สำนักข่าวซินหัวเปิดเผยว่า สหประชาชาติ (UN) ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) บ่งชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ทั่วโลกพัฒนาล่าช้าไปถึง 10 ปี โดยองค์การระหว่างประเทศมากกว่า 60 แห่งซึ่งร่วมเขียนรายงานนี้ต่างก็เรียกร้องให้มีการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว
รายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกประสบกับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด พร้อมกับคาดการณ์ว่าจะเกิดการสูญเสียงาน 114 ล้านตำแหน่งทั่วโลก และประชาชนจะตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรงราว 120 ล้านคน ซึ่งการป้องกันไม่ให้อีกหลายประเทศเผชิญการพัฒนาที่ล่าช้าไปอีก 10 ปีนั้น มีเพียงการเร่งดำเนินการอย่างทันท่วงทีเท่านั้น
อามีนา โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการ UN เปิดเผยว่า โรคระบาดครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงอันตรายจากการที่เราเพิกเฉยต่อการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก โลกที่มีแต่ความแตกแยกนับเป็นหายนะสำหรับทุกคน ดังนั้นการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะถูกต้องตามหลักศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทุกคนด้วย
รายงานยังชี้ให้เห็นว่า เงินทุนที่ใช้ในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นสูงถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 497 ล้านล้านบาท) แล้วจนถึงขณะนี้ แต่ในจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาไม่ถึง 20% อีกทั้งในบรรดา 38 ประเทศที่เปิดตัววัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่อยู่นอกกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ก่อนการระบาดอุบัติขึ้น ราวครึ่งหนึ่งของประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและประเทศที่มีรายได้ต่ำอื่นๆ มีความเสี่ยงสูงหรือมีปัญหาด้านหนี้สิน โดยระดับหนี้สินของประเทศเหล่านี้เริ่มทะยานขึ้นไปอีกหลังเกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ในประเทศยากจนที่สุดในโลกเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ของ UN ล่าช้าออกไปอีก 10 ปี
รายงานแนะนำให้ประเทศต่างๆ ต่อต้าน "ลัทธิวัคซีนชาตินิยม" พร้อมจัดหาเงินกู้พิเศษให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด รวมทั้งจัดหาเงินทุนและออกนโยบายบรรเทาหนี้สินเพื่อช่วยประเทศเหล่านี้รับมือกับการแพร่ระบาด และผลกระทบในเชิงลบได้
หลิว เจิ้นหมิน รองเลขาธิการ UN ด้านกิจการเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ขณะที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องลงทุนในทุนมนุษย์, ประกันสังคม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี