"สี จิ้นผิง" ชู "หญ้าวิเศษ" สัญลักษณ์ความหวังจีน-นำพาหลายชีวิตพ้นยากจน

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 19, 2020 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปัจจุบันหญ้าจีนสายพันธุ์หนึ่งกำลังเจริญเติบโตงอกงามบนผืนแผ่นดินของปาปัวนิวกินี อันสืบเนื่องมาจากคำแนะนำของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน

ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ซึ่งเป็นเวลาที่ปธน.สีได้เดินทางไปเยือนประเทศแปซิฟิกแห่งนี้ หญ้าสายพันธุ์ดังกล่าวได้ช่วยนำพาประชาชน 30,000 ชีวิตในท้องถิ่นให้หลุดพ้นจากความยากจน

จวินเฉ่า หรือแปลตรงตัวว่า "เห็ด" และ "หญ้า" สามารถนำไปใช้เพื่อทำการเพาะปลูกเห็ดกินได้ เป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นกำแพงสีเขียวที่ช่วยหยุดยั้งการแปรสภาพผืนดินเป็นทะเลทราย โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า กิจกรรมเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ประเด็นทางสังคมที่กว้างขวางขึ้น อาทิ การขจัดความยากจน พลังงานสะอาด และเป้าหมายอื่นตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 ของ UN

จวินเฉ่า ซึ่งพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จีน มักถูกเรียกขานว่า "หญ้าวิเศษ" ทว่าหญ้าดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่รู้จักทั่วโลก หากปราศจากการสนับสนุนของปธน.สี จิ้นผิง

ปธน.สี จิ้นผิง เริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1980 โดยเขาได้ทุ่มเทความพยายามไปกับการพัฒนาชนบทและการบรรเทาความยากจนในมณฑล ซึ่งในช่วงเวลานั้นการทำฟาร์มเห็ดกำลังเฟื่องฟูในชนบทและสร้างผลกำไรมหาศาล ทว่าวงจรการตัดต้นไม้เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นเห็ดของเกษตรกรก่อให้เกิดการทำลายป่าในวงกว้าง และทำให้เศรษฐกิจซบเซา อย่างไรก็ดี นายสีได้ค้นพบวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวในงานวิจัยเกี่ยวกับหญ้ากลุ่มหนึ่งในป่าของฝูเจี้ยน

"ผมอยากกล่าวจากก้นบึ้งของหัวใจ ผมรู้สึกขอบคุณอดีตผู้ว่าการสี จิ้นผิง ที่ให้การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่พวกเรา ด้วยแรงสนับสนุนของเขา เราได้สร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์หญ้าจวินเฉ่า ซึ่งเป็นห้องทดลองแห่งแรกในฝูเจี้ยน ในจีน และในโลก" นายหลิน จ้านซี ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ฝูเจี้ยนกล่าว

นายหลินพัฒนาหญ้าจวินเฉ่า 45 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถใช้เพาะเห็ดได้ 55 ชนิด อีกทั้งลดทอนต้นทุนการทำเกษตรกรรมลงอย่างมาก และทำให้การตัดไม้ทำลายป่าของจีนลดลง 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ภายหลังการใช้งานหญ้าจวินเฉ่าไม่นาน ปธน.สี จิ้นผิง ได้คัดเลือกเทคโนโลยีหญ้าสายพันธุ์นี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาความยากจนในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ที่เมืองซีไห่กู้ของหนิงเซี่ย ซึ่งได้รับการขนานนามจากสหประชาชาติว่าเป็น "สถานที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์" เกษตรกร 27 คนแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ใน 10 ปีถัดมาหนิงเซี่ยมีเกษตรกรหญ้าจวินเฉ่าถึง 17,500 คนทั่วภูมิภาค โดยแต่ละรายมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,000 บาท) ต่อปี

ปธน.สี จิ้นผิง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างฝูเจี้ยนและหนิงเซี่ย ก่อเกิดโอกาสมากมายในอุตสาหกรรมเห็ด เกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญจากฝูเจี้ยนได้เดินทางมาเผิงหยาง โดยภารกิจแรกของพวกเขาคือการเยี่ยมชมอุตสาหกรรมเห็ดของเรา และสำรวจแนวโน้มความต้องการ ประโยชน์ของเทคโนโลยีหญ้าจวินเฉ่าได้รับการส่งเสริมหรือขยายตัวในพื้นที่ของกว่า 500 อำเภอในภูมิภาคระดับมณฑล 32 แห่งของจีน

จวินเฉ่าไม่เพียงแต่เปลี่ยนชีวิตของเกษตรกรนับล้าน แต่หญ้าสายพันธุ์นี้ยังพลิกโฉมอดีตดินแดนที่รกร้างด้วย โดยในพื้นที่ทะเลทรายตอนบนของแม่น้ำเหลืองหรือหวงเหอ จวินเฉ่าได้เปลี่ยนทะเลทรายให้กลายเป็นโอเอซิสอันเขียวขจี ขณะเดียวกันทางการท้องถิ่นประกาศสร้างกำแพงหญ้าจวินเฉ่าความยาว 1,000 กิโลเมตรตามแนวแม่น้ำเหลืองภายในปี 2021 และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในเขตแดนของจีนเท่านั้น

ปี 2000 ปธน.สี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนในขณะนั้น ได้พบปะกับนายเปตี ลาฟานามา อดีตผู้ว่าการจังหวัดอีสเทิร์นไฮแลนด์สของปาปัวนิวกินี ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่น้อยกว่าฝูเจี้ยน 100 เท่า แต่กลับประสบปัญหาความยากจนร้ายแรงกว่า โดยการพบปะของผู้ว่าการทั้งสองคนได้นำไปสู่โครงการหญ้าจวินเฉ่านำร่องของปาปัวนิวกินีในเวลาถัดมา

"ผมเคยไปเยือนฝูเจี้ยน และได้พบกับอดีตผู้ว่าการสี จิ้นผิง ผมรับรู้ได้ว่าท่านประธานาธิบดีได้ทุ่มเทแรงใจให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง" นายลาฟานามาระบุ

เทคโนโลยีหญ้าจวินเฉ่าเป็นวิธีการที่ประหยัด เข้าถึงได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสที่สำคัญนานัปการด้วย

ทางด้านนายลาวันดี อิบราฮิม ดาตติ นักศึกษาชาวไนจีเรียเปิดเผยว่า "เทคโนโลยีหญ้าจวินเฉ่าเป็นประโยชน์ต่อชาวไนจีเรีย และด้วยการก่อตั้งแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) กอปรกับการใช้เทคโนโลยีหญ้าจวินเฉ่า เราสามารถพัฒนาระบบนิเวศ ยกระดับการบรรเทาความยากจน และแม้กระทั่งควบคุมความมั่นคงทางอาหารได้"

ตั้งแต่ประเทศที่เป็นเกาะอย่างฟิจิไปจนถึงรวันดาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งแต่ป่าในบราซิลไปจนถึงทะเลทรายในจอร์แดน ปัจจุบันเทคโนโลยีหญ้าจวินเฉ่าได้หยั่งรากลึกใน 106 ประเทศทั่วโลกแล้ว

ทั้งนี้ หญ้าวิเศษจวินเฉ่า ซึ่งเปรียบดั่งสัญลักษณ์แห่งความหวัง แสดงให้เห็นว่าแนวคิดประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติของจีน สามารถถูกบ่มเพาะจนหยั่งรากลึกไปทั่วโลกได้

"ไม่มอดม้วยง่ายดายด้วยเปลวไฟ ยามสายลมวสันต์พัดหวนมา พลันก่อกำเนิดชีวิตขึ้นอีกครา" คำอธิบายของ "หญ้า" จากบทกวีเก่าแก่ 1,200 ปี เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการยืนหยัดและความหวังในวัฒนธรรมจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ