุคใหม่ก็ประมาณนี้ แต่เราสนใจเรื่องฟังก์ชั่นมากกว่า เว็บไซต์เราอ่านได้ 2 แบบ แบบแรกคืออ่านแบบปกติ ส่วนแบบสองถ้ากดตรงคำว่า Timeline ด้านบนก็จะได้อ่านอีกแบบเป็นรูปแบบ ฟีดถ้าดูในมือถือจะเหมือนเฟซบุ๊กหรือรูปในอินสตาแกรมซึ่งก็ไม่รู้จะทำไปทำไม แต่แค่รู้สึกว่าอาจจะตอบโจทย์พฤติกรรมของคนอ่านสมัยนี้ที่เขาอยากจะอ่านเป็นเรื่อง ๆ แต่ไม่ได้อยากจะรู้หรอกว่าเรื่องนี้มันอยู่หมวดอะไรส่วนไหนของเว็บ รวมไปถึงมีปุ่ม shuffle ด้วยสำหรับบางคนที่อยากจะอ่านแบบมั่วๆ ดูบ้าง ก็ลองกดปุ่ม shuffle ดูได้ จริงๆ ก็เป็นฟังก์ชั่นที่ไม่รู้จะทำมาทำไม แค่อยากทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่คนอื่นเขายังไม่ทำกันดูบ้าง ทำมา 2 สัปดาห์แล้วก็มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่เขาชอบนะครับ แต่การทำเว็บประเภทนี้คงต้องใช้เวลาให้คนค่อยๆ รู้จักมัน อีกอย่างเราเชื่อเรื่องออร์แกนิค เราเชื่อเรื่องการทำคอนเทนต์ในเว็บไซต์ให้ดี ดังนั้นเราจะตั้งใจทำเนื้อหาเป็นหลักมากกว่าไปซื้อ boost post เพื่อโปรโมทให้คนเห็นเยอะๆ เราคิดว่าถึงได้ยอดมาแต่ก็ไม่รู้ว่ามันมาจากที่เขาชอบเราจริงๆ หรือเปล่า ก็เลยอยากลองทำทุกอย่างแบบออร์แกนิค ซึ่งทำให้ช่วงแรกๆ เว็บไซต์อาจไม่ได้อยู่กับคนกลุ่มใหญ่มากนัก แต่เราเชื่อเรื่องการเติบโตอย่างน้อยๆ แต่มั่นคงยั่งยืน
- ระหว่างการนั่งทำนิตยสารกับคอนเทนต์ออนไลน์ มีอะไรที่เหมือนกันและต่างกันบ้างครับ ?
ถ้าสิ่งที่เหมือนคือเรายังคิดเหมือนเดิม มีความสุขเหมือนเดิม ส่วนสิ่งที่ต่างก็คือความเร็ว นิตยสารมันเป็นรอบ 1 เดือน แต่เดี๋ยวนี้เว็บไซต์เขาว่ากันเป็นวัน ไม่ใช่อ่ะ ว่ากันเป็นชั่วโมงเนอะ(หัวเราะ) มันต้องปรับตัวในเรื่องความเร็วมากขึ้น
ส่วนที่ต่างอีกอย่างคือ วิธีการแทรกตัวเข้าไปอยู่ในสายตาของคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวพอสมควร การทำออนไลน์ต่อให้ทำคอนเทนต์ออกมาดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้ามันเข้าไปไม่ถึงคน มันก็น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นการทำออนไลน์ต้องคิดเรื่องพวกนี้ด้วย แต่ตอนทำนิตยสาร a day เป็นหนังสือที่ดังอยู่แล้วมีฐานคนอ่านที่กว้างอยู่แล้ว ตอนทำก็อาจจะไม่ได้คิดสิ่งนั้นมากนัก อาจจะคิดแค่ทำยังไงให้หน้าปกดึงดูดเวลาอยู่บนแผงแล้วมันโดดเด่นหรือการโปรโมทให้คนอยากซื้อ a day เล่มนี้ แต่ว่าออนไลน์ทุกคนผลิตคอนเทนต์ตลอดเวลา เราเป็นอีกคอนเทนต์ท่ามกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ที่มันมี ทำยังไงที่คนจะได้เห็นคอนเทนต์ของเรา เอาแค่ให้เห็นก่อน ส่วนเห็นแล้วเขาจะอ่านหรือไม่มันก็อีกเรื่องนึง
- คิดว่าเว็บไซต์มันมีเยอะเกินไปหรือเปล่าครับ ?
มันไม่มีคำว่าเยอะเกินไปหรอกครับ แต่ถามว่าเยอะไหมมันก็เยอะขึ้น เพราะพฤติกรรมคนอ่านก็เปลี่ยนไปซึ่งมันก็สอดคล้องกับพฤติกรรมคนยุคนี้ พอไปอีกระยะนึง เว็บไซต์ไหนที่คนไม่นิยม มันก็จะล้มหายตายจากไปแล้วก็จะเกิดเว็บไซต์ของคนที่มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาใหม่ คิดว่าคงเป็นวัฏจักรเช่นนั้น
- นิตยสารถูกยกให้เป็นงานชั้นครูของวงการสื่อสิ่งพิมพ์เพราะมีรายละเอียดเยอะ เช่น วางเลย์เอาท์ ฟอนต์ กระดาษ ภาพ ฯลน พอมาทำเว็บไซต์จำเป็นต้องทิ้งรายละเอียดพวกนี้ไปบ้างไหมหรือยกมาปรับใช้ได้
คือผมว่ากลับไปเรื่องอาชีพนักสื่อสาร คนนอกวงการอาจจะมองว่า นักสื่อสารมีอาวุธเป็นตัวหนังสือหรือภาพ ในยุคที่เป็นวิดีโอมันก็อาจจะเป็นเรื่องราว แต่ว่าจริงๆแล้วคนที่ทำสื่อด้วยกันก็จะรู้ว่า มันมีรายละเอียดอีกมากมายที่ล้วนมีส่วนร่วมในการกำหนดความรู้สึกของผู้รับสาร เช่น เลย์เอาท์ ชื่อคอลัมน์ คำโปรย ภาพประกอบ วิธีเขียน ซึ่งถ้าคนที่เป็นนักสื่อสารเขารู้หลักพวกนี้ไม่ว่าจะไปทำสื่อแบบไหนเขาก็จะพยายามเอารายละเอียดพวกนี้มาช่วยเล่าเรื่องด้วย ดังนั้น พอมาสู่การทำเว็บไซต์เราก็สนใจในทุกๆ มิติของการทำเว็บ เราไม่ได้แค่เขียนเนื้อหาลงไปเราพยายามที่จะสร้างประสบการณ์ในการอ่านอะไรบางอย่าง ก็พยายามจะใช้ทุกอย่างที่เป็นไปได้ในเงื่อนไขที่เว็บไซต์มี
- คนทำนิตยสารบางท่านก็เป็นห่วงว่า การที่คนในวงการนิตยสารออกมาทำเว็บไซต์กันเยอะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เร่งให้นิตยสารตายเร็วขึ้น เพราะทำให้คนรู้สึกว่าคอนเทนต์เป็นของฟรีไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ
(เงียบไปพักนึง) ก็ไม่ได้คิดยังไง ก็อาจจะใช่และก็อาจจะไม่ใช่ ถ้ามองในฝั่งออนไลน์มันก็น่าจะดีถ้าคุณภาพคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่าถ้าการมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในสนาม(ออนไลน์)นี้แล้วทำให้คุณภาพของงานดีขึ้นแข่งกันด้วยคุณภาพมากขึ้น ผลประโยชน์ก็จะเกิดกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะคนอ่าน และแน่นอนว่าสุดท้ายเว็บที่มีคุณภาพก็น่าจะอยู่ได้ ส่วนเว็บที่ไม่มีคุณภาพก็น่าจะหายไป
แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับมาเรื่องของนิตยสาร (เสียงหนักแน่นขึ้น) ผมคิดว่านิตยสารมันไม่ได้ตายเพราะมีคอนเทนต์ฟรีมาให้อ่านอ่ะครับ นิตยสารคงต้องกลับไปทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่ เมื่อก่อนนิตยสารมีหลายหน้าที่มากมันเคยเป็นเพื่อนฆ่าเวลาระหว่างรอรถ รอตัดผม ระหว่างการเดินทาง หรือเวลาว่างอยู่กับบ้าน หรืออยากอัพเดทข่าวสารในวงการต่างๆ อยากรับความบันเทิงเริงรมย์ในเชิงวรรณกรรม อยากจะรู้ลึกในบางเรื่อง หรืออยากจะเก็บบันทึกอะไรบางอย่าง ทั้งหมดคือหน้าที่ของมันเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ว่า ณ วันนี้หลายๆ หน้าที่ถูกทำแทนโดยสื่ออื่นๆ ไปแล้วซึ่งสื่ออื่นๆ อาจจะทำได้ดีกว่าจึงไม่น่าแปลกใจที่นิตยสารได้สูญเสียหลายๆ ฟังก์ชั่น ดังนั้นยอดขายนิตยสารจึงไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน แต่(เน้นเสียง)บางหน้าที่ก็ยังถูกแทนไม่ได้ เช่น การเก็บไว้เป็นข้อมูลสะสมหรือเพื่อใช้งานต่อไปในภายหน้า สมมุติเราอยากสร้างบ้านอยากทำเรเฟอเรนซ์สไตล์ห้องน้ำ หรืออยากเก็บเรื่องราวบางเรื่องประวัติต่าง ๆ คนก็ยังเก็บในแบบรูปเล่มซึ่งมันหยิบออกมาใช้งานง่าย
“นิตยสารน่าจะต้องกลับมาถามตัวเองว่าหน้าที่ไหนที่นิตยสารมีจุดเด่นที่ดีกว่าสื่ออื่นๆ ก็ทำส่วนนั้นให้ดี ผมเชื่อว่าสุดท้ายมันก็จะอยู่รอดปลอดภัยได้ แต่ก็ต้องยอมรับก่อนว่ามันจะไม่มีทางยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อน”
- คำถามสุดท้ายคือ อนาคตของบริษัทตั้งเป้าอยากจะเป็นสื่อ Niche ที่ Mass น้องๆ a day เลยไหมครับ ?
ทำปัจจุบันให้ดีก่อนดีกว่าครับ(ยิ้ม) อย่าไปคิดเรื่องครองโลกเลยครับ ทำงานของเราให้ดีแล้วมีคนชื่นชมในสิ่งที่เราทำแค่นี้มันก็ดีจะแย่อยู่แล้วครับ อย่าไปคิดว่าเป้าหมายต้องเป็นอันดับ 1 ถ้าคิดแบบนั้นเมื่อไหร่อาจทำให้เราเผลอทำทุกอย่างเพื่ออยากจะครองโลกจนหลงลืมว่า สุดท้ายแล้วครั้งหนึ่งเราเคยทำสิ่งนี้เพื่ออะไรกันแน่ ซึ่งมันน่ากลัวครับ