สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน (Times Higher Education - THE) ผู้วิเคราะห์ข้อมูลสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกได้เปิดเผยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชีย โดยระบุว่า มหาวิทยาลัย 2 แห่งจากจีนได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยในเอเชียที่ดีที่สุด 2 อันดับแรก และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มการจัดอันดับในปี 2556
มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของจีนที่คว้าอันดับ 1 มาครองเมื่อปี 2562 ยังคงครองตำแหน่งเดิมในปีนี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ก้าวขึ้นจากอันดับ 5 มาอยู่ที่อันดับ 2
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (University of Science and Technology of China) ยังติด 10 อันดับแรก ร่วมกับมหาวิทยาลัยซองคยูนกวาน (Sungkyunkwan University) ของเกาหลีใต้ และนับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยของจีนติด 10 อันดับแรกถึง 3 แห่ง อีกทั้งยังติด 50 อันดับแรก มากถึง 13 แห่ง
ในปี 2563 จีนมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับมากที่สุดถึง 81 แห่ง ซึ่งมากกว่าปี 2562 ถึง 9 แห่ง โดยเป็นรองจากญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 110 แห่ง ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของอินเดีย ที่ 56 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีสถาบันที่ติดอันดับเป็นครั้งแรก 78 แห่ง จากทั้งหมด 489 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเก๊า(Macau University of Science and Technology) ติดอันดับที่ 32 และเป็นมหาวิทยาลัยจีนที่ครองอันดับสูงสุดในกลุ่มสถาบันที่ติดอันดับเป็นครั้งแรก
นายฟิล บาตี้ (Phil Baty) ผู้บริหารจัดการความรู้ (CKO) จากนิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน กล่าวว่า ความสำเร็จในการคว้า 2 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียเป็นครั้งแรกนั้น แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของจีนเหนือประเทศอื่นๆ
เขาระบุว่า "แม้จะมีมหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติได้รับเลือกในการจัดอันดับครั้งนี้เป็นจำนวนมาก แต่จีนยังคงแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความแข็งแกร่งของระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
ขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า "จีนก้าวนำประเทศอื่นๆ ในเอเชียในการจัดลำดับความสำคัญของเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (knowledge economy) การจัดลำดับความสำคัญการลงทุนในมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงการลงทุนทางการเงินในระดับสูง อีกทั้ง จีนยังปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้มั่นใจว่าคณะอาจารย์และนักวิชาการของจีนจะมีแรงจูงใจในการผลิตงานคุณภาพสูง" พร้อมเสริมว่า ทั่วโลกจะได้เห็นนักวิชาการชาวจีนสร้างงานวิจัยระดับสูงสุดในวารสารชั้นนำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้อันดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ของจีนดีขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ นายบาตี้คาดการณ์ว่า ผลกระทบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสนักศึกษาและผู้มีความสามารถด้านวิชาการระหว่างประเทศ จะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยในเอเชีย และเร่งให้เกิดการแข่งขันกับสถาบันที่ดีที่สุดของโลก
ทั้งนี้ นิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน ซึ่งรายงานเฉพาะข่าวและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ระบุว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกนั้น ตัดสินจากมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยที่ครอบคลุมพันธกิจหลักอันได้แก่ การสอน การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ และมุมมองสากล (International Outlook)