สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (7 พ.ค.) หน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรประกาศว่า ชาวสหราชอาณาจักรที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวอื่น ที่ไม่ใช่วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca)
คำแนะนำล่าสุดจากคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI) ซึ่งคอยให้คำแนะนำด้านการสร้างภูมิคุ้มกันแก่หน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ถือเป็นการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติเดิมที่กำหนดให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า
ข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักรนั้น พบผู้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำรวม 242 ราย จากกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนมากกว่า 28 ล้านรายเมื่อนับถึงวันที่ 28 เม.ย.
ก่อนหน้านี้ MHRA ระบุว่า สมดุลระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้านั้นเหมาะกับกลุ่มคนอายุมาก แต่อาจมีความเสี่ยงมากกว่า หากใช้งานกับกลุ่มคนอายุน้อย
JCVI ระบุว่า วัคซีนตัวเลือกควรถูกจัดสรรเฉพาะกรณีที่ไม่ก่อให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการฉีดวัคซีน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่า ความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญของโครงการฉีดวัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดระลอกที่ 3
วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติ 1 ใน 3 ตัวที่สามารถขนส่งที่อุณหภูมิตู้เย็น โดย JCVI ระบุว่า วัคซีนดังกล่าวอาจเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่สามารถใช้ได้จริงในบางสถานการณ์
JCVI ระบุว่า ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรกโดยไม่เกิดอาการข้างเคียงจะได้รับวัคซีนโดสสองตามกำหนด และประโยชน์ของวัคซีนยังคง "มีมากกว่าความเสี่ยงสำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่ส่วนมาก"
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกให้ประชาชนมากกว่า 34.9 ล้านคนแล้ว แต่คณะผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแม้การฉีดวัคซีนจะคืบหน้า แต่สหราชอาณาจักร "ยังคงไม่ผ่านพ้นวิกฤต" ท่ามกลางความกังวลจากเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้, บราซิล และอินเดีย ตลอดจนการระบาดใหญ่ระลอกที่ 3 ในยุโรป