นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศว่ามาเลเซียจะขยายคำสั่งควบคุมการเดินทางที่อยู่ระหว่างบังคับใช้ในหลายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศจนถึงเดือนมิ.ย. เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายยัสซินระบุว่า คำสั่งดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.-7 มิ.ย. หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะหลังตรวจพบโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ และประชาชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
"รัฐบาลตัดสินใจดำเนินมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชนและควบคุมยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มาเลเซียกำลังเผชิญการระบาดใหญ่ระลอก 3 ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตระดับชาติ" นายยัสซินระบุ
"การตรวจพบโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ที่มีอัตราแพร่เชื้อสูงขึ้น ระบบสาธารณสุขที่ต้องแบกรับภาระหนัก และการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศประสบวิกฤตทางสาธารณสุขที่เลวร้ายลงกว่าเดิม"
ข้อมูลบ่งชี้ว่า กิจกรรมในที่สาธารณะ โดยเฉพาะการรวมตัวกันในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น โดยหนึ่งในคำสั่งที่จะมีผลบังคับใช้นั้นครอบคลุมถึงการห้ามเดินทางระหว่างรัฐและระหว่างเขตด้วย ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน การเดินทางไปทำงาน หรือฉีดวัคซีน พร้อมทั้งห้ามจัดกิจกรรมทางสังคมทุกรูปแบบ ทั้งงานเฉลิมฉลอง งานแต่งงาน และการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด
นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาจะยังคงปิดทำการและงดการรับประทานอาหารภายในร้าน ส่วนการขับขี่ยานพาหนะจะอนุญาตให้มีผู้โดยสารเพียง 3 คนเท่านั้น รวมคนขับด้วย อีกทั้งการเฉลิมฉลองทศกาลอีดิลฟิตรี (Eid al-Fitr) ที่กำลังจะมาถึงจะถูกจำกัดด้วยเช่นกัน ทว่าเศรษฐกิจทุกภาคส่วนจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานหากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้คำสั่งควบคุมการเดินทางเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับถึงวันที่ 10 พ.ค. กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 3,807 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 5 ราย และผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,802 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 444,484 ราย และพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 1,700 ราย
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วเพิ่มขึ้น 3,454 ราย ส่งผลให้ยอดรวมอยู่ที่ 405,388 ราย หรือคิดเป็น 91.2% ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนยอดผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวอยู่ที่ 37,396 ราย โดยเป็นผู้ป่วยหนัก 434 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 224 ราย