สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine เผยแพร่ผลลัพธ์ระหว่างการทดลองวัคซีน mRNA-1273 ต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งระบุว่าวัคซีน mRNA-1273 ที่กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาสามารถทนต่อผลข้างเคียงส่วนใหญ่ได้ดี และกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีชนิดที่มีความสามารถลบล้างฤทธิ์ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง
การทดลองระยะแรกที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ (NIAID) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH)
วัคซีนทดลองดังกล่าว ซึ่งได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยคณะนักวิจัยประจำสถาบันฯ และ Moderna บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐ ถูกออกแบบเพื่อให้กระตุ้นการสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์โดยตรงต่อโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งไวรัสใช้จับกับเซลล์และเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์
การทดลองครั้งนี้ ซึ่งนำโดยลิซา แจ็กสัน จากสถาบัน Kaiser Permanente Washington Health Research Institute ในเมืองซีแอตเทิล เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่ผู้เข้าร่วมทดลองคนแรกได้รับวัคซีนทดลองดังกล่าว
รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการค้นพบขั้นแรกจากผู้เข้าร่วมทดลอง 45 คนแรกที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี ซึ่งลงทะเบียนเข้าร่วมทดลองที่สถานวิจัยในเมืองซีแอตเทิล และมหาวิทยาลัย Emory University ในเมืองแอตแลนตา
ผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมด 3 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน ได้รับการฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อจำนวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 28 วัน โดยผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาขนาด 25 ไมโครกรัม, 100 ไมโครกรัม หรือ 250 ไมโครกรัม
ต่อมาในเดือนเมษายน มีการขยายการทดลองเพื่อรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป โดยขณะนี้มีผู้เข้าร่วมแล้วรวม 120 คน
วิจัยระบุว่าไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากการทดลองครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมทดลองมากกว่าครึ่งมีรายงานอาการเหนื่อยล้า ปวดหัว หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดบริเวณที่ได้รับวัคซีน ขณะที่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั่วทั้งร่างกายสามารถพบได้เป็นปกติหลังการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 และในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนในปริมาณสูงสุด
การวิเคราะห์ก่อนการวิจัยสิ้นสุดประกอบด้วยผลทดสอบวัดระดับการทำงานของแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ที่เกิดจากการได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ไปจนถึงวันที่ 43
วิจัยระบุว่าวัคซีนสองโดสกระตุ้นให้เกิดการทำงานของแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่พบในเซรัมระยะโรคทุเลา (convalescent serum) ที่ได้มาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผล
ทั้งนี้ การทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ของวัคซีน mRNA-1273 ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Moderna เริ่มรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และโมเดอร์นาวางแผนเริ่มการทดลองระยะสุดท้ายในวันที่ 27 ก.ค. นี้