สื่อท้องถิ่นของอังกฤษรายงานว่า ท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่สุดของอังกฤษ จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับเที่ยวบินขาออกจากท่าอากาศยานฯ ตั้งแต่เดือนเม.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้หลายครอบครัวที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ หลังอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มานานนับปี
หนังสือพิมพ์อีฟนิง สแตนดาร์ด รายงานว่า ท่าอากาศยานฮีทโธรว์จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบังคับพิเศษของสหราชอาณาจักร (United Kingdom Exceptional Regulatory Charge) สำหรับเที่ยวบินขาออกทั้งหมดเพิ่มอีก 8.90 ปอนด์ (ราว 370 บาท) จากค่าธรรมเนียมปกติที่ครอบคลุมค่าจัดการสัมภาระ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริการอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน และจองเที่ยวบินกับสายการบินบริติช แอร์เวย์ส ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 44.50 ปอนด์ (ราว 1,890 บาท) เพื่อใช้บริการท่าอากาศยานฯแห่งนี้
รายงานระบุว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งผ่านการอนุมัติจากสายการบินต่างๆนั้น เป็นความพยายามจะกู้คืนความสูญเสียทางการเงินของท่าอากาศยานฯ ในปีก่อน ซึ่งมีจำนวนการเดินทางและผู้โดยสารลดลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้ถึง 2 พันล้านปอนด์ (ราว 8.5 หมื่นล้านบาท)
โฆษกท่าอากาศยานฮีทโธรว์ระบุว่า ทางท่าอากาศยานฯ ยังไม่สามารถทำกำไรจากบริการเหล่านี้ได้เลย และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานฮีทโธรว์มีรายได้ลดลง 2 พันล้านปอนด์ (ราว 8.5 หมื่นล้านบาท) ในปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทำให้อังกฤษต้องปิดพรมแดน
ด้านหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน รายงานว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานฮีทโธรว์ในปี 2563 ลดลงเหลือ 22.1 ล้านคน โดยลดลงราว 73% เมื่อเทียบกับปี 2562 และทำรายได้รวมต่อปีน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2518 ขณะเดียวกันปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าอากาศยานฯ ในปี 2563 ลดลงราว 28% แม้เที่ยวบินขนส่งสินค้าพิเศษบางเที่ยวจะช่วยชดเชยการเดินทางของผู้โดยสารที่หายไปบางส่วน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปัจจุบันอังกฤษอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 3 นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศ โดยมีการบังคับใช้มาตรการเพื่อควบคุมการระบาดที่คล้ายกันในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ