สายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส ผู้ให้บริการการขนส่งทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดของจีน เผยว่า สายการบินได้เริ่มนำ "เออาร์เจ21" (ARJ21) ซึ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์ระดับภูมิภาคลำแรกที่จีนผลิตขึ้นเอง มาให้บริการเที่ยวบินโดยสารอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
สายการบินเผยว่า เครื่องบินเออาร์เจ21 เริ่มให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในเส้นทางการบินในภูมิภาคระหว่างนครกว่างโจวและเมืองเจี่ยหยาง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน โดยตั้งเป้าที่จะนำเครื่องบินเออาร์เจ21 จำนวน 35 ลำออกให้บริการภายในปี 2567
เครื่องบินเออาร์เจ21 พัฒนาโดยบริษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีน (COMAC) เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 และเป็นต้นแบบเครื่องบินโดยสารระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (turbo-fan) รุ่นแรกของจีน มี 78-90 ที่นั่ง และมีพิสัยบิน 3,700 กม. สามารถบินเหนือภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงและที่ราบสูง รองรับการขึ้นบินและร่อนลงจอดในสภาพสนามบินได้หลากหลาย
หลังได้รับมอบเครื่องบินเออาร์เจ21 ลำแรกเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2563 สายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส ก็ได้ดำเนินการฝึกซ้อมการรับมือเหตุฉุกเฉิน ฝึกบิน อบรมบุคลากร และขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการทำงานของเครื่องบินลำใหม่จะเป็นไปอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ สายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครกว่างโจว เป็นผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเครื่องบินกว่า 860 ลำจากข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562 ในอนาคตทางสายการบินมีแผนนำเครื่องบินเออาร์เจ21 ออกให้บริการในเส้นทางบินระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเส้นทางบินจากกรุงปักกิ่งด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา COMAC ได้ส่งมอบเครื่องบินโดยสารเออาร์เจ21 ให้กับผู้ให้บริการขนส่งภายในประเทศรายใหญ่แล้ว 3 ราย ได้แก่ สายการบินแอร์ไชน่า สายการบินไชน่า อีสเธิร์น แอร์ไลน์ส และสายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส นับเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับเครื่องบินโดยสารที่จีนผลิตและพัฒนาเองได้ก้าวเข้าสู่ตลาดการบินพลเรือนของประเทศ
ปัจจุบัน COMAC ได้ส่งมอบเครื่องบินเออาร์เจ21 แก่ลูกค้าแล้วทั้งสิ้น 33 ลำ ซึ่งให้บริการตามเส้นทางบินมากกว่า 50 เส้นทาง และรองรับผู้โดยสารประมาณ 890,000 คน