สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ยานสำรวจดาวอังคารของจีน ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารแล้วเมื่อวานนี้ หลังเดินทางออกจากโลกเป็นระยะเวลาเกือบ 7 เดือน
องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยว่า ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ทำการจุดเครื่องยนต์ 3000N เพื่อชะลอความเร็วเมื่อ 19.52 น. ตามเวลาปักกิ่งเมื่อวานนี้
หลังจากนั้นราว 15 นาที ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว ได้ชะลอตัวลงมากพอจนถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารดึงดูด และเข้าสู่วงโคจรรูปไข่รอบดาวเคราะห์แดง โดยมีระยะใกล้พื้นผิวมากที่สุดประมาณ 400 กิโลเมตร และจะใช้เวลาประมาณ 10 วันสำหรับการโคจรครบหนึ่งรอบ
องค์การฯ ระบุว่า ความคืบหน้าดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเสร็จสิ้นขั้นตอนสำคัญของจีนในโครงการสำรวจดาวอังคารในปัจจุบัน ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถโคจร ลงจอด และวิ่งสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในภารกิจเดียว
ส่วนอุปกรณ์ติดตั้งต่างๆ บนยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ซึ่งรวมถึงกล้องถ่ายภาพและเครื่องวิเคราะห์อนุภาค จะเริ่มทำงานและทำการสำรวจดาวเคราะห์ต่อไป หลังจากเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร
ทั้งนี้ ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดขนส่งลองมาร์ช-5 ซึ่งเป็นยานพาหนะขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของจีน จากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชาง บริเวณชายฝั่งมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีนเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563
ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ได้เดินทางนานราว 202 วัน ดำเนินการปรับวงโคจร 4 ครั้ง และเคลื่อนที่เปลี่ยนวงโคจรในอวกาศห้วงลึก โดยทะยานไกลเป็นระยะทาง 475 ล้านกิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลก 192 ล้านกิโลเมตร ขณะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร
กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบควบคุมทิศทาง พร้อมสายอากาศเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 เมตร ในเขตอู่ชิงของเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน เป็นสถานที่สำคัญในการรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ส่งกลับมายังโลก โดยความล่าช้าของการสื่อสารทางเดียวอยู่ที่ราว 10.7 นาที
ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 จะดำเนินการปรับวิถีวงโคจรเพื่อเข้าสู่วงโคจรพักรอชั่วคราวของดาวอังคาร และสำรวจจุดลงจอดที่เหมาะสมเพื่อเตรียมลงจอดในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนต่อไป