สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บทความด้านการศึกษาของบราซิลที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ต.ค.) ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในเนื้อเยื่อสมองและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของเยื่อหุ้มสมอง อันเป็นส่วนที่รับผิดชอบการทำงานด้านต่างๆ เช่น ความจำ สติสัมปชัญญะ และภาษา
"เป็นครั้งแรกที่เราจำลองให้เห็นการติดเชื้อและการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ในแอสโตรไซต์ (เซลล์ค้ำจุนในสมอง) ซึ่งสามารถลดทอนการทำงานของเซลล์ประสาท" แดเนียล มาร์ตินส์ เดอ ซูซา ศาสตราจารย์จากสถาบันชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคัมปินาส (Unicamp) กล่าว
การศึกษาระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สามารถส่งผลต่อแอสโตรไซต์ อันเป็นเซลล์ที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบประสาทส่วนกลาง คอยทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ให้การสนับสนุนและสารอาหารสำหรับเซลล์ประสาท และควบคุมความเข้มข้นของสารสื่อประสาทและสารอื่นๆ เช่น โพแทสเซียม
การศึกษาระบุว่า การติดเชื้อของเซลล์ชนิดนี้ได้รับการยืนยันผ่านการทดลองกับเนื้อเยื่อสมองของผู้ป่วย 26 รายที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19
มาร์ตินส์ เดอ ซูซาระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า อิมมูโนฮิสโตเคมี (Immunohistochemistry) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอนติบอดีเพื่อตรวจหาแอนติเจนบางชนิดในตัวอย่างเนื้อเยื่อ
นักวิจัยพบไวรัสในตัวอย่างทั้ง 26 ชิ้น และในจำนวนนั้น มีตัวอย่าง 5 ชิ้นที่พบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างซึ่งบ่งบอกถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบประสาทส่วนกลาง
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการไม่ร้ายแรงอีก 81 ราย โดยผลการวิจัยระบุว่า 1 ใน 3 ของพวกเขามีอาการทางระบบประสาทหรือจิตประสาท เช่น ความจำเสื่อม อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิตกกังวล และอื่นๆ หลังจากป่วยเป็นโรคดังกล่าวเป็นเวลา 60 วัน
ทั้งนี้ การศึกษานี้ดำเนินการโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคัมปินาสและมหาวิทยาลัยเซาเปาโล (USP) โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการชีววิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยสหพันธ์ริโอเดจาเนโร และสถาบันดิออร์