เจ้าของ TikTok ออกแถลงการณ์วิจารณ์สหรัฐ-เฟซบุ๊ก อ้างโดนกลั่นแกล้ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 6, 2020 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโอสัญชาติจีนที่ได้รับความนิยมทั่วโลก กำลังเผชิญภัยคุกคามจากคำสั่งแบนของทางการสหรัฐ และการใส่ร้ายป้ายสีโดยคู่แข่งอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่านักสังเกตการณ์มองว่าเป็นความพยายามรุมทึ้งทำลายบริษัทจีน รวมถึงกอบโกยผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และการเมือง ทั้งยังผูกขาดเศรษฐกิจเทคโนโลยี

แถลงการณ์จากไบต์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของติ๊กต็อก เมื่อวันจันทร์ (3 ส.ค.) ระบุว่า "ไบต์แดนซ์ได้เผชิญกับความสลับซับซ้อนและอุปสรรคนานับประการอันมิอาจจินตนาการได้ ซึ่งกอปรด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด การปะทะและความขัดแย้งของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การคัดลอกผลงาน และการใส่ร้ายป้ายสีจากคู่แข่งอย่างเฟซบุ๊ก ณ ห้วงยามที่กำลังก้าวสู่การเป็นบริษัทนานาชาติ"

อย่างไรก็ดี ไบต์แดนซ์ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าจะพยายามต่อสู้เพื่อวิสัยทัศน์แห่งโลกาภิวัฒน์ ปฏิบัติตามบทกฎหมายท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด ตลอดจนปกป้องผลประโยชน์และสิทธิอันชอบตามกฎหมายอย่างแข็งขัน

การลอกเลียนประจักษ์ชัด

จาง เซียวหรง นักวิเคราะห์การตลาดอินเตอร์เน็ตจากกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ชี้ว่ากรณีไบต์แดนซ์กล่าวหาเฟซบุ๊กคัดลอกผลงานนั้นมี 2 แง่มุมให้พิจารณา โดยเฟซบุ๊กเปิดตัวแอปชื่อ "แลสโซ" (Lasso) ในปี 2561 ก่อนปิดตัวลงในเวลาไม่นาน ต่อมาเฟซบุ๊กเปิดตัวแอป "อินสตาแกรม รีลส์" (Instagram Reels) ในเดือนพ.ย. 2562 ซึ่งมีฟีเจอร์หลักเหมือนกับของติ๊กต็อกอย่างมาก โดยเฟซบุ๊กทุ่มเงินมหาศาลเพื่อประชาสัมพันธ์แอปใหม่นี้ในหลายประเทศ อาทิ บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี และอินเดีย

เควิน เมเยอร์ ซีอีโอของติ๊กต็อก ได้กล่าวถึงแอปทั้งสองของเฟซบุ๊กในบทความที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของไบต์แดนซ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า "ติ๊กต็อกยินดีต้อนรับการแข่งขันเสมอ เพราะการแข่งขันที่เป็นธรรมนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า หากอยากเปิดตัวผลิตภัณฑ์มาแข่งกับเรา ขอให้ทำได้เลย ดังเช่นเฟซบุ๊กที่กำลังปล่อยแอป เลียนแบบอีกตัวอย่างอินสตาแกรม รีลส์ หลังจากแอป เลียนแบบตัวก่อนอย่างแลสโซล้มเหลวอย่างรวดเร็ว"

ขณะเดียวกันเมเยอร์ตำหนิ "การโจมตีอันมุ่งร้าย" ของเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้ความรักชาติเป็นฉากบังหน้า เพื่อผลักดันติ๊กต็อกพ้นจากสหรัฐ โดยเมเยอร์เสริมว่าไบต์แดนซ์ยินดีปฏิบัติตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อรับรองการมีอยู่และความสำเร็จในระยะยาว

"เฟซบุ๊กมีความเชี่ยวชาญด้านคลิปวิดีโอสั้นค่อนข้างน้อย แล้วยังเปิดตัวแอปทั้งสอง (แลสโซ และอินสตาแกรม รีลส์) ที่คล้ายกับติ๊กต็อกอย่างมากจนเห็นชัดเจนว่าเป็นการลอกเลียนแบบ ซึ่งแม้แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก ก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธด้วยตนเอง" หวง ยวนผู่ ผู้ก่อตั้งอีควอลโอเชียน บริษัทวิจัยเทคโนโลยีสื่อและการลงทุนชั้นนำในจีนกล่าว

ภัยคุกคามเผยตัวตน

เมื่อวันจันทร์ (3 ส.ค.) รัฐบาลสหรัฐข่มขู่ว่าจะสั่งแบนติ๊กต็อกภายใต้บริบทการรักษาตลาดเสรีและเป็นธรรม รวมถึงบริบทความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งดูเป็นข้ออ้างที่ใช้กีดกันบริษัทและการลงทุนจากจีน โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยืนยันกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว ว่าเขาเห็นชอบหากไมโครซอฟต์ คอร์ป หรือบริษัทสัญชาติอเมริกันอื่นๆ จะซื้อติ๊กต็อก ซึ่งเป็นหนึ่งในแอปแชร์คลิปวิดีโอยอดนิยมที่สุด พร้อมขีดเส้นตายว่าติ๊กต็อกต้องควานหาผู้ซื้อชาวสหรัฐ ให้ได้ภายในวันที่ 15 ก.ย. มิเช่นนั้นต้องถูกปิดตัวในสหรัฐ

"ชะตากรรมของติ๊กต็อกยังคงคลุมเครือ แต่สิ่งหนี่งที่ชัดเจนคือการสั่งแบนติ๊กต็อกเท่ากับล้มคว่ำหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย" นิโคลัส ทอมป์สัน บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ข่าวไวรด์ แสดงทัศนะในบทความ "The Rank Hypocrisy of a TikTok Ban" ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา "เป็นเรื่องหายากมากที่จะล้มล้างสองค่านิยมพื้นฐานของประชาธิปไตยอันได้แก่ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในตลาด ในเวลาเดียวกัน"

บรรดานักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังข้ออ้างความมั่นคงแห่งชาติ แท้จริงคือผลประโยชน์ทางการเมืองและการค้า โดยลั่ว อี้หัง ผู้ก่อตั้งพิงเวสต์ บริษัทที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี กล่าวว่า "เล่ห์เหลี่ยมที่สหรัฐใช้กับบริษัทต่างๆ เช่น ติ๊กต็อก สะท้อนอคติต่อจีนที่หยั่งรากลึก" และ "สุดท้ายพฤติกรรมควบคุมและกำจัดคู่แข่งอย่างโจ่งแจ้งจะบั่นทอนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในสหรัฐในระยะยาว และขัดขวางการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย"

กระแสโกรธชังหลั่งไหล

กรณีสหรัฐสั่งแบนติ๊กต็อกได้จุดกระแสความไม่พอใจในหมู่ผู้ใช้งานติ๊กต็อกทั่วสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 70 ล้านรายต่อเดือน โดยแฮชแท็ก #savetiktok2020 ได้รับความสนใจจากชาวเน็ต และคลิปวิดีโอที่ติดแฮชแท็ก #ban บนติ๊กต็อก มีผู้เข้าชมมากกว่า 620 ล้านครั้งเมื่อนับถึงคืนวันอาทิตย์ เนื่องจากผู้ใช้งานจำนวนมากพึ่งพาติ๊กต็อกในการสร้างอาชีพบนสื่อสังคมออนไลน์และทำรายได้หล่อเลี้ยงชีพ

นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2561 การใช้ติ๊กต็อกของผู้ใหญ่ในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเท่าตัวจนแตะ 14.3 ล้านครั้งในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ครองสถิติแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยติ๊กต็อกถูกดาวน์โหลดในแอปสโตร์ (App Store) ของแอปเปิล และกูเกิลเพลย์ (Google Play) มากกว่า 2 พันล้านครั้งทั่วโลก เมื่อนับถึงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการจ้างงานในสหรัฐของไบต์แดนซ์เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในปีนี้ พุ่งจากเกือบ 500 คน เมื่อวันที่ 1 ม.ค. เป็นราว 1,400 คน

"เรายังไม่มีแผนการโยกย้ายไปที่ไหน" แวนเนสซา พัพพาส์ ผู้จัดการทั่วไปของติ๊กต็อกประจำสหรัฐ กล่าว พร้อมขอบคุณผู้ใช้งานชาวอเมริกันสำหรับ "แรงสนับสนุนอันล้นหลาม" ผ่านคลิปวิดีโอที่ถูกโพสต์บนบัญชีทางการของติ๊กต็อก โดยพัพพาส์เผยว่า "เรากำลังสร้างติ๊กต็อกให้เป็นแอปที่ปลอดภัยที่สุด เพราะนั่นคือสิ่งที่ถูกที่ควรทำ ขอให้ร่วมกันส่งเสียงสนับสนุนและยืนเคียงข้างติ๊กต็อกต่อไป"

อนึ่ง ฝ่ายบริหารของสหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามมุ่งเป้าโจมตีไบต์แดนซ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้งานชาวอเมริกัน ซึ่งติ๊กต็อกปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านั้นด้วยเหตุผลว่ามีซีอีโอเป็นชาวอเมริกันและเซิร์ฟเวอร์อยู่ในสหรัฐ

แถลงการณ์จากเควิน เมเยอร์ ซีอีโอติ๊กต็อก เมื่อวันจันทร์ระบุว่า "เราไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เราไม่ยอมรับโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป้าประสงค์เดียวของเราคือเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนจะได้สนุกสนานและเพลิดเพลินไปด้วยกัน"

"หากปราศจากติ๊กต็อก บรรดานักโฆษณาชาวอเมริกันจะมีทางเลือกน้อยลง การแข่งขันจะซบเซา และพลังความคิดสร้างสรรค์ของชาวอเมริกันจะเหี่ยวเฉา"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ