สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (WIS) ได้เปิดเผยการค้นพบของนักวิจัยชาวอิสราเอล ซึ่งพบว่าการติดเชื้อไวรัสในร่างกายของหญิงตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อเซลล์สมองของทารกในครรภ์ แม้ทารกจะไม่ได้ติดเชื้อไวรัสก็ตาม
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารโมเลคิวลาร์ ไซไคอะทรี (Molecular Psychiatry) ระบุว่า ผลเสียดังกล่าวอาจเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของแม่ตอบสนองต่อไวรัส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเซลล์สมองของทารกในครรภ์
การทดลองในหนูทำให้นักวิจัยทราบว่า อาร์เอ็นเอไวรัส ซึ่งก่อให้เกิดโรคอย่างไข้หวัดใหญ่ หัด อีโบลา รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลเสียต่อทารกหลังจากผู้เป็นแม่ติดเชื้อ โดยจะทำให้ไมโครเกลีย (microglia) ของทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่อยู่ในสมองได้รับผลกระทบและแสดงพฤติกรรมผิดปกติ
นอกจากนี้ นักวิจัยพบว่าผลกระทบต่อเซลล์สมองของทารกไม่ได้เกิดจากโมเลกุลที่มีลักษณะเหมือนไวรัส แต่เป็นผลมาจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของมารดาต่อการติดเชื้อ
การตอบสนองดังกล่าวเป็นผลจากการที่โปรตีนอินเตอร์เฟรอน-เบตา (interferon-beta) ของระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วหลังแม่ติดเชื้อ โดยโปรตีนชนิดนี้ทำหน้าที่เสมือนปราการด่านแรกในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสามารถทำลายเซลล์สมองได้หากมีปริมาณมาก
ผลวิจัยพบว่า แม้ว่าทารกในครรภ์จะไม่ได้สัมผัสกับไวรัสในร่างกายของแม่โดยตรง แต่เซลล์สมองของทารกก็อาจได้รับความเสียหายจากโปรตีนอินเตอร์เฟรอน-เบตา ที่ร่างกายแม่หลั่งออกมาในปริมาณมากเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส
นักวิจัยสรุปว่า "อาจมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาวิธีปกป้องทารกในครรภ์จากการตอบสนองต่อไวรัสของแม่ ขณะเดียวกัน หญิงตั้งครรภ์ควรดูแลตนเองเป็นอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสระหว่างตั้งครรภ์"