สำนักข่าวซินหัวรายงานการเปิดเผยขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ระบุว่า ยานสำรวจดาวอังคาร "เทียนเวิ่น-1" ของจีน ดำเนินการเคลื่อนที่เปลี่ยนวงโคจรในอวกาศห้วงลึกได้สำเร็จเมื่อคืนวันศุกร์ (9 ต.ค.) ตามเวลากรุงปักกิ่ง
ยานสำรวจได้เคลื่อนที่เปลี่ยนวงโคจรเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 23.00 น. หลังจากใช้เครื่องยนต์หลักปฏิบัติงานนานกว่า 480 วินาที ที่ระยะห่างจากพื้นผิวโลก 29.4 ล้านกิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ยานเข้าใกล้ดาวอังคารได้สำเร็จ
ยานเทียนเวิ่น-1 มีแผนเดินทางตามวงโคจรเคลื่อนย้ายของโลก-ดาวอังคารเป็นเวลาราว 4 เดือน และปรับวิถีวงโคจรกลางทางอีก 2 หรือ 3 ครั้ง
จีนได้ปล่อยยานเทียนเวิ่น-1 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยตัวยานได้รับการออกแบบมาเพื่อการโคจร, การลงจอด และการสำรวจในภารกิจเดียว และคาดว่าจะเดินทางถึงดาวอังคารซึ่งเป็นดาวเคราะห์สีแดงได้ในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้ ยานสำรวจลำนี้ประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพโลกเคียงคู่กับดวงจันทร์ อีกทั้งเสร็จสิ้นการปรับวิถีวงโคจรกลางทาง 2 ครั้ง รวมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์ติดตั้งต่างๆ บนยานโดยอัตโนมัติแล้ว