สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บริษัทในโครงการการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจหมุนเวียนตงย่าถังเย่แห่งเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) เมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ต่างก็กำลังดำเนินการผลิตน้ำตาลต้อนรับฤดูกาลใหม่
หวังตงไฉ หรือ อิสระ ว่องกุศลกิจ นักธุรกิจไทยในประเทศจีนทำธุรกิจในเมืองเฉิงจั่วซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น "นครน้ำตาลของจีน" โดยเขาเป็นประธาน กว่างซี หนานหนิง ตงย่าถังเย่ กรุ๊ป (หรือ บริษัท อีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป) บริษัทผลิตน้ำตาลทุนไทยในปี 2561 ด้วยผลงานที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับรางวัลมิตรภาพจากรัฐบาลจีน
ปี 2536 รัฐบาลจีนเปิดรับกิจการต่างชาติให้เข้าลงทุนและทำธุรกิจในประเทศ ขณะนั้นคุณอิสระซึ่งเป็นประธานบริษัทไท่กั๋วเหลี่ยงอี้ กรุ๊ป ได้เข้าลงทุนในกว่างซีและร่วมทุนกับโรงงานผลิตน้ำตาล 4 แห่งของเมืองฉงจั่ว เพื่อก่อตั้งบริษัทกว่างซี หนานหนิง ตงย่าถังเย่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้ารายแรกในอุตสาหกรรมน้ำตาลของจีน
ตงย่าถังเย่ กรุ๊ปได้บุกเบิกสร้างสายการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์แบบ 2 ขั้นตอนตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีกำลังการละลายน้ำตาลทรายดิบ 4,000 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังบุกเบิกการผลิตน้ำตาล-ไฟฟ้าร่วมกัน โดยสร้างโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล 3 แห่ง และส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้การไฟฟ้าในภาคใต้ของจีนได้ราว 450 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
เมื่อกิจการผลิตน้ำตาลเติบโต เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก็ได้ประโยชน์ และหลายปีก่อนบริษัทเปลี่ยนชื่อ "แผนกจัดซื้อวัตถุดิบ" เป็น "แผนกสนับสนุนเกษตรกรไร่อ้อย" ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของบริษัทกับเกษตรกร
บริษัทสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับปลูกอ้อย แบ่งปันวิธีต้านโรคและศัตรูพืชให้เกษตรกร ช่วยขนส่งอ้อยของเกษตรกรในระยะ 10 กิโลเมตรมายังโรงงาน สร้างสถานีกลางขนถ่ายน้ำตาล ลดต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงผลิตน้ำตาล
ปี 2560 ตงย่าถังเย่ กรุ๊ปเป็นบริษัทแรกที่เข้าร่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) และลงทุนสร้างโครงการการใช้ประโยชน์รอบด้านจากเศรษฐกิจหมุนเวียนตงย่าถังเย่ อันเป็นต้นแบบของโรงงานยุคใหม่ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของกว่างซี ที่ผสานทั้งการผลิต การดูงาน และท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้บริษัทไทยรายอื่นๆ เข้ามาลงทุนและสร้างโรงงานในกว่างซี
คุณอิสระ ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมน้ำตาลของจีนมานาน 27 ปี กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า "ศักยภาพการสกัดน้ำตาลจากอ้อยของเราเติบโตจาก 13,500 เป็น 100,000 ตันต่อวัน ผลผลิตน้ำตาลสูงทะลุ 1 ล้านตันต่อปี และคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตน้ำตาลทั้งหมดของจีน"
ปัจจุบันตงย่าถังเย่ กรุ๊ป มีธุรกิจครอบคลุมทั้งการผลิตน้ำตาล ไฟฟ้าพลังงานชีวภาพ ปุ๋ย ยีสต์ อาหารสัตว์ เป็นต้น โดยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิตน้ำตาลที่ใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทานอย่างครบถ้วน
ขณะนี้บริษัทมุ่งเน้นยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล โดยได้ร่วมมือกับไชน่า โมบายล์ และ ไชน่า ยูนิคอม ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของจีน และบริษัทอื่นๆ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ