มหาวิทยาลัยตุรกีประกาศว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของซิโนแวก ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จีน มีประสิทธิภาพ 83.5% เมื่อพิจารณาจากการทดลองระยะที่ 3 ในตุรกี
เซอร์ฮัต อูนัล อาจารย์คณะโรคติดต่อและจุลชีววิทยาทางคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยฮาเซตเตเปในกรุงอังการา ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของตุรกี ระบุว่าการทดลองที่เริ่มขึ้นช่วงกลางเดือนกันยายน มีประชาชนอายุ 18-59 ปี เข้าร่วมทั้งหมด 10,216 คน โดยได้ยาหลอก 3,568 คน
มูรัต อะโควา แพทย์ของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่ามีอาสาสมัครกลุ่มรับยาหลอก 32 คน และอาสาสมัครกลุ่มรับวัคซีนจริง 9 คน ติดเชื้อไวรัสฯ ในเวลาอย่างน้อย 14 วัน หลังรับวัคซีนโดสสอง
"เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนนี้พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคที่แสดงอาการป่วยได้ 83.5%" อะโควากล่าว พร้อมเสริมว่าวัคซีนสามารถป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 100% และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตระหว่างเข้าร่วมการทดลอง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ช่วงกลางเดือนมกราคม ตุรกีดำเนินโครงการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ โดยใช้วัคซีนของซิโนแวก มุ่งฉีดวัคซีนให้ 60% ของประชากรทั้งหมด
กระทรวงสาธารณสุขของตุรกีระบุว่ามีประชาชนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแล้วกว่า 7.2 ล้านคน และได้รับวัคซีนสองโดสแล้ว 2.1 ล้านคน