ผู้เชี่ยวชาญหวั่นไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาจ่อระบาดหนักในสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 15, 2021 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญหวั่นไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาจ่อระบาดหนักในสหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตากำลังจะกลายเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่จะแพร่ระบาดทั่วสหรัฐ

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาหรือที่รู้จักกันในชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าบี.1.617.2 (B.1.617.2) ได้แพร่กระจายจากประเทศที่ตรวจพบครั้งแรกอย่างอินเดียไปยังมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายสกอตต์ กอตเลียบ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐ (FDA) กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐ และอาจนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง โดยชาวอเมริกันที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงมากที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญหวั่นไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาจ่อระบาดหนักในสหรัฐ
"ขณะนี้การติดเชื้อในสหรัฐ อยู่ที่ราว 10% และเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกสองสัปดาห์" นายกอตเลียบให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอส "นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หมายความว่าสิ่งนี้กำลังจะเข้าควบคุมเรา และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง"

เมื่อไม่นานนี้ นายแอนโธนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักในอังกฤษ ด้วยสัดส่วนราว 60% ของกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ แซงหน้าสายพันธุ์บี.1.1.7 (B.1.1.7) หรือสายพันธุ์อัลฟาไปแล้ว

ผลการศึกษาเบื้องต้นของสกอตแลนด์ที่เผยแพร่ในวารสารเดอะ แลนเซต เมื่อวานนี้ชี้ว่า สายพันธุ์เดลตาเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์บี.1.1.7 ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

สายพันธุ์เดลตาเป็น 1 ใน 6 สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในสหรัฐ ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) กำหนดให้เป็น "สายพันธุ์ที่น่ากังวล"

ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลตา เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม สายพันธุ์เดลตาครองสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของการจัดลำดับตัวอย่างไวรัสในสหรัฐ แต่ในตอนนี้ขยับขึ้นมาครองสัดส่วนมากกว่า 6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ