สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) เปิดเผยว่า การทดลองทางคลินิกระยะ 2 จะประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของศักยภาพของวิธีการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการรักษาที่ยังอยู่ระหว่างการวิจัย ซึ่งเป็นการรักษาโดยอาศัยโมโนโคลนอลแอนติบอดี (mAbs) ชนิดสังเคราะห์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ (NIAID) สังกัดสถาบันสุขภาพ กำลังทำงานร่วมกับสถานที่ทดลองเพื่อเลือกอาสาสมัครผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
กลุ่มอาสาสมัครข้างต้นจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการรักษาเชิงทดลองหรือยาหลอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่ถูกออกแบบมาอย่างแม่นยำ โดยการทดลองทางคลินิกในชื่อแอคทีฟ-2 (ACTIV-2) นี้ อาจวินิจฉัยวิธีการรักษาเชิงทดลองแบบอื่นๆ ในภายหลัง ภายใต้ระเบียบวิธีทดลองเดียวกัน
รูปแบบของงานวิจัยยังถูกปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพื่อให้มีความยืดหยุ่นสูงสุดในกรอบเวลาที่สั้นที่สุด และการรักษาจะถูกนำไปทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ขึ้นหากพบว่าการรักษาเชิงทดลองนั้นมีประสิทธิภาพในระยะแรก โดยงานวิจัยครั้งนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อทดสอบวิธีการรักษาอื่นๆ เพิ่มเติมได้เช่นกัน
"เราเห็นถึงผลลัพธ์ที่น่ายินดีและรวดเร็วจากการทดลองรักษาโรคโควิด-19 ที่ยืดหยุ่นอื่นๆ" ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพ กล่าว "ภายใต้โครงการแอคทีฟ การรักษาเฉพาะทางจะถูกจัดลำดับตามแนวโน้มของความสำเร็จโดยจะใช้ระเบียบวิธีการที่สำคัญที่สุดที่เน้นด้านความยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้การทดลองทางคลินิกเหล่านี้ดำเนินไปโดยไม่เกิดความล่าช้า ในกรณีที่พบว่าการรักษามีแนวโน้มในเชิงบวก"
LY-CoV555 ซึ่งเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่สร้างขึ้นโดยบริษัทอิไล ลิลลี่ แอนด์ คอมพานี (Eli Lilly and Company) จะเป็นยารักษาตัวแรกที่เข้ารับการทดสอบในการทดลองครั้งนี้ โดยแอนติบอดีดังกล่าวถูกค้นพบโดยบริษัทแอบเซลเลรา (AbCellera) ภายใต้การร่วมมือกับศูนย์วิจัยวัคซีนของสถาบันโรคภูมิแพ้ และถูกแยกออกมาจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจนหายดี โดยต่อมาสำเนาของแอนติบอดีนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการ ขณะที่คำว่า "โมโนโคลนอล" หมายถึงแอนติบอดีที่ถูกผลิตในห้องปฏิบัติการ
แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้ กล่าวว่า "การวินิจฉัยการรักษาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงโมโนโคลนอลแอนติบอดี จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเราจะเข้าใกล้การรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"