โจเอา ดอเรีย ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูของบราซิล ประกาศว่าสถาบันบูตันตัน (Butantan Institute) ซึ่งเป็นสถานวิจัยทางการแพทย์ของรัฐบาลในนครเซาเปาลู ได้เริ่มต้นผลิตบูตันแวค (ButanVac) วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตัวแรกของบราซิล เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
"บูตันแวคจะเป็นวัคซีนตัวแรกที่บราซิลผลิตเองทั้งหมดโดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ" โดเรียแถลงข่าวที่สถาบันฯ ซึ่งเริ่มผลิตวัคซีนชุดแรก ที่คาดว่าจะมีปริมาณอยู่ที่ 18 ล้านโดสภายในกลางเดือนกรกฎาคม แม้สำนักงานกำกับควบคุมทางสุขภาพหรืออันวิซา (Anvisa) ของบราซิลยังไม่ได้อนุมัติวัคซีนดังกล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นอกจากบูตันแวคแล้ว สถาบันฯ ยังผลิตและจัดการเรื่องการบรรจุหีบห่อของโคโรนาแวค (CoronaVac) วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของซิโนแวก (Sinovac) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน โดยบราซิลใช้วัคซีนโคโรนาแวคในโครงการฉีดวัคซีนของประเทศตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.
"ช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม เราจะสามารถฉีดวัคซีนบูตันแวคได้ทันทีที่อันวิซาอนุมัติ กำลังการผลิตวัคซีนบูตันแวคอาจสูงแตะ 100-150 ล้านโดสภายในสิ้นปี" โดเรียกล่าว "เราหวังว่าอันวิซาจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน"
เมื่อวันอังคาร (27 เม.ย.) อันวิซาขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบูตันแวคเพิ่มเติมจากสถาบันฯ ก่อนจะอนุมัติการทดลองในมนุษย์
สถาบันบูตันตันเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่รายหลักของกลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ ทั้งยังเป็นผู้ผลิตชั้นนำของกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ครองสัดส่วน 85% ของหุ้นส่วนระหว่างประเทศด้านการวิจัยวัคซีนตัวใหม่
รัฐบาลเซาเปาลู ซึ่งเป็นรัฐที่เผชิญการระบาดรุนแรงที่สุด ระบุว่าหลังจากบูตันแวคได้รับอนุมัติ จะมีอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 รวม 1,800 คน